"นี่คือ วิกฤติด้านสาธารณสุขของคนทั้งโลก แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะให้ความเชื่อมั่นต่อข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Protections) เป็นอย่างยิ่ง แต่หากจะยุติปัญหาการแพร่ระบาด ควรมีการสนับสนุนในประเด็นการสละสิทธิ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนต้านโควิด-19 ลงชั่วคราว" แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US trade Representative) ประกาศจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ ในระหว่างการประชุมองค์กรการค้าโลก หรือ WTO
"ข้อเสนอให้สละสิทธิ์ในสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ชั่วคราว จะทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายต่างๆ ตามมามากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นทั้งการแย่งชิงวัตถุดิบ มาตรฐานความปลอดภัยในการผลิต และแน่นอน รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนด้วย เพราะในเวลานี้ เราไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดที่มีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA" อัลเบิร์ต บูร์ลา (Albert Bourla) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว CNBC
...
2 วาทะที่แสดงความไม่ลงรอยกันอย่างชัดเจน ในประเด็น "ข้อเรียกร้องเพื่อมวลมนุษยชาติจำนวนกว่า 7,000 ล้านคน" ที่กำลังประสบความทุกข์ยากทุกหย่อมหญ้าจากโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในหลายทศวรรษ
อะไร คือ ที่มาของความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทยาใหญ่เบิ้มอย่าง บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค จนเป็นที่มาของ "วิวาทะ" ยื้อแย่ง "จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งยุคโรคระบาด" ในบรรทัดด้านบนโน่น
*หมายเหตุ: จนถึง ณ ปัจจุบัน (15 พฤษภาคม 2021) คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (Food and Drug Administration) หรือ FDA อนุญาตให้วัคซีนจาก 3 บริษัทเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ฉีดให้กับชาวอเมริกันได้ ซึ่งประกอบด้วย...
1. ไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติอเมริกัน
2. โมเดอร์นา (Moderna) บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติอเมริกัน
3. จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติอเมริกัน
(ปัจจุบัน FDA อนุญาตให้วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กลับมาฉีดให้ชาวอเมริกันได้อีกครั้งแล้ว หลังก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้ระงับใช้ชั่วคราว หลังพบมีกรณีผู้ได้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน)
ใครเป็นผู้เสนอแนวคิดสละสิทธิ์สิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19?
ผู้แทนการค้าของแอฟริกาใต้และอินเดียร่วมกันนำเสนอญัตติดังกล่าวครั้งแรกเข้าสู่วาระการประชุมของ WTO ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2020) ท่ามกลางการสนับสนุนของชาติสมาชิกมากกว่า 100 ประเทศ และข้อเสนอที่ว่านี้มันยังร้อนแรงถึงขนาดสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครตจำนวน 110 คน ได้เข้าชื่อกันส่งหนังสือถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องให้ออกมาสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และนำมาซึ่งวาทะของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ดังที่กล่าวไป
อะไร คือ เหตุผลในการ "สนับสนุน" แนวคิดสละสิทธิ์สิทธิบัตรวัคซีน-19?
...
กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ให้เหตุผลว่า การสละสิทธิ์สิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 จะช่วยให้บรรดาชาติยากจน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องเฝ้ารอวัคซีนอย่างอดทนจากการที่บรรดาประเทศร่ำรวยกวาดต้อนซื้อวัคซีนในปริมาณมหาศาลจนเกินความต้องการของคนในประเทศ สามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
เพราะการสละสิทธิ์ในสิทธิบัตรจะเปิดทางไปสู่การที่บริษัทยาต่างๆจากทั่วทุกมุมโลก สามารถเข้าถึงสูตรและข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการผลิตวัคซีน จนกระทั่งได้ปริมาณที่มากเพียงพอสำหรับการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของชาวโลกในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้
แล้วอะไร คือ เหตุผลของวงการอุตสาหกรรมยาโลกที่ต่างพร้อมใจกัน "ปฏิเสธ" แนวคิดนี้?
"การสละสิทธิ์" ในสิทธิบัตรวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้! นี่คือ คำปฏิเสธอันแข็งแรงของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาโลก
แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
...
สตีเฟน อุมล์ (Stephen Ubl) ประธาน และ CEO ของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical Research and Manufacturers) หรือพรีมา (PReMa) วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างรุนแรงว่า จะทำให้เกิดสับสนเรื่องการทำสัญญาคู่ค้าระหว่างภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังจะเป็นการทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ (Supply chain) เสื่อมถอยลง และที่สำคัญที่สุด คือ อาจทำให้เกิดปัญหา "วัคซีนปลอม" แพร่ระบาดอีกด้วย
หากแต่ผู้ที่ผลิต "วาทะแดกดัน" จนเห็นภาพได้ชัดเจนมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น มิเชล แมคเมอร์รี ฮีธ (Michelle McMurry-Heath) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กรนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology Innovation Organization) หรือ BIO ที่เปรียบเปรยการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า ไม่ต่างอะไรกับการส่งมอบตำราอาหารที่ไม่มีระบุทั้งส่วนผสม วิธีการป้องกัน หรือจำนวนพนักงาน ให้กับบรรดาประเทศที่กำลังขาดแคลน ซึ่งวิธีการแบบนี้ไม่มีทางช่วยผู้คนจำนวนมากที่กำลังรอคอยวัคซีนได้อย่างแน่นอน
และแน่นอน "เรา" ต้องไม่ลืม "คนๆ นี้" ด้วยสิ CEO ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค!
...
โดยนอกจากประโยคเด็ดที่ "คุณ" ได้เห็นในบรรทัดด้านบน ในระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว CNBC แล้ว
อัลเบิร์ต บูร์ลา ยังได้แสดงจุดยืน "คัดค้าน" ข้อเสนอดังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปัจจัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ใช่ปัญหาสำหรับการเร่งผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบและผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ ต่างหาก คือ ปัจจัยที่ทำให้การผลิตวัคซีนเกิดความล่าช้า
"วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ต้องใช้วัตถุดิบและส่วนผสมจำนวนมากมายถึง 280 ชนิด จาก 19 ประเทศทั่วโลก" CEO ของไฟเซอร์ กล่าวย้ำถึงเหตุผลในการคัดค้าน!
ขณะที่ ปัจจัยเรื่อง "ราคา" ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอยู่เนืองๆ ว่า ทำให้ประเทศยากจนยากจะเข้าถึง "วัคซีนไฟเซอร์" นั้น อัลเบิร์ต บูร์ลา ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า
"ภายในปีนี้ (2021) จะมีปริมาณวัคซีนไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านโดส และจะเพิ่มเป็น 3,000 ล้านโดสในปีถัดไป (2022) สำหรับคนทั้งโลก นอกจากนี้ ราคาจะไม่เป็นอุปสรรคอย่างแน่นอน เพราะบรรดากลุ่มประเทศร่ำรวย เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรเลีย จะต้องจ่ายในระดับราคาที่สูง ส่วนประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางจะจ่ายในราคาครึ่งหนึ่งที่กลุ่มประเทศร่ำรวยจ่าย ส่วนบรรดากลุ่มประเทศยากจนจะจ่ายในราคาต้นทุน"
เรียกว่า CEO ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ยืนยันทั้งในเรื่อง "กำลังการผลิต" และ "ราคา" ไม่ใช่ปัญหาอย่างที่ถูกพาดพิงแน่นอน
ว่าแต่...แล้ว "ราคาขาย" ที่ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค แบ่งราคาออกเป็น 3 ระดับที่ว่านี้ มันมีราคาเท่าไร?
ตามรายงานของเว็บไซต์ fiercepharma.com เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2021 ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งซื้อวัคซีนของ บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ในราคา 19.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือประมาณ 611 บาท สำหรับคำสั่งซื้อ 100 ล้านโดสแรก
ในขณะที่ การทำข้อตกลงขายวัคซีนลอตแรกจำนวน 300 ล้านโดส ให้กับอียูนั้น บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ขายในราคา 18.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือประมาณ 592 บาท ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ซึ่งหากอ้างอิงตามรายงานนี้ ราคาวัคซีนต่อคนสำหรับชาวอเมริกันจะอยู่ที่ 39 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือประมาณ 1,221 บาทต่อคน เนื่องจากวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ต้องฉีด 2 เข็ม ส่วนราคาวัคซีนต่อคนของพลเมืองอียูจะอยู่ 37.8 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,183 บาทต่อคน
ฉะนั้น ราคาครึ่งหนึ่งสำหรับกลุ่มประเทศฐานะปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ 2 ที่ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคจะจำหน่ายให้ จึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 18-19 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือประมาณ 563-595 บาทต่อคน เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม
ส่วน "ราคาต้นทุน" ที่จะขายให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น เบื้องต้นยังไม่พบว่า เคยมีการเปิดเผยเรื่องราคาที่ บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ขายให้ใน "ราคาต้นทุน" กับบรรดาประเทศยากจนที่ติดต่อไปขอซื้อแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายสำนักที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน อ้างว่า อิสราเอล ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนสูงที่สุดในโลก (ตามข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค. 2021 อิสราเอลฉีดวัคซีนให้พลเมืองไปแล้ว 10.53 ล้านโดส หรือ 62.75% ของประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส)
และเป็นหนึ่งในประเทศที่กวาดซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ไปได้มากที่สุด ได้ซื้อวัคซีนของ บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ในราคา 30 เหรียญสหรัฐต่อโดส หรือประมาณ 940 บาท (รวมฉีด 2 เข็มต่อคน จะเท่ากับประมาณ 1,880 บาท) ในช่วงอลหม่านการแพร่ระบาด และการแก่งแย่งกันสั่งซื้อวัคซีนของบรรดากลุ่มประเทศร่ำรวย
*หมายเหตุ: ตามรายงานของเว็บไซต์ fiercepharma.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข่าวสารในวงการอุตสาหกรรมยาและเภสัชภัณฑ์โลก ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จ่ายเงินซื้อวัคซีนของ 4 บริษัท โดยนอกจาก ของ บริษัทไฟเซอร์ ที่ ราคา 19.50 เหรียญสหรัฐต่อโดสแล้ว อีก 3 บริษัท คือ
1. วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา อยู่ที่ราคา 15 เหรียญสหรัฐต่อโดส
2. วัคซีนของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อโดส
3. วัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ FDA แต่รัฐบาลสหรัฐฯ มีเก็บสำรองไว้ในคลังจำนวนหลายสิบล้านโดส มีราคาอยู่ที่ 4 เหรียญสหรัฐต่อโดส
ด้าน บริษัท โมเดอร์นา ผู้ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกันในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 มองอย่างไร?
คำตอบง่ายๆ สั้นๆ จาก สเตฟาน บานเซล (Stephane Bancel) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ของบริษัท โมเดอร์นา ก็ไม่ต่างอะไรกับ "บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค" คือ จะไม่ยอมสละสิทธิ์ในสิทธิบัตรวัคซีนของตัวเองแน่นอน เพราะแม้บริษัทจะยอมทำเช่นนั้น มันก็ไม่ได้ช่วยให้ปริมาณวัคซีนสามารถเพิ่มขึ้นได้ในช่วงระหว่างปี 2021-2022 แต่อย่างใด
"ใครก็ตามที่ต้องการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA จะต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงการควบคุมกระบวนการผลิตให้วัคซีนมีความปลอดภัย จากนั้นยังจะต้องเข้าสู่กระบวนการทดลองทางคลินิกและรวบรวมข้อมูล รวมถึงขั้นตอนการขออนุมัติให้ฉีดวัคซีน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ มันไม่มีทางเกิดขึ้นภายใน 6 หรือ 12 หรือ 18 เดือนแน่นอน" สเตฟาน บานเซล CEO บริษัท โมเดอร์นา กล่าวในระหว่างการแถลงผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้
นอกจากนี้ เหล่าบรรดาบริษัทยาและเภสัชภัณฑ์ทั้งหลายดังที่กล่าวมาตั้งแต่บรรทัดแรกๆ ทั้งหมด ยังพูดเหมือนๆ กันอีกว่า ข้อเสนอการสละสิทธิ์ในสิทธิบัตรวัคซีนต้านโควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหา...
"ไร้ซึ่งแรงจูงใจในการยอมลงทุนเพื่อทำวิจัยผลิตวัคซีน หากเกิดมีโรคร้ายแพร่ระบาด เช่น กรณีโควิด-19 ในครั้งต่อไปอีกด้วย"
ว่าแต่...เหตุใดวัคซีนต้านโควิด-19 จึงมีราคาแตกต่างกัน และเหตุใดวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค จึงสูงกว่าของบริษัทอื่นๆ?
อัลเบิร์ต บูร์ลา CEO ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ตัดสินใจเสี่ยงครั้งสำคัญ ด้วยการไม่ขอรับเงินทุนวิจัยจากโครงการ Operation Warp Speed ของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่หว่านเงินทุนจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับบริษัทยาและบริษัทเวชภัณฑ์เอกชนต่างๆ มากมาย เพื่อดึงเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐในการหาทางร่นระยะเวลาการคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วที่สุด
ซึ่งแน่นอนว่า หากเข้าร่วมกับ Operation Warp Speed แม้จะได้เงินทุนก้อนมหาศาลมาใช้สำหรับการวิจัยวัคซีนก็จริง แต่มันย่อมต้องมีสิ่ง "แลกเปลี่ยน" โดยเฉพาะเงื่อนไข "ราคา" ในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะ "ผู้เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมาก่อน"
อย่างไรก็ดี แม้บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค จะ "ปฏิเสธเงินทุนวิจัย" จาก โครงการ Operation Warp Speed แต่อัลเบิร์ต บูร์ลา มีความชาญฉลาดในแง่ชั้นเชิงของการทำธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง เพราะ "เขา" เลือกเหลี่ยมการทำข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยงบฯ ผลิตวัคซีน 1,950 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 61,000,000,000 บาท สำหรับการผลิตวัคซีน 100 ล้านโดสแรก จากเป้าหมาย 300 ล้านโดส ภายในปี 2021 ในโครงการ Operation Warp Speed แทน!
จากนั้น อัลเบิร์ต บูร์ลา ได้ตัดสินใจนำเงินทุนจำนวนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปลงทุนกับบริษัท ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) Startup สัญชาติเยอรมัน!
และนั่นก็คือ การตัดสินใจที่ถูกต้อง เมื่อ BioNTech สามารถคิดค้นเทคโนโลยี mRNA สร้างวัคซีนต้านโควิด-19 ได้สำเร็จเป็นรายแรกๆ ของโลก!
มองภาพออกแล้วใช่ไหมว่าเพราะเหตุใด บริษัท ไฟเซอร์ จึงสามารถ "เรียกราคาที่เหมาะสม" สำหรับการดำเนินธุรกิจได้ เพราะ "พวกเขา" พูดได้เต็มปากว่า ลงทุนด้วยตัวเองทั้งหมด! ในขณะที่ คู่แข่งอย่าง บริษัท โมเดอร์นา, บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รวมถึงบริษัท แอสตราเซเนกา ล้วนแล้วแต่เข้าแถวรับเงินทุนช่วยเหลือเพื่อการวิจัยจากโครงการ Operation Warp Speed ทั้งสิ้น!
แต่เดี๋ยวก่อน...วัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pifzer-BioNTech) ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนใดๆ จากภายนอกบ้างเลยหรือ?
เป็นความจริงที่ว่า บริษัท Pifzer อาจไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาล แต่กับ BioNTech ไม่น่าจะกล่าวเช่นนั้นได้ นั่นเป็นเพราะกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยสหพันธรัฐเยอรมนี (Federal Ministry of Education and Research) หรือ BMBF เคยให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปของเงินทุน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วงปีแรกของการก่อตั้ง BioNTech
นอกจากนี้ BioNTech เองก็ยังเคยแถลงยอมรับด้วยว่า ได้รับเงินทุนช่วยเหลือจำนวนกว่า 50 ล้านยูโร จากสหภาพยุโรปในช่วงที่กำลังก่อร่างสร้างตัวด้วย ตามรายงานของสำนักข่าว Deutsche Welle หรือ DW ของประเทศเยอรมนี เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา!
พร้อมกันนี้ รายงานชิ้นดังกล่าวของสำนักข่าว Deutsche Welle ยังมีบทสัมภาษณ์ของ โวลฟ์ ดีเธอร์ ลุดวิก (Wolf Dieter Ludwig) คณะกรรมการยาของสมาคมแพทย์เยอรมนี (Drug Commission of the German Medical Association) ที่ระบุว่า...
"ที่ผ่านมา วงการอุตสาหกรรมยามักจะพูดอยู่เสมอๆ ว่า ต้องใช้ต้นทุนสูงมากสำหรับการวิจัยและพัฒนา หากแต่ในความจริง คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมามันก็มีราคาที่สูงมากเช่นกัน และในขณะที่ทั้งโลกกำลังประสบวิกฤติจากการแพร่ระบาด เป้าหมายในการฉีดวัคซีนไม่เพียงแต่อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่มันหมายถึงผู้คนทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่า ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมีความสำคัญน้อยกว่าผลประโยชน์ของคนทั้งโลก ที่กำลังต้องการหลุดพ้นจากวิกฤติโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้น"
หาก "คุณ" อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว อยากรู้ว่า "ผลประโยชน์" ที่ได้รับกลับมามัน "งดงาม" และ "คุ้มค่า" กับก้อนเงินที่ทุ่มเทลงไป สำหรับการคิดค้นและผลิตวัคซีนมากน้อยแค่ไหน กรุณาติดตามอ่านได้ต่อในวันพรุ่งนี้!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวน่าสนใจ:
- เบื้องหลังวิกฤติญี่ปุ่น! ระบบล่ม บริหารเหลว วัคซีนค้างสต๊อก 24 ล้านโดส
- สร้างสมดุลอำนาจ เคล็ดลับบริหารวัคซีนโควิด-19 สไตล์รัฐบาลเซอร์เบีย
- ความหวัง "โควาซิน" วัคซีนสู้โควิดสายพันธุ์อินเดีย วิกฤติกระทบแผน Covax
- โอกาสคนไทยฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ดีลตรงรัฐ ปิดทางเอกชน?
- เทียบ 7 วัคซีนโควิด Johnson & Johnson ความหวังที่น่าจับตา