สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ล่าสุดในประเทศเวียดนาม (สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย. 64)

จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจากรายงานอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการขับเคลื่อนแห่งชาติเพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของเวียดนามในรอบสัปดาห์ล่าสุด พบว่า
วันที่ 15 มิถุนายน 64 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 402 คน เสียชีวิต 2 ศพ
วันที่ 16 มิถุนายน 64 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 423 คน
วันที่ 17 มิถุนายน 64 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 515 คน
วันที่ 18 มิถุนายน 64 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 264 คน เสียชีวิต 1 ศพ
วันที่ 19 มิถุนายน 64 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 486 คน เสียชีวิต 2 ศพ
วันที่ 20 มิถุนายน 64 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 311 คน เสียชีวิต 2 ศพ

ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 13,258 คน เสียชีวิตสะสมรวม 66 ศพ (สิ้นสุด 20 มิ.ย.64)

ล่าสุด นครโฮจิมินห์ประกาศใช้ 10 มาตรการที่ยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดมากขึ้นแล้ว เช่น

1. ระงับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทั้งในเฉพาะพื้นที่หรือข้ามจังหวัด รวมถึงแท็กซี่ชั่วคราว

...

2. ห้ามรวมตัวกันนอกเคหสถานตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป

3. การออกจากเคหสถานให้ทำเฉพาะเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนที่เมืองดานัง สถานที่ตากอากาศชื่อดัง มีคำสั่งปิดชายหาดและห้ามนั่งกินอาหารในร้าน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนเช่นกัน

เหตุใดเวียดนามจึงต้องยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19?

หากนับตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว (ปี 2563) จนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคมปีนี้ (ปี 2564) ตัวเลขการติดเชื้อรายวันของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำ ไม่เกิน 100 คนต่อวันมาโดยตลอด

แต่แล้วเมื่อพบว่า มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ในช่วงปลายเดือนเมษายน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เพราะการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดนี้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรายวันพุ่งขึ้นจากหลักสิบสู่หลักร้อยก่อนจะทะยานขึ้นหลัก 400-500 คนต่อวัน จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมทะลุเกิน 10,000 คน ในพื้นที่ 30 จาก 63 เมืองทั่วประเทศ แถมในจำนวนดังกล่าวเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเกิน 75%!

และทั้งหมดที่ "คุณ" เพิ่งผ่านสายตาไป คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ล่าสุดในประเทศเวียดนาม ประเทศที่ก่อนหน้านี้ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากจากนานาชาติในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี (เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ทั้งๆ ที่เวียดนามมีพรมแดนติดกับประเทศจีนเหยียดยาวถึง 1,300 กิโลเมตร รวมถึงตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนต่างสะบักสะบอมจากพิษโควิด-19 แต่เวียดนามกลับเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ +2%!

*หมายเหตุ: ในช่วงระยะเวลา 5 ปีก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ +6-7% มาโดยตลอด

แต่แล้ว...การถลำลำพองกับตัวเลขการติดเชื้อรายวันในระดับต่ำมายาวนาน จนกระทั่ง "ละเลยในการเร่งรีบจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน" เมื่อภัยร้ายคืบคลานเข้ามาอีกครั้งในช่วงฤดูร้อน (ซึ่งจากข้อมูลเดิม ฤดูร้อนน่าจะช่วยให้การแพร่ระบาดลดน้อยลงได้) ทุกอย่างก็แทบจะสายเกินไปแล้ว!

อะไรคือ ความพลาดพลั้งของเวียดนาม?

ก่อนที่จะไปกันต่อ "เรา" ต้องไปดูตัวเลขนี้กันก่อน

ปัจจุบัน ประเทศเวียดนามอนุมัติให้ใช้วัคซีน 4 ชนิด ประกอบด้วย (สิ้นสุด ณ วันที่ 21 มิ.ย.64)

...

1. แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ใน 115 ประเทศ (เวียดนามอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 64)

2. สปุตนิกวี (Sputnik V) ปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ใน 68 ประเทศ (เวียดนามอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64)

3. ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ใน 53 ประเทศ (เวียดนามอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64)

4. ไฟเซอร์ (Pfizer) ปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ใน 89 ประเทศ (เวียดนามอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 64)

ขณะที่ ปริมาณการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองชาวเวียดนามจากจำนวนประชากร 97 ล้านคน ชาวเวียดนามฉีดวัคซีนรวมแล้ว 2.36 ล้านคน หรือคิดเป็น 2.31% ของจำนวนประชากร หรือเท่ากับ ทุกๆ 100 คนจะมีผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 2.42 คน (สิ้นสุด ณ วันที่ 21 มิ.ย. 64)

และหากใครยังไม่ทราบ เวียดนามเพิ่งเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองของตัวเองอย่างจริงจังไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง!

...

เป้าหมายที่ต้องปีนป่าย จัดหาวัคซีน 150 ล้านโดส ภายในปีนี้?

ผ่านสายตามาถึงบรรทัดนี้จะเห็นได้ว่า อัตราส่วนเฉลี่ยการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองของเวียดนามอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยที่ต่ำมากๆ อย่างไรก็ดี เมื่อพบการแพร่ระบาดระลอกใหม่ แถมยังมีตัวแปรสำคัญ คือ การปรากฏตัวของสายพันธุ์เดลตา

ทำให้เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามจึงเร่งรัดจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนทันที ด้วยการสั่งซื้อวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ 31 ล้านโดส ซึ่งปริมาณดังกล่าวจะถูกนำมารวมเข้ากับวัคซีนบริษัท แอสตราเซเนกา ทั้งจากโครงการ Covax 38.9 ล้านโดส และซื้อเองเพิ่มอีก 30 ล้านโดส รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาคอีก 1 ล้านโดส (16 มิ.ย. 64) จัดซื้อวัคซีนสปุตนิกวี 50-150 ล้านโดส และล่าสุดได้รับบริจาควัคซีนซิโนฟาร์มจากรัฐบาลจีน 500,000 โดส (21 มิ.ย. 64)

ส่วนที่กำลังติดต่อเพื่อขอซื้อเพิ่มเติม ก็มีทั้งวัคซีนของบริษัท โมเดอร์นา, จอนห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, บริษัท เคียวร์วัค (CureVac) ประเทศเยอรมนี และบริษัท Generium JSC ของประเทศรัสเซีย

ทำให้คาดการณ์รวมๆ แล้ว ภายในสิ้นปีนี้เวียดนาม (อาจ) มีปริมาณวัคซีนรวมมากถึง 150 ล้านโดส สำหรับการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับพลเมืองของตัวเอง!

แต่การเร่งจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเวียดนามมีประเด็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาอยู่ไม่ใช่น้อย?

...

เบื้องต้น แผนการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลเวียดนามวางเป้าหมายเอาไว้ คือ การจัดหาวัคซีนรวม 150 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอสำหรับการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองเกิน 70%-75% สำหรับการบรรลุเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายในปีนี้นั้น มีการประเมินว่า อาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 25 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 34,290 ล้านบาท!

ซึ่งตัวเลข 25 ล้านล้านดองนี้ กระทรวงการคลังของเวียดนามยอมรับว่า สามารถเจียดงบประมาณ "ที่สุดแสนจะตึงมือ" ในตอนนี้ จากการที่ต้องทุ่มเทเงินจำนวนมากสำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้วจำนวนมากโข เพื่อนำมาใช้สำหรับการซื้อวัคซีน "ที่ในเวลานี้ทั้งหาได้ยากและราคาแสนแพง" ได้เพียง 14 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 19,200 ล้านบาทเท่านั้น!

คำถาม คือ แล้วเงินก้อนโตที่เหลืออีกถึงประมาณ 11 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 15,090 ล้านบาท รัฐบาลเวียดนามจะทำอย่างไร?

คำตอบ รัฐบาลเวียดนามใช้วิธีจัดตั้งกองทุนสาธารณะ เพื่อเปิดรับบริจาคเงินทุนสำหรับการจัดหาและวิจัยวัคซีนขึ้นอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนที่ว่านี้ นอกจากจะได้รับเงินบริจาคจากชาวเวียดนามแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนอย่างจากบรรดาเอกชนต่างชาติผู้ใจบุญ ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชนต่างชาติทั้งเอเชียและตะวันตกที่แห่ไปลงทุนในเวียดนามอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง!

โดยเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังการเปิดตัว กระทรวงการคลังของเวียดนามแจ้งว่า ยอดบริจาคกองทุนดังกล่าวทะลุ 4.79 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 6,540 ล้านบาทเข้าให้แล้ว!

*หมายเหตุ: วันที่ 21 มิ.ย. กระทรวงการคลังเวียดนามแจ้งว่า ยอดบริจาคกองทุนดังกล่าวอยู่ที่ 5.97 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 8,227 ล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ต้องการแล้ว!

ความพยายามจัดหาวัคซีน 150 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ของรัฐบาลเวียดนาม มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?

ก่อนที่จะไปกันต่อ "เรา" ไปดูกันก่อนสิว่า หากนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวียดนาม ได้รับการส่งมอบวัคซีนแล้วเท่าไร?

จากรายงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเวียดนาม ระบุว่า...
24 ก.พ. เวียดนาม ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาลอตแรก จำนวน 117,600 โดส
17 พ.ค. เวียดนาม ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา จากโครงการ Covax 1.7 ล้านโดส
26 พ.ค. เวียดนาม ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 288,000 ล้านโดส
17 มิ.ย. เวียดนาม ได้รับบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกา จากรัฐบาลญี่ปุ่น 966,320 โดส
21 มิ.ย. เวียดนาม ได้รับบริจาควัคซีนซิโนฟาร์ม จากรัฐบาลจีน 500,00 โดส

รวมวัคซีนที่เวียดนามได้รับการส่งมอบแล้ว (สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย.64) คือ 3,571,920 โดส หรือเท่ากับเพียง 2.38% ของปริมาณวัคซีน 150 ล้านโดส ที่เวียดนามต้องการภายในปีนี้เท่านั้น!

"Fighting the pandemic is like fighting the enemy"

"ต่อสู้กับโรคระบาดให้เหมือนกับต่อสู้กับอริราชศัตรู"

นี่คือ คำปลุกจิตวิญญาณเพื่อนร่วมชาติในการต่อสู้กับมหันตภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ ของ ฟาม มินห์ จิญ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม

แล้ว "ต่อสู้กับโรคระบาดให้เหมือนกับต่อสู้กับอริราชศัตรู" นั้น ต้องทำอย่างไร?

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม "ฟาม มินห์ จิญ"

การดิ้นรนอย่างสุดชีวิตในการจัดหาวัคซีนของเวียดนามเป็นอะไรที่น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ "ยุทธวิธีการทูต" เพื่อเฟ้นหาวัคซีนที่ในโมงยามนี้ทั้งหาได้ยากและราคาแสนแพง นั่นเป็นเพราะ "ตลาดยังเป็นของผู้ขาย"

ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ของเวียดนาม ส่งจดหมายถึงมหามิตรอย่าง ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ คือ หวังให้รัสเซียให้ความสำคัญของเวียดนาม ทั้งในแง่การให้เข้าถึงเวชภัณฑ์ และร่วมมือกับเวียดนามในการผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนต้านโควิด-19 ต่อไปในอนาคต

ด้าน นายกรัฐมนตรีฟาม มินห์ จิญ ได้โทรศัพท์สายตรงถึงผู้นำของหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รวมถึงยังได้เดินทางไปพบกับเอกอัครราชทูตและผู้แทนจากหลายประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ โดยตรง เพื่อขอความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 รวมถึงการแบ่งปันเทคโนโลยีให้มากขึ้นอีกด้วย

ในขณะที่ ทุกกระทรวงทบวงกรมโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ยังได้รับคำสั่งตรงจากนายกรัฐมนตรี ฟาม มินห์ จิญ ว่าต้องทำงานให้ "หนักมากยิ่งขึ้น" เพื่อประสานเร่งจัดหาวัคซีนมาให้ได้ตามเป้าหมาย 150 ล้านโดส

เรียกว่า... "ทุกองคาพยพของเวียดนาม" ถูกกระตุกอย่างจริงจัง สำหรับการทำงานหนักเพื่อให้คนเวียดนามส่วนใหญ่มีวัคซีนฉีดให้ได้ภายในปีนี้!

ว่าแต่...อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ไม่รู้ว่า ทุกองคาพยพของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ กันถูกไล่บี้ให้ทำงานหนักอย่างสุดชีวิต เพื่อเฟ้นหาวัคซีนให้กับพลเมืองของตัวเอง เหมือนประเทศเวียดนามบ้างไหมหนอ?

กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: