“กรมอุตุ” ประเมินแรงสั่นไหว “อาฟเตอร์ช็อก” กว่า 100 ครั้ง ความถี่เบาลงเหลือ 2-3 ครั้ง/นาที จากช่วงแรกเฉลี่ย 12 ครั้ง/นาที คาดสถานการณ์กลับมาปกติอีก 1-2 สัปดาห์ ย้ำอาคารสูงเกิน 30 ชั้น ควรตรวจสอบละเอียด
จากกรณีแผ่นดินไหวรุนแรง ระดับ 8.2 เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 28 มี.ค.68 จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ความลึกเพียง 10 กม. ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์เพียง 17.2 กม. ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ทำให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่ รุนแรงจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมตึกถล่ม มีผู้คนได้รับบาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิต รวมถึงอาคารต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
อาฟเตอร์ช็อกหลังเกิดแผ่นดินไหว “สมควร ต้นจาน” ผอ.กองพยากรณ์อากาศ และรองโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า อาฟเตอร์ช็อกหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 พบว่าช่วงเที่ยงของวันที่ 29 มี.ค.68 มีอาฟเตอร์ช็อกแล้วกว่า 100 ครั้ง แต่แรงสั่นสะเทือนเริ่มเบาลง จากเดิมที่มีความรุนแรงขนาด 5-6 แมกนิจูด (magnitude) เหลือความรุนแรงที่ 1.0-1.2 แมกนิจูด (magnitude)
คาดว่าแรงสั่นสะเทือนเบาลงเรื่อยๆ ส่วนความถี่จากแรงสั่นไหวของอาฟเตอร์ช็อก ตอนนี้มีการสั่นไหว 2-3 ครั้งต่อนาที เริ่มลดลงจากช่วงแรกนาทีละ 12 ครั้ง

...
คาดว่าอาฟเตอร์ช็อกจะเกิดขึ้นยาวนานกว่า 1-2 สัปดาห์ เมื่อเทียบจากสถิติเดิม สิ่งที่น่ากังวลระหว่างที่มีอาฟเตอร์ช็อกคือ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ อาจพังหรือร่วงหล่นลงมาจากที่สูงได้ เช่น เศษไม้ หลังคา ชายคาของตัวอาคาร รวมถึงผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตึกถล่ม
“จังหวะการสั่นไหวของอาฟเตอร์ช็อก หลังจากนี้เริ่มเคลื่อนช้าลง เหมือนกับเราโยนหินไปในน้ำ ที่ตอนแรกน้ำจะกระเด็นขึ้นสูง แล้วค่อยๆ แผ่ขยายวง แล้วลดความรุนแรงลง แต่การเกิดแผ่นดินไหวจะไม่เหมือนการเกิดแรงกระเพื่อมของน้ำ เนื่องจากมักไม่มีสัญญาณเตือนบอกก่อน”
ถ้าเทียบสถิติอาฟเตอร์ช็อกจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เหมือนกับที่เพิ่งเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นรุนแรงหลังจากเปลือกโลกสะสมพลังงานเฉลี่ย 50-100 ปี อาฟเตอร์ช็อกต่อจากนี้จะส่งผลกระทบต่อฝั่งตะวันตกของภาคกลาง และภาคเหนือบางจังหวัด เช่น จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน
จึงต้องมีการเร่งสำรวจสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะเจดีย์ตามวัดต่างๆ ที่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อาจมีรอยร้าว และถ้ายิ่งมีแรงสั่นสะเทือนจะยิ่งทำให้พังลงมาได้ง่าย ดังนั้น หากพบว่ามีรอยแตกร้าวที่เสี่ยงต่อความเสียหาย ควรจะอยู่ห่างจากพื้นที่นั้น

อาฟเตอร์ช็อกต่อจากนี้ความรุนแรงลดลง สำหรับคนที่ต้องการจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่พักอาศัยสามารถเข้าได้แล้ว หากโครงสร้างของอาคารไม่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่กรณีตึกที่มีความสูง 30 ชั้นขึ้นไป ควรสำรวจอย่างละเอียดว่ารอยร้าวไหนเป็นรอยเก่าหรือใหม่ ก่อนที่จะเข้าไปในที่พักอาศัย
ส่วนคนที่อยู่ที่พักอาศัย 1-2 ชั้นก็ไม่น่ากังวลหลังจากนี้ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในระยะยาวคือ รอยแตกร้าวของสิ่งปลูกสร้าง เพราะถ้าตึกที่ไม่ได้มาตรฐาน หากเจอแรงสั่นสะเทือนใหญ่ครั้งใหม่อีก อาจมีความเสียหายอย่างรุนแรง จึงจะต้องมีการสำรวจอย่างละเอียดโดยเร็ว