ผีซ้ำด้ำพลอย เมื่อคนเมียนมาเจอแผ่นดินไหว และการโจมตีจากกองทัพ ‘ในวันเดียวกัน’

Blood Money Campaign กลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดในเมียนมา ได้ออกมาประณามเผด็จการทหารที่นำโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่ได้ปฏิบัติการโจมตีประชาชนและกองกำลังฝ่ายต่อต้าน แม้ขณะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ทำให้ประชาชนต้องเผชิญทั้งภัยพิบัติธรรมชาติครั้งใหญ่ และภัยสงครามในเวลาเดียวกัน โดยข้อความมีเนื้อหาว่า
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ประชาชนเมียนมาต้องเผชิญทั้งภัยธรรมชาติและการโจมตีทางอากาศอันโหดร้ายที่ดำเนินการโดยคณะเผด็จการทหาร ทั้งๆ ที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง 7.7 ริกเตอร์ และอาฟเตอร์ช็อก 6.7 ริกเตอร์ ถล่มพื้นที่ภาคกลางของประเทศเมียนมา โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับเมืองสะกายและมัณฑะเลย์ และยังตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกอีก 13 ครั้งทั่วประเทศ
แม้ว่าสำนักงานใหญ่ของกองทัพทหารเมียนมาจะพังทลายเช่นกัน ทำให้ผู้นำคณะทหาร รวมทั้ง ‘มิน ออง หล่าย’ ต่างก็ดิ้นรนหนีตายเพื่อความปลอดภัย ทว่ากองทัพก็ยังคงออกปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอย่างไม่ลดละ โดยกำหนดเป้าหมายคือเหล่าพลเรือนที่กำลังได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่แล้ว
“เรายินดีต้อนรับรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม เราขอเตือนอย่างยิ่งว่าไม่ควรส่งความช่วยเหลือผ่านคณะทหารที่ไร้ความปราณีและโหดร้าย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ได้ ขณะที่รัฐบาลทหารที่ไร้ความชอบธรรมก็ได้รับความชอบธรรมเช่นกัน”
Blood Money Campaign ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศที่ต้องการสนับสนุนความช่วยเหลือต่อประชาชนขณะนี้ ‘หลีกเลี่ยง’ การสนับสนุนความช่วยเหลือผ่านคณะรัฐประหาร แต่ให้ส่งมอบความช่วยเหลือผ่านองค์กรในพื้นที่ องค์กรในชุมชน และกลุ่มปฏิวัติแทน เพื่อให้แน่ใจว่า ความช่วยเหลือเหล่านี้จะไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวจริงๆ
ดร.ซาน อ่อง (Dr. Sann Aung) ผู้อำนวยการมูลนิธิ New Myanmar Foundation ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชายขอบว่า มีหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และหลายพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือล่าช้า ประชาชนต้องช่วยกันเอง โดยที่กองทัพพม่าและทหารพม่าไม่มีมาตรการจัดการภัยพิบัติเลย
“พื้นที่ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉิน ได้แก่พื้นที่ในมัณฑะเลย์ สะกาย ซึ่งเป็นสองเมืองใหญ่ ถึงจะเป็นเขตเมืองขนาดนั้น แต่ความช่วยเหลือก็ยังไปไม่ครบ ที่ประเทศพม่าการบริการสาธารณะเลวร้ายมาก มาตรการการเยียวยาและฟื้นฟูจากภัยพิบัติไม่มีเลย ไม่มีเจ้าหน้าที่ สภากาชาดพม่าเองก็ผูกติดอยู่กับทหารพม่า เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพพม่า ที่พม่าไม่เหมือนญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์ มีแผนเผชิญเหตุแผนฟื้นฟูทุกอย่างเป็นอย่างดี แต่พม่าไม่มีศักยภาพเลย” ดร.ซาน อ่อง กล่าว
ดร.ซาน อ่อง ยังระบุว่า วันที่ 28 มี.ค. 2568 กองทัพพม่ายังส่งอากาศยานไปโจมตีประชาชน ทั้งที่สถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงขนาดนี้ เหตุใดจึงไม่ประกาศหยุดยิง ทั้งที่ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือรัฐบาลเงา (National Unity Government of Myanmar-NUG) ได้ประกาศหยุดยิง 2 สัปดาห์ ในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้
หวั่นความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ไปไม่ถึงมือผู้ประสบภัย
นอกจากนี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ เคเอ็นยู (Karen National Union: KNU) ยังได้โพสต์แถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารเมียนมาที่ดำเนินการโจมตีทางอากาศ และ ‘ทิ้งระเบิด’ ใส่ประชาชน ทั้งที่สถาบันทหาร ควรมีบทบาทในการเป็นผู้นำรับมือสถานการณ์วิกฤติระดับชาติ ทว่าภายใต้การควบคุมของ สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) กองทัพกลับมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาทรัพยากรและผลประโยชน์ของตนเอง
KNU ยังได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ สนับสนุนความช่วยเหลือผ่านกลุ่มชุมชนท้องถิ่นที่สามารถให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกลไกการตรวจสอบที่เข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทาง
เช่นเดียวกับเครือข่ายสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ทำงานเกี่ยวกับเมียนมา จำนวน 258 องค์กร อาทิ U.S. Campaign for Burma, Swedish Burma Committee, New Zealand Campaign for Myanmar, Myanmar Action Group Denmark, Justice For Myanmar ฯลฯ ก็ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ระบุว่า การส่งมอบความช่วยเหลือให้ถึงมือผู้ประสบภัยและชุมชนที่ได้รับผลกระทบต้องกระทำผ่านกลุ่มชุมชนท้องถิ่นและคนทำงานแนวหน้า ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) หรือ NGO องค์การปฏิวัติชาติพันธุ์ต่าง ๆ และภาคประชาสังคมเมียนมาเท่านั้น นั่นเพราะ ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะดำเนินการผ่านผู้ใด จะต้องไม่ถูกนำไปแสวงประโยชน์ บิดเบือน หรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทหารของเผด็จการทหารเมียนมาอย่างเด็ดขาด
แถลงการณ์ดังกล่าว ยังระบุถึงเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสที่เคยเกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อปี 2561 โดยเผด็จการทหาร ได้ฉวยโอกาสใช้ ‘ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์’ จากนานาประเทศ มาเป็นเครื่องมือในการควบคุมผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญ โดยวิธีการคือ กดดันให้ประชาชนลงคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ มิเช่นนั้นจะกีดกันความช่วยเหลือต่างๆ อีกทั้งยังมีการจับกุมอาสาสมัครท้องถิ่นจากกลุ่มประชาธิปไตยที่พยายามส่งมอบความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัย โดยการกระทำทั้งหมดนี้ ส่งผลให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมดำเนินไปอย่างล่าช้า และก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาล
ดร.ซาน อ่อง (Dr. Sann Aung) เล่าให้สำนักข่าวชายขอบฟังว่า ช่วงพายุนากีส ประชาชนนับล้านต้องประสบภัยพิบัติ แต่ทหารพม่ากลับปิดเส้นทางทั้งหมดที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่เป็นความช่วยเหลือของสหประชาชาติ และยังพบว่า ข้าวบริจาคของหน่วยงาน UN กลับเอาไปให้ทหารพม่า แทนที่จะส่งให้ถึงมือประชาชนผู้ที่กำลังทุกข์อย่างสาหัส ทำไมทหารพม่าไม่ยอมปล่อยให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้าถึงประชาชนอย่างเต็มที่ กลับปิดกั้นเส้นทางความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งควรเข้าไปถึงพื้นที่ที่ประสบภัยได้เต็มที่และทันที
ดร.ซาน อ่อง ย้ำว่า หากความช่วยเหลือจากนานาประเทศครั้งนี้ ส่งผลทหารพม่า ก็ไม่ต่างอะไรกับหยดน้ำในทะเล ภัยพิบัติครั้งนี้เราต้องใช้ทรัพยากรและสรรพกำลังมหาศาลในการเข้าไปช่วยกู้ภัย ช่วยเหลือ และฟื้นฟู การช่วยเหลือนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งผ่าน ‘องค์กรประชาชน’
ที่มา