ระบบล่ม-คนล้มเหลว อีกกี่ชาติจะได้บทเรียน! ประชาชนจะปลอดภัย?

28 มี.ค. 68 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงสุดในรอบ 95 ปี แม้ศูนย์กลางจะอยู่ที่ประเทศเมียนมา แต่แรงสั่นสะเทือนเดินทางไกลกว่าพันกิโลเมตรมาถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวประชาชนได้ตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพของระบบ SMS เตือนภัยพิบัติของทางการไทย ที่แม้จะมีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้ระบบดังกล่าวใช้งานได้จริง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน กลับพบว่าไม่สามารถแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน รวมถึงมีข้อจำกัดหลายอย่าง จนสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อระบบดังกล่าว

เพื่อตอบคำถามเรื่องนี้ THAIRATH NEWSROOM ได้สัมภาษณ์ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน, ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช., ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ว่าที่สุดแล้ว ระบบคือปัญหา หรือคนที่ล้มเหลว?

กสทช. ไขข้อสงสัย ทำไม SMS ล่าช้า

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลักการที่ถูกต้องเมื่อมีภัยพิบัติ คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะประสานงานมาที่ กสทช. เพื่อแจ้งให้กับโอเปอเรเตอร์ และต้องมีกระบวนการที่เรียกว่า Cell Broadcast Service - CBS หรือ ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งข้อความเตือนตรงถึงหน้าจอมือถือทุกเครื่องในพื้นที่เกิดเหตุ

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. 

โดย ปภ. จะทำหน้าที่กำหนดเนื้อหาและพื้นที่ส่งข้อความ และยืนยันความถูกต้อง เรียกว่า Cell Broadcast Entity - CBE หรือ ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ โดยระบบ CBE นี้ จะทำให้ ปภ. สามารถส่งข้อความถึงประชาชนได้เลย โดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Cell Broadcast Centre - CBC ซึ่งเป็นระบบที่เป็นแหล่งที่มาของข้อความ

กล่าวคือ โดยหลักการแล้ว ระบบเตือนภัยบนมือถือ (CBS) จะส่งตรงไปยังประชาชนโดย CBC ที่ดูแลโดย ปภ. จะส่งข้อมูลไปยัง CBC ที่ดูแลโดยโอเปอเรเตอร์ และจากนั้นข้อความเตือนภัยจะส่งไปยังประชาชนทันที

นั่นคือหลักการที่ควรจะเป็น ทว่าปัจจุบัน ระบบดังกล่าวยังไม่สามารถใช้ได้ โดยเราจะอธิบายโดยแบ่งระบบออกเป็น ‘ภาคส่ง’ และ ‘ภาครับ’ ดังนี้

ภาคส่ง Cell Broadcast Entity - CBE

  • ทำหน้าที่สร้างข้อความ และกำหนดพื้นที่เป้าหมาย
  • สั่งการไปยังโอเปอเรเตอร์
  • ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งศูนย์บัญชาการ โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

ภาครับ Cell Broadcast Centre - CBC

  • ทำหน้าที่ประมวลผลข้อความ ระบุเสาสัญญาณที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระจายข้อความแจ้งเตือนผ่านเครือข่ายเสาสัญญาณนั้น ไปยังอุปกรณ์มือถือทั้งหมดในพื้นที่ที่กำหนด
  • ปัจจุบัน ดำเนินการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว โดยทรู คอร์ปอเรชั่น

ไตรรัตน์ ระบุว่า ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงต้องหันมาใช้ระบบเก่า นั่นคือ SMS ซึ่งระบบ SMS ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับมือภัยพิบัติ นั่นคือ ระบบ SMS ทั่วไปเมื่อได้รับคำสั่งให้ยิงข้อความเตือนภัย ขั้นแรกจะต้องดูว่า จุดรับส่งสัญญาณ (Cell Site) มีทั้งหมดกี่ต้น แล้วเบอร์ที่อยู่ในจุดรับส่งสัญญาณ (Cell Site) คือเบอร์อะไรบ้าง เพราะ SMS จะเป็นการเชื่อมต่อแบบจุดต่อจุด (Point-to-Point) จากนั้นจะนำเบอร์ต่างๆ มาเรียงคิวเพื่อรอทยอยส่ง ทำให้เกิดความล่าช้า

“สมมุติว่ามี 100 Cell Site ใน 4 จังหวัด โอเปอเรเตอร์ต้องดูว่ามีทั้งหมดกี่เบอร์ที่อยู่ในพื้นที่ เบอร์อะไรบ้าง เอามาเรียง แล้วถึงค่อยส่ง SMS มันเลยช้า เราถึงได้มีระบบใหม่ขึ้นมานั้นคือ CBS”

ระบบมีปัญหา หรือคนที่ล้มเหลว

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ไล่เลียงให้ฟังว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหอเตือนภัยประมาณ 1,000 กว่าหอทั่วประเทศ ทว่าไม่มีข้อมูลการแจ้งเตือนกรณีแผ่นดินไหวล่าสุดเลยแม้แต่หอเดียว นอกจากนี้ไทยยังมีโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งปัจจุบัน กสทช. มีประกาศแยกออกมาจาก พ.ร.บ.กสทชฯ ว่า ผู้ให้บริการวิทยุและโทรทัศน์ ต้องมีการแจ้งเตือนภัยพิบัติในกรณีที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ส่งข้อมูลไป

ทว่าวันที่ 28 มี.ค. 2568 เวลา 13.20 น. เราไม่เห็นการแจ้งเตือนแบบเป็นทางการจาก ปภ.ที่ส่งไปยังโทรทัศน์เลย โดยปัจจุบัน ศูนย์เตือนภัยพิบัติของ ปภ. มีระบบส่งข้อมูลมาตรฐาน 17 สถานีโทรทัศน์ และ 3 สถานีวิทยุ แต่เรากลับไม่เห็นระบบนี้ในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นล่าสุด

“คำถามจึงไม่ใช่ว่า ระบบล่มหรือเปล่า แต่คนที่วิเคราะห์ข้อมูลมาแจ้งเตือน ทำไมถึงล่าช้า ดังนั้น ต่อให้เรามี Cell Broadcast Service ถ้ามันยังช้าแบบนี้ การแจ้งเตือนแผ่นดินไหวก็ไม่ได้ดีอยู่ดี”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน

ภัทรพงษ์ มองว่า ปัญหาการแจ้งเตือนในไทยจึงไม่ใช่ระบบอย่างเดียว แต่ความผิดพลาดอีกอย่างหนึ่งคือ การได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อมาแจ้งเตือนประชาชน นี่คือปัญหามากๆ

ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ตนได้รับ SMS แจ้งเตือนแผ่นดินไหวเวลา 13.44 จาก 1784 เนื่องจากเคยร่วมงานกับ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สมัยทำข่าวเมื่อช่วงน้ำท่วมปี 2554 และเหตุภัยพิบัติอื่นๆ ดังนั้นแปลว่า ปภ. ต้องมีการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการไปแล้ว เหตุใด ปภ. จึงต้องรอทำเอกสารตอน 14.20 เพื่อส่งให้ กสทช. ซึ่งช้าราว 1 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ“ในเมื่อคุณตรวจสอบแล้วว่าข้อความนี้ต้องเตือน แล้วเราก็ได้รับแล้ว คุณจะมารอ 14.20 ทำไม ปัญหาอันนี้ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นปัญหาการสื่อสารระหว่างหน่วยงานแล้ว” ระวี กล่าว

ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ 

ไตรรัตน์ เสริมประเด็นต่อจากระวีว่า กรณีที่คุณระวีได้ SMS เตือนภัยตั้งแต่ 13.44 น. เหตุใด ปภ. จึงไม่แจ้งมายัง กสทช. แต่แรก

ภัทรพงษ์ ชี้ประเด็นว่า ไทยไม่ใช่ประเทศที่เจอภัยพิบัติน้อยถึงขั้นมองข้ามระบบการแจ้งเตือนเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกัน ไทยก็ได้ไปเซ็นลงนามในหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น The Sendai Framework หรือ กรอบความร่วมมือเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับโลกระยะเวลา 15 ปี เพื่อลด ป้องกัน และตอบสนองต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติทั่วโลก รวมถึงหลายๆ สนธิสัญญาอีกหลายฉบับเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ทว่าการปฏิบัติงานจริง หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการแจ้งเตือน โดยเฉพาะภัยพิบัติ ยังทำงานค่อนข้างล้าหลัง

ยกตัวอย่าง ไทยมีคณะกรรมการบริหารการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติอยู่ ซึ่งประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2565 โดยวาระคือ ใครจะเป็นเจ้าภาพหลักในการทำ Cell Broadcast จากนั้นการประชุมนี้ก็เงียบไปเลย

“ไม่ใช่ว่าประเทศเราภัยพิบัติน้อย เราจึงไม่สนใจภัยพิบัติ แต่ผมว่าคนที่มีอำนาจบริหารและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยเกินไป” ภัทรพงษ์ กล่าว

ระวี เสริมว่า ในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ไทยได้ยกระดับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นศูนย์บัญชาการหลักในการแจ้งเตือนภัยทุกคน แปลว่าไม่มีใครสามารถแทรกแซงได้ ดังนั้น หน่วยงานนี้สามารถทำได้ทันทีว่า จะส่งข้อความอะไรกี่โมงและสามารถกดส่งได้จากหน่วยงานโดยตรง คำถามคือ ในวันนี้ บทบาทตรงนั้นหายไปไหน? ระบบนั้นหายไปไหน?

กับดักราชการไทย ‘ล่าช้า ซ้ำซ้อน’ ประชาชนซวย

ภัทรพงษ์ ชี้ว่า ระบบ Cell Broadcast ถูกเสนอเข้ามาในปีงบประมาณ 2567 โดย ปภ. ราคา 450 ล้านบาท แปลว่างบตัวนี้ผ่านสภาแล้ว หน่วยงานได้งบไปแล้ว พอถึงปี 2568 กระทรวงดีอีฯ มาตั้งงบซ้ำซ้อนโดยการทำ Cell Broadcast เช่นกัน ราคา 434 ล้านบาท สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แทนที่ ปภ. จะได้เดินหน้าทำระบบ กลับต้องมาหยุดชะงัก แล้วสองกระทรวงก็ต้องมานั่งเจรจากันว่า ใครจะเป็นเจ้าภาพหลักกันแน่?

โดยประเด็นนี้ถูกถามในการอภิปรายในสภาตั้งแต่วาระแรก ว่าเหตุใด กระทรวงดีอีจะต้องตั้งงบ Cell Broadcast ขึ้นมาอีก รัฐมนตรีฯ ก็ตอบว่า นิยามคำว่าภัยพิบัติของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้ครอบคลุมมากนัก แต่ ภัทรพงษ์ มองว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ครอบคลุมภัยพิบัติชัดเจนว่าเป็นทั้งภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์ ซึ่งกว่ากระทรวงดีอีจะเข้าใจและยอมตัดงบของตัวเองออกไป ก็ใช้เวลาหลายเดือนเลย

“ผมได้คุยกับผู้แทนของโอเปอเรเตอร์ (เอกชน) ด้วย เขาก็บอกว่า ความซับซ้อนของภาครัฐทำให้โอเปอเรเตอร์งง ไม่รู้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพหลัก ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร ทั้งๆ ที่โอเปอเรเตอร์หลายภาคส่วนแทบจะพร้อมกันหมดแล้ว” ภัทรพงษ์ กล่าว

โดยสรุปคือ ความล่าช้าจากภาครัฐที่รับผิดชอบ Cell Broadcast Entity - CBE ทำให้ภาคเอกชนที่ดูแลด้าน Cell Broadcast Centre - CBC สับสน ระบบที่ควรใช้งานได้ตั้งนานแล้ว จึงชะงักงันและส่งผลกระทบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ไตรรัตน์ เล่าว่า จากการประชุมกับนายกรัฐมนตรีหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา มีสาระสำคัญคือ ลดขั้นตอนการทำงาน และทำอย่างไรให้ SMS ไปสู่ประชาชนได้เร็วขึ้น โดยไตรรัตน์เล่าว่า ตนได้เข้าไปคุยกับผู้ประกอบการเพื่อหารือว่า ในเมื่อ CBE ยังไม่สามารถใช้ได้ ก็ให้ลองทำ Virtual CBE หรืออุปกรณ์เสมือนภาคส่งจริง โดยได้มีการทดลองที่ทำเนียบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 แล้ว พบว่าใช้งานได้ แต่มีข้อจำกัดคือ สามารถส่งไปถึงโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ (Android) เท่านั้น นอกจากนี้ หน่วยงานยังได้เชิญ Apple มาหารือเพื่อให้สามารถใช้ Virtual CBE ในระบบ IOS ได้ โดย Apple ได้ขอเวลา 48 ชั่วโมงในการหาทางออกของเรื่องนี้

ประเทศไทยมีเบอร์โทรศัพท์ประมาณ 120 ล้านเบอร์ ในจำนวนนี้ใช้มือถือระบบแอนดรอยด์ 60% และไอโฟน 40% ซึ่งขณะนี้ สามารถยิงระบบ Virtual CBE ไปยังมือถือระบบแอนดรอยด์ได้ทั้งหมด ส่วนอื่นๆ ยังคงต้องใช้ระบบ SMS อยู่

โดยสรุป ระบบ SMS ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับมือภัยพิบัติ และไทยพยายามออกแบบระบบ Cell Broadcast Service - CBS หรือ ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ส่งข้อความเตือนตรงถึงหน้าจอมือถือทุกเครื่องในพื้นที่เกิดเหตุ มาตั้งแต่ปี 2565 ผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปี ระบบนี้ก็ยังไม่เสร็จ จากระบบราชการที่ซ้ำซ้อน ล่าช้า และชะล่าใจ จนเมื่อภัยมาถึง ผู้ที่รับกรรมก็คือประชาชนอีกตามเคย


ที่มา: หมดเวลาถอดบทเรียน SMS แจ้งเตือนภัยพิบัติรอไม่ได้ ติงภาครัฐให้ความสำคัญน้อยไป | THAIRATH NEWSROOM

สร้างสรรค์โดย
ทีมข่าวเฉพาะกิจ

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

Share

เราใช้คุ้กกี้ 

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookie Policy)

รับทราบ