- การทำเหมือง "บิตคอยน์" บริโภคพลังงานมากกว่าบางประเทศเสียอีก เช่น สวีเดน, อาร์เจนตินา และปากีสถาน
- ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้ของคริปโต สาธยายไว้ว่า "คริปโตเคอร์เรนซี" จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ หากว่า "ผลตอบแทน" ที่ได้รับสูงกว่า "หุ้นสามัญ"
- ราคา "คริปโต" ขึ้นๆ ลงๆ อย่างรุนแรง ในช่วงวิกฤติโควิด-19 อย่าง "บิตคอยน์" ลดลงอย่างมากถึง 53%
ช่วงนี้กระแส "คริปโตเคอร์เรนซี" กำลังได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น นักลงทุนแห่แหนลงตลาดจนแน่นขนัด แต่ใช่ว่าจะ "ฟันกำไร" กันได้ทุกคน บางคนผิดจังหวะก็แทบ "กระเป๋าแฟบ" เลยทีเดียว
"ผู้เขียน" จึงขอพา "คุณผู้อ่าน" ไปเจาะลึก "ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้ของคริปโต" กับ "ปีเตอร์ เบเรซิน" (Peter Berezin) หัวหน้านักกลยุทธ์ระดับโลก แห่ง BCA Research ผู้นำด้านการให้บริการการวิจัยการลงทุนระดับโลกและคำแนะนำกลยุทธ์การลงทุน มานับตั้งแต่ปี 2492 ที่จะวิเคราะห์หาคำตอบว่า ทำไมคนถึงถือครอง "คริปโต" ถ้า "ผลตอบแทน" และ "ราคา" เป็น "เงินกระดาษ"
‣ "คริปโตเคอร์เรนซี" ไม่สามารถ "มี" ทั้งหมดนั้นได้
...
เชื่อว่า นักลงทุนที่ติดตาม "ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี" มาตลอด คงจะเข้าใจคำว่า "บล็อกเชน ไตรเลมมา" (Blockchain Trilemma) กันเป็นอย่างดี โดยคำว่า "ไตรเลมมา" (Trilemma) หมายถึงทางเลือก 3 คุณสมบัติที่ไม่สามารถ "มี" ทั้งหมดนั้นได้ ซึ่ง "เบเรซิน" ให้มุมมองว่า จาก 3 คุณสมบัติ ได้แก่ การกระจายอำนาจ, ความปลอดภัย และความสามารถในการขยายตัวเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น ในส่วน "คริปโตเคอร์เรนซี" จะสามารถครองได้แค่ 2 คุณสมบัติเท่านั้น
ตัวอย่างเช่น คุณสมบัติของเหรียญยอดฮิตอย่าง "บิตคอยน์" (Bitcoin) ที่มี 1) การกระจายอำนาจสูง และ 2) ความปลอดภัยที่สมเหตุสมผล ขณะที่ การควบคุมของบล็อกเชน "บิตคอยน์" ที่กระจายไปทั่วจุดเชื่อมต่อ หรือที่เรียกว่า "โหนด" (Node) ของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องนับพันๆ จุดนั้น ก็พบว่าเป็นไปด้วยความเชื่องช้ามากๆ
"เครือข่ายบิตคอยน์มีกระบวนการน้อยมาก 5 ธุรกรรมต่อวินาที เทียบกับเครือข่ายวีซ่า (Visa) ที่มีมากกว่า 20,000 ธุรกรรมต่อวินาที"
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยสำหรับการทำธุรกรรมของ "บิตคอยน์" อยู่ที่ราวๆ 30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 938 บาท (*อัตราแลกเปลี่ยน ณ 27 พ.ค. 64: 31.28 บาท) อีกทั้งปริศนาอันซับซ้อนที่อัลกอริทึมของ "บิตคอยน์" ต้องแก้ปัญหาเพื่อตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ มีค่าความเข้มการใช้พลังงานแบบเต็มพิกัด แล้ว "คุณผู้อ่าน" รู้ไหมว่า "การทำเหมืองบิตคอยน์บริโภคพลังงานมากเท่าไร?"
ก่อนจะอธิบายส่วนนี้ "เบเรซิน" ติดตลกด้วยการย้อนถามไปยัง "เจ้าเหรียญคริปโต" เหล่านี้ว่า "How Dare You!" (กล้าดียังไง!)
"การทำเหมืองบิตคอยน์บริโภคพลังงานมากกว่าบางประเทศเสียอีก เช่น สวีเดน, อาร์เจนตินา และปากีสถาน โดยประมาณ 2 ใน 3 ของการทำเหมืองบิตคอยน์ ปัจจุบันเกิดขึ้นใน 'จีน' และบ่อยครั้งมีการใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยการเผาไหม้ถ่านหิน"
ขณะเดียวกัน "อีเธอร์เลียม" (Ethereum) ก็ไม่น้อยหน้า จากการบริโภคพลังงานประมาณ 8.11 เทระวัตต์-ชั่วโมงต่อปี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ก็พุ่งขึ้นมาเป็น 51 เทระวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เทียบเท่ากับการบริโภคพลังงานของ "โปรตุเกส" และสร้างรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) เทียบเท่า "ศรีลังกา"
จนมีการเรียกร้องว่า "บิตคอยน์" และคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ควรเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คงจะดีกว่า ซึ่งแม้ว่า "เบเรซิน" จะมองว่า ข้อคิดเห็นที่ว่านั้นไม่ค่อยตรงประเด็นสักเท่าไร แต่ก็ยกตัวอย่างอธิบายให้เห็นภาพ ดังนี้
"กลไกขุดบิตคอยน์ หรือที่เรียกว่า Proof of Work ที่ทำให้บิตคอยน์มีความแข็งแกร่ง ถูกเรียกร้องให้นำทรัพยากรที่แท้จริงมาใช้"
...
สมมติว่า การทำเหมือง "บิตคอยน์" ทั้งหมดใช้พลังงานฟรีจากแสงอาทิตย์ ก็อาจลดต้นทุนของการดำเนินการ "Mining Rig" หรือเครื่องขุดเหรียญดิจิทัลที่มีการ์ดจอมากกว่า 1 ตัว และอาจจูงใจให้มีคนตบเท้าเข้ามาทำเหมืองมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า นั่นก็จะทำให้อัลกอริทึม "บิตคอยน์" ก็จะดำเนินการด้วยความยากลำบากไม่ต่างกับการทำเหมืองของเหรียญอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากพลังการคำนวณของคนทำเหมืองทั้งหมดมีการเติบโตด้วยเช่นกัน
"การแข่งขันการคำนวณที่รุนแรงมาก ทำให้คนทำเหมืองต้องซื้อเซิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้น ด้วยสเปกที่มีประสิทธิภาพมากพอจะไล่ให้ทันคู่แข่ง และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ก็ไม่ได้งอกออกมาจากต้นไม้ หากย้อนดูบทความของ Bloomberg เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นได้ว่า การใช้ทรัพยากรที่แท้จริงเพื่อผลิตคริปโตเคอร์เรนซี แค่เฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ของ 'ไต้หวัน' ก็ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากกว่า 'เจเนอรัล มอเตอร์ (General Motors) เกือบ 50%"
ด้วยผลลัพธ์ที่ว่านั้น จึงมีการหารือถึงแหล่งพลังงานในการเปลี่ยน "อีเธอร์เลียม" ไปสู่กลไกการทำงานของระบบตรวจสอบและบันทึกธุรกรรม หรือที่เรียกว่า Proof of Stake ที่อาจกระตุ้นการทำธุรกรรมอย่างรุนแรง
...
ทั้งนี้ "เบเรซิน" ขยายความของ Proof of Work (PoW) และ Proof of Stake (PoS) ว่าเป็นวิธีการที่ใช้รับประกันความครบถ้วนของบัญชีแยกประเภทของเหรียญดิจิทัลต่างๆ หรือการบันทึกธุรกรรม โดย PoW จะสัมฤทธิผลเมื่อคนทำเหมืองแก้ไขปริศนาทางคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้เวลา ขณะที่ PoS จะสัมฤทธิผลผ่านกลไกที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ทุกคนที่ "ล็อก" เหรียญที่ตัวเองเป็นเจ้าของ สามารถสุ่มเลือกเพื่อเพิ่มธุรกรรมใหม่ในบัญชีแยกประเภท โดยการ "ล็อก" หรือเก็บสะสมเหรียญเพิ่มขึ้น มีความน่าจะเป็นไปได้ของการถูกเลือกสูงกว่า
แต่ก็มีการอ้างเหตุผลว่า Proof of Stake อาจลดค่าความปลอดภัย ซึ่งกำลังพิจารณา Double-Spend Attacks ที่บุคคลหนึ่งโอนเหรียญไปให้อีกบุคคลหนึ่ง แต่ขณะนั้นก็มีการจ่ายเหรียญก่อนที่ธุรกรรมจะสมบูรณ์ เสมือนการจ่าย 2 ที
มาถึงคำถามที่ว่า "ทำไมคนถึงเลือกถือครองคริปโต ถ้าผลตอบแทนและราคาเป็นเงินกระดาษ?"
"เบเรซิน" วิเคราะห์คำตอบผ่าน "ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้ของคริปโต" หรือที่เรียกว่า The Crypto Impossibility Theorem
‣ "ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้" ของ "คริปโต"
...
"เบเรซิน" เกริ่นก่อนเข้าสู่ "ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้ของคริปโต" ว่าจะไม่ "ขุด" คุณสมบัติพื้นฐานของ "บล็อกเชน ไตรเลมมา" ไปไกลกว่านี้ นอกจากจะบอกว่า มันได้สร้าง "ความท้าทาย" ที่แสนตึงเครียดไปยัง "คริปโตเคอร์เรนซี" ทุกส่วนแล้ว
"เราเรียกอย่างเกินความเป็นจริงว่า ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้ของคริปโต (The Crypto Impossibility Theorem) ที่สาธยายไว้ว่า คริปโตเคอร์เรนซีสามารถมีชีวิตอยู่ได้ หากแค่มีผลตอบแทนสูงกว่า 'หุ้นสามัญ' (Equity)"
"เบเรซิน" ยอมรับว่า พวกเขามีการถกเถียงถึง "มูลค่า" กันพอสมควร และจากการสันนิษฐานว่า "คริปโต" สามารถก่อให้เกิดผลตอบแทนในทรัพย์สินส่วนเกิน (Excess Equity) ก็ค่อนข้างแน่ใจว่าจะเป็น "เท็จ"
"นับตั้งแต่กำหนดว่า สินทรัพย์คริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่ากำไรในเงินบำเหน็จ นี่ก็บอกเป็นนัยแล้วว่า มูลค่าที่นักลงทุนในปัจจุบันผูกมัดคริปโตเป็นภาพลวงตา"
มอง "ทฤษฎี" ในทางปฏิบัติ ก็ทำให้นึกถึง "เงิน" ที่สนองความต้องการ 3 ฟังก์ชัน กล่าวคือ ในฐานะหน่วยมาตรฐานทางการเงิน, ในฐานะตัวกลางการแลกเปลี่ยน และสะสมมูลค่า ดังนั้น ก็สามารถขีด "มาตรฐานทางการเงิน" ทิ้งจากรายการความเป็นไปได้การใช้ประโยชน์ของ "คริปโต"
แล้ว "ตัวกลางการแลกเปลี่ยน" ล่ะ?
"เบเรซิน" วิเคราะห์ว่า พวกเราสามารถคาดการณ์ฉากทัศน์ของราคาสินค้าและบริการลงบัญชีในรูปแบบ "ดอลลาร์สหรัฐ" และอาจโอนมูลค่าเท่ากับ "คริปโตเคอร์เรนซี" เพื่อซื้อพวกมัน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามอย่างชัดเจนว่า "ทำไมคนถึงเลือกถือครองคริปโต ถ้าผลตอบแทนและราคาเป็นเงินกระดาษ เช่น ดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร?" คำตอบเป็นไปได้แค่ว่า ทุกคนต้องการเห็น "คริปโตเคอร์เรนซี" ปฏิบัติหน้าที่ฟังก์ชันที่ 3 ของเงิน หรือก็คือ ดำรงสถานะ "สะสมมูลค่า"
คำถามต่อมา คือ ทุกคนจะเข้าถือครอง "คริปโตเคอร์เรนซี" หาก "ราคา" ปกติมีการเคลื่อนไหวไซด์เวย์ (Sideway)?
"เบเรซิน" ยอมรับว่า นี่ยังเป็น "ข้อกังขา" ซึ่ง "คริปโตเคอร์เรนซี" เสี่ยงมากๆ โดยบัญชีของ "คริปโตเคอร์เรนซี" ไม่ทำให้เกิดการประกันเงินฝาก
ทั้งนี้ ราคา "คริปโต" ในช่วงวิกฤติโควิด-19 มีการขึ้นๆ ลงๆ อย่างรุนแรง หรือลดลงกว่า 53% แต่ S&P 500 หรือดัชนีตลาดหุ้นที่ติดตามหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 500 แห่ง ร่วง 34% และขณะที่ "คริปโตเคอร์เรนซี" ประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ในทางกลับกัน "ดอลลาร์สหรัฐ" มีอิทธิพลทางการค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ส่วน "ราคาทองคำ" ลดลงเพียงเล็กน้อย
สมรรถภาพ "จุดสูงสุด" จนถึง "จุดต่ำสุด" (%) ในช่วงการขายหลักทรัพย์ (Sell-Off) ปี 2564
- ดอลลาร์สหรัฐ : 3.7%
- ทองคำ : -0.7%
- S&P 500 : -34%
- บิตคอยน์ (BTC) : -53%
- ริปเปิล (XRP) : -58%
- อีเธอร์เลียม (ETH) : -62%
- ไลท์คอยน์ (LTC) : -63%
(*หมายเหตุ: S&P 500 นับตั้งแต่ 19 ก.พ. - 23 มี.ค., บิตคอยน์ นับตั้งแต่ 14 ก.พ. - 12 มี.ค.)
ดังนั้น ในการจูงใจคนให้ถือครอง "คริปโต" คือ ความคาดหวังว่า "กำไรส่วนทุน" (Capital Gain) จะมหาศาลเพียงพอเพื่อชดเชยค่าความผันผวนแฝงใน "สกุล" ที่กำลังเป็นเจ้าของ
การเข้ามาของ "ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้" ของ "คริปโต" ทำให้มีมุมมองว่า "คริปโตเคอร์เรนซีแตกต่างจากหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล แต่คริปโตเคอร์เรนซีไม่ได้จัดหารายได้ให้กับผู้ถือครอง ดังนั้น หากคริปโตเสี่ยงมากกว่าหุ้น ราคาของคริปโตจะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาของหุ้น เพื่อรับประกันว่า นักลงทุนยังเป็นกลางระหว่าง 2 สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ"
ในทางปฏิบัติ "เบเรซิน" วิเคราะห์ว่า วิกฤติโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า "คริปโต" เสี่ยงมากกว่า "หุ้น" ดังนั้น การคาดหวังว่า ผลตอบแทนบน "คริปโต" จะมากกว่าที่มีการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นใน "ราคาหุ้น" โดยมากกว่า "อัตราเงินปันผลตอบแทน" (Dividend Yield) นั้น ปัญหาสำหรับผู้ถือครอง "คริปโต" คือ สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ทางคณิตศาสตร์
"หากมีการควบคุมการเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ทวีคูณล่วงเวลา ผลตอบแทนหุ้นจะมากเกินกว่าการเติบโตปกติของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน"
ผลตอบแทนหุ้นและการเติบโตของ GDP
ปี 2493-2543
- กำไร S&P (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 6.3%
- อัตราผลตอบแทน S&P (ค่าเฉลี่ย) : 3.7%
- กำไร S&P + อัตราผลตอบแทน S&P : 10.0%
- ผลตอบแทนรวม S&P (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 13.5%
- รายได้ประชาชาติสหรัฐฯ (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 7.5%
ปี 2493-2523
- กำไร S&P (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 6.4%
- อัตราผลตอบแทน S&P (ค่าเฉลี่ย) : 4.0%
- กำไร S&P + อัตราผลตอบแทน S&P : 10.4%
- ผลตอบแทนรวม S&P (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 10.8%
- รายได้ประชาชาติสหรัฐฯ (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 8.0%
ปี 2523-2543
- กำไร S&P (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 6.1%
- อัตราผลตอบแทน S&P (ค่าเฉลี่ย) : 3.3%
- กำไร S&P + อัตราผลตอบแทน S&P : 9.4%
- ผลตอบแทนรวม S&P (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 17.6%
- รายได้ประชาชาติสหรัฐฯ (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 6.7%
ปี 2543-2563
- กำไร S&P (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 3.2%
- อัตราผลตอบแทน S&P (ค่าเฉลี่ย) : 2.0%
- กำไร S&P + อัตราผลตอบแทน S&P : 5.2%
- ผลตอบแทนรวม S&P (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 6.6%
- รายได้ประชาชาติสหรัฐฯ (เติบโตเฉลี่ยต่อปี) : 3.8%
"เพราะฉะนั้น คริปโตจำเป็นต้องเสนอผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้น และหากผลตอบแทนหุ้นที่อย่างน้อยเทียบเท่าการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน ดังนั้น มูลค่าตามราคาตลาดของคริปโตเคอร์เรนซีจะไม่ใช่เพียงแค่จบที่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าหุ้น แต่จะต้องเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าผลรวมรายได้ประชาชาติ"
สำหรับตอนที่ 1 ที่ว่าด้วย "ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้ของคริปโต" นี้ "เบเรซิน" ทิ้งท้ายว่า "ในโลกดิจิทัลที่ผู้คนมีความต้องการเงินน้อยลงเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม ไม่มีเหตุผลที่ดีเพื่อคาดหวังว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้น"
และสำหรับตอนที่ 2 "ผู้เขียน" จะพา "คุณผู้อ่าน" ไปวิเคราะห์กับ "ปีเตอร์ เบเรซิน" อีกครั้งในบทบาทการเป็นทางเลือกแห่งแฟชั่นของ "คริปโตเคอร์เรนซี" ที่ไฉนเลย... รัฐบาลหลายๆ ประเทศถึงไม่ยอมรับและสั่งแบน!.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Sriwan Singha
ข่าวน่าสนใจ:
- "คริปโต" กำลังเย้ายวน เศรษฐี-คนดังป่วน มือสมัครเล่นควรเสี่ยงไหม?
- จำเป็นต้องกู้ 7 แสนล้าน "รัฐบาล" ควรใช้แบบไหน ฝ่าข้อครหาทำ "หนี้ท่วม"
- UPOV 1991 คืออะไร ความกังวล "เกษตรกร" เมื่อไทยจะเข้า CPTPP
- ใกล้ความจริง! คืบหน้าวัคซีน mRNA จุฬาฯ เก็บรักษาง่ายกว่า ไฟเซอร์-โมเดอร์นา
- ไทยน่ากังวล เมื่อ "เศรษฐกิจโลก" ดีขึ้น ดันเหล็กแพง คอนเทนเนอร์ยังวิกฤติ
ข้อมูลอ้างอิง:
- Ethereum Energy Consumption Index by Digiconomist.net
- Cryptocurrencies Fared Badly During Last Year’s Equity Sell-Off by Federal Reserve via BCA Research
- Equity Returns And GDP Growth by Robert Shiller via BCA Research