- การรัฐประหารในเมียนมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมาเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อไทยและอาเซียนอีกด้วย และความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก หากชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ กลับไปใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
- หลังจากที่ประเทศเมียนมากลับคืนสู่ประชาธิปไตย ภายใต้รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี เมื่อ 4 ปีที่แล้วในช่วงปี 2558-2562 และชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศเมียนมา มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.54%
- จากข้อมูลการลงทุนของต่างประเทศของธนาคารโลก พบว่า ประเทศเมียนมามีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในยุคประชาธิปไตย โดยในช่วงเดือน ต.ค. 2562 ถึง เดือน ก.ย. 2563 มีมูลค่าลงทุนสูงถึง 5,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่า 30%
“อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง มองว่า ความเสี่ยงจากการ "รัฐประหาร" และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมา จะทำให้การลงทุนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระยะยาว เคลื่อนย้ายมายังประเทศไทยและเวียดนามแทน โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อาจได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายทุนเหล่านี้ เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ สายตะวันออก-ตะวันตก อาจล่าช้าออกไป จากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการเขตเศรษฐกิจทวาย และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเมียนมา
...
ส่วนมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาในระดับ 1.5-1.8 แสนล้านบาทต่อปี น่าจะปรับตัวลดลงไม่ต่ำกว่า 20-30% ในปี 2564 โดยสินค้าส่งออกไทยไปเมียนมาที่น่าจะหดตัวมากที่สุด ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักร เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าประเภท เครื่องดื่ม อาหาร ผ้าผืน ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมาก ส่วนสินค้านำเข้าจากเมียนมามายังไทยยังคงขยายตัวได้ในระดับปกติ ไม่ว่า จะเป็นสัตว์น้ำสดแช่แข็ง ไม้ซุง พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และก๊าซธรรมชาติ
“รัฐประหารล่าสุดได้ซ้ำเติมปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในประเทศเมียนมาให้ทรุดหนักลงกว่าเดิม และสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้ที่มีฐานะยากจนในประเทศเมียนมา เพิ่มจาก 22.4% ของประชากร มาอยู่ที่ 27% และหากการรัฐประหารตามมาด้วยความรุนแรง น่าจะทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในระยะต่อไป”
ค่าเงินจ๊าดผันผวน กลับมาซื้อขายตลาดมืด ยุคเผด็จการครองเมือง
ในด้านความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเมียนมาหลังรัฐประหาร คือ การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างต่ำ สามารถนำเข้าสินค้าได้ประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น ขั้นต่ำของทุนสำรองระหว่างประเทศ ต้องสามารถนำเข้าสินค้านำเข้า อย่างน้อย 6 เดือน เพราะประเทศเมียนมาภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารอันยาวนาน ก่อนคืนสู่ประชาธิปไตยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ประเทศนี้ไม่มีการพัฒนาใดๆ แต่เมื่อเปิดประเทศต้องนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆจำนวนมาก
รวมทั้งต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นพื้นฐานบางอย่าง ไม่สามารถผลิตได้อย่างพอเพียงภายในประเทศ เศรษฐกิจขยายตัวสูงมาพร้อมกับการขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2560 เมียนมาได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 4.2% ต่อจีดีพี และขาดดุลการค้าสูงถึง 5% ต่อจีดีพี อัตราแลกเปลี่ยนจ๊าด (MMK) ค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบยุคเผด็จการทหารปกครองประเทศก่อนหน้านี้
สำหรับความผันผวนของค่าเงินจ๊าด จะกลับมาอีกครั้งหนึ่งหลังการรัฐประหาร การซื้อขายเงินจ๊าดในตลาดมืดหรือนอกระบบจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง โดยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ธนาคารกลางพม่าได้ประกาศอัตราแลกเปลี่ยนรายวันอ้างอิงจากตลาด จึงช่วยลดความแตกต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดและนอกตลาดได้ระดับหนึ่ง ธนาคารกลางพม่าได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปถึง 3% เมื่อปี 2563 เพื่อประคับประคองภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด
...
หวั่นจลาจลรุนแรง กระทบอาเซียน-เอเชีย ส่งออกสินค้าไปเมียนมา
จากสถานการณ์เงินทุนไหลออกหลังการรัฐประหารเช่นนี้ ธนาคารกลางจะมีความยากลำบากในการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเสถียรภาพของภาคธนาคารเมียนมามีความเปราะบาง และไม่มีการกำกับที่ดีนัก มีการใช้เส้นสายโดยผู้นำกองทัพในการทำโครงการขอสินเชื่อ และโครงการจำนวนไม่น้อยกลายเป็นหนี้เสียในระบบ
มาตรการลดความเสี่ยงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง การจัดชั้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง การจัดชั้นของสินทรัพย์ และการดำรงสภาพคล่อง ยังไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ฐานะการคลังก็ไม่มั่นคงเพราะรัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องหลายปี และมีหนี้สินต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากญี่ปุ่นและจีน
แม้เมียนมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ยังขยายตัวเป็นบวกได้มากกว่า 1% เมื่อปีที่แล้ว แต่การรัฐประหารล่าสุดและความรุนแรงทางการเมืองและทางการทหารจะทำให้การคาดการณ์เดิมว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 6.5% ในปี 2564 เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และอาจจะปรับตัวลดลงมากถึง 5-6% หากมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก ธุรกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้รับผลกระทบจากควบคุมการสื่อสารโทรคมนาคม การปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตของผู้นำกองทัพกระทบต่อภาคธุรกิจ ตลาดการเงินและละเมิดสิทธิของประชาชนในสื่อสารต่อกัน
“หากการเกิดจลาจลและการปราบปรามโดยใช้กำลังรุนแรง จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนในเมียนมาสูงที่สุดคิดเป็น 34% ของมูลค่าลงทุนทั้งหมด และไทยเป็นสมาชิกอาเซียนที่เข้าไปลงทุนในเมียนมามากที่สุด ครอบคลุมกิจการหลายประเภท การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก อาจมีผลกระทบบางส่วนต่อการลงทุนโดยตรงเท่านั้น เนื่องจากการลงทุนโดยตรงในเมียนมาส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศในอาเซียนและเอเชีย จะมีผลกระทบต่อสินค้าที่ผลิตและส่งออกไปจากเมียนมามากกว่า”
...
รัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตย สั่นคลอนเอกภาพประชาคมอาเซียน
นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว อาจมีผลกระทบทางการเมืองระหว่างประเทศและผลกระทบต่อเอกภาพของประชาคมอาเซียนได้ การรัฐประหารได้ทำลายความเป็นสถาบันของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นพื้นฐานสำคัญของเสถียรภาพในเมียนมาและภูมิภาคอาเซียน การรัฐประหารทำลายสันติภาพและอาจเปิดประตูให้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ไปสู่แนวทางการใช้กำลังรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง มีผลกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สร้างความยุ่งยากในการบริหารจุดผ่านแดน 21 จุดและ 3 ด่านสำคัญ
ประเมินว่ามูลค่าการค้าแนวชายแดนน่าจะลดลงไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ล้านบาทในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวขึ้นอยู่กับความสงบตามแนวชายแดน และกระบวนการเจรจาระหว่างกองกำลังของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า
...
เตือนอาเซียน อย่านิ่งเฉย ไม่ให้เกิดผู้นำเผด็จการมือเปื้อนเลือด ซ้ำรอย
นอกจากนี้ หากกลุ่มผู้นำอาเซียนไม่ได้มีการหารือในเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาให้ชัดเจน มีโอกาสที่รัฐบาลแต่ละประเทศ จะมีจุดยืนที่แตกต่างหลากหลายตามผลประโยชน์ของแต่ละประเทศต่อรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาชุดใหม่ แม้อาเซียนจะยึดถือแนวทางการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในต่อประเทศสมาชิก แต่อาเซียนเองก็เคยดำเนินนโยบายพัวพันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันให้เมียนมาจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมและพัฒนาสู่ประชาธิปไตย และเป็นเงื่อนไขสำคัญของอาเซียนในการรับประเทศเมียนมาเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียน
พร้อมย้ำว่าการไม่หารือกันให้ชัดเจนโดยเร็ว อาจก่อให้ความแตกแยกในกลุ่มสมาชิกประชาคมอาเซียน จากจุดยืนที่แตกต่างกันต่อรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ขอให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืน และบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาในเมียนมาด้วยแนวทางสันติวิธี เคารพระบบนิติรัฐและหลักการประชาธิปไตย ด้วยการเสนอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนจัดการประชุมวาระพิเศษ หารือเกี่ยวกับปัญหาการล้มล้างอำนาจของประชาชน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจับกุมสมาชิกรัฐสภา แกนนำฝ่ายค้าน นักวิชาการ สื่อมวลชน กลุ่มนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจำนวนมาก การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการรัฐประหาร อาจถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงและอาวุธสงคราม
“หากอาเซียนนิ่งเฉย อาเซียนควรออกมาปกป้องสิทธิพื้นฐานดังกล่าวของประชาชนชาวเมียนมาและให้หลักประกันประชาชน จะไม่ถูกปราบปรามด้วยอาวุธเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในหลายครั้ง จากผู้นำเผด็จการทหารเมียนมามือเปื้อนเลือดในอดีต หากผู้นำอาเซียนทำงานเชิงรุกและกระตือรือร้นต่อปัญหาประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เหตุการณ์นองเลือดจากการปราบปรามของรัฐทหารเมียนมาอย่างเหตุการณ์ 8-8-88 และปราบปรามผู้ชุมนุมในเหตุการณ์การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ ต้องไม่เกิดขึ้นอีก”.
ผู้เขียน : ปูรณิมา