ร้องรัฐบาลไทย ‘หยุดสังฆกรรม’ กับกองทัพพม่า ขับ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ออกจาก BIMSTEC

วานนี้ 30 มี.ค. 2568 กลุ่มปกป้องประชาธิปไตย (Defend Myanmar Democracy - DMD) โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย รวมถึงรัฐบาลกลุ่มประเทศ BIMSTEC ให้ขับ ‘มิน อ่อง หล่าย’ และกองทัพพม่าออกจากการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในวันที่ 3-4 เม.ย. 2568 ที่จะถึงนี้ และเสนอให้ไทย ‘ไม่ร่วมสังฆกรรม’ กับเผด็จการทหาร
โดยจดหมายนี้ มีหน่วยงาน 319 องค์กร ร่วมลงชื่อแสดงจุดยืน ประกอบด้วยตัวแทนของเมียนมา ภาคประชาสังคมระดับภูมิภาคและสากล 285 องค์กร และ 34 องค์กรซึ่งไม่ประสงค์จะระบุชื่อของตนเอง โดยมีเนื้อหาดังนี้
- ห้ามไม่ให้มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา เข้าร่วมการประชุม BIMSTEC
- ห้ามไม่ให้ตัวแทนทุกคนของกองทัพเมียนมา และผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง เข้าร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมใดๆ ของ BIMSTEC
โดยในจดหมายระบุอีกว่า
นับแต่มีความพยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้ทำการสังหารหมู่ โจมตีทางอากาศอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ระดมยิงปืนใหญ่ ก่อเหตุความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ สังหารหมู่และวางเพลิงสถานที่จำนวนมาก ทั้งยังได้จับกุมบุคคลโดยพลการกว่า 28,900 คน ในแต่ละปี กองทัพเมียนมายังได้เพิ่มการโจมตีทางอากาศบ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเช่นกัน กองทัพเมียนมาได้ทำการโจมตีทางอากาศ 4,631 ครั้ง รวมทั้งในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศ สถานพยาบาล โรงเรียน และศาสนสถาน การก่ออาชญากรรมอย่างร้ายแรงนี้เป็นการละเมิดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในการนี้รวมถึงการใช้ระเบิดเพลิงซึ่งห้ามใช้ในพื้นที่พลเรือน จากการโจมตีทางอากาศเพียงอย่างเดียวทำให้พลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 2,603 คน และบาดเจ็บ 4,184 คน
สืบเนื่องจากการก่ออาชญากรรมเหล่านี้ ทำให้ปัจจุบันจึงมีผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศแล้วกว่า 3 ล้านคน กองทัพเมียนมากระทำการเข้ากับหลักเกณฑ์ที่จัดว่าเป็น องค์กรก่อการร้าย ทั้งตามกฎหมายในประเทศของเมียนมา และตามที่นิยามในกฎหมายระหว่างประเทศ ความทารุณของกองทัพเมียนมารุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยได้ต้องตกเป็นจำเลยในคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่กระทำต่อชาวโรฮิงญา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศ และการพิจารณาตามหลักเขตอำนาจศาลสากลที่ศาลอาร์เจนตินา โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ศาลอาญากลางของอาร์เจนตินาใช้หลักเขตอำนาจศาลสากล ออกหมายจับพลเมืองชาวเมียนมา 25 คน เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา รวมทั้งมิน อ่อง หล่ายซึ่งเป็นผู้นำกองทัพเมียนมา และผู้นำทหารระดับสูงคนอื่นๆ
ไม่ว่าจะพิจารณาจากนิยามใด กองทัพเมียนมาไม่ถือว่าเป็นรัฐบาล และจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนชาวเมียนมาเพื่อเข้าร่วมในกิจกรรมหรือการประชุมใด ๆ ของ BIMSTEC ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในระดับใด หรือไม่ว่าจะเป็นตัวแทนใดจากกองทัพ หากรัฐบาลต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศร่วมมือทำงานกับกองทัพเมียนมา เสมือนกับว่าพวกเขาเป็นรัฐบาล และ/หรือ ส่งเสริมให้ผู้ที่แต่งตั้งและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพ เข้าเป็นเครือข่ายกับประชาคมระหว่างประเทศ ย่อมก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อประชาชนชาวเมียนมา รวมทั้ง:
- ทำให้กองทัพเมียนมาเกิดความฮึกเหิม และจะยิ่งเพิ่มการก่อความรุนแรงต่อพลเรือน
- ทำให้พวกเขามีอำนาจตัดสินใจแทนประชาชนชาวเมียนมาได้อย่างชอบธรรม
- สร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพเมียนมาและมีส่วนช่วยเหลือในการกระทำที่ผิดกฎหมายของพวกเขา ทำให้มีภาพเสมือนเป็นรัฐบาล
- ช่วยเหลือกองทัพเมียนมาในการสร้างความสัมพันธ์ และเข้าถึงแหล่งทุนและทรัพยากร และ
- ประการสุดท้าย เป็นการช่วยเหลือกองทัพเมียนมาในการทำสงครามกับประชาชนในประเทศของตนเอง
หน่วยงานใดซึ่งสร้างความชอบธรรม หรือสนับสนุนการให้เงินทุนและทรัพยากรกับกองทัพเมียนมา ย่อมเสี่ยงจะมีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมที่ทารุณอย่างต่อเนื่องของกองทัพเมียนมา จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์ทั้งทางการทูตและการเงินใด ๆ กับกองทัพเมียนมา และบุคคลอื่น ๆ ผ่านการประชุมและการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ
องค์กรระหว่างรัฐบาลอื่น ๆ รวมทั้งอาเซียนและองค์การสหประชาชาติ ได้ใช้มาตรการเพื่อตอบโต้กองทัพเมียนมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อาเซียนได้ลงมติไม่อนุญาตให้เมียนมา เป็นประธานอาเซียนตามวาระในปี 2569 และยังได้กีดกันไม่ให้กองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ก็มีการกีดกันไม่ให้ผู้แทนของกองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของตน ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้พากันคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุมผู้บัญชาการทหารอากาศของกลุ่ม ADMM ซึ่งมีกองทัพเมียนมาเป็นเจ้าภาพ ประเทศสิงคโปร์ได้คว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการอบรมต่อต้านการก่อการร้าย ADMM-Plus ซึ่งมีกองทัพเมียนมา และรัสเซียเป็นเจ้าภาพ ปฏิบัติการเหล่านี้สร้างความพอใจให้กับประชาชนชาวเมียนมาอย่างยิ่ง
ถึงอย่างนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีปฏิบัติการที่จริงจังมากกว่านี้ การตัดสินใจของท่านที่จะกีดกันไม่ให้ กองทัพเมียนมาที่ผิดกฎหมายเข้าร่วมในการเยือนและการประชุมที่จะมีขึ้น สอดคล้องกับข้อมติขององค์การสหประชาชาติที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สมาชิกของกองทัพเมียนมา เป็นตัวแทนของประเทศเมียนมาในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ คำร้องขอของเรายังสอดคล้องกับข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งเสนอแนะให้อาเซียนต้องไม่อนุญาตให้ตัวแทนจากกองทัพเมียนมาเข้าร่วมในการประชุมของอาเซียน ผู้รายงานพิเศษยังเรียกร้องรัฐภาคีอาเซียน “ไม่ให้เข้าร่วมการประชุม หากไม่มีการยกเลิกจดหมายเชิญต่อตัวแทนจากกองทัพเมียนมา” นอกจากนั้น ผู้รายงานพิเศษยังกระตุ้นว่า
“รัฐภาคีซึ่งสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และอุดมการณ์ของประชาชนชาวเมียนมา ต้องประกาศไม่ยอมรับข้ออ้างที่หลอกลวงของ SAC (สภาบริหารแห่งรัฐ) ที่อ้างว่าตนเองเป็นรัฐบาลอันชอบธรรม”
"เราหวังว่าจะได้รับฟังคำตอบจากท่าน ในระหว่างนี้ เราจะยังคงติดตามดูว่าท่านจะมีปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมา หรือจะสนับสนุนกองทัพที่โหดร้ายและขาดความชอบธรรม"
(BIMSTEC มีชื่อเต็มว่า Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือชื่อไทยคือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ เป็นการรวมตัวของ 7 ประเทศ ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล)
ที่มา: Defend Myanmar Democracy