โควิด-19 (COVID-19) ขุดปัญหา "หยั่งราก" ที่เรื้อรังมายาวนาน บ่งชี้ได้ว่า "ตัวเลข" ที่แต่ละประเทศรายงาน อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ข้อความข้างต้นมาจาก "ข้อมูล" ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ค้นพบจากการลงสำรวจตลอดปี 2563 ที่ประชากรทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติทางสาธารณสุข "โควิด-19"

WHO ค้นพบ "ตัวเลข" อะไรจากการลงสำรวจครั้งนี้?

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทุกประเทศทั่วโลกมีการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสม รวมกันแล้วมากกว่า 82 ล้านราย และการเสียชีวิตรวมกันมากกว่า 1.8 ล้านศพ แต่จากข้อมูลที่ WHO ค้นพบระหว่างการสำรวจ กลับบ่งชี้ประมาณการตัวเลขขั้นต้นได้ว่า ทั่วทั้งโลกอาจมี "ผู้เสียชีวิต" อันเนื่องมาจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม "มากกว่า" ที่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการของแต่ละประเทศรวมกันถึง 1.2 ล้านศพ หรือก็คือ ผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวมกันอาจมีอย่างน้อย 3.3 ล้านศพ!

...

นั่นหมายความว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับ "ปัญหา" ของการนับที่ต่ำกว่าจำนวนจริงอย่างมีนัย

โดย "เงื่อนไข" ที่ทำให้ WHO ประเมินว่า การเสียชีวิตทั่วโลกอันเป็นผลจากโควิด-19 จะมีมากกว่าที่มีการรายงานนั้น มาจากการเทียบ "ตัวเลข" กับการคาดการณ์ภายใต้สถานการณ์ "ปกติ" ที่ไม่ใช่แค่การยืนยันการเสียชีวิตเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น บางประเทศรายงานเพียงการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ที่ปรากฏในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล หรือรายงานการเสียชีวิตเฉพาะประชากรที่มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็น "บวก" ขณะที่อีกหลายประเทศก็ไม่อาจรายงานผลการเสียชีวิตได้อย่างแม่นยำ เพราะระบบข้อมูลทางสุขภาพมีไม่เพียงพอ หรือมีทรัพยากรอย่างจำกัด

จากข้อมูลการสำรวจของ WHO ใน 135 ประเทศทั่วโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พบความน่าสนใจว่า การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 กำลังส่งผลให้การเสียชีวิตจากกรณีอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย

โควิด-19 คร่าชีวิตประชากรที่ไม่ติดเชื้อทางอ้อม?

WHO เน้นย้ำว่า วิกฤติโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับเพียง "วงจร" ของโรคนี้เท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่ "ปัญหาสุขภาพ" อื่นๆ ด้วย เห็นได้จาก "ตัวเลขเสียชีวิต" ด้วยกรณีอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นเพราะการบริการสุขภาพและการให้บริการวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายตามกำหนดปกติเกิด "ภาวะหยุดชะงัก" รวมถึงกรณีที่คนป่วยพยายามแสวงหาการเข้ารับการรักษา และการขาดแคลนกองทุนส่วนบริการที่นอกเหนือจากโควิด-19 ซึ่ง "การหยุดชะงัก" ทั้งหมดนั้นยืดเยื้อยาวนานมากกว่า 1 ปี และพบว่า กว่า 90% ของประเทศเหล่านั้น การบริการสุขภาพที่จำเป็นอยู่ใน "ภาวะหยุดชะงัก" อย่างน้อย 1 อย่าง หรือมากกว่านั้น

ขณะเดียวกัน ภาวะวิกฤติ "โควิด-19" ที่เกิดขึ้นจนทำให้ทั่วทั้งโลกเผชิญความทนทุกข์ทรมาน ก็ทำให้ได้เห็น "ปัญหา" ที่เหมือนเราจะรับรู้กันมาตลอด แต่เป็นเพียงแบบ "ผิวเผิน" โดยไม่ได้ใส่ใจกันมากนัก นั่นคือ "ความไม่เท่าเทียม" ที่ไล่เรียงตั้งแต่รายได้, อายุ, เชื้อชาติ, เพศ และแหล่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

แม้ว่าตลอดที่ผ่านมา เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีของ "สาธารณสุขทั่วโลก" แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประชากรโลกอีกมากมายยังคงเผชิญกับความยุ่งยากอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการคุกคามทางสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี ที่ "หยั่งรากลึก" ในสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังทำให้เห็นว่า ระบบข้อมูลสุขภาพของแต่ละประเทศนั้นมี "ช่องว่าง" อย่างมีนัยสำคัญ

สังเกตได้ว่า ประเทศที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด ต่างเผชิญความท้าทายที่สัมพันธ์กับขีดความสามารถของบุคลากรและการกระจายหน่วยต่างๆ เพื่อรับมือโควิด-19 ที่ "ภารกิจ" ที่ได้รับมากเกินกว่าจะรับไหว อีกทั้ง "ระบบสาธารณสุข" ที่อ่อนแอก็ทำให้เสี่ยงต่ออันตรายทางสุขภาพ กว่าจะดำเนินการส่วนต่างๆ ได้สำเร็จ ก็แสนยากลำบาก หากยังนึกภาพไม่ออก ไม่ต้องมองไปที่ไหนไกล "ประเทศไทย" เราเองก็กำลังประสบกับปัญหาเช่นนั้นอยู่

...

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ผลที่เกิดขึ้นเป็นเพราะประเทศไทยไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่เป็น "วิกฤติสาธารณสุข" ขนาดใหญ่เช่นนี้มาก่อน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า "ชะล่าใจเกินไป" กว่าจะขยับก็จนไวรัสโควิด-19 วิ่งนำกลายพันธุ์ไปหลายสายพันธุ์แล้ว

นับจากนี้จึงเป็น "บทเรียน" ที่สอนให้หลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เข้าใจและเตรียมพร้อมไว้แล้วว่า อนาคตที่จะรักษาเศรษฐกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยได้ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการส่งออกเท่านั้น แต่ยังรวมถึง "อุตสาหกรรมทางสุขภาพ" ด้วย ที่สามารถต่อยอดได้ และไปได้อีกไกลเลยทีเดียว

นอกจากที่ว่ามานี้ WHO ยังพบ "ความแตกต่าง" จากข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับโควิด-19 ที่น่าสนใจเพิ่มอีก นั่นคือ พฤติกรรมการป้องกันโรคนั้น เช่น การเว้นระยะห่างทางกาย, การสวมหน้ากาก และการล้างมือ มีการ "ลดลง" โดยเป็นผลจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

จาก 35 ประเทศรายได้สูง พบว่า 79% ของครอบครัวที่อาศัยรวมกันไม่แออัด พบว่า พวกเขาพยายามเว้นระยะห่างทางกายซึ่งกันและกัน เทียบกับครอบครัวที่อยู่อาศัยกันอย่างแออัด มีเพียงแค่ 65% เท่านั้น

โควิด-19 ส่อทำ "เป้าหมายสุขภาพ" ไปไม่ถึงเส้นชัย

...

หากว่ากันตามจริง ก่อนจะเกิดวิกฤติโควิด-19 กระบวนการบรรลุเป้าหมายสุขภาพระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมาย 3 พันล้าน (Triple Billion Targets) ของ WHO ที่แบ่งเป็น 1) ประชากร 1 พันล้านคนขึ้นไป มีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดีขึ้น, 2) ประชากร 1 พันล้านคนขึ้นไป ได้รับประโยชน์จากการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า และ 3) ประชากร 1 พันล้านคนขึ้นไป ได้รับการคุ้มครองจากภัยคุกคามทางสุขภาพ

จากสถิติอนามัยโลก ปี 2564 แสดงให้เห็นว่า อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดทั่วโลก ปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 66.8 ปี เป็น 73.3 ปี และอายุคาดเฉลี่ยการมีสุขภาพดี ปี 2562 เพิ่มจาก 58.3 ปี เป็น 63.7 ปี

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประชากรโลกจะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวขึ้น แต่นั่นยังไม่น่าพึงพอใจมากนัก เพราะต้องยอมรับว่า "โควิด-19" ปลุกและเตือนเราว่า สุขภาพของเรามีความเสี่ยงเสมอ ซึ่งหนทางที่ WHO ตั้งเป้าไว้ คือ เร่งลด "ช่องว่าง" ที่ว่าเหล่านั้นโดยด่วน

ตัวอย่างเช่น เป้าหมายการใช้ยาสูบลดลง 33% นับตั้งแต่ปี 2543 แต่ความชุกของโรคในกลุ่มผู้ใหญ่ เช่น โรคอ้วน กลับเพิ่มมากขึ้น เมื่อปี 2559 ประชากรในประเทศรายได้สูงอยู่ในภาวะอ้วนเกินไปถึง 1 ใน 4 ขณะที่ประชากรในประเทศรายได้ต่ำก็พบว่า ช่วงปี 2543-2558 อาการความดันโลหิตสูงค่อยๆ เพิ่มขึ้น สวนทางกับภาพรวมทั่วโลกที่ลดลง

...

ขณะเดียวกัน แม้หลายๆ ประเทศจะมีการพัฒนา "สุขภาพถ้วนหน้า" ให้ดีขึ้น รวมถึงการปรับปรุงให้ครอบคลุมการบริการสุขภาพต่างๆ แต่ก็ยังพบว่า "ความไม่เท่าเทียม" ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง รวมถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนกำลังทรุดโทรม โดย WHO รายงานตัวเลขช่วงปี 2543-2558 ว่า มีมากกว่า 10% ของประชากรโลก ใช้เงินในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 13% และเกือบ 3% ของประชากรโลก ใช้เงินดูแลสุขภาพมากกว่า 25%

ทั้งนี้ ทั่วทั้งโลกยังคงมีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการคุ้มครองภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพอย่างเร่งด่วน โดย WHO เองก็พยายามทำเป้าหมายให้สำเร็จด้วยการมุ่งให้ความสนใจกับความมั่นคงทางสุขภาพ เพราะจาก "บทเรียนโควิด-19" สะท้อนให้เห็นผลของการทำงานว่า การทำงานที่เชื่องช้าเป็นผลให้การรับมือโควิด-19 เป็นไปได้ยาก และติดอยู่ในภาวะวิกฤติยืดเยื้อยาวนาน

โดยข้อมูลของ WHO ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ภูมิภาคอเมริกาและยุโรป ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของการรายงานผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลก มีอัตราการติดเชื้อต่อ 1 แสนคน อยู่ที่ 6,114 ราย และเสียชีวิตต่อ 1 แสนคน อยู่ที่ 5,562 ศพ เมื่อแยกย่อยเฉพาะการเสียชีวิตที่เชื่อมโยงโควิด-19 ก็พบว่า 48% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดอยู่ในภูมิภาคอเมริกา และ 1 ใน 3 หรือ 34% อยู่ในภูมิภาคยุโรป ขณะที่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก-เอเชียใต้ จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จนถึงวันที่เก็บข้อมูลนั้น มากกว่า 86% อยู่ในอินเดีย

ที่ว่ามานั้น อธิบายได้ว่า แม้ "วิกฤติโควิด-19" จะสิ้นสุดลงจนกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ แต่สำหรับ "สาธารณสุข" จะต้องดำเนินต่อไป ทั้งการมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมหรือแม้แต่สวัสดิการเพื่อดูแลสุขภาพของประชากรในประเทศ อย่าปล่อยให้ "บทเรียน" สูญเปล่า แล้วเกิด "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย".

ข่าวน่าสนใจ: