"Greatest Threat"
"ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"
คำจำกัดความสั้นๆ แต่แฝงเร้นไปด้วยความน่าหวาดหวั่นจากปากของ "แอนโทนี เฟาซี" (Anthony Fauci) ผอ.สถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติสหรัฐฯ และหัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำทำเนียบขาว ต่อภัยคุกคามที่มีชื่อรหัส B.1.617.2 หรือ "ไวรัสสายพันธุ์เดลตา" (อินเดีย)

และ "เจ้าภัยคุกคามที่แสนยิ่งใหญ่นี้" ยังทำเอานายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ยอมรับด้วยว่า "อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการจำกัดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศ"

แล้วสายพันธุ์เดลตาอันตรายมากแค่ไหน?

"ประชาชนยังไม่ควรรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว พวกเราทุกคนยังต้องป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเข้มงวดกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมต่อไป นั่นเป็นเพราะวัคซีนเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่เชื้อในพื้นที่ชุมชนได้!" ดร.มารีแองเจลา ซีเมา (Mariangela Simao) ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยอมรับหลังสายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงปลายปี 2020 ปัจจุบันได้แพร่ระบาดไปใน 92 ประเทศทั่วโลกแล้ว ณ เวลานี้

แถมหนึ่งในจำนวนนั้น คือ ประเทศอิสราเอล ประเทศที่มีค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก (หากเทียบสัดส่วนจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีน)

โดยรายงานอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล พบว่า มากกว่า 90% ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา นอกจากนี้ อิทธิฤทธิ์ของมันยังทำให้ผู้ติดเชื้อรายวันของอิสราเอลที่เคยอยู่ในระดับ "หลักสิบ" มาเกือบตลอดเดือนมิถุนายน จู่ๆ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็พุ่งทะลุเกิน 200 คน! อีกด้วย (ล่าสุด 29 มิ.ย. 64 อิสราเอลมีผู้ติดเชื้อรายวัน 290 คน)

...

*หมายเหตุ: ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฉีดวัคซีน

เป็นเหตุให้รัฐบาลอิสราเอลต้องรีบออกมาตรการบังคับให้ชาวอิสราเอลกลับมาสวมหน้ากากในที่สาธารณะ (อีกครั้ง) รวมถึงพิจารณาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่อาจจะต้องเพิ่มมากขึ้น หลังเพิ่งผ่อนปรนมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่อยู่ในภาวะล็อกดาวน์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ดร.ไมค์ ไรอัน (Mike Ryan) ผู้อำนวยการบริหารโปรแกรมฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก กลับให้คำจำกัดความที่แลดู "น่าสะพรึงกลัว" มากกว่าบรรทัดด้านบนที่ "คุณ" เพิ่งผ่านสายตามาเมื่อสักครู่ว่า

"แม้จะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน แต่ข้อมูลจากการวิจัย ณ ปัจจุบัน บ่งชี้ว่า สายพันธ์ุเดลตา สามารถก่อให้เกิดอาการได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งนั่นเท่ากับผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีร่างกายอ่อนแอ (มีโรคร่วม) มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะป่วยอย่างรุนแรงถึงขั้นนอนในโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้ในกรณีที่ติดเชื้อ"

หรือ...หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้ "คุณ" ยังนึกภาพไม่ออกว่า สายพันธุ์เดลตาน่าหวาดหวั่นขนาดไหน "เรา" ลองไปรับฟังความเห็นจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ที่กำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเจ้าไวรัสสายพันธุ์นี้กันดู

"พบการติดเชื้อของผู้ป่วยใหม่รายวัน จากเชื้อสายพันธุ์เดลตาในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% และในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาจากเดิมที่มีสัดส่วนการติดเชื้อเพียง 10% เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และจากการศึกษาล่าสุด สายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ถึง 40-60% หนำซ้ำยังติดต่อกันได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่กำเนิดมาจากประเทศจีนอีกด้วย"

*หมายเหตุ: ล่าสุด ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564 สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อรายวัน 11,427 คน เสียชีวิต 294 ศพ (แต่โดยรวมแล้วสถานการณ์เริ่มดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้าที่จะมีการระดมฉีดวัคซีน ซึ่งเคยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดถึง 305,079 คน ในเดือนมกราคม)

และแทบไม่ต่างสถานการณ์ในสหรัฐฯ เมื่อสายพันธุ์เดลตาได้เข้าไปอาละวาดในสหราชอาณาจักร ดินแดนที่กำลังเริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ หลังการระดมฉีดวัคซีนอย่างหนักหน่วง

...

ล่าสุด มีรายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหราชอาณาจักรเกินกว่า 60% เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา และปัจจุบัน สายพันธุ์เดลตาได้ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟาที่ถูกพบในสหราชอาณาจักรก่อนหน้านี้ไปเรียบร้อยแล้วด้วย

*หมายเหตุ: ล่าสุด ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564 สหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อรายวัน 20,479 คน เสียชีวิต 23 ศพ (แต่โดยรวมแล้วสถานการณ์เริ่มดีขึ้นหลังมีการระดมฉีดวัคซีนขนานใหญ่ เพราะในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเคยสูงสุดถึง 67,803 คน)

แล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลตาในประเทศอินเดียเป็นอย่างไร?

ก่อนที่ "เรา" จะไปกันต่อ...หากใครยังไม่ทราบ ปัจจุบันอินเดียใช้...

1. วัคซีนโควิชีลด์ (Covishield) หรือวัคซีนที่อยู่ภายใต้ใบอนุญาตจากบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งอินเดียเป็นฐานการผลิตใหญ่

2. วัคซีนโควาซิน (Covaxin) ที่อินเดียพัฒนาขึ้นเอง

3. วัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ของสถาบันกามาเลยา (Gamaleya Institute) แห่งประเทศรัสเซีย

...

โดยทั้ง 3 ชนิดนี้ถูกใช้เป็นหลักในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่ามีสายพันธุ์เดลตาอาละวาดอยู่อย่างหนัก

*หมายเหตุ: อินเดียเพิ่งอนุมัติใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินชนิดที่ 4 คือ วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา!

โดยหากนับตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดในประเทศอินเดีย เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่เคยทะยานเป็นยอดแหลมสูงถึง 414,433 คน ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 และที่ยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดอยู่ที่ 4,896 ศพ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564

แต่หลังจากการเร่งระดมฉีดวัคซีนชนิดปูพรมทั่วประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันได้ค่อยๆ ลดลงตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา โดยสิ้นสุดวันที่ 29 มิถุนายน 2564 อินเดียมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 45,699 คน หรือลดลงเกือบ 11 เท่า! จากยอดการติดเชื้อรายวันสูงสุด ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 816 คนนั้น เท่ากับลดลงไปเกือบ 16 เท่า! จากยอดผู้เสียชีวิตสูงสุด

อะไรคือ กุญแจสำคัญในการจำกัดวงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในประเทศอินเดีย?

...

ตามรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอินเดียในรอบสัปดาห์ล่าสุด ฉบับที่ 74 ขององค์การอนามัยโลก (สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 64)

อินเดียฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับพลเมืองไปแล้ว 274,013,600 คน และในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด (ตามรายงานฉบับนี้) ฉีดไปได้มากถึง 2,742,630 คน!

ในขณะที่ ชาวอินเดียที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อยู่ที่ 58,840,927 คน และในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด (ตามรายงานฉบับนี้) ฉีดไปได้มากถึง 909,353 คน!

ทำให้รวมแล้วมีชาวอินเดียได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มไปแล้วทั้งสิ้น 332,854,527 คน จากจำนวนประชากร 1,300 ล้านคน ในขณะที่ ยอดการฉีดวัคซีนในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด (ตามรายงานฉบับนี้) อยู่ที่ 3,651,983 คน!

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหากนำมาคิดเป็นสัดส่วนของจำนวนประชากรจะเท่ากับว่ามีชาวอินเดียที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเพียงประมาณ 22% ส่วนผู้ที่ได้รับครบทั้ง 2 เข็มจะอยู่ที่เพียงประมาณ 4% ของจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคนเท่านั้น แต่จำนวนการฉีดวัคซีนต่อวันกลับเป็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อเป็นอย่างยิ่ง

เพราะล่าสุด รัฐบาลอินเดียได้สั่งเพิ่มการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจาก 3 ล้านโดสต่อวัน เป็น 6 ล้านโดสต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อให้เท่าทันกับการแพร่ระบาดแล้ว

วัคซีนที่อินเดียใช้ในโลกจริง มีประสิทธิภาพมากแค่ไหนกับสายพันธุ์เดลตา?

ดร.ซุมยา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) นักวิทยาศาสตร์อินเดียประจำองค์การอนามัยโลก ให้สัมภาษณ์กับ เดอะอินเดีย เอ็กซ์เพลส (The Indian Express) ว่า การฉีดวัคซีนโควิชีลด์ (Covishield) หรือวัคซีนที่อยู่ภายใต้ใบอนุญาตจากบริษัทแอสตราเซเนกาเพียงเข็มเดียว ให้ประสิทธิภาพในการต้านทาน หรือการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากฤทธิ์ของสายพันธุ์เดลตาได้มากกว่า 70%

ในขณะที่ สื่อในประเทศอินเดียหลายแห่งรายงานโดยอ้างผลการวิเคราะห์ของ สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NIH ที่ระบุว่า วัคซีนโควาซิน ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) ร่วมกับสถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติอินเดีย หรือ NIV (National Institute of Virology) และสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งประเทศอินเดีย หรือ ICMR (Indian Council of Medical Research) นั้น จากผลการศึกษาซีรั่มในเลือดของคนที่ได้รับวัคซีนโควาซินครบ 2 เข็ม แสดงให้เห็นว่า วัคซีนได้ไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อต้านเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 สายพันธุ์ B.1.1.7 (อัลฟา) และ B.1.617.2 (เดลตา) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยวัคซีนโควาซิน ประกอบด้วยชิ้นส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดโรคของ SARS-CoV-2 แต่ชิ้นส่วนนี้ยังสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อไวรัส โดยผลการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 2 บ่งชี้ชัดเจนว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและร่างกายสามารถทนได้โดยไม่มีปฏิกิริยาต่อวัคซีน ในขณะที่ ผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 น่าจะเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ในปลายปีนี้

*หมายเหตุ: อินเดียอนุมัติใช้วัคซีนโควาซินในกรณีฉุกเฉินตั้งแต่หลังเสร็จสิ้นการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2

ด้าน นายบัลรัม ภควา (Balram Bhargava) ผู้อำนวยการสภาวิจัยทางการแพทย์อินเดีย (Indian Council of Medical Research) หรือ ICMR ยืนยันว่า วัคซีนโควาซินมีประสิทธิภาพในการต้านทานได้ทั้งสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา นอกจากนี้ หากเทียบเคียงกับวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์แล้ว

สำหรับสายพันธุ์อัลฟา ทำให้ระดับแอนติบอดีลดลงเมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมในคนที่ฉีดโควาซิน 2.5 เท่า ส่วนในคนที่ฉีดวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์ลดลง 2 เท่า

ส่วนสายพันธุ์เดลตา ทำให้ระดับแอนติบอดีลดลงเมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมในคนที่ฉีดวัคซีนโควาซิน 3 เท่า ส่วนในคนที่ฉีดวัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์ลดลง 7 เท่า

ภัยคุกคามตัวใหม่ "เดลตาพลัส" (Delta Plus)?

ณ เวลานี้ นักวิทยาศาสตร์อินเดียกำลังเฝ้าจับตาภัยคุกคามตัวใหม่ที่มีชื่อว่า B.1.617.2.1 หรือ "เดลตาพลัส" (Delta Plus) อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นกังวลว่า มันอาจแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่า "สายพันธุ์เดลตา" ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดคลื่นการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 บนดินแดนภารตะ และกำลังทำให้หลายๆ ประเทศต้องพบกับฝันร้ายในเวลานี้

อะไรคือ สายพันธุ์เดลตาพลัส และมันน่ากังวลมากแค่ไหน?

เดลตาพลัส เป็นผลมาจากการที่สายพันธุ์เดลตากลายพันธุ์ในโปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) ที่เกิดขึ้นเหมือนกับโปรตีนส่วนหนามซึ่งพบใน B.1.351 หรือ สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้)

โดย ณ ปัจจุบัน (สิ้นสุด 29 มิ.ย. 64) มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเดลตาพลัสที่ได้รับการยืนยันแล้วประมาณ 200 คน และเสียชีวิตแล้ว 1 ศพ ใน 11 ประเทศ ประกอบด้วย แคนาดา อินเดีย ญี่ปุ่น เนปาล โปแลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และตุรกี

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก หรือในประเทศอินเดียเอง ก็ยังไม่สามารถระบุให้ชัดเจนลงไปได้ว่า "สายพันธุ์เดลตาพลัส" จะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้รุนแรงและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เท่าที่มีการพบในปัจจุบันหรือไม่?

หากแต่สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ จนถึงปัจจุบัน ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งทำให้ปัจจุบันมีสายพันธุ์ต่างๆ ถึงประมาณ 160 สายพันธุ์ทั่วโลกเข้าให้แล้ว และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ...

"การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ โดยมากจะทำให้ไวรัสโคโรนาสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ รวมถึงมักจะทำให้สามารถแพร่กระจายเชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้รวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย และสายพันธุ์เดลตานั้น องค์การอนามัยโลกยอมรับว่า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายเชื้อได้มากที่สุดชนิดหนึ่งเสียด้วย"

ฉะนั้น นับจากนี้เป็นต้นไป ชาวโลกคงจะต้องเฝ้ารอรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของ "สายพันธุ์เดลตาพลัส" อย่างใกล้ชิด ชนิดไม่ให้คลาดสายตา!

กราฟิก: Jutaphun Sooksamphun

ข่าวน่าสนใจ: