วันที่ 8 ก.ค. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 1,275 คน ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อภายในประเทศถึง 1,227 คน รายงานจากสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคระบาดของเกาหลีใต้ (Korea Disease Control and Prevention Agency) หรือ KDCA

*หมายเหตุ: ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในพื้นที่กรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ ถึง 545 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และเป็นการติดเชื้อจากคลัสเตอร์ใหญ่ๆ เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร และสถานศึกษา

สัญญาณ "เริ่มต้น" ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกที่ 4 ในประเทศเกาหลีใต้ เพราะตัวเลขที่ "คุณ" เพิ่งผ่านสายตาไปเมื่อสักครู่ คือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2563 หรือเมื่อประเทศเกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเป็นคนแรก!

*หมายเหตุ: สถิติผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดของเกาหลีใต้ นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด คือ 1,237 คน ณ วันที่ 25 ธ.ค. 2563

ภาพ: Coronavirus Disease-19, Republic of Korea by ncov.mohw.go.kr
ภาพ: Coronavirus Disease-19, Republic of Korea by ncov.mohw.go.kr

...

เหตุใดจึงเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องจับตา?

นั่นเป็นเพราะ...จำนวนการติดเชื้อรายวันในระดับเกิน 1,000 คนติดต่อกันเป็นวันที่ 2 หลังจากเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 1,212 คน ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 746 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 61% ภายในวันเดียว!

เป็นเหตุให้แผนการที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในกรุงโซลและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ที่เพิ่งเริ่มต้นไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 ต้องถูกยกเลิกไป และกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค. 2564

อะไรคือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่?

"เรากังวลอย่างยิ่งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจรุนแรงมากขึ้นไปกว่านี้ เนื่องจากชัดเจนว่า ประชาชนเริ่มออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านกันมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางจำนวนการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่เพิ่มสูงขึ้น และนับวันจะยิ่งแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงอยากขอเรียกร้องให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยแม้แต่จะอยู่ในเคหสถาน รวมถึงงดออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น" ชอน แฮชอล (Jeon Hae-cheol) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเกาหลีใต้ ออกประกาศเตือนอย่างเป็นทางการ

ถูกต้อง!...การพบการแพร่ระบาดของ "สายพันธุ์เดลตา" กำลัง (อาจ) ทำให้เกาหลีใต้ต้องพบกับฝันร้ายเช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นสายพันธุ์ที่พบการแพร่ระบาดมากเป็นลำดับที่ 2 ในประเทศ หรือประเทศอังกฤษ ที่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้แผนการเปิดประเทศต้องล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1 เดือน รวมถึงล่าสุด ประเทศไทย ที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่ลงทุกขณะ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มจำนวนสูงขึ้น จนคาดว่าอาจจะแตะหลักหมื่นในเร็วๆ นี้!

*หมายเหตุ: จากข้อมูลล่าสุดในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในเกาหลีใต้เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ประมาณ 7% ทั้งๆ ที่เมื่อเกือบ 2 เดือนก่อนหน้านี้ อยู่ในสัดส่วนเพียงประมาณ 1% เท่านั้น!

นอกจากสายพันธุ์เดลตาแล้วยังมีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ ที่ทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในเกาหลีใต้?

การควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ในระดับต่ำได้มาเนิ่นนาน เริ่มทำให้ชาวเกาหลีใต้เริ่มมีวินัยหย่อนยานในการปฏิบัติตาม "มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ระดับที่ 2" ทั้งๆ ที่หากมีการฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าวจะมีบทลงโทษที่เป็นค่าปรับสูงถึง 100,000 วอน หรือประมาณ 2,853 บาทก็ตาม

โดยตามรายงานของทางการเกาหลีใต้ พบว่า ในวันที่ 3 ก.ค. (วันแรกของการกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง) มีผู้ฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าวถึง 251 คดี ส่วนในวันที่ 4 ก.ค. มีผู้ฝ่าฝืนถึง 221 คดี

...

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ตามสวนสาธารณะและบริเวณริมแม่น้ำฮันได้กลายเป็นจุดสังสรรค์ หลังร้านอาหารและสถานบันเทิงปิดตามมาตรการดังกล่าว ในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 05.00 น. ของวันใหม่ เป็นเหตุให้รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มระดับการคุมเข้มด้วยการห้ามสังสรรค์ (ดื่มสุรา) นอกเคหสถานแล้ว หากยังไม่สามารถ "ควบคุมการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้"

*หมายเหตุ: ปัจจุบันมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ในระดับที่ 2 จากทั้งหมด 5 ระดับ ที่เกาหลีใต้นำมาใช้ในเวลานี้ ก็อย่างเช่น การห้ามรวมตัวกันเกินกว่า 5 คน ในสถานที่สาธารณะ ลดระยะเวลาการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และร้านอาหาร สถานบันเทิง เปิดบริการได้ถึง 22.00 น. (ให้คนนั่งกินในร้านได้)

นอกจากนี้ ความพยายามผ่อนคลาย "มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม" ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ถูกหลายฝ่ายมองว่า "เร็วเกินไป" นั่นเป็นเพราะแม้จะอยู่ในช่วง "มาตรการการควบคุม" สิ่งที่เกิดขึ้น คือ จำนวนคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 20-30 ปี มีแนวโน้มออกไปรวมตัวกันดื่มกินและพบปะสังสรรค์ตามสถานบันเทิงในยามค่ำคืน โดยเฉพาะย่านกังนัมและฮงแดกันเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

โดยกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ ยอมรับว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวในช่วงวัยดังกล่าว กลายเป็นกลุ่มก้อนที่มีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เริ่มชะลอตัวลงหลังได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการเรียกร้องให้กลุ่มคนหนุ่มสาวจอมปาร์ตี้ทั้งหลายเข้ารับการตรวจทั้งหมด ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการที่ส่อว่าจะติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม รวมถึงให้องค์กรและบริษัทเอกชนต่างๆ มีคำสั่งให้พนักงานทำงานแบบ Work from Home กันมากขึ้นด้วย

...

ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในยามที่ฤดูหนาวใกล้จะมาถึง?

ความพยายามค้นหาเข็ม (วัคซีน) ในท้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ กลายเป็นปัญหาของเกาหลีใต้ไปแล้ว หากใครยังไม่ทราบ จากจำนวนวัคซีนรวม 192 ล้านโดส ที่เกาหลีใต้สั่งซื้อล่วงหน้า จนถึงปัจจุบัน (สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ค. 64) เกาหลีใต้เพิ่งได้รับวัคซีนมาเพียง 38 ล้านโดส หรือเท่ากับเพียงประมาณ 20% ของจำนวนที่สั่งซื้อล่วงหน้าเท่านั้น!

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ยอมอยู่เฉยๆ ให้ "วัคซีนลอยมาหาเอง" ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเกาหลีใต้จึงดิ้นรนสุดชีวิต ถึงขนาดยอม "ทำสัญญาแลกวัคซีนไฟเซอร์" จำนวน 700,000 โดส "ที่แม้ใกล้จะหมดอายุ" จาก "รัฐบาลอิสราเอล" มาฉีดให้กับพลเมืองของตัวเองก่อน จากนั้นเมื่อได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในจำนวนดังกล่าวมาแล้ว ตามนัดหมายในช่วงราวๆ เดือนกันยายน หรืออย่างช้าที่สุดในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลเกาหลีใต้ก็จะนำวัคซีนที่ได้กลับไปคืนให้กับอิสราเอลเป็นการตอบแทน

*หมายเหตุ: อิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ล่าสุด (สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ค. 64) ฉีดให้กับพลเมืองไปแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 65% ของจำนวนประชากร 8.6 ล้านคน

...

"โดยทั้งหมดที่ทำลงไป ก็เพราะด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว คือ ไม่ให้แผนการระดมปูพรมฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองที่วางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเกิน 70% ของจำนวนประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในไตรมาสที่ 3 เกิดภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะเมื่อแน่ชัดแล้วว่า มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา และฤดูหนาวที่เชื้อโควิดจะอยู่ในอากาศได้นานขึ้นกว่าเดิม กำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ ทุกทีๆ"

จำนวนการระดมปูพรมฉีดวัคซีนของรัฐบาลเกาหลีใต้?

โดยปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้อนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน ทั้งหมดรวม 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 2) วัคซีนไฟเซอร์, 3) วัคซีนโมเดอร์นา, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

ส่วนจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนในเกาหลีใต้ (สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ค. 64) กระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ รายงานว่า จำนวนรวมของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม อยู่ที่ 15,402,244 คน (ประมาณ 30% ของจำนวนประชากร 51 ล้านคน) ส่วนจำนวนรวมของประชากรที่ได้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อยู่ที่ 5,400,522 คน (ประมาณ 10% ของจำนวนประชากร 51 ล้านคน)

โดยแยกเป็นจำนวนผู้ได้รับ 1) วัคซีนแอสตราเซเนกา รวม 12,512,093 คน, 2) วัคซีนไฟเซอร์ รวม 4,668,467 คน, 3) วัคซีนโมเดอร์นา รวม 77,863 คน, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รวม 1,170,651 คน (ฉีดเพียง 1 เข็ม)

สิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้เป็นต้นไป คือ ความพยายามอย่างสุดฤทธิ์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการ "รีดเค้นวัคซีนทุกหยด" มาฉีดให้กับพลเมืองของตัวเอง จะเท่าทันกับ "การแพร่ระบาดระลอกใหม่" ที่มีสายพันธุ์เดลตาเป็นภัยคุกคามที่น่าสะพรึงนี้หรือไม่?.


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Varanya Phae-araya

ข่าวน่าสนใจ: