เมื่อเสียงกู่ก้อง Glory Glory Man United ในโรงละครแห่งความฝัน มันทั้งอ่อยและอืดลงมาเนิ่นนานเกือบ 1 ทศวรรษเข้าให้แล้ว (แชมป์ลีกล่าสุด คือ ฤดูกาล 2012-2013)
ระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่แสนเนิ่นนานที่ว่านี้ มันทำเอา "Red Army" ไพล่คิดไปไกลถึงขนาดที่ว่า หรือว่า...เราอาจจะต้องรอคอยในระดับ 26 ปี ก่อนการมาถึงของ "จอมคนแห่งยุค" อย่างป๋าอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กันนะ!
แต่แล้วเมื่อความพยายาม "เอื้อมมือไขว่คว้า" โทรฟี่ในฤดูกาลล่าสุดที่ผ่านมา (ฤดูกาล 2020-2021) พลพรรคปิศาจแดงภายใต้การนำของ "น้าลูกอม" โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ เข้าใกล้ความสำเร็จได้ถึงในระดับ "รองแชมป์ลีก" ฤดูกาลนี้ (2021-2022) มันจึงเวลา "ต้อง...เอาว่ะ!"
ว่าแล้ว "ตระกูลเกลเซอร์" ผู้มักนิยมชมชอบ "การขับเคลื่อนด้วยแรงด่า" จากเหล่าแฟนๆ พันธุ์อสูรแดง จึงยอมเจียดฟ่อนเงินเล็กๆ น้อยๆ เพียง 73 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท! ไปห่อตัว "ปีกแห่งความหวัง" อุ้มมาส่งที่โอลด์แทรฟฟอร์ดได้สำเร็จ (เสียที) หลังปล่อยดีลนี้ "รุ่มร่ามจนน่าระคายเคืองจิตใจมาร่วมเกือบ 2 ปี เข้าให้แล้ว!"
อะไรคือ เหตุผลสำคัญที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุคน้าลูกอม ต้องมีปีกแห่งความหวังสัญชาติอังกฤษที่มีราคาค่าตัวแพงระยับ เฉกเช่น "เจดอน ซานโช" เยี่ยงนี้ วันนี้ "เรา" มาร่วมสังเคราะห์กันทีละประเด็น
...
ทำไมจึงปิดดีล "เจดอน ซานโช" ได้ที่ราคา 73 ล้านปอนด์?
หากใครยังไม่ทราบ ตลอดระยะเวลาการเจรจาที่แสนยาวนานนี้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ยืนกรานชนิดไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียวว่า "ค่าตัว" ปีกดาวรุ่งแห่งยุคที่แมนยูฯ แสดงออกอย่างนอกหน้าว่าอยากได้นักอยากได้หนานี้ ราคาต่ำสุดที่ต้องเสนอมา คือ "100 ล้านปอนด์เท่านั้น" เราถึงจะคุยกันได้
แต่แล้วก็อย่างที่เราๆ ท่านๆ รับทราบโดยทั่วกัน ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้สโมสรลูกหนังทั่วโลก "มีรายได้ลดลง" และ "เริ่มรัดเข็มขัด" กันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ราคาค่าตัวนักเตะที่เคยถูกประเมินสูงไว้จนล้นเว่อร์ก่อนหน้านี้ จึงค่อยๆ ทยอยลดลงตามลำดับ และนั่นย่อมรวมถึงการประเมินค่าตัวในการซื้อขาย "ซานโช" ด้วยเช่นกัน
และเมื่อบวกเข้ากับสัญญาปัจจุบันของซานโชกับสโมสรเสือเหลืองจะสิ้นสุดลงในปี 2023 ซึ่งนั่นเท่ากับดอร์ทมุนด์กำลังโน้มตัวเข้าหา "ความเสี่ยง" ที่จะเสียตัวปีกวัย 21 ปี ผู้นี้ไปแบบฟรีๆ เข้าทุกขณะ!
ทำให้...แม้อาจสูญเงินที่ควรได้ไปร่วมๆ 30-38 ล้านปอนด์ แต่ดอร์ทมุนด์ก็เพียงแค่มีอาการ "ยักไหล่ให้แบบไม่ค่อยแยแสสักเท่าไร" นั่นเป็นเพราะตอนที่ "ซานโช" หอบผ้าหนีออกจากเกาะอังกฤษนั้น ดอร์ทมุนด์ได้โอบแขนต้อนรับเข้าทีมมาในแบบ "ไร้ค่าตัว" นั่นเอง!
"แบบนี้ได้มาตั้ง 73 ล้านปอนด์ ก็ถือว่าคุ้มจนไม่รู้จะคุ้มยังไงแล้ว"
*หมายเหตุ : เจดอน ซานโช ย้ายจากอะคาเดมีของวัตฟอร์ด ก่อนย้ายไปอยู่กับแมนเชสเตอร์ซิตี้ในปี 2015 แต่แล้วในปี 2017 ซานโชได้ปฏิเสธสัญญาของสโมสรเรือใบสีฟ้า แล้วย้ายไปอยู่กับดอร์ทมุนด์แบบไม่มีค่าตัว
พิษโควิด-19 ทำให้ดอร์ทมุนด์บาดเจ็บมาแค่ไหน?
ในช่วงครึ่งปีแรกของฤดูกาล 2020-21 (1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2020)
พิษจากโควิด-19 ทำให้สโมสรโบรุสเซียดอร์ทมุนด์มีผลประกอบการที่ขาดทุนสุทธิตัวแดงโร่ถึง 26.3 ล้านยูโร!
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขาดรายได้ในช่วงระหว่างที่ต้องลงเตะในสนามที่ว่างเปล่ามายาวนาน โดยเสือเหลือง สามารถทำเงินจากส่วนนี้ได้เพียง 600,000 ยูโร จากเดิมที่เคยทำเงินได้มากถึง 22.6 ล้านยูโร ในช่วงเวลาเดียวกันของฤดูกาลก่อนหน้า
นอกจากนี้ เงินก้อนใหญ่ที่เคยได้จากการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ก็ลดลงเหลือเพียง 5.3 ล้านยูโร จากเดิมที่เคยทำเงินได้มากถึง 23.9 ล้านยูโรอีกเช่นกัน
เป็นเหตุให้สโมสรต้องตัดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรให้ลดลงจาก 115 ล้านยูโร เหลือเพียง 102 ล้านยูโร โดยหนึ่งในมาตรการ "ร่วมกันประหยัด" ครั้งนี้ คือ การที่บรรดาผู้บริหารทีมสมัครใจลดเงินเดือนของตัวเองเลยทีเดียว!
...
เจดอน ซานโช เก่งแค่ไหน?
คำตอบนี้ "เรา" ไปดูสถิติของพ่อปีกแห่งความหวังของเหล่าสาวก Rad Army กันดีกว่า
3 ฤดูกาลหลังสุดฤดูกาล 2018-19, 2019-2020, 2020-21
เจดอน ซานโช ยิงประตูได้รวม 37 ประตู และส่งให้เพื่อนทำประตู (Assists) รวม 41 ครั้ง!
อย่างไรก็ดี ในฤดูกาลที่เพิ่งผ่านพ้นไป (2020-21) ปัญหาวุ่นวายเรื่องจะย้ายหรือไม่ย้ายไปแมนยูฯ ที่แทบจะขึ้นหน้าหนึ่งสื่อไม่เว้นแต่ละวัน ได้กัดกินสมาธิในการลงเล่นของซานโช จนฟอร์มที่เคยไฉไลร่วงดับลงอย่าน่าใจหาย
ซานโชง้างเท้าหาประตูไม่เจอยาวนานถึง 1,298 นาที ในศึกบุนเดสลีกา แต่แม้จะเล่นได้ไม่ดีนัก เมื่อจบฤดูกาล ว่าที่ปีกหมายเลข 7 คนใหม่ของถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ด ก็ยังสู้อุตส่าห์ยิงได้ถึง 8 ประตู และ 11 Assists อยู่ดี!
แรงกระเพื่อมในถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ด หลังการมาถึงของ เจดอน ซานโช?
คำถามแรก การมาถึงของ "ซานโช" ทับทางแนวรุกปิศาจแดงชุดน้าลูกอมบ้าง
ปัจจุบัน นักเตะกองหน้าในระนาบเดียวกับซานโชของแมนยูฯ ประกอบด้วย 1.เอดิสัน คาวานี, 2.มาร์คัส แรชฟอร์ด, 3.เมสัน กรีนวูด, 4.อองโตนี มาร์ซิยาล คำถามคือ นักเตะทั้งหมดนี่เมื่อเทียบกับซานโชเป็นอย่างไร?
...
"เรา" ไปดูสถิติเฉพาะการลงเล่นในฟุตบอลลีกของแต่ละคน เมื่อคิดเป็นสัดส่วนค่าเฉลี่ยการลงเล่น 90 นาที
1. เจดอน ซานโช ลงเล่น 26 นัด ลงเล่นรวม 2,069 นาที ยิง 8 ประตู Assists 11 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 0.85 ประตู
- การสร้างโอกาสในการทำประตู ต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 2.90 ครั้ง
- การเลี้ยงเอาชนะคู่แข่งต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 6 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการส่งบอลสำเร็จต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 82.39 ครั้ง
2. เอดิสัน คาวานี ลงเล่น 26 นัด ลงเล่นรวม 1,372 นาที ยิง 10 ประตู Assists 3 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 0.85 ประตู
- การสร้างโอกาสในการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 0.92 ครั้ง
- การเลี้ยงเอาชนะคู่แข่งต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 0.86 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการส่งบอลสำเร็จต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 77.38 ครั้ง
3. มาร์คัส แรชฟอร์ด ลงเล่น 37 นัด ลงเล่นรวม 2,928 นาที ยิง 11 ประตู Assists 9 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 0.61 ประตู
- การสร้างโอกาสในการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 1.32 ครั้ง
- การเลี้ยงเอาชนะคู่แข่งต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 5.50 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการส่งบอลสำเร็จต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 82.09 ครั้ง
...
4. เมสัน กรีนวูด ลงเล่น 31 นัด ลงเล่นรวม 1,826 นาที ยิง 7 ประตู Assists 2 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 0.44 ประตู
- การสร้างโอกาสในการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 0.69 ครั้ง
- การเลี้ยงเอาชนะคู่แข่งต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 3.95 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการส่งบอลสำเร็จต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 85.01 ครั้ง
5. อองโตนี มาร์ซิยาล ลงเล่น 22 นัด ลงเล่นรวม 1,488 นาที ยิง 4 ประตู Assists 3 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 0.42 ประตู
- การสร้างโอกาสในการทำประตูต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 1.03 ครั้ง
- การเลี้ยงเอาชนะคู่แข่งต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 3.82 ครั้ง
- ค่าเฉลี่ยการส่งบอลสำเร็จต่อการเล่น 90 นาที อยู่ที่ 84.41 ครั้ง
หากดูจากเพียงเฉพาะสถิตินี้ จะเห็นได้ว่า ค่าเฉลี่ยสถิติการถล่มประตูต่อการเล่น 90 นาทีมากที่สุดเป็นของซานโช และกองหน้าตัวเป้าอย่าง เอดิสัน คาวานี
ทีนี้หากนำสถิติของซานโชไปเปรียบเทียบกับกองหน้าที่ฉีกไปเล่นริมเส้นเกือบตลอดทั้งฤดูกาลที่ผ่านมา อย่าง แรชฟอร์ด กรีนวูด และมาร์ซิยาล ก็ยังพบว่า ซานโชทำได้ดีกว่าทั้ง 3 คน ทั้งในแง่ของการเลี้ยงกินตัว และการ Assists ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของบรรดานักเตะในตำแหน่ง "ปีก" อยู่ดี
ฉะนั้น ไม่ว่า โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ จะจับซานโชไปอยู่ตำแหน่งใดในเกมรุก ไม่ว่าจะปีก หรือกองหน้า ซานโชก็น่าจะเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ ได้อย่างไม่มีปัญหาแน่นอน
ใครจะอยู่ ใครจะไป หลังการทุ่มเม็ดเงินถึง 73 ล้านปอนด์ เป็นค่าตัวซานโช?
"ความเปลี่ยนแปลง" โดยเฉพาะ "ความเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ" เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกสโมสร โดยเฉพาะกับสโมสรใหญ่ๆ เช่น แมนยูฯ
ในเมื่อมีการทุ่มเงินก้อนโต (มากๆ) แม้ในยามที่ยุคโควิดระบาดจนทำให้การหาเงินฝืดเคือง การเร่งหาเงินชดเชยฟ่อนธนบัตรที่เสียไป ไม่มีอะไรง่ายไปกว่า "การกำจัดส่วนเกิน" ในเมื่อแผงเกมรุกมีมากมายถึง 5 คน (นี่ยังไม่นับดาวรุ่งรอโตที่น่าสนใจ อย่าง แดเนียล เจมส์ หรืออาหมัด ดิยัลโล อีก 2 คนด้วยนะ)
คำถาม คือ ใครน่าเป็นห่วงที่สุด?
คาวานี (34 ปี) แม้อายุมากที่สุดในกลุ่ม แต่เพิ่งได้รับการต่อสัญญาออกไปอีก 1 ปี ความเฉียบคมในการทำประตู และการมีจมูกสัญชาตญาณดาวยิงอย่างเต็มเปี่ยม ยังคงเหมาะสมๆ ในกรณีถูกปล่อยลงไปหาประตูในยามวิกฤติ ฉะนั้น โอกาสอยู่ต่อยังมีสูง (มาก)
ส่วนแรชฟอร์ดแทบไม่ต้องเป็นห่วงตำแหน่งตัวจริง ไม่ว่าจะเป็นหน้าเป้า ริมเส้นซ้ายหรือขวา เล่นได้หมดอยู่แล้วไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ขณะที่ กรีนวูด คือ นักเตะดาวรุ่งที่แมนยูฯ สุดหวงแหน ยิงได้เฉียบขาดทั้งขาซ้ายและขวา จนนึกว่า "ฮอตชอต" อลัน เชียร์เรอร์ กลับชาติมาเกิด ฉะนั้น "โอกาสไป" แทบไม่มี
ฉะนั้น คนที่น่าเป็นห่วง คือ อองโตนี มาร์ซิยาล ซึ่งฟอร์มกำลังตกแบบรูดมหาราชเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ผสมผสานเข้ากับอาการบาดเจ็บที่รบกวนอยู่เนืองๆ การขายในยามที่ชื่อ "ยังได้ราคา" ดูแล้วน่าจะเป็น "ทางออก" ที่สมเหตุสมผล เพื่อชดเชยการใช้เงินก้อนโตที่สุดแล้ว
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โฉมใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร?
การคาดการณ์ของสื่อชื่อดังในอังกฤษหลายแห่ง มองว่า "แผนการเล่นใหม่" เพื่อต้อนรับการมาของซานโช
แผน A ระบบการเล่น 4-3-3
- ผู้รักษาประตู ดีน เฮนเดอร์สัน
- กองหลัง อารอน วาน-บิสซากา, วิคเตอร์ ลินเดเลิฟ, แฮร์รี แม็คไกวร์, ลุค ชอว์
- กองกลาง สกอต แม็คโทมิเนย์, บรูโน เฟอร์นันเดส, พอล ป็อกบา
- กองหน้า เจดอน ซานโช, เอดิสัน คาวานี, มาร์คัส แรชฟอร์ด
จับซานโชไปเล่นเป็นปีกขวา ตำแหน่งที่เจ้าตัวถนัดมากที่สุด และทำได้ดีมากที่สุดในช่วงระหว่างการค้าแข้งในบุนเดสลีกา การกระชากลากเลื้อย สร้างเกมรุกมาจากริมเส้น หรือแม้กระทั่งเปิดบอลจากด้านข้าง คือ จุดเด่นที่สุดของปีกผู้นี้
ฉะนั้น แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลังจากขาดหายไปของปีกอาชีพแบบดั้งเดิมประจำถิ่นโอลด์แทรฟฟอร์ดมาช้านาน นับตั้งแต่หมดยุคของเดวิด เบคแคม และคริสเตียโน โรนัลโด ในวันนี้ สาวกปิศาจแดงกำลังจะได้หมายเลข 7 แห่งตำนานคนใหม่เสียที!
แผน B ระบบการเล่น 4-3-3
ทั้งตัวผู้เล่นและระบบการเล่น แทบจะเหมือนกับแผน A เพียงแต่โยก "ซานโช" ไปเล่นเป็น "ปีกซ้าย" เพื่อเปิดทางให้ "กรีนวูด" ลงไปเล่นเป็น "ปีกขวา" แล้วดึงเอา "แรชฟอร์ด" ลงไปนั่งสำรอง
ที่ผ่านมาแม้ ซานโชจะถนัดเล่นขวา แต่การถูกสับเปลี่ยนไปเล่นทางซ้ายอยู่บ้าง เจ้าตัวก็ยังทำได้ดีในสมัยที่เล่นกับดอร์ทมุนด์ นอกจากนี้ การไปเล่นทางซ้าย โดยใช้เท้าขวากระชากตัดเข้าด้านใน จะเป็นการเปิดพื้นที่ริมเส้นด้านซ้ายให้ลุค ชอว์ ซึ่งในฤดูกาลที่ผ่านมา กลับมาโชว์ฟอร์มได้เปล่งปลั่งอีกครั้ง สามารถเติมเกมรุกได้สะดวกโยธินมากขึ้นอีกด้วย
แผน C ระบบการเล่น 4-3-3
- ผู้รักษาประตู ดีน เฮนเดอร์สัน
- กองหลัง อารอน วาน-บิสซากา, วิคเตอร์ ลินเดเลิฟ, แฮร์รี แม็คไกวร์, ลุค ชอว์
- กองกลาง สกอต แม็คโทมิเนย์, เจดอน ซานโช, บรูโน เฟอร์นันเดส
- กองหน้า เมสัน กรีนวูด, เอดิสัน คาวานี, มาร์คัส แรชฟอร์ด
จับซานโชลงไปเล่นเป็นกลางรุกแบบเพลย์เมกเกอร์ พร้อมกับถอยบรูโน เฟอร์นันเดส ลงไปยืนต่ำลงหน่อย และให้สกอต แม็คโทมิเนย์ ทำหน้าที่พลแบกหามเกมรับทั้งหมด เพื่อให้แนวหน้าไม่เสียทั้งกรีนวูดและแรชฟอร์ดออกไปข้างสนาม เรียกว่าแผนนี้ แมนยูฯ จะรุกเข้าทำประตูแบบกระชากไส้เลยก็ว่าได้ (หากเป็นจริง)
แต่ที่น่าสนใจ คือ ระบบนี้ พอล ป็อกบา จะยอมรับได้ไหมที่จะต้องนั่งสำรอง (ในกรณีที่ไม่ย้ายทีม) รวมถึงหมายเลข 10 ที่กำลังเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของทีมในยามนี้ อย่าง บรูโน เฟอร์นันเดส จะยอมลงไปเล่นต่ำแบบนั้นได้จริงๆ หรือ?
การกระหน่ำทุ่มเงินครั้งใหญ่นี้ เป็นย่างก้าวที่ "น่าจับตา" อย่างที่สุดของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในรอบหลายปีเลยก็ว่าได้ (หากไม่นับการทุ่มเงินซื้อป็อกบาก่อนหน้านี้) เพราะนั่นหมายถึง พวกเขาแสดงให้เห็นแล้วว่า "จริงจัง" แค่ไหนกับการท้าชิงกับเพื่อนบ้านผู้น่ารำคาญ อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่กำลังใหญ่โตคับเกาะอังกฤษมากขึ้นทุกวันๆ (ต้องไม่ลืมด้วยนะว่ายังมีคู่รักคู่แค้นอย่างลิเวอร์พูลที่พร้อมร่วมลงชิงชัย)
เพราะการทุ่มเงินเสริมทัพอย่างน่ากลัวเพื่อหวังยกระดับทีมแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ (นี่ยังไม่นับรวมกับกระแสข่าวพร้อมทุ่มซื้อแฮร์รี เคน อีกคนนะ) ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า "ผลลัพธ์" ที่ทุกคน "ต้องการ" จาก โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ในฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง คือ "แชมป์พรีเมียร์ลีก" หรือ "แชมเปียนส์ลีก" เท่านั้น! ฉะนั้น หากยังทำไม่ได้ ก็ตัวใครตัวมัน!.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ:
- เบื้องหลัง "โรนัลโด" ขยับโค้ก เขย่าหุ้นน้ำดำ สู่ปรากฏการณ์สะเทือนโลก
- หิวเงิน กระหายอำนาจ ผูกขาดฟุตบอล เบื้องหลังผุด "ซูเปอร์ลีก" ก่อนวิมานล่ม
- "สตีเวน เจอร์ราร์ด" กับ 3 ปี การซ่อมสร้างแชมป์ให้ "เรนเจอร์ส"
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ-อัตราไม่พึงประสงค์
- ถึงคิววัคซีนไฟเซอร์ หลัง อย. รับรอง เผยผลวิจัยข้อดี-อาการไม่พึงประสงค์