"งูเห่า" 3 พรรคฝ่ายค้าน รอยร้าวดีลไม่ลับ "นักวิชาการ" ชี้สัญญาณชัด พรรคแตกย้ายซบวิปรัฐบาล หวังแกนนำที่เหลือกู้ศรัทธาฝ่ายค้าน ส่องปมแปรพักตร์ "ไทยสร้างไทย" อาการหนักสุด
ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผลลงคะแนนไว้วางใจไปด้วยคะแนนเสียง 319 ต่อ 162 งดออกเสียง 7 โดยเสียงพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงคะแนนไปในทางเดียวกันทั้งหมด รวมถึงพรรคเล็กที่อยู่ในซีกรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย ก็ร่วมลงมติไว้วางใจนายกฯ
แต่มี "งูเห่า" ลงคะแนนเสียง สส. พรรคฝ่ายค้านมาช่วยลงมติไว้วางใจนายกฯ เพิ่มให้อีก 7 เสียง ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย 5 เสียง ได้แก่ นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ สส. อุบลราชธานี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส. บัญชีรายชื่อ นางสุภาพร สลับศรี สส. ยโสธร นายหรั่ง ธุระพล สส. อุดรธานี นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส. อุดรธานี

พรรคพลังประชารัฐ 1 เสียง ได้แก่ น.ส. กาญจนา จังหวะ สส. ชัยภูมิ และพรรคไทยก้าวหน้า 1 คน ได้แก่ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส. กทม.
หลังลงคะแนนเสร็จสิ้น ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า สส. พะเยา และประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สส. ฝ่ายค้านที่ลงคะแนนให้ฝั่งรัฐบาลไม่ผิดความคาดหมาย คาดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคของตนและฝั่งรัฐบาลยังคงมีความเข้มแข็ง
...
การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ เสียงของ "งูเห่า" หรือที่คอการเมืองใช้เปรียบเทียบ สส. ฝั่งตรงข้ามที่โหวตให้กับพรรคการเมืองอีกฝั่งในการลงมติไม่ไว้วางใจ มุมของ ผศ.ดร. วันวิชิต บุญโปร่ง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า "งูเห่า" กลายเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย เมื่อต้องมีการโหวตในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งทุกครั้งคะแนนไม่นิ่ง โดยเฉพาะฝั่งรัฐบาล มักได้รับคะแนนเสียงจากฝ่ายค้านที่เป็นงูเห่าอย่างมีนัยยะเสมอ

การเป็นงูเห่า แสดงให้เห็นเสถียรภาพของนักการเมือง ถึงความไม่ประสงค์จะไปต่อกับพรรคเดิม หรือต่อไปแจ้งเกิดในนามพรรคเดิมไม่ได้แล้ว เพราะบางคนมีแนวโน้มจะเหมือน "สามล้อถูกหวย" คือยกมือโหวตให้ฝ่ายตรงข้ามเพียงครั้งเดียว แต่ได้รับการดูแลอย่างอิ่มหนำสำราญ
ซึ่งคะแนนเสียงอาจไม่ได้รับความนิยมเหมือนเดิม โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดเล็ก โอกาสที่จะได้กลับมาเป็น สส. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าค่อนข้างยาก แต่การแปรพักตร์ก็เพื่อคาดหวังจะได้เป็นฝ่ายรัฐบาล เช่น ที่ปรึกษารัฐมนตรี หรือได้ไปนั่งเป็นกรรมาธิการคณะต่างๆ

พรรคไทยสร้างไทย ที่มีงูเห่ารอบนี้ถึง 5 คน ต้องยอมรับว่าพรรคมีความแตกแยกมานานแล้ว โดย สส. ที่โหวตให้ฝั่งรัฐบาลบางส่วนมาจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความกดดันว่าอยากจะไปต่อกับพรรคอื่น มีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่ หรือต้องการลดการปะทะกันในพื้นที่ และเป็นการโหวตเพื่อแสดงความจริงใจต่อพรรคในอนาคตที่จะย้ายไปสังกัด
“แกนนำของพรรคไทยสร้างไทย ตอนนี้แทบจะทำอะไรไม่ได้ ต้องยอมรับชะตากรรม ขณะที่ผู้ที่เป็นเจ้าของพรรค คงต้องมีเหตุผลที่อธิบายให้สังคมทราบว่าเกิดอะไรขึ้น”
ด้าน ผศ.ว่าที่ ร.ต. จตุพล ดวงจิตร อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า การงดออกเสียงของ สส. 4 ท่านที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรควิปรัฐบาล อาจไม่ทำให้ต้นกัดกัดสวิงกลับไปเป็นฝ่ายค้านเหมือนเดิม แต่ก็อาจทำให้ความมั่นคงของพรรคสั่นคลอนในเรื่องการบริหารจัดการ
“ประชาธิปัตย์ มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมาตลอดว่า คณะกรรมการพรรคไม่สามารถสั่งการตัวแทนของพรรคได้ แต่การแสดงออกแบบนี้ ก็เป็นเกมที่แสดงให้เห็นถึงการต่อรองกันเองภายในพรรค”
กลุ่มงูเห่าที่ออกมาไม่ผิดความคาดหมาย เพราะกลุ่มเหล่านี้มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ เรียกได้ว่า ฆ่าไม่ตายในทุกยุค และถือเป็นอำนาจของกลุ่มที่พร้อมจะเข้าไปร่วมมือกับฝั่งรัฐบาลได้ตลอด