หลังจากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใน "เมียนมา" เพียงไม่กี่วัน...
"นี่คือโอกาสอันดีที่ควรคว้าเอาไว้ นับตั้งแต่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และทีมที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเขาได้ให้คำมั่นเอาไว้ว่าจะคืนสถานะของสหรัฐฯ ให้กลับไปเป็นผู้นำบนเวทีโลก"
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ "วอชิงตันโพสต์" สื่อสำหรับคอการเมืองมะกันระบุอย่างโจ่งแจ้ง
และแทบไม่แตกต่างกัน บทบรรณาธิการของนิตยสาร "ฟอรีน โพลิซี" (Foreign Policy) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาเรียกร้องอะไรที่แทบไม่แตกต่างไปจากวอชิงตันโพสต์
"มันคือ การให้โอกาสที่สหรัฐฯ กำลังต้องการอย่างยิ่ง เพื่อกลับไปตอกย้ำสถานะความเป็นผู้นำของโลกเสรีอีกครั้ง"
ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "ปักกิ่ง" กำลังมองว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ผู้นำคนใหม่ กำลังเตรียมใช้โอกาสที่ว่านี้กลับไปยืนในจุดเดิมที่พวกเขาเคยอยู่ รวมถึงคิดว่าคนทั้งโลกก็คงคิดเช่นนั้น
นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกา คือ ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกที่สามารถชี้นิ้วกราดบงการประเทศอื่นๆ ได้ตามชอบใจ หลังจากพลังอำนาจที่ว่านี้แทบจะสูญหายไปเกือบตลอด 4 ปีที่พญาอินทรีมีผู้นำที่ชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์
...
โดยสำนักข่าวโกลบอล ไทม์ส (Global Times) สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน จับจ้องท่าทีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับออกบทวิเคราะห์เอาไว้ว่า...
อิทธิพลของสหรัฐฯ ในเวทีนานาชาติเสื่อมถอยลงไปอย่างมากในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยเหตุนี้ มันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และทีมงาน จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรบางอย่างออกมา เพื่อฟื้นฟูสถานะและอิทธิพลของสหรัฐฯ ให้กลับมาโดดเด่นอีกครั้งบนเวทีประชาคมโลก รวมถึงในหมู่ชาติตะวันตก
และความพยายามเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ในเมียนมา เพื่อสร้างสถานะผู้นำโลกขึ้นมาใหม่ ก็คือ หนึ่งในโอกาสที่ว่านั้น!
ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็นการที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ดำเนินนโยบายที่ขันแข็งกับเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการขู่จะคว่ำบาตรครั้งใหม่ หรือการใช้ท่าทีแข็งกร้าวประณามกองทัพเมียนมาแบบตรงไปตรงมา ผ่านการท่องคาถาประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และสิทธิมนุษยชน
อะไรคือ เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป หากกองทัพเมียนมาเพิกเฉยต่อสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ?
โกลบอล ไทม์ส วิเคราะห์เอาไว้ว่า หากกองทัพเมียนมาไม่ยอมสละอำนาจตามที่วอชิงตันปรารถนา การค่อยๆ เขยิบๆ มาตรการคว่ำบาตรจากเบาไปหาหนักจะเริ่มต้นขึ้น เหมือนเช่นที่อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา เคยทำกับเมียนมาแล้ว
และอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกจะพยายามเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในเมียนมา ด้วยการเข้าไปให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันกับกลุ่มที่อ้างตัวเองว่าเป็น "ประชาธิปไตย" ในการต่อสู้กับกองทัพเมียนมาแบบตรงไปตรงมา ซึ่งแน่นอนว่า ความวุ่นวายในประเทศเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่บรรดาบิ๊กๆ ในกองทัพปรารถนาจะได้เห็น และหากเป็นเช่นนั้นจริง การต่อสู้ที่ว่านี้จะต้องดำเนินไปอย่างยาวนานเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ โกลบอล ไทม์ส จึงเสนอทางออกสำหรับเรื่องนี้ว่า ควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมานั่งจับเข่าคุยกันอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางออกที่ประนีประนอมในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ทางออกในลักษณะนี้ โกลบอล ไทม์ส มองว่า "เกิดขึ้นได้ยาก" เนื่องจากวอชิงตันไม่เคยสนใจว่า แท้ที่จริงแล้วชาวเมียนมาต้องการอะไร นั่นเป็นเพราะสหรัฐฯ เลือกที่จะรับรู้ปัญหาของเมียนมา เพียงเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองสมผลประโยชน์เท่านั้น
...
ขณะเดียวกัน โกลบอล ไทม์ส ยังตั้งคำถามถึงความพยายามแทรกแซงกิจการภายในเมียนมาของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยว่า ในเมื่อวอชิงตันและชาติตะวันตกมุ่งหวังแค่เพียงให้เมียนมาเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ แต่คำถามที่ตามมา คือ บรรดาชาติตะวันตกเหล่านั้น เคยพิจารณาหรือไม่ว่า อะไรที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในเมียนมา ณ ปัจจุบัน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา วอชิงตันและชาติตะวันตก ซึ่งมักจะชอบยัดเยียดให้ประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งต้องเผชิญหน้าทั้งปัจจัยทางการเมืองที่ไม่แน่นอน และเงื่อนไขภายในที่แตกต่างกัน จำต้องยอมรับหลักการครอบจักรวาลที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตก เรียกว่า "ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และสิทธิมนุษยชน" ที่สหรัฐฯ อ้างว่า สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกสรรพสิ่งในโลกใบนี้นั้น ได้ทำให้หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องประสบปัญหาความปั่นป่วนทางการเมืองมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่แทบมองไม่เห็นความสำเร็จในระยะยาวอีกด้วย
ฉะนั้น สหรัฐฯ และชาติตะวันตก จึงไม่ควรบีบบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาจำยอมรับรูปแบบที่ตัวเองปรารถนา โดยไม่คิดที่จะศึกษาและวิเคราะห์ถึงรูปแบบของปัญหาที่แท้จริง รวมถึงเงื่อนไขเฉพาะตัวในประเทศนั้นๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถทำให้สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ "ประเทศเมียนมา" ได้ต่อไป...
และทั้งหมดนั้น คือ มุมมองของปักกิ่งที่กำลังเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อท่าทีผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีหมุดหมายสำคัญ คือ การกลับมาแผ่อิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งเพื่อยับยั้งการรุกคืบของจีน
...
มาตรการคว่ำบาตรกองทัพเมียนมามากแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอดี?
แน่นอนเหลือเกินว่า หลังจากเกิดวิกฤติทางการเมืองในเมียนมาครั้งล่าสุด สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การออกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ
หากแต่การคว่ำบาตรกองทัพเมียนมาที่มีจีนยืนตระหง่านเป็นหลักให้พิงอย่างแนบแน่นนั้น หากมากเกินไป มันย่อมไม่ต่างอะไรกับการจับเมียนมาห่อของขวัญแล้วส่งให้ปักกิ่งในแง่กลยุทธ์ทางการทูต หรือหากน้อยเกินไป มันก็คงยากจะทำให้ชาติพันธมิตรตะวันตกเกิดความเชื่อมั่นได้ว่า สหรัฐฯ กำลังจะกลับมาแสดงตัวเป็นผู้นำในเวทีโลกอีกครั้ง และแน่นอนว่าทั้งหมดที่จะทำลงไป ต้องห่อหุ้มไปด้วยหลักการของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
...
แล้วแบบไหนจึงจะเรียกว่า "เหมาะสม"?
ฮันเตอร์ มาร์สตัน (Hunter Marston) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย วิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า...
"วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งได้ประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนในนโยบายต่างประเทศว่า จะให้ความสำคัญกับ "คุณค่าของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน"
ฉะนั้น สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ผู้นำสหรัฐฯ จะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างคุณค่าของหลักการประชาธิปไตย และผลประโยชน์ด้านภูมิยุทธศาสตร์ (Geostrategic) ได้อย่างไร?
เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ ปัจจุบัน ปักกิ่งและวอชิงตันกำลังขับเคี่ยวเรื่องการสร้างอิทธิพลเหนือภูมิภาคต่างๆ อย่างกว้างขวาง ฉะนั้น หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแรงบีบเมียนมาหนักเกินไป ย่อมทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบจีนในการแข่งขันที่ว่านั้นทันที"
ในขณะที่ ปีเตอร์ มัมฟอร์ด (Peter Mumford) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ "ยูเรเซียกรุ๊ป" (Eurasia Group) วิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า...
"หากชาติตะวันตกคิดจะคว่ำบาตรเมียนมา จะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ ณ ปัจจุบันให้รอบคอบ นั่นเป็นเพราะเมียนมา ณ เวลานี้ พึ่งพาการค้าและลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากจนเกินไป อีกทั้งยังควรพิจารณาถึงปัจจัยการเมืองภายในประกอบด้วย นั่นเป็นเพราะหากการคว่ำบาตรที่รุนแรงนำไปสู่ปัญหาความไม่สงบภายในแล้ว อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่กองทัพเมียนมาจะใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงได้
แล้วอะไรคือ ทางเลือกของผู้นำคนใหม่สหรัฐฯ?
ฮันเตอร์ มาร์สตัน วิเคราะห์ประเด็นนี้เอาไว้ว่า...
"เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และเคิร์ท แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ผู้ดูแลนโยบายอินโด-แปซิฟิก คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกมการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ โจ ไบเดน สามารถไว้วางใจได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ เคิร์ท แคมป์เบลล์ นั้น มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองอันแนบแน่นกับคนในรัฐบาลเมียนมา ที่สามารถเชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกเรื่องการพูดคุยกับผู้นำระดับสูงในกองทัพเมียนมาได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เคิร์ท แคมป์เบลล์ ยังมีประสบการณ์ในเชิงกลยุทธ์การโดดเดี่ยวเมียนมาอันไร้ความหมาย เนื่องจากไม่สามารถกดดันให้กองทัพเมียนมายอมปรับพฤติกรรม หรือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ ซึ่งดำเนินยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษก่อนหน้านี้แล้วอีกด้วย ฉะนั้น ในเมื่อโจทย์ ณ ปัจจุบัน มีประเด็นเรื่องการขับเคี่ยวความเป็นหนึ่งกับจีนเข้ามาในสมการเพิ่ม การดำเนินการใดๆ ของสหรัฐฯ นับจากนี้จะต้องเต็มไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้นอย่างแน่นอน!"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
ข่าวที่น่าสนใจ:
- "ไบเดน" เล่นใหญ่ เบื้องหลังเซ็น 17 คำสั่ง หักหน้า "ทรัมป์" ล้างมโนคติฝังหัว
- อำนาจในมือ "ไบเดน" เมื่อ "ทรัมป์" อำลา สมรภูมิเกมการค้าจะรุนแรงแค่ไหน?
- ความงดงามประชาธิปไตย ไฉนเรียกจลาจล เมื่อสังคมอเมริกัน พูดได้ไม่เท่ากัน
- แกะรอยอวสาน "ผ่าพิภพไททัน" จุดพีคดำมืด หรือ "เอเรน" คือบทสรุป
- ฝันค้าง Cloud Gaming Service เมื่อ "สเตเดีย" ส่อถึงทางตัน