หากมีรางวัล "นักป่วนแห่งปี" คงไม่มีทางหลุดมือ "มหาเศรษฐีพันล้าน" นามว่า "อีลอน มัสก์" (Elon Musk) ไปได้แน่นอน เพราะเพียงแค่ประกาศว่า "เทสลา" (Tesla) ทุ่มซื้อ "บิตคอยน์" (Bitcoin) หมื่นล้าน ก็ทำเอา "ตลาดคริปโต" ปั่นป่วน จนมีการจับตามองว่า นี่อาจ "ปลุก" ให้ "ยักษ์ใหญ่ไอที" ลงสนามเป็นรายถัดไป...
ย้อนกลับไปวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564
จากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ที่บริษัท เทสลา มอเตอร์ (Tesla) ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ (SEC) มีส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การระบุว่า "เทสลา" ซื้อ "บิตคอยน์" (Bitcoin) มูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 45,000 ล้านบาท
ที่สำคัญ "เทสลา" มีแผนที่จะอนุมัติให้มีการนำ "บิตคอยน์" มาใช้ "ชำระเงิน" (Payment) สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทได้
ซึ่งสำหรับ "เทสลา" แล้ว แค่มาประกาศว่า ทุ่มซื้อ "บิตคอยน์" แค่นี้คงไม่ใช่...จัดใหญ่ทั้งทีต้องโวให้สุด โดยระบุว่า หากการชำระเงินด้วย "บิตคอยน์" เป็นไปได้จริงๆ ก็จะทำให้ "เทสลา" กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายแรกที่ทำแบบนี้ ไม่เพียงเท่านั้นยังจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในส่วน "คริปโตเคอร์เรนซี" (Cryptocurrency) ของ "เทสลา" ด้วย
แต่การเคลื่อนย้ายเข้าสู่ "บิตคอยน์" ในครั้งนี้ของ "เทสลา" แสดงให้เห็นสัดส่วนการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อเทียบกับเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด (Cash and Cash Equivalents) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่มีมากกว่า 19,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 570,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8%
...
และแน่นอนว่า ทันทีที่ "อีลอน มัสก์" (Elon Musk) มหาเศรษฐีพันล้านที่นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) และประธานของ "เทสลา" ออกมาทวีตถึงการลงบัญชีรายรับในส่วนคริปโตเคอร์เรนซีที่กำลังจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากบิตคอยน์และโดชคอยน์ (Dogecoin) รวมถึงปลุกใจให้ประชาชนทั้งหลายเร่เข้ามาซื้อ "สกุลเงินดิจิทัล" เหล่านี้ ก็ทำให้ "ราคาบิตคอยน์" พุ่งทำนิวไฮ เพิ่มขึ้นถึง 16% สูงสุดที่ 44,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,300,000 บาท
ขณะที่ หุ้นเทสลา (TSLA) ในช่วงเช้าวันนั้น (8 ก.พ.) ก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2% และพุ่งสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ อยู่ที่ 873.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ปัจจุบัน ณ 9 ก.พ. อยู่ที่ 849.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
จากนั้น 2 วันต่อมา "มัสก์" ยังออกตอกย้ำใน "คลับเฮาส์" (Clubhouse) โซเชียลมีเดียสำหรับการพูดคุยอีกรอบว่า เขานั้นสนับสนุน "บิตคอยน์!"
เรียกได้ว่า เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ต้อง "อีลอน มัสก์"
จนบรรดานักวิเคราะห์การลงทุนถึงกับถอนหายใจ แล้วเตือนกลายๆ ว่า ระวังจะเป็นเหมือนครั้งที่แล้ว ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ตั้งข้อหา "ฉ้อโกงหลักทรัพย์" เมื่อปี 2561 จนท้ายที่สุด "มัสก์" ก็ต้องยอมควักเงินจ่ายค่าปรับถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 599 ล้านบาท
แต่มองท่าทีดูแล้ว... พ่อหนุ่มคนนี้น่าจะไม่เข็ดเท่าไร!
อีกหนึ่งสิ่งนอกเหนือจากการทุ่มเงินหมื่นล้านซื้อ "บิตคอยน์" ของ "เทสลา" ที่บรรดานักวิเคราะห์เซ็งแซ่กันทั่วตลาดคริปโต คือ หาก "บิตคอยน์" สามารถล่อลวงให้ "เจ้าพ่อเทสลา" มหาเศรษฐีพันล้านหัวแข็งผู้นี้ลุ่มหลงได้ บางทีมันอาจดึงดูดให้ "บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก" ลุ่มหลงได้เหมือนกัน
หรือว่า "แอปเปิล" (Apple) จะเป็นรายถัดไป?
...
นักวิเคราะห์ประจำ RBC Capital Markets มองเห็นศักยภาพของ "แอปเปิล" ที่ถ้าหากมีการเพิ่ม "บิตคอยน์" เข้าไปในงบแสดงฐานะการเงิน (Balance Sheet) ก็อาจทำให้ "ธุรกิจการชำระเงินออนไลน์" (Online Payment) ของผู้ผลิตไอโฟน (iPhone) รายนี้ เติบโตชนิดติดเทอร์โบเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น หาก "แอปเปิล" นำ "คริปโตเคอร์เรนซี" เข้ามาใช้ใน "แอปเปิลวอลเล็ต" (Apple Wallet) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล ก็จะทำให้ "แอปเปิล" สามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดมาเพิ่มได้อีกแบบทันทีทันใด ไปพร้อมๆ กับทำให้อุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนคริปโตปั่นป่วน ช่วยดันรายได้รายไตรมาส เพิ่มกำไรกว่าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจจัดหาทุนการดำเนินงานผ่านการซื้อ "บิตคอยน์" ได้ด้วย
เรียกว่า "แอปเปิล" ลงทุนครั้งเดียว ได้ "โชคสองชั้น!"
...
แต่จนถึงตอนนี้ "แอปเปิล" ยังเงียบอยู่... ไม่แม้แต่จะแย้มว่ากำลังพิจารณาอยู่ หรือมีแผนจะพิจารณาในอนาคต
สำหรับ Apple Wallet แอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของ "แอปเปิล" ที่ถูกติดตั้งมาใน iPhone ที่มีการใช้งานทั่วโลกมากกว่า 1,500 ล้านเครื่อง ก็ถือว่าได้รับความนิยมพอสมควรกับการยกระดับการชำระเงินไร้การสัมผัส (Contactless Payment) ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นไปตามที่หวังแบบเต็มศักยภาพ
แต่การจะก้าวลงสนาม "คริปโต" ของ "แอปเปิล" ในส่วนของ Apple Wallet ก็ดูจะไม่ง่ายนัก เพราะมีคู่แข่งรายใหญ่ที่ทำมานานกว่า อย่าง "คอยน์เบส" (Coinbase) ที่มีผู้ใช้งานกว่า 43 ล้านยูสเซอร์ และหน้าใหม่ที่กำลังลงสนาม เช่น "เพย์พาล" (PayPal) ที่มีผู้ใช้งาน 360 ล้านยูสเซอร์
ทีนี้ลองมาประมาณการโอกาสการสร้างรายได้ของ Apple Wallet ผ่านภาพของ "สแควร์" (Square)
...
"สแควร์" บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินอีกรายที่ทุ่มซื้อ "บิตคอยน์" ไปไม่น้อย จนให้ผลกำไรจากการแลกเปลี่ยนคริปโตมากถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 47,866 ล้านบาท ซึ่งหากแอปพลิเคชัน "แคชแอป" (Cash App) ของ "สแควร์" มีผู้ใช้งานเดือนละ 30 ล้านยูสเซอร์ ลองคิดดูว่า "แอปเปิล" จะได้เงินมากเท่าไร?
เทียบจากฐานลูกค้าที่ "แอปเปิล" มี หากยึดยอดขาย iPhone เมื่อปีที่แล้ว ราวๆ 200 ล้านเครื่อง นั่นก็เป็นตัวเลขที่สูงเกินกว่าฐานผู้ใช้งานของ "สแควร์" กว่า 7 เท่าโดยประมาณ!
ง่ายๆ ว่า หาก "สแควร์" ทำรายได้ต่อไตรมาสจากการให้บริการ "คริปโต" ได้มากถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (47,868 ล้านบาท) ก็มีความเป็นไปได้ว่า "แอปเปิล" จะโกยเงินได้มากถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 329,120 ล้านบาททีเดียว!
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับ "สแควร์" ในการประมาณการต้นทุนของ "แอปเปิล" ในการเพิ่มบริการคริปโตใน Apple Wallet แล้ว เมื่อปี 2562 งบการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ทั้งหมดของ "สแควร์" อยู่ที่ 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 20,033 ล้านบาท หากเป็น "แอปเปิล" ก็ย่อมใช้จ่ายมากกว่านั้น
แต่ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ก็ยังไม่เชื่อว่า "แอปเปิล" จะต้องการถือครอง "บิตคอยน์" เป็นสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงิน ถึงแม้ว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำไรก็เถอะ
สุดท้าย ณ เวลานี้ หากแม้ว่า "แอปเปิล" และยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ กำลังกระโจนทุ่มซื้อ "บิตคอยน์" ตามรอย "เทสลา" บรรดานักลงทุนรายย่อยทั้งหลายก็ต้องเตรียมใจกันไว้หน่อย อย่าหลงคำชักชวน "พ่อหนุ่มมัสก์" มากไป
หากเปรียบแบบขำๆ "บิตคอยน์" ก็เหมือน "ของเล่นเศรษฐี"
ที่วันหนึ่งอาจชะตาตกเหมือนอย่าง "ไทม์ วอร์เนอร์" (Time Warner) กับ "เอโอแอล" (AOL) ที่ค้างเติ่งอยู่จุดสูงสุด มีมูลค่ารวมกว่า 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4 ล้านล้านบาท เมื่อสมัยฟองสบู่ดอทคอม (Dotcom Bubble) กลายเป็นความทรงจำอันหอมหวน...ก่อนที่จะแตกดังโพละ.
ข่าวน่าสนใจ:
ข้อมูลอ้างอิง:
- อัตราแลกเปลี่ยน 29.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564
- Inline XBRL Viewer