เปิดข้อมูล บ.เหล็ก ใช้ก่อสร้างตึก สตง. 30 ชั้น มีผู้ถือหุ้นจีน 9 ราย ไทย 3 ราย เคยถูกกระทรวงอุตสาหกรรมบุกตรวจเมื่อปี 67 เจอเหล็กที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานกว่า 2,441 ตัน
เหตุโศกนาฏกรรมตึก 30 ชั้นถล่ม โดยเป็นตึกของ สตง. ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่จตุจักร กรุงเทพฯ ซึ่งเกิดเหตุถล่มหลังมีแผ่นดินไหว ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและหาสาเหตุที่แท้จริง โดยทางทีมงานกระทรวงอุตสาหกรรมมีการจัดเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นเพื่อไปตรวจสอบถึงคุณภาพ และมีการแถลงออกมาบางส่วนถึงเหล็กข้ออ้อยบางส่วนไม่ได้คุณภาพ แต่เพื่อความเป็นธรรมต้องมีการเก็บตัวอย่างให้ละเอียดอีกครั้ง หลังกู้ร่างของผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากตึกทั้งหมดออกมาได้เสียก่อน

เบื้องต้นมีการระบุถึงผู้ผลิตเหล็กที่ใช้บางส่วนมาจาก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่เป็นโรงงานผลิตเหล็กข้ออ้อย โดยทีมข่าวได้ทำการสืบค้นข้อมูลบริษัทพบว่า มีการจดทะเบียนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ดำเนินกิจการมา 14 ปี 1 เดือน มีทุนจดทะเบียนล่าสุด 1,530,000,000 อยู่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
...

เป็นกิจการขนาดใหญ่ ประเภทธุรกิจ ขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานขั้นต้นและขั้นกลาง ลักษณะธุรกิจประกอบกิจการค้า นำเข้า จำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าดังกล่าว ประกอบกิจการค้า นำเข้า จำหน่ายเครื่องตัดแต่งสินค้า เครื่องเลเซอร์ เครื่องจักรเลเซอร์ เครื่องจักรหุ่นยนต์เลเซอร์พ่นพอกผิวแข็ง รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ รวมถึงโรงงานผลิตเหล็ก

รายชื่อกรรมการ
นาย เจี้ยนฉี เฉิน
นาย สู้ หลงเฉิน
นาย สมพัน ปันแก้ว

สัญชาติผู้ถือหุ้น
จีน 9 ราย จำนวนหุ้นที่ถือ (หุ้น) 122,400,000 สัดส่วน 80.0000%
ไทย 3 ราย จำนวนหุ้นที่ถือ (หุ้น) 30,600,000 สัดส่วน 20.0000%
ทั้งนี้ จากข้อมูลบริษัทยังพบว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ชุดตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงาน บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จ.ระยอง พบข้อบกพร่องทั้งด้านความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อมหลายจุด โดยเฉพาะการผลิตเหล็กที่อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานจึงได้ยึดอายัดเหล็กไว้ทั้งหมด

...
พร้อมเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้รับรายงานผลการตรวจสอบเหล็กข้ออ้อยที่ผลิตโดยบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกเกณฑ์สำคัญที่ส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก
จึงมอบหมายให้ชุดตรวจการสุดซอยเข้าแจ้งผลการตรวจสอบต่อบริษัทฯ พร้อมยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานดังกล่าวจำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท และให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อป้องกันอันตราย และความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศที่ผลิตเหล็กได้มาตรฐาน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ
ข้อมูลค้นหาจาก https://www.corpusx.bol.co.th/ : แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจของคุณ