การรวมตัวของกลุ่มทุนขนาดมหึมา เพื่อขับไล่ "เสือนอนกิน" ยื้อแย่งฟ้อนเงินขนาดมหึมาที่ว่ากันว่า อาจจะมีมูลค่าสูงถึง 3,000-4,000 ล้านยูโรต่อปี (หากทำสำเร็จ) ที่ในคราวแรกคาดว่าน่าจะถึงขั้น "คงจะมีใครตายกันไปสักข้าง"

แต่แล้วในที่สุดแล้ว...ภาพการต่อสู้ที่ใครๆ คาดเอาไว้ในหัวว่า มันคงเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เร้าใจ อึกทึกครึกโครม เลือดสาดท่วมจอ ไม่ต่างจากหัวหน้ารีไวล์ใช้เครื่องเคลื่อนย้ายสามมิติเข้ากระชากชิ้นส่วนไททันสัตว์ป่าออกเป็นชิ้นๆ เพื่อล้างแค้นให้ผู้บัญชาการเออร์วิน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว...เรื่องที่ว่านั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นแม้แต่เพียงเล็กน้อย หนำซ้ำ มันกลับถูกตัดจบแบบหนังไทยเอาดื้อๆ

แถมการตัดจบดื้อๆ ที่ว่านี้ "บรรดาผู้ร่วมก่อการกบฏ" ดันเป็นฝ่ายที่ยอม "ศิโรราบ" อย่างว่านอนสอนง่าย แถมยังต้องโค้งคำนับเรียงหน้า พร้อมกล่าวคำว่า "Apologise" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภายในระยะเวลาที่สุดแสนสั้นเพียงไม่ถึง 72 ชั่วโมง หลังประกาศ "ก่อการกบฏ" หลังถูกรุมกระหนาบ ทั้งขู่ทั้งปลอบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอล ฟีฟ่า ยูฟ่า หรือรัฐบาลในทวีปยุโรปหลายๆ ประเทศ

"การผลักดันโปรเจกต์นี้ไปข้างหน้าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากซึ่งการสนับสนุนของแฟนบอล และผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวต่อการกระทำที่ไม่จำเป็นและส่งผลด้านลบในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ด้วย"

จอห์น เฮนรี (John Henry) ประธานสโมสรลิเวอร์พูล

"แม้ผมจะเชื่อมั่นว่า ฟุตบอลในทวีปยุโรปต้องการการพัฒนาที่นำไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว แต่ผมขอยอมรับว่า ซูเปอร์ลีกไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องสำหรับการที่จะเดินหน้าต่อไป"

โจเอล เกลเซอร์ (Joel Glazer) ประธานร่วมของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

...

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายท่านคงรู้แล้วใช่ไหมว่า...ในวันนี้ "เรา" จะมาชวนคุยเรื่องอะไร?

European Super League หรือ ESL แผนการก่อกบฏเพื่อปลดแอกจากสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (European Football Associations) หรือยูฟ่า (UEFA)

สำหรับท่านใดที่อยากทราบว่า ESL คืออะไร สามารถติดตามอ่านข้อมูลที่ "ทีมข่าวกีฬาไทยรัฐ" ทำไว้กันได้

ว่าแต่...ก่อนที่เราจะไปกันต่อ หากใครยังพอจำกันได้ เจ้าของวรรคทองทั้ง 2 ประโยคที่ว่าในบรรทัดด้านบนโน่น เพิ่งร่วมกันก่อเรื่องก่อราวที่คล้ายๆ กับปรากฏการณ์ ESL แถมยังโดนทั้งรุมต้าน เตะรวบสกัดให้แดดิ้นลงกองกับพื้น ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วไม่ต่างกัน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

กับอะไรที่เรียกว่า Project Big Picture ยังจำกันได้ใช่ไหม?

เอาละ! ...ทีนี้ "เรา" ไปสังเคราะห์เรื่องนี้กันทีละประเด็นได้แล้ว

คำถาม อะไรคือสาเหตุของปัญหาที่นำไปสู่การกบฏต่อยูฟ่า?

คำตอบ ประเด็นแรก กองเงินขนาดมหึมามูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ล้านยูโรต่อฤดูกาล (113,570-151,427 ล้านบาท)

ก่อนที่ "การก่อกบฏ" จะจบลงอย่างง่ายดาย มีรายงานข่าวหลุดออกมาว่า 12 สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง European Super League Company มั่นใจว่าจะสามารถเนรมิตเม็ดเงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวได้ จากการทำการตลาดและการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันลีก ESL ของตัวเอง

และทำการตัด "เสือนอนกิน" อย่างยูฟ่า ที่ปัจจุบันนั่งนับเงินอย่างเพลิดเพลินจากการจัดการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกและยูโรปาลีก ออกไปจากสมการ

โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อโฆษณาโลกอย่าง SportBusiness ประเมินว่า 85-90% จากจำนวนเม็ดเงิน 4,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,400-3,600 ล้านยูโร จะได้มาจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด หาก ESL เกิดขึ้นได้จริง

...

ซึ่งเพียงเฉพาะตัวเลข 3,400-3,600 ล้านยูโรต่อฤดูกาลที่ว่านี้ เป็นตัวเลขที่สูงกว่ารายได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกและยูโรปา ลีก ที่เหล่าทีมยักษ์ใหญ่ในยุโรปได้รับส่วนแบ่งจากยูฟ่าในปัจจุบันถึงประมาณ 28-36% ต่อฤดูกาลแล้ว!

ข้อมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกและยูโรปา ลีก ที่ยูฟ่าได้รับในช่วง 3 ฤดูกาลล่าสุด (2018-2021) มีมูลค่ารวม 2,650 ล้านยูโรต่อฤดูกาล โดยคิดเป็น 81.5% ของรายได้ทั้งหมดที่ยูฟ่าได้รับจากการจัดการแข่งขันทั้ง 2 รายการ

ประเด็นที่ 2 ปัญหาการแพร่ระบาดจาก โควิด-19

นอกจากต้องเจ็บช้ำกับรายได้ที่หดหายไปส่วนหนึ่งจากการต้องลงเล่นในสนามที่ว่างเปล่าแล้ว เงินที่ควรได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกและ ยูโรปา ลีก ยังถูกยูฟ่าลดทอนส่วนแบ่งลง จากการที่ยูฟ่าคืนเงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้กับผู้ถือลิขสิทธิ์ หลังการจัดการแข่งขันต้องหยุดชะงักลงจากปัญหาการแพร่ระบาดในช่วงฤดูกาล 2019-2020

แต่ที่น่าจะดูเลวร้ายมากไปกว่านั้น คือ การมองหาช่องทางในการเพิ่มรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของยูฟ่าในสายตาของผู้ร่วมก่อการกบฏทั้ง 12 สโมสรนั้น มันช่างไม่ต่างอะไรกับไดโนเสาร์เต่าล้านปีแม้แต่น้อย เพราะยูฟ่ายังคงมุ่งเรื่องการหารายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่า สื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันนับวันจะมีคนดูและจำนวนสปอนเซอร์มาให้การสนับสนุนน้อยลงๆ ทุกที

...

ซึ่งสวนทางกับเด็กยุค Gen Y และ Gen Z ที่กำลังเติบโตขึ้นทุกขณะ ต่างเอาตัวเข้าไปในโลกการบริโภคสตรีมมิงเต็มรูปแบบแล้ว

และนั่นเอง คือ อีกหนึ่งเหตุผลที่บรรดา 12 สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ESL พยายามหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการก่อกบฏ ภายใต้คำกล่าวอ้างที่ว่า...

การดำเนินการบริหารค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่นับวันจะยิ่งสาละวันเตี้ยลง ซึ่งสวนทางกับเม็ดเงินลงทุนที่แต่ละสโมสรยักษ์ใหญ่ต้องลงทุนในแต่ละฤดูกาล เป็นเหตุให้ความชอบธรรมในการบริหารเชิงพาณิชย์ของยูฟ่าแทบไม่หลงเหลืออยู่อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้เหล่า 12 สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ESL จึงประกาศพร้อมกันเสียงฟังชัด (ก่อนหน้านี้) ว่า พวกเขาควรมีสิทธิในการกำหนดอนาคต รวมถึงตัดสินใจเรื่องกลไกการหารายได้ด้วยตัวเอง มากกว่าที่จะปล่อยให้ยูฟ่าเป็นผู้ผูกขาดอำนาจการตัดสินใจ รวมถึงการค้นหาวิธีการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา เอาไว้แต่เพียงผู้เดียว

โดยเฉพาะในยามที่พิษภัยการแพร่ระบาดโควิด-19 กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การ "หาเงิน" ในโลกฟุตบอลฝืดเคืองเช่นทุกวันนี้

...

คำถาม สโมสรใดอยากให้ ESL เกิดขึ้นมากที่สุด?

หากพิจารณาจากจำนวนสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ESL อย่างเป็นทางการ ทั้ง 12 สโมสร ซึ่งประกอบด้วย

6 สโมสร จากประเทศอังกฤษ อาร์เซนอล เชลซี ลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทอตแนม ฮอตสเปอร์

3 สโมสร จากประเทศสเปน แอตเลติโก มาดริด บาร์เซโลนา เรอัล มาดริด

3 สโมสร จากประเทศอิตาลี เอซี มิลาน อินเตอร์ มิลาน และ ยูเวนตุส

"คุณ" คิดว่าสโมสรใดต้องการให้เกิด ESL มากที่สุด?

คำตอบ 3 สโมสรจากดินแดนรองเท้าบูต เอซี มิลาน อินเตอร์ มิลาน และยูเวนตุส มีแนวโน้มสำหรับความปรารถนาในประเด็นนี้มากที่สุด

เพราะอะไรน่ะหรือ?

คำตอบ มีรายงานว่า มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลยูฟ่าแชมป์เปียนลีกและยูโรปาลีกในประเทศอิตาลี ในฤดูกาล 2021-2024 ลดลงจาก 3 ฤดูกาลก่อนหน้าถึง 20% นอกจากนี้ ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลกัลโช่ เซเรียอา ฤดูกาล 2021-2024 นี้ ยังมีแนวโน้มสูงอีกเช่นกันว่า "อาจจะลดลง" ตามไปด้วย

ซึ่งนั่นจะเท่ากับ 3 ยักษ์ใหญ่แห่งอิตาลี จะมีศักยภาพทางการเงินลดต่ำลง จนกระทั่งไม่อาจสร้างทีม เพื่อไล่ตามสโมสรชั้นนำจากลีกอื่นได้ทัน

ส่วนสโมสรในลำดับถัดไปที่อยากให้ ESL ถือกำเนิดขึ้น คงไม่แคล้วแอตเลติโก มาดริด บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด นั่นเป็นเพราะมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนลีกและยูโรปาลีก ในประเทศสเปน สำหรับฤดูกาล 2021-2024 ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 3 ฤดูกาลก่อน

หากถามว่า มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในแต่ละประเทศลดลง เพิ่มขึ้น หรือเท่าเดิม ดีหรือไม่ดีอย่างไร?

คำตอบ คือ ยูฟ่าจะตัดส่วนแบ่งรายได้แต่ละทีม โดยอ้างอิงจากจำนวนนัด ผลงาน และมูลค่าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในแต่ละประเทศด้วยนั่นเอง!

จริงหรือที่ยูฟ่าบริหารงาน (หาเงิน) ได้ย่ำแย่?

แม้ว่า มูลค่าลิขสิทธิ์ใน 2 ลีกใหญ่ อย่างอิตาลีและสเปน ค่อนข้างมีแนวโน้มออกไปในทางลบ แต่ตามรายงานล่าสุด มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนลีกและยูโรปาลีกในประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศนอร์ดิก (ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย) หรืออีกมุมโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพอใจถึงน่าพอใจอย่างยิ่ง

โดยมีรายงานว่า มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนลีกและยูโรปาลีก ที่สโมสรในเยอรมนี สำหรับฤดูกาล 2021-2024 เพิ่มขึ้นถึง 70% หากเทียบกับ 3 ฤดูกาลก่อนหน้านี้ (จาก 190 ล้านยูโรต่อฤดูกาล เป็น 320 ล้านยูโรต่อฤดูกาล)

ส่วนที่ฝรั่งเศสเพิ่มจาก 315 ล้านยูโรต่อฤดูกาล เป็น 375 ล้านยูโรต่อฤดูกาล หรือเพิ่มขึ้น 19% จาก 3 ฤดูกาลก่อนหน้า ในขณะที่ กลุ่มประเทศนอร์ดิกมีรายงานว่า เพิ่มถึง 113% จาก 3 ฤดูกาลก่อนหน้า ขณะที่ กลุ่มประเทศในคาบสมุทรบอลข่านเพิ่มสูงขึ้น 134% ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 58%

มันก็ดีนะ แต่มันยังดีไม่พอ?

อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขเหล่านี้จะดูหรูหราน่าจับต้อง แต่บรรดา 12 สมาชิกผู้ก่อตั้ง ESL ยังคงมองว่า ยูฟ่ายังพยายามไม่เพียงพอ นั่นเป็นเพราะสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพียงเท่านี้ ไม่น่าจะมีผลต่อการแบ่งผลประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะหากมีการเพิ่มทีมในศึกยูฟ่าแชมเปียนลีก จาก 32 ทีม เป็น 36 ทีม อย่างที่ยูฟ่า "อ่อยเหยื่อ" อีกทั้งตัวเลขที่พวกเขาน่าจะหาได้และนำมาแบ่งปันกันในกลุ่มนั้น น่าจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง หากพวกเขาเป็นฝ่ายเดินหน้าลุยเตะกัน 20 ทีมตามแผน เพื่อหาเงินด้วยตัวเองอีกด้วย!

นอกจากนี้ มันยังมีประเด็นที่สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับพี่ๆ ทั้ง 12 ท่านเขาอีก ก็คือ การที่ยูฟ่ายังคง "มะงุมมะงาหรา" หรืออาจเรียกว่า "ล้มเหลว" เลยก็ว่าได้ กับการหาทางทำสัญญาเพื่อเพิ่มเงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในยุคโควิด-19 ครองโลกในอีกหลายภูมิภาค โดยเฉพาะทวีปเอเชีย ซึ่งเราคงไม่ต้องบอกแล้วมั้งว่า ณ โมงยามนี้ ตลาดเอเชียมีประเทศใดที่ควรทำเงินทำทองมากที่สุด

ตลาดสตรีมมิงในประเทศจีน คือ สิ่งที่น่าจับต้องเป็นอย่างยิ่ง ณ เวลานี้ โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญที่ทั้ง 12 สโมสรอยากไปให้ได้เสียเหลือเกิน คือ การส่งตรงการแข่งขันของสโมสรตัวเองไปยังสมาร์ทโฟนของชาวจีนผ่านระบบสมัครสมาชิกโดยตรง ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะได้เงินเพิ่มแล้วยังสามารถสร้างรายได้จากฐานแฟนบอลนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยไม่เห็นต้องมีเสือนอนกินอย่างยูฟ่าอีกด้วย

ว่าแต่...อ่านมาถึงบรรทัดนี้ "เรา" ลืมอะไรกันไปหรือเปล่าหนอ?

แล้ว 6 สโมสร จากประเทศอังกฤษ อาร์เซนอล เชลซี ลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทอตแนม ฮอตสเปอร์ ล่ะ พวกเขาปรารถนาลงโม่แข้งใน ESL มากแค่ไหน?

รวมถึงเราจะลืมพระเอกไปได้อย่างไรกันล่ะ...โดยเฉพาะเจ้าของ 2 วรรคทอง ตามบรรทัดบนสุดโน่น!

หากใครยังไม่หลงลืม เจ้าของทีมลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชาวอเมริกัน คือ "นายทุน" ความพยายามกลืนกินฟุตบอลอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์เพียงประการเดียว คือ "หาเงินโดยไม่แยแสกับโครงสร้างทางวัฒนธรรมของฟุตบอลที่แท้จริง"

จากการหาทางทอดทิ้งองค์ประกอบที่มีส่วนสำคัญ อย่างบรรดาทีมในลีกรองและสโมสรเล็กสโมสรน้อย ด้วย Project Big Picture และ ESL น่าจะพอบอก "ความจริง" ที่ทะลุ "คำลวง" ดั่งที่พยายามออกมาพล่ามใน 2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

ในเมื่อลีกอเมริกันฟุตบอล หรือ NFL สามารถทำเงินได้มากมายเพิ่มขึ้นถึง 80% จากข้อตกลงขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฤดูกาล 2023-2033 สำหรับสื่อในประเทศสหรัฐฯ (จาก 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เป็น 10,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี)

แล้วเหตุใด ฟุตบอลพรีเมียร์อังกฤษ รวมถึงยูฟ่าแชมเปียนลีก ที่ทั้งสุด POP และมีคนดูมากกว่าครึ่งค่อนโลกจะหาเงินแบบนั้นบ้างไม่ได้?

ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่แปลกอะไรใช่ไหม ที่ทั้งแผนการของ ESL และ Project Big Picture ซึ่งทั้งสองนายทุนพยายามเคลื่อนไหว หรือพยายามมีส่วนในการเคลื่อนไหว มันจึงมีแนวคิดที่คลับคล้ายคลับคลากันอยู่ในที โดยเฉพาะการแสวงหาอำนาจสิทธิ์ขาดในการหารายได้

แม้ว่าในกรณีของ ESL คนที่ออกหน้าเคลื่อนไหวอย่างโจ่งแจ้ง จะเป็นจอมโปรเจกต์หาเงิน อย่าง ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด ซึ่งทำงานพัฒนาแผนร่วมกับ Key Partners Capital บริษัทแนะนำด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่ของยุโรป มาตั้งแต่ปี 2018 ก็เถอะ

(Project Big Picture ถูกสื่อในอังกฤษแฉว่า เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป และตระกูลเกลเซอร์ พัฒนาแผนมาตั้งแต่ปี 2017)

อะไรบ้างที่คล้ายคลึงกันระหว่างโมเดล ESL และ Project Big Picture?

     1. การสร้างระบบที่เกื้อหนุนให้บรรดาผู้ร่วมก่อตั้งมีอำนาจเต็มทั้งการบริหารจัดการรายได้ ตารางการแข่งขัน และกำหนดกติกาต่างๆ เป็นของตัวเอง ในขณะที่ ทีมอื่นๆ ที่ร่วมลีกอาจเป็นได้เพียงตัวประกอบอดทน

ตามแผน Project Big Picture กลุ่ม Big6 + 3 จะได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการพรีเมียร์ลีกทั้งหมด และมีกระทั่งสิทธิ์ในการ "วีโต้"

ตามแผน ESL มีสมาชิกถาวร 15 ทีม (12 + 3) จากทั้งหมด 20 ทีม เอาละแม้จะยังไม่มีการเผยรายละเอียดมากนัก แต่การเป็นสมาชิกถาวรของลีก ย่อมหมายถึงการมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่แน่นอน

     2. กำจัดองค์ประกอบที่เกะกะทิ้งไป เช่น ทีมจากลีกรอง และบรรดาสโมสรเล็ก สโมสรน้อยในยุโรป เพื่อกันไม่ให้มีส่วนได้เสียกับ "ผลประโยชน์ก้อนมหึมา" ที่จะตัดแบ่งกันเฉพาะในกลุ่มสมาชิก

ตามแผน Project Big Picture จำนวนสมาชิกพรีเมียร์ลีก จะลดลงเหลือเพียง 18 สโมสร จาก 20 สโมสร

ตามแผน ESL จะมีจำนวนทีมทั้งหมด 20 ทีม โดย 5 ทีมที่ไม่ใช่ผู้ร่วมก่อตั้ง จะต้องผ่านการคัดเลือกในแต่ละปี ในขณะที่ 15 ผู้ร่วมก่อตั้งอยู่กับลีกแบบถาวรยาวๆ ไป

ในขณะที่ การแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนลีกในปัจจุบันมีจำนวนทีมที่เข้าแข่งขันมากถึง 32 ทีม และยูฟ่ามีแผนจะขยายเป็น 36 ทีมในเร็วๆ นี้อีกต่างหาก

     3. การเปิดโอกาสให้สมาชิกในลีกสามารถหาเงินจากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในทุกช่องทางและทุกภูมิภาคของโลกถึงมือแฟนบอลได้โดยตรง

ตามแผน Project Big Picture สมาชิกพรีเมียร์ลีกจะสามารถขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้ ฤดูกาลละ 8 นัด

ตามแผน ESL สมาชิกของ ESL สามารถขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้ ฤดูกาลละ 4 นัด

ซึ่งหากเป็นไปตามแผนนี้ "เรา" จะจินตนาการออกกันไหมว่า ทั้งเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป และตระกูลเกลเซอร์ จะสามารถทำเงินทำทองได้มากมายเท่าไร จากอำนาจสิทธิ์ขาดในขุมทรัพย์วงการฟุตบอลโลก

บางที...เงินจำนวน 10,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในสัญญา 11 ปี ของ NFL อาจกลายเป็นเพียงขนมกรุบกริบของทั้ง 2 กลุ่มทุนนี้ก็เป็นได้.

ข่าวน่าสนใจ: