• เหตุการณ์เรือ “เอเวอร์ กิฟเวน” ความยาว 400 เมตร ระวางขับน้ำ 224,000 ตัน โดนพายุพัดเสียหลักเกยตื้นขวาง “คลองสุเอซ” ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. เปรียบเหมือน “วาฬตัวขนาดใหญ่ยักษ์เกยตื้นบนชายหาด” จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ ทำให้เส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเล ระหว่างทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นอัมพาตในทันที

  • เรือขนส่งสินค้าจำนวนหลายร้อยลำต้องตกค้าง รวมทั้งเรือขนส่งน้ำมัน ไม่สามารถเดินเรือต่อไปได้ สร้างความเสียหายต่อการค้าโลก จากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ไม่ต่ำกว่า 6,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ในยุโรปจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และทำให้ราคาน้ำมันโลก ปรับตัวสูงขึ้น

  • “คลองสุเอซ” ทรัพย์สินทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอียิปต์ เป็นเส้นทางลัดเชื่อมการคมนาคมขนส่งทางทะเล ระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย ใช้เวลาเพียง 11-16 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ในแต่ละปีมีเรือผ่านเข้ามา เฉลี่ย 25,000 ลำต่อปี แยกเป็นเรือขนส่งสินค้า 58% มีปริมาณขนส่งสินค้าสูงถึง 665 ล้านตัน หรือ 14% ของปริมาณการค้าทั่วโลก

...

ในแง่ผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวกับ ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบและความเสียหายได้ แต่จะเกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่เข้ามาทดแทน จะขาดแคลนเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยคาดหวังจะได้ตู้คอนเทนเนอร์กลับมาเร็วขึ้น ภายหลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น คนกลับมาทำงาน ทำให้การส่งออกนำเข้ามีมากขึ้น และได้ทำให้การขนส่งสินค้าไปยุโรปมีความล่าช้า หรือเสียเวลามากขึ้นประมาณ 10-15 วัน จากเดิมใช้เวลา 30-45 วัน แม้จะดีกว่าในช่วงโควิดระบาดหนักบ้างเล็กน้อยก็ตาม

ขณะนี้ในกลุ่มสายเรือ ต้องติดตามสถานการณ์ใน "คลองสุเอซ" และหารืออย่างต่อเนื่องกับผู้ส่งออก ซึ่งมีหลายพันราย เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจหลังจากนี้ จะให้เรือวิ่งอ้อมไปทางแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้หรือไม่ และแน่นอนจะกระทบต่อค่าระวางเรือจะเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 5-8 พันเหรียญสหรัฐ ไปจนถึง 1 หมื่นเหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับเส้นทางในการเดินเรือ และอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนอื่นอีก หากยังไม่สามารถกู้เรือได้ หรือหากแก้ปัญหาได้ แต่ยังคงมีเรือจอดรอเป็นจำนวนมาก ทำให้เส้นทางเดินเรือหนาแน่น ก็จะส่งผลกระทบต่อไทยบ้าง

...

“สถานการณ์ในคลองสุเอซครั้งนี้ ไม่หนักเท่าโควิด ยังพอมีทางออก เพียงแต่ต้องเสียเวลาเดินทางมากขึ้น และเสียค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าไปส่งปลายทางล่าช้า หากเป็นกรณีสินค้าต้องรอการผลิตอาจทำให้ขาดสต๊อก และสินค้าของไทยส่งออกไปยุโรปมีสัดส่วนเพียง 8% ส่วนใหญ่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบ ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ยางพารา แอร์ อัญมณีเครื่องประดับ”

หวั่นกู้เรือคลองสุเอซ ยาวนานเป็นสัปดาห์ เกิดผลกระทบเสียหาย

หากสถานการณ์ยาวนานออกไปอีกเป็นสัปดาห์ สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลมากสุด คือปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือจะปรับเพิ่มขึ้นไปอีก โดยความเสียหายจะกระทบมากสุดตั้งแต่กลุ่มสายเรือ ต้องไปเคลมต่อกับเจ้าของเรือเช่า ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติไต้หวัน ซึ่งขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เป็นสีเขียว "เอเวอร์กรีน"

และอีกส่ิงที่รอได้ไม่กี่วัน คือเรือขนส่งเชื้อเพลิง จะต้องตัดสินว่าจะอ้อมไปทางแหลมกู๊ดโฮปหรือไม่ หากวันนี้ หรือพรุ่งนี้ ยังไม่มีข่าวดี คงต้องตัดสินใจ เพราะขณะนี้เริ่มมีสายเรือ เตรียมพร้อมจะให้เรือวิ่งอ้อม แม้ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 40-45 วันก็ต้องยอม และในระยะหลังพบว่ากลุ่มสายเรือ ปรับเปลี่ยนมาใช้เรือขนาดใหญ่มากขึ้นเพื่อลดต้นทุน โดยปรับมาเป็นขนาดความยาว 300 เมตร สามารถบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ 10,000 กว่าตู้ วิ่งจากยุโรปมาแหลมฉบัง

...

อีกส่ิงจากเหตุการณ์ในคลองสุเอซ ทำให้กลุ่มสายเรือต่างนั่งไม่ติด ต้องคอยติดสถานการณ์ หวังว่าจะดีขึ้นในเร็วๆ นี้ และแน่นอนจะกระทบต่อราคาน้ำมันจะมีการปรับขึ้น เป็นสิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย.

ผู้เขียน : ปูรณิมา