ไม่ว่าการเมือง "เมียนมา" จะเดือดมากแค่ไหน และหลายประเทศก็มีท่าทีต่อต้าน "รัฐประหาร" แต่นั่นก็เป็นเพียงการแตะเพียงนิดๆ เท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว...พวกเขาก็พร้อมดีลผลประโยชน์ต่อ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม

อาจค่อนข้างโหดร้าย...สำหรับความรู้สึก "ประชาชน" แต่นั่นก็คือ "ส่วนหนึ่งของภาพที่เกิดขึ้นจริง" จากการมองผ่านสายตาของบรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายๆ ท่าน

สำหรับ "เมียนมา" แล้วนั้น เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่อยู่ใน "ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ" มาหลายทศวรรษ กับ "ความขัดแย้ง" ที่ฝังแน่นมาจนถึงทุกวันนี้

แต่นั่นก็ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่มีการเปิดประเทศเมื่อปี 2554 ก็ทำให้ "เมียนมา" มีภาพที่สวยงามมากขึ้นในสายตาชาวต่างชาติ ทั้งการสร้างเอกภาพของอัตราการแลกเปลี่ยน, การเปิดตลาดเสรี และการเข้าร่วมในตลาดระดับภูมิภาค จนส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว มากกว่า 7% ต่อปี อีกทั้งความยากจนของประชาชนในประเทศยังลดลงกว่าครึ่ง จาก 48% เป็น 25% ในช่วงปี 2548-2560

โดยก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 (Covid-19) มีการคาดการณ์ว่า ปีงบประมาณ 2562/2563 เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโต +6.3% และปีงบประมาณ 2563/2564 จะเติบโต +6.4% แต่แล้วกลับไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ การแพร่ระบาดโควิด-19 กลับยืดเยื้อ มีการปรับลดการคาดการณ์เหลือเพียง +1.8% เท่านั้น

และถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของ "เมียนมา" ในปีงบประมาณ 2563-2564 จะกลับมาอยู่ที่ +7.2% แต่หลายคนก็ยังคงมี "ความกังวล" อยู่...อันมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ "การเมือง" ภายในประเทศที่เหมือนว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

...

"นักลงทุนต่างชาติ" ยอมรับว่า พวกเขาล้วนกังวลสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง จนก่อเกิดคำถามรายล้อม "ผู้คุมกฎคนใหม่แห่งเมียนมา" ในแต่ละวันนับไม่ถ้วน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้เมียนมามี "ความเสี่ยงสูง" แต่ก็มี "ศักยภาพสูง" ในการลงทุนที่อาจสร้างกำไรอย่างงดงามได้เช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ถือเป็น "ตลาดที่น่าดึงดูด" ไม่น้อย ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภค ตั้งแต่สบู่ยันสมาร์ทโฟน หรืออย่างมอเตอร์ไซค์ก็เติบโตดีทีเดียว

"การเมืองเมียนมา
ไม่กระทบต่ออาเซียนแน่นอน!"

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ให้ความเห็นผ่าน "มุมมองเศรษฐศาสตร์" ว่า กรณีปัญหาการเมืองภายในเมียนมาที่กำลังรุนแรงในขณะนี้ หากมองในแง่ของการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่าง "ประชาคมอาเซียน" นั้น ไม่กระทบอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจนผ่านการประชุมอาเซียนครั้งล่าสุด ที่มติต่างๆ ที่ออกมาล้วนเป็นไปใน "ทิศทางเดิม" เหมือนเช่นที่เคยมีการตกลงไว้ก่อนหน้านั้น อีกทั้งประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเองก็คงไม่ก้าวก่ายปัญหาภายในประเทศ

และถึงแม้จะมีการแสดงท่าทีออกมาอย่างดุดันบ้าง เช่น "รัฐมนตรีมาเลเซีย" ที่มีการแสดงจุดยืนในเชิงรุก แต่ก็เป็นเพียงการแตะนิดๆ เท่านั้น ไม่ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดในกรณีกิจการภายในประเทศแต่อย่างใด ซึ่งถึงอย่างนั้นก็ยังมีการผลักดันให้ "เมียนมา" ดำเนินการดังนี้ คือ

     ข้อ 1 ขออย่าใช้ความรุนแรง และขอให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เป็นการดำเนินการลักษณะกลางๆ

     ข้อ 2 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่มี "เมียนมา" เข้าร่วมด้วย ประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภาคี หรือกลุ่มเศรษฐกิจนั้นก็มองว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นเป็น "รัฐบาลเมียนมา" ก็ตาม และถึงสหประชาชาติ (UN) จะยังไม่มีการรับรอง แต่เมียนมาก็สามารถเข้าร่วมประชุมได้ตามปกติ

ฉะนั้น นี่จึงเป็นคำตอบที่ค่อนข้างชัดว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจ หรือรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับเลือกตั้ง สุดท้ายจะคงอยู่ใน "อำนาจ" ได้หรือไม่ได้ นโยบายที่ดำเนินการตามข้อตกลงไปแล้วก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เพราะมีกรอบข้อตกลงไปแล้วตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ตั้งแต่ประชาคมอาเซียน 2025 หรือแม้แต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ "อาร์เซ็ป" (RCEP) ก็ไม่กระทบ ขอแค่มีการลงนามมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือประเทศอาเซียนมากกว่า 5 ชาติ ก็จะทำให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร

...

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า รัฐประหารและการเมืองภายในเมียนมาก็มีผลกระทบเช่นกัน โดยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแทบจะทันทีหลังจากมีข่าวปรากฏขึ้น โดยเฉพาะ "ตลาดเงิน" สกุลเงิน "จ๊าด" ร่วง 7% ต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นก็ลดลง 4% และราคาทองคำก็เพิ่มขึ้น 5% เพราะคนต่างแห่ซื้อหวังเป็น "หลุมหลบภัย" (Safe Haven) สำหรับการลงทุนในช่วงเวลาที่ยากจะคาดเดานี้

ความพึงใจของ "นักลงทุนต่างชาติ" ที่มีต่อ "เมียนมา"

จากข้อมูลของคณะกรรมการการลงทุนและกำกับดูแลบริษัทของรัฐบาล พบว่า ช่วงปี 2555-2556 "เมียนมา" มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 42,436 ล้านบาท พุ่งไปสูงสุดที่กว่า 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 287,940 ล้านบาท ในช่วงปี 2558-2559 และในปีงบประมาณล่าสุด ต่างชาติแห่ลงทุนมากกว่า 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 166,730 ล้านบาท โดย "สิงคโปร์" เป็นนักลงทุนต่างชาติประเภทเดี่ยวที่เข้าไปลงทุนใน "เมียนมา" มากที่สุด ในปีงบประมาณ 2562-2563

...

อีกทั้ง "เมียนมา" ยังเป็นประเทศที่เป็น "จุดเชื่อมต่อ" ที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

ตัวอย่างเช่น "สหรัฐอเมริกา" มีการนำเข้าสินค้าจากเมียนมาในรอบ 12 เดือน จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 สูงถึง 1,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 32,131 ล้านบาท จากที่ในปี 2559 มีเพียง 245 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,426 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า มากกว่า 41% ส่วนกระเป๋าเดินทางเพิ่มขึ้นเกือบ 30%

ส่วนกรณีที่ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ "โจ ไบเดน" ประกาศใช้มาตรการทางเศรษฐกิจขั้นเด็ดขาดกับ "เมียนมา" ต่อกรณีรัฐประหารนั้น จะมีผลกระทบต่อ "การลงทุน" ในเมียนมาหรือไม่?

รศ.ดร.สมชาย เชื่อว่า อาจมีผลกระทบบ้างบางส่วน แต่เป็นไปในลักษณะการชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนและอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเหตุการณ์การเมืองเช่นนี้มาแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คิดว่า ไม่ถูกกระทบแน่นอน เพราะโครงการต่างๆ อยู่ในกรอบอนุภูมิภาคอยู่แล้ว

...

"เมื่อสถานการณ์อยู่ตัว ก็จะกลับไปลงทุนเหมือนเดิม เป็นไปตามปกติ เพราะอาจได้รับประโยชน์จากการลงทุนในอนาคต"

ทั้งนี้ หากว่ากันตามจริง "ปัญหา" ที่ทำให้การลงทุนในเมียนมาสะดุด ไม่ได้เป็นเพราะ "การเมืองภายใน" อย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน และกรณีโรฮีนจาที่เริ่มต้นขึ้นนับแต่ปี 2560

หนึ่งในความเห็นของ เดวิด เบรนเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยซัสเซ็ก ชี้ว่า ถนนที่มีคุณภาพต่ำ ไฟฟ้าที่มีราคาแพงและไม่เสถียร รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่มีการศึกษาและทักษะอย่างเหมาะสม เป็น "ตัวการ" ที่ขัดขวางไม่ให้นักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพจำนวนมากได้เข้ามา หากเทียบกันแล้วในกลุ่มประเทศอาเซียน "เมียนมา" ก็ถือเป็นระดับล่างๆ นำเพียงแค่ "กัมพูชาและสปป.ลาว" ที่เชื่องช้าอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งประเทศที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเมียนมาอย่างยาวนาน คือ "จีน" เพื่อนบ้านที่มีอิทธิพลทางตอนเหนือและตะวันออก

ตั้งแต่โครงการสำคัญๆ ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor) ส่วนหนึ่งของแผนการเส้นทางสายไหม (Belt and Road) หากวันหนึ่งเสร็จสมบูรณ์ พวกเขาจะเชื่อม "ยูนนาน" รัฐที่ไม่มีทางออกทะเลของจีน ไปยัง "ท่าเรือเจาะพยู" ของเมียนมาได้

สุดท้ายแล้ว "เมียนมา" และอาเซียนจะกลับมาฟื้นได้อีกตอนไหน?

รศ.ดร.สมชาย ยกตัวอย่างเฉพาะ CLMV ที่มีกัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม ปี 2564 นี้น่าจะฟื้นตัวได้ +5.3% แต่ถ้ารวมกันทั้งหมดเชื่อว่าจะอยู่ที่ +6% โดยการฟื้นตัวได้รับอานิสงส์จากการฉีดวัคซีนที่มีการดำเนินการไปหลายประเทศแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น "เศรษฐกิจไทย" เอง ก็คาดว่า การค้าจะเพิ่มขึ้น 9% ซึ่งได้ประโยชน์จากการส่งออก และแรงกระตุ้นจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่ออกมา 4-5 ตัว โดยจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ 4-5% ทีเดียว แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ยังคาดการณ์อยู่ที่ +3%

สำหรับมุมมองโลกนั้น รศ.ดร.สมชาย เชื่อว่า เศรษฐกิจของ "สหรัฐอเมริกา" จะกลับมาอยู่ในจุดที่สูงสุดของโลก คือ +5% ซึ่งในมุมวงการเศรษฐศาสตร์มีบางรายเชื่อว่าจะดีดไปได้สูงกว่า "จีน" เสียด้วยซ้ำไป ที่มีการคาดการณ์ว่า จีนจะเติบโตไม่ต่ำกว่า +6% ถึง +7% ขณะที่ยุโรปน่าจะ +4% หรือญี่ปุ่นก็จะกลับมาได้ +3%

"ทั้งหมดนั้นจะเห็นภาพชัดขึ้น
ช่วงครึ่งหลังของปี 2564"

ข่าวน่าสนใจ: