สัมพันธ์ "สหรัฐอเมริกา" และ "เมียนมา" วงจร "รัฐประหาร" การลงโทษของ "โจ ไบเดน" ก็แค่ "หลับตาข้างเดียว" แม้ข่มขู่ แต่จริงๆ ไม่กล้าทำ แม้เกิดการนองเลือด ประชาชนไม่กลัว ทหารไม่แคร์ ย้อนสู่ปี 1962
ภาพที่เกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำๆ การลงถนนประท้วงของประชาชน และการเคลื่อนทัพของทหาร ต่างฝ่ายต่างเผชิญหน้ากัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา และไม่มีทีท่าว่าจะมองเห็น "บทสรุป!" ในตอนสุดท้าย... ไม่ว่าจะเป็น "ชัยชนะ" ของประชาชน หรือรัฐบาลทหาร ล้วนเป็นม่านหมอกสีเทา
เมียนมา 2021 จะมี "ตอนจบ" แบบไหน?
"สถานการณ์ใน 'เมียนมา' ยามนี้ ค่อนข้างน่าเป็นห่วง มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แม้ในวันนี้อาจจะยังไม่ถึงหลักร้อย และอาจจะไม่เท่าเหตุการณ์เมื่อปี 1988 ที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม"
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็น "ข้อสังเกต" ที่น่าสนใจว่า แม้ว่า "เมียนมา" จะโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและแรงกดดันจากนานาชาติ แต่ "รัฐบาลทหารเมียนมา" นั้นไม่กลัว! จากภาพที่เราเห็นมีทั้งผู้หญิงอายุ 19 ปี, เด็กผู้ชายอายุ 14 ปี หรือคนเมียนมาที่ยืนถ่ายคลิปอยู่บนอพาร์ตเมนต์ พอทหารเมียนมาเห็น มือถือตก ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเสียชีวิตหรือไม่ นั่นแสดงให้เห็นว่า "รัฐบาลเมียนมา" ไม่สนใจใดๆ ทั้งสิ้น วันนี้ "ทหารเมียนมา" ไม่สนใจการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จึงมีโอกาสสูงที่ "เมียนมา" จะกลับไปเป็นเหมือนปี 1962
"ในปี 1962 นั้น คือ วันที่เริ่มต้น 'การรัฐประหาร' ใน 'เมียนมา' ซึ่งนั่นมีโอกาสที่จะเป็นเหตุการณ์ปี 1988 ได้ต่อไป คงจำกันได้ 8888 Uprising หรือ 'การปฏิวัติ 8888' ที่มีการเสียชีวิตจำนวนมาก"
...
ซึ่งก่อนที่จะมาถึงเหตุการณ์ 1988 นั้น ความรุนแรงใน "เมียนมา" เริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่ปี 1948 เมื่อ "สงครามกลางเมือง" เกิดการปะทุระหว่าง "กองทัพเมียนมา" และ "พรรคคอมมิวนิสต์" (Communist Party of Burma: CPB)
ต่อมาในปี 1962 ซึ่งเป็นปีที่ ดร.อัทธ์ ได้เอ่ยถึงนั้น
"การรัฐประหาร" ได้เริ่มต้นขึ้นโดย "นายพลเน วิน" นำพา "เมียนมา" กลับเข้าสู่ "ระบบเผด็จการ" ที่มีเพียงพรรคเดียว คือ "พรรคทหาร" และเมื่อเป็นเช่นนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งก็ออกมาประท้วงคณะรัฐประหาร ก่อนจบลงด้วยความสูญเสีย...อีกครั้ง
ความขัดแย้ง...ยังคงคุกรุ่นภายในประเทศ จนดำเนินมาถึงปี 1988 "8888 Uprising" หรือ "การปฏิวัติ 8888"
ผู้นำฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย "ออง ซาน ซูจี" ก็ได้ปรากฏตัวขึ้น เกิดการประท้วงต่อต้าน "รัฐบาลทหาร" และผันแปรสู่โศกนาฏกรรมนองเลือด เฉพาะผู้ประท้วงเสียชีวิตมากกว่า 3,000 ศพ พร้อมกับการ "กักขัง" ปิดตายอิสรภาพของ "ซูจี" ให้มีเพียงแค่ภายในบ้านพักเท่านั้น
หากกลับมามองภาพเหตุการณ์ "เมียนมา 2021" ในปัจจุบัน ดร.อัทธ์ ได้ให้ความเห็นด้วยความกังวลว่า ถ้า "รัฐบาลเมียนมา" ยังอ้างว่า "ฉันไม่สนใจ ฉันพร้อมจะปิดประเทศเหมือนตอนปี 1962" ซึ่งนั่นเป็นวันที่ "นายพลเน วิน" ปิดประเทศ ไม่สนใจนานาชาติ ขณะเดียวกัน ฝั่ง "ประชาชนที่ออกมาประท้วง" ก็ไม่สนใจเช่นกัน คำว่า "ไม่สนใจ" หมายความว่า ไม่ถอย ไม่กลัวตาย ลองจินตนาการภาพดู...เมื่อ 2 ฝั่ง ไม่กลัวซึ่งกันและกัน อะไรจะเกิดขึ้น...
ทั้งนี้ การที่ "ทหารเมียนมา" ไม่แคร์ที่จะต้องย้อนกลับไปสู่ "การปิดประเทศ" แบบปี 1962 อีกครั้ง นั่นเป็นเพราะ "เสียง" ของนานาชาติไม่แข็งแรงพอใช่หรือไม่?
แม้ว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "โจ ไบเดน" จะประกาศลงโทษ "ผู้นำทหาร" ในเมียนมาที่มีการสั่งการการรัฐประหาร รวมถึงปลดตำแหน่งและกักขังผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งอย่าง "ออง ซาน ซูจี", ประธานาธิบดี "วิน มินต์" และคนอื่นๆ ก็ตาม ซึ่งการลงโทษของ "ไบเดน" ในครั้งนี้ มีตั้งแต่การขัดขวางการเข้าถึงเงินทุนเมียนมา 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,612 ล้านบาท ที่ถือครองอยู่ในสหรัฐอเมริกา จนกว่าทหารจะยุติการใช้ความรุนแรงในการเข้าปะทะกับผู้ประท้วงที่คัดค้านการรัฐประหาร
...
แต่ ดร.อัทธ์ ยังคงมองว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "โจ ไบเดน" ไม่ได้ลงโทษ "เมียนมา" หนักสักเท่าไร มีเพียงแค่การลงโทษ หรือ "คว่ำบาตร" เฉพาะกับ "นายพล" เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่ว่า "ฉันจะไม่ให้สินค้าของเมียนมาเข้าสู่สหรัฐอเมริกา" เพราะฉะนั้น ภาพปฏิกิริยาของ "ไบเดน" ที่เกิดขึ้น อาจเรียกได้ว่า "หลับตาข้างหนึ่ง" หรืออีกอันคือ "เหยียบเรือสองแคม" จริงๆ ก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะเดี๋ยว "คุณ" (อเมริกา) จะหลุดออกจากอาเซียน และหลุดออกจาก "เมียนมา" ทันที
ก่อนหน้านี้ "สหรัฐอเมริกา" และ "เมียนมา" ความสัมพันธ์เป็นเช่นไร?
ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่าง 2 ประเทศ เริ่มทรุดลงหลังจากการรัฐประหารของ "ทหาร" เมื่อปี 1988 ที่มีการปราบปรามการประท้วงฝ่ายประชาธิปไตยอย่างรุนแรง จำนวนผู้เสียชีวิตตามที่กล่าวไปตอนต้น ประมาณ 3,000 กว่าศพ
...
และนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1997 รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้บริษัทและเอกชนสัญชาติอเมริกันเข้าไปลงทุนเมียนมา ซึ่งก่อนหน้านั้นมีบริษัทอเมริกันจำนวนหนึ่งเริ่มทยอยออกจาก "ตลาดเมียนมา" แล้ว เนื่องจากบรรยากาศทางธุรกิจกำลังทรุดตัว
ก่อนที่ในปี 2003 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "จอร์จ ดับเบิลยู. บุช" จะลงนามรัฐบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตยพม่า (Burmese Freedom and Democracy Act: BFDA) โดยสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากเมียนมา ห้ามส่งออกการบริการทางการเงินให้กับเมียนมา รวมถึงระงับสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของเมียนมาบางแห่ง และขยายการจำกัดวีซ่าต่อทางการเมียนมา ซึ่งให้มีการต่ออายุเป็นประจำทุกๆ ปี ครั้งล่าสุด คือ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2010
ต่อมาจากเหตุการปราบปรามผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ปี 2007 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ประกาศกีดขวางการเข้าถึงสินทรัพย์ของข้าราชการอาวุโสเมียนมา 25 ราย ภายใต้คำสั่งคณะบริหาร 13310
...
ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศยิ่งทวีคูณ... เมื่อสหรัฐอเมริกาลดระดับ "ผู้แทน" ในเมียนมา จาก "เอกอัครราชทูต" เป็น "อุปทูต"
แต่แล้วการ "ฟื้นสัมพันธ์" ก็กลับมาอีกครั้ง
รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา "ฮิลลารี คลินตัน" เยือนเมียนมาในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2011 เพื่อพบกับประธานาธิบดีเมียนมา "เต็ง เส่ง" และนักกิจกรรมประชาธิปไตย "ออง ซาน ซูจี" ซึ่งถือเป็นการเยี่ยมเยือนโดยรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 1955
นำไปสู่ความชื่นมื่น "เดเร็ค มิตเชลล์" เป็น "เอกอัครราชทูต" ของสหรัฐอเมริกาคนแรกที่ประจำเมียนมาอย่างเป็นทางการในรอบ 22 ปี ซึ่งรับตำแหน่งในวันที่ 11 กรกฎาคม 2012 อีกทั้งยังมีการผ่อนคลายบทลงโทษต่อเมียนมาอย่างเป็นทางการด้วย แต่ในห้วงเวลานั้น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "บารัค โอบามา" ก็มีคำสั่งห้ามการลงทุนในบริษัทที่มีเจ้าของเป็นกองทัพ หรือกระทรวงกลาโหมเมียนมา
ในเดือนกันยายน 2016 "ออง ซาน ซูจี" ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ได้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา และนับเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเมียนมา โดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "โอบามา" ได้ยกเลิกกรอบการทำงานในส่วนการลงโทษเมียนมาภายใต้คำสั่งคณะบริหาร ขณะเดียวกันก็มีการฟื้นฟูระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) รวมถึงผลประโยชน์ทางการค้าให้แก่เมียนมา
ขุ่นเคือง หวานชื่น สลับวนอีกครั้ง เมื่อวิกฤติ "โรฮีนจา" ได้ปะทุรุนแรงในปี 2017 สหรัฐอเมริกาได้ขานรับผู้ลี้ภัย 600,000 รายที่ต้องการย้ายถิ่น พร้อมกับสั่งถอนความช่วยเหลือทางทหารในบางหน่วยของเมียนมา จากนั้นสั่งขึ้นบัญชีดำ "มอง มอง โซ" ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบัญชาการฝั่งตะวันตกของกองทัพเมียนมา
และในยุคประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "โดนัลด์ ทรัมป์" ก็มีคำสั่งช่วงกลางปี 2019 ลงโทษข้าราชการอาวุโสของทหารเมียนมา ห้ามข้ามเขตแดน และแช่แข็งทรัพย์สินของ "มิน อ่อง หล่าย" ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ต้นปี 2020 คณะบริหารทรัมป์จะจำกัดการอพยพจาก 6 ประเทศ ซึ่ง "เมียนมา" เป็นหนึ่งในนั้น
จากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เห็นได้ว่า "บทลงโทษ" ที่สหรัฐอเมริกามีต่อเมียนมานั้น ล้วนพุ่งเป้าไปที่ระดับ "นายพล" ทั้งสิ้น ไม่ได้มีการกีดกันในเชิงเศรษฐกิจมากนัก มีเพียงในช่วงต้นๆ ความขัดแย้งที่มีการสั่งห้ามการนำ "เงินดอลลาร์สหรัฐ" เข้าเมียนมา หรือง่ายๆ ว่า "ห้ามลงทุน" แต่ก็มีการผ่อนคลายบทลงโทษในปี 2012 ซึ่งในส่วนบริษัทและเอกชนของเมียนมาที่ถูกบทลงโทษก็มักจะมีความเชื่อมโยงกับ "กองทัพ" ที่สหรัฐอเมริกามองว่า เป็นส่วนหนึ่งที่กัดเซาะกระบวนการปฏิรูปการเมืองและสิทธิมนุษยชน
เวลานี้จึงน่าจับตาว่า "โจ ไบเดน" จะดำเนินการอย่างไรต่อไป...นอกเหนือไปจากการ "ขู่ลงดาบ" แต่ไม่ยอมง้างดาบสักที หรือจะเป็นดั่งที่เขาว่าไว้ "เหยียบเรือสองแคม" ขอเพียง "สงบ" ก็กลับไปทำมาค้าขายกันดังเดิม.
ข่าวน่าสนใจ :
- เมื่อการเมือง "เมียนมา" เดือด ต่างชาติแค่ยืนดู รอสงบดีลผลประโยชน์
- อนาคต "เมียนมา" การต่อสู้ประชาธิปไตย หยุดลัทธิบูชาบุคคล?
- การเป็น "เศรษฐี" 1% ของโลก ต้องมี "เงิน" แค่ไหนในยุค "คนรวย" ยิ่งรวยขึ้น
- "อู๋ม่งต๊ะ - โจวชิงฉือ" แสงเงาของกันและกัน ที่ไม่มีวันแยกจากในโลกภาพยนตร์
- เมื่อนายกฯ ให้ดูเศรษฐกิจประเทศรอบบ้าน เราก็ดู หาคำตอบ "ไทย" ดีขึ้นกว่าเขา
ข้อมูลอ้างอิง :
- The State of Conflict and Violence in Asia