ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้... ยักษ์ใหญ่แห่งดินแดนตะวันออกเช่น "จีน" เข้ามามีบทบาทภายในประเทศไทยของเราอย่างมาก ไม่ว่าจะซ้ายหัน หรือขวาหัน ก็มักจะพบเห็นได้ไม่ยากไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม สมกับประโยคเด็ดที่หลายๆ คนพูดติดปาก ได้ยินติดหูว่า "ไทย-จีน...พี่น้องกัน"

ซึ่ง ณ เวลานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนก็ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 46 ปี แน่นอนว่า บทบาทของ "จีน" ในเวลานั้นกับเวลานี้ย่อมมีหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลง ยิ่งในยุคที่มี "เศรษฐกิจดิจิทัล" เป็นตัวนำด้วยแล้ว...ก็ยิ่งน่าจับตามอง

แต่การเข้ามามี "บทบาท" ของ "จีน" ในประเทศไทย ไม่ได้มีภาพของความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นเพียงอย่างเดียว หลายคนเกิดความกังวลลึกๆ และตั้งคำถามกับตัวเองว่า "หรือเรากำลังจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ 'พญามังกร' ที่กำลังกางปีกเหนือดินแดนตะวันออกนี้ในไม่ช้า?"

มองสัมพันธ์ "ไทย-จีน" ผ่านตัวเลข!

อันดับ 1 คู่ค้าสำคัญของไทย ณ เวลานี้ จะเป็นใครไปไม่ได้หากไม่ใช่ "จีน" ที่ยืนหนึ่งยาวนานมาตั้งแต่ปี 2556 จากมูลค่าการค้า 1.98 ล้านล้านบาทในปีนั้น พุ่งมาสู่ 2.49 ล้านล้านบาท ในปี 2563

...

เหนียวแน่นมาจนถึงปี 2564
*ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.)
- มูลค่าการค้า 1.25 ล้านล้านบาท
- ไทยส่งออกจีน 4.51 แสนล้านบาท
- ไทยนำเข้าจีน 7.95 แสนล้านบาท
- ไทยขาดดุลจีน 3.44 แสนล้านบาท

3 อันดับสินค้าส่งออกไปจีน ปี 2564
1) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง-แห้ง 6.33 หมื่นล้านบาท
2) เม็ดพลาสติก 3.83 หมื่นล้านบาท
3) ผลิตภัณฑ์ยาง 3.72 หมื่นล้านบาท

3 อันดับสินค้านำเข้าจากจีน ปี 2564
1) เครื่องจักรไฟฟ้า-ส่วนประกอบ 9.88 หมื่นล้านบาท
2) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 8.53 หมื่นล้านบาท
3) เครื่องจักรกล-ส่วนประกอบ 7.84 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวในช่วงปี 2562 เรียกได้ว่าเป็น "ปีทอง!" ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่แหนลากกระเป๋าบินลัดฟ้ามาเที่ยวไทยมากกว่า 39.8 ล้านคน และในปีนั้นก็อย่างที่ "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" คิด... นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทยมากที่สุด คือ "นักท่องเที่ยวจีน" ที่สูงเกือบ 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 27.63% สร้างเม็ดเงิน 3.95 แสนล้านบาท

สำหรับ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2564 นี้ ที่ประเทศไทยเผชิญมรสุมวิกฤติโควิด-19 พบ "นักท่องเที่ยวจีน" เดินทางเข้าไทยเพียง 2,668 คนเท่านั้น เป็นรองสหราชอาณาจักร (2,833 คน), เยอรมนี (3,066 คน) และสหรัฐอเมริกา (4,478 คน)

ในแง่การลงทุน จีนก็ไม่น้อยหน้า...เป็นหนึ่งใน 3 ประเทศ ที่มีการลงทุนในไทยมากที่สุด ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 โดยอยู่อันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้

แต่ที่ดูจะทำให้คนไทยรู้สึกหวาดหวั่นมากที่สุด เห็นจะเป็นการเข้ามารุกในพื้นที่แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ที่หากกดเข้าไปไม่ว่าแอปพลิเคชันไหน...ก็จะพบเห็น "ร้านค้า" ที่มีแหล่งที่ตั้ง "ต่างประเทศ" อยู่เต็มไปหมด และเกือบทั้งหมดนั้นมาจาก "จีน"

หรือแม้ความบันเทิงเบาสมองก็เห็นได้ว่า การกลับมาของ "ซีรีส์จีน" ในประเทศไทยครั้งนี้สร้าง "อิทธิพล" ไม่แพ้ในอดีตเลยทีเดียว

และไม่ต้องพูดถึงปัจจุบัน กับวิกฤติสาธารณสุขครั้งใหญ่ของโลกอย่าง "โควิด-19" ที่ "จีน" เองก็เข้ามามีบทบาทในแง่การช่วยเหลือทาง "วัคซีน" ทั้งการบริจาคและจัดจำหน่ายวัคซีนซิโนแวค รวมถึงวัคซีนซิโนฟาร์ม (จำหน่ายอย่างเดียว)

...

การคืบคลานของ "จีน" ที่เข้ามาทุกทิศทุกทางในห้วงเวลานี้ ย่อมสร้างความกังวลให้กับหลายๆ คนอยู่ไม่น้อย จนเกิด "คำถาม" ที่ว่า "แล้วไทยควรจะทำอย่างไรไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลพญามังกรเช่นจีน?"

ในวาระ "46 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน" นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ จึงขอเปิดมุมมองที่น่าสนใจจาก นายปริญญ์ พาณิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย มาฝาก "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" เพื่อเป็น "คำตอบ" สำหรับคำถามที่ว่านั้น

หนทางหลบหลีกเงาปีก "พญามังกร"

ประธานาธิบดีจีน
ประธานาธิบดีจีน "สี จิ้นผิง"

"เราต้องมองจีน แล้วแปลงจีนให้เป็นโอกาส อย่ามองว่าเขาเป็นคู่แข่งเรา อย่ามองว่าเขาเป็นศัตรูเรา หรือเราต้องกลัวเขา"

นายปริญญ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย (ปชป.) เกริ่นพร้อมถามคำถามให้ชวนคิดตามว่า กรณีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย คุณคิดว่า "คนที่ทำเงินมากที่สุดคือใคร?"

...

คำตอบที่ผุดออกมาในหัวคุณผู้อ่านอาจจะนึกไปถึงบรรดาธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจการบินต่างๆ หรือแม้แต่บรรดาธุรกิจนำเที่ยว แต่ "คำตอบปริญญ์" กลับเป็นเว็บไซต์ booking.com และเว็บไซต์ Agoda

ซึ่งคำตอบที่เอ่ยถึง booking.com และ Agoda นั่นบ่งบอกนัยที่เกี่ยวเนื่องกับคำถามตั้งต้น ที่ "ปริญญ์" ต้องการชี้ให้เห็นว่า คนที่ทำเงินมากที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 2 รายนั้น "ไม่ใช่บริษัทจีน" โดย booking.com เป็นบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ และ Agoda ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่สิงคโปร์ ก็เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน คือ Booking Holdings Inc. กลายเป็นบริษัทที่ให้บริการจองที่พักออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ปริญญ์ อธิบายง่ายๆ จากภาพที่เกิดขึ้นว่า แพลตฟอร์มอีโคโนมี (Economy) หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยแพลตฟอร์มใหญ่ๆ เข้ามาในประเทศไทยหมดแล้ว (นั่นหมายถึง...ไม่ใช่เฉพาะแค่จีน!)

"สื่อ (Media) ทุกวันนี้ใครคุมครับ อำนาจการตลาด อำนาจสื่ออยู่ในมือใครครับ อเมริกาก็ว่าได้ใช่ไหมครับ ตั้งแต่เฟซบุ๊ก (Facebook), กูเกิล (Google) ไปจนยูทูบ (YouTube) ล้วนเป็นบริษัทอเมริกัน"

...

หรือแม้แต่ในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก G7 มุมมองของ "หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย" ก็ชี้ให้เห็นว่า วาระการประชุมหลักที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ "โจ ไบเดน" ต่อสู้ คือ การป้องกันไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกาโดนผลกระทบ เขาปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในสหภาพยุโรป (อียู) ที่ก็มีการพูดเพื่อต่อสู้ในการคุ้มครองบริษัทยุโรป

"เราอาจจะกลัวจีน เข้าใจ ผมเข้าใจว่า เรามีความกังวลที่จีนจะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น แต่เราต้องบาลานซ์ (สร้างสมดุล) ให้ดี"

"ปริญญ์" ชี้ให้มองมุมกว้างว่า ยักษ์ใหญ่ที่มาจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมเทคโนโลยีทันสมัย ที่ไม่เลือกแม้กระทั่งชาติ สีผิว เพศ หรืออุดมการณ์ (Idology) ทางการเมือง หรือความคิดเห็นทางการเมือง เหล่านี้ถาโถมเข้ามาอย่างไร้พรมแดนแล้ว เพราะฉะนั้นต้องปรับ Mindset (กรอบความคิด) ที่ดีว่า เรากำลังจะต้องบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคในเชิงการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุคดิจิทัล

"ผมไม่เถียงว่า อาลีบาบา (Alibaba) และเจดีดอทคอม (JD.com) เข้ามามีบทบาท บางคนอาจจะบอกว่ามาทุ่มตลาดไหม บางคนอาจจะบอกว่าอาจจะมีสินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันกับเอสเอ็มอี (SME) บ้านเรา แต่จริงๆ มีแพลตฟอร์มหลายชาติที่เข้ามา Airbnb ไม่ต้องพูดถึง ไม่ได้ถูกกฎหมายในการก่อสร้างโรงแรม แต่ Airbnb ก็เปิดโรงแรมมากกว่า มีห้องให้คนเช่า ให้คนใช้อยู่ มากกว่าหลายๆ บริษัท เพราะฉะนั้นเราต้องลองคิดแล้วเปิดใจให้ดีว่า เราควรบริหารจัดการตรงนี้อย่างไร เพราะไม่ใช่แค่ว่าต้องกลัวจีนหรือบริษัทจีน"

คำตอบที่แท้จริงของประเด็นนี้ในมุมมอง "ปริญญ์" คือว่า เราจะบริหารจัดการเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไร ทำงานแบบแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ซึ่งสำหรับแพลตฟอร์มใหญ่ๆ นั้น บางบริษัทไม่จ่ายภาษี หรือบางบริษัทที่จ่ายก็จ่ายน้อยมาก

ทั้งนี้ "สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย" ประมาณการเม็ดเงินในปี 2563 ว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) ครองเม็ดเงินสูงสุดราว 7 พันล้านบาท รองลงมา คือ ยูทูบ (YouTube) กว่า 4 พันล้านบาท

เพราะฉะนั้น "ปริญญ์" จึงมองว่า ภารกิจของภาครัฐที่แท้จริง คือ ต้องเดินไปให้เกิดความเป็นธรรมในการที่จะจัดการการบริหารจัดเก็บภาษี ซึ่งกำลังจะเกิดแล้ว เพราะ e-Business Tax ผ่านไปแล้ว อาจจะเก็บภาษีนิติบุคคลไหม

"กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์กรณีการทุ่มตลาดในอนาคต ไม่ใช่แค่เหล็กอย่างเดียวแล้วที่จะมาทุ่มตลาด แต่จะมีสินค้ามหาศาลอีกเยอะแยะมากที่จะมา..."

จากมุมมองข้างต้น...ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า หากไทยไม่อยากตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน หรือแม้แต่ชาติใด เราก็ควรต้องแข็งแรง ต้องแข็งแกร่ง ซึ่งเราอาจจะต้องปฏิรูปการทำงานในหลายๆ ส่วน เพราะที่ผ่านมาอาจยอมรับว่า เราไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ "ดิจิทัล" เท่าที่ควร หลังจากที่เราฟื้นจากโควิด-19 ไม่ใช่แค่เดิน แต่ต้องวิ่งได้ทันที เพราะการแข่งขันของโลกปัจจุบันเป็นอีกระดับหนึ่งแล้ว ตัวเราเองต้องยอมรับ!.

กราฟิก: Jutaphun Sooksamphun

ข่าวน่าสนใจ:

ข้อมูลอ้างอิง:

  • รายการค้าไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
  • อันดับนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว
  • สถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา