ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในกรณีการจัดการปัญหาภัยพิบัติ PM2.5 โดยระบุว่า นายกฯ โกหกประชาชนในการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาล รอบ 3 เดือน (90 วัน) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2567 โดยนายกฯ ระบุว่า ภาคเหนือลดพื้นที่เผาไหม้ 50% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันฝุ่นหายไปถึง 30% มีนโยบายไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาจากการเผาพื้นที่การเกษตร ซึ่งต้องเป็นทีมเดียวกันทั้งประเทศเพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมม และรัฐบาลต้องการคืนสภาพอากาศที่ดีให้กับ
ภัทรพงษ์ กล่าวว่า พื้นที่เผาไหม้ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 8 ล้านไร่ ดังนี้
- ปี 2566 มีพื้นที่เผาไหม้ 11.2 ล้านไร่ โดย 9.8 ล้านไร่ อยู่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ
ปี 2567 มีพื้นที่เผาไหม้ 19.5 ล้านไร่ โดย 10.24 ล้านไร่ อยู่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ - โดยพื้นที่เผาไหม้ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นายกฯ อ้างว่าลดลง 50% นั้น ไม่ได้ลดลงเลย แต่กลับกัน จากปี 2566 ที่มีพื้นที่เผาไหม้ภาคการเกษตร 4 ล้านไร่ กลับเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านไร่ในปี 2567
ภัทรพงษ์ ระบุว่า กรณีที่รัฐบาลเคลมผลงานว่าปี 2568 ค่าฝุ่น PM2.5 ลดลง 16% ไม่เป็นความจริง อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม. (1 ม.ค. 68-28 ก.พ. 68) ทั่วประเทศ เพิ่มขึ้น 6% โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้น 20%
ต่อมา ภัทรพงษ์ ได้ยกข้อมูลพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยทั่วประเทศ จากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายแห่งประเทศไทย และข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ฯ จาก GISTDA พบว่า ในปี 2567-2568 ในพื้นที่เผาอ้อยทั้งประเทศ 2.8 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อยไฟไหม้ราว 28 ล้านตัน แต่รัฐบาลเลือกที่จะเคลมตัวเลขว่า รับซื้ออ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 11 ล้านตัน
...
“นายกฯ เคยรู้ไหมว่ามีอ้อยที่เผาแล้วไปเข้าโรงงานที่ไม่ต้องรายงานค่าอยู่เท่าไหร่ รู้ไหมว่ามีคนส่งอ้อยสดแล้วเผาใบอ้อยทีหลังเท่าไหร่ รู้ไหมว่าตอนนี้ มีอ้อยเผาจ่อคิวเข้าโรงงานอยู่เท่าไหร่”
ภัทรพงษ์ ชี้ว่า นายกฯ ได้มีข้อสั่งการ 3 ข้อเรื่องการแก้ไข PM2.5 เมื่อ 29 ต.ค. 2567 คือ
- ไม่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า มีการเผา ทั้งในและนอกประเทศ
- ตรวจจับและระงับการใช้งานพาหนะที่ปล่อยควันเกินค่ามาตรฐาน
- ควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม
ภัทรพงษ์ กล่าวว่า การสั่งการนี้ไม่รัดกุมมากพอและทำให้ไทยพลาดโอกาสที่จะออกมาตรฐานบังคับข้าวโพดที่เผา และพลาดโอกาสที่จะออกมาตรการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการและนายทุนที่นำเข้า และพลาดโอกาสที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้ทำการเกษตรแบบไม่เผา
ภัทรพงษ์ ชวนดูข้อสรุปของการประชุม ครม. สัญจรที่เชียงใหม่ 29 พ.ย. 2567 และการปฏิบัติจริงในวันนี้ เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น
(1) อบรมท้องถิ่นดับไฟป่าพร้อมภาคประชาชน
ท้องถิ่นมี 2,000 กว่าแห่ง ปัจจุบันอบรมไปเพียง 60 แห่ง
(2) ให้แต่ละจังหวัดออกมาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงการใช้ไฟในพื้นที่จำเป็นโดยคำนึงถึงอัตราการระบายอากาศ การเผาข้ามคืน และการทำแนวกันไฟป้องกันล่วงหน้า
1 เดือนผ่านไป อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลับออกมาตรการห้ามเผาทุกกรณี สวนทางกับมติ ครม. ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการมลพิษทางอากาศ ที่มีประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไม่ได้เขียนให้ใช้กลไกกระทรวงมหาดไทยเลย นี่จึงเป็นการออกคำสั่งขัดมติ ครม. แต่นายกฯ กลับไม่ทำอะไรเลยในเรื่องนี้
(3) ออกมาตรการจูงใจเกษตรกรให้ผลิตสินค้าแบบไม่เผา และแก้ไขกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อลดการเผาอ้อย
ทว่าผ่านประชุม ครม. ไม่กี่วัน 3 ธ.ค. 2567 นายกฯ กลับอนุมัติโครงการสนับสนุนชาวนาปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาทโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องห้ามเผาเลย
ต่อมา ภัทรพงษ์ กล่าวถึงประกาศการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลอดภาษี 2568 ที่ออกโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีเนื้อหาไม่ต่างจากฉบับเดิม โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องการห้ามเผาข้าวโพด และไม่มีเงื่อนไขการระบุพิกัดแปลงเพาะปลูกแต่อย่างใด สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า คำสั่งการของนายกฯ เรื่องการแก้ไข PM2.5 นั้น ไม่ถูกนำไปบูรณาการกับหน่วยงานและกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ต่อมาคือกรณีการเผาในภาคการเกษตรและไฟป่า โดย ภัทรพงษ์ ไล่เรียงถึงการสั่งการของนายกฯ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2568 ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
- สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมงดรับซื้ออ้อยเผาโดยเด็ดขาด แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรออกมาเลย
- สั่งการเรื่องมาตรการเพิ่มค่าปรับ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ
- สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรฯ ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ทุกวันนี้ก็ยังไม่มี
- สั่งการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผา แต่ก็ยังไม่มีมาตรการออกมาจริงจัง
ภัทรพงษ์ กล่าวว่า หลังรัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรเลย ทำให้มีการเผาภาคการเกษตรอย่างหนัก รมต.เกษตรฯ ก็เพิ่งรู้ตัวว่าตัวเองยังไม่ได้เซ็นอนุมัติงบกลาง PM2.5 ด้านการเกษตรฯ กว่าจะเซ็นได้ ก็ช้าไปแล้ว ปัญหาเกิดแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้รับอนุมัติงบฯ มีเพียงฝนเทียมเท่านั้นที่ได้รับอนุมัติ กระทรวงเกษตรจึงแก้เขินด้วยการออกมาตรการตัดสิทธิ์สนับสนุนคนที่เผา ซึ่งซ้ำกับประกาศของปีที่แล้ว ที่เคยประกาศตัดสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. ของคนที่เผา ประกาศดังกล่าวใช้มาปีกว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีใครได้รับโทษแม้แต่กรณีเดียว
...
นอกจากนี้ ภัทรพงษ์ ยังกล่าวถึงการที่นายกฯ ประกาศกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แก้ PM2.5 ทว่าในความเป็นจริง รัฐบาลตัดงบท้องถิ่นจนท้องถิ่นไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้
- ปี 2567 ท้องถิ่นของบ 1,800 ล้านบาท รัฐบาลอนุมัติเพียง 50 ล้านบาท
- ปี 2568 ท้องถิ่นของบ 1,300 ล้านบาท รัฐบาลอนุมัติเพียง 122 ล้านบาท
อีกทั้งรัฐบาลยังล็อกรายการการซื้ออุปกรณ์สำหรับแก้ปัญหาไฟป่า โดยให้ซื้อได้แค่ คราด ไม้ตบไฟ เครื่องปั่นลม ถังฉีดน้ำ เท่านั้น แต่ไม่สามารถซื้อโดรนตรวจจับความร้อนหรือเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อทำระบบฐานข้อมูลได้
นอกจากนี้ ภัทรพงษ์ ยังกล่าวว่า ปัจจุบัน มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเมียนมาหลายแสนตัน โดยไม่มีการตรวจเรื่องการเผา พิกัดพื้นที่การเพาะปลูก แต่ตรวจเพียงเอกสารรับรองสุขอนามัยพืชเท่านั้น ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ สามารถออกมาตรการบังคับได้เลยเพราะเป็นกรณีเร่งด่วน และกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้
สั่งการกองทัพ ป้องกันไฟป่า?
ภัทรพงษ์ กล่าวถึงกรณี นายกฯ สั่งการกองทัพขับเคลื่อนงานป้องกันไฟป่า แต่ในทางกลับกัน นายกฯ ก็ปล่อยให้เกิดไฟป่าและ PM2.5 จากกองทัพ จากการที่กองทัพซ้อมยิงปืนใหญ่ ยิงลูกระเบิดในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ส่งผลให้เกิดไฟป่าขึ้นจริงๆ ดังนี้
13-14 ก.พ. 2568 อ.เมือง จ.พะเยา กองทัพปืนใหญ่ที่ 17 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 ได้ทำการฝึกด้วยการยิงปืนใหญ่และกระสุนจริง บริเวณสนามยิงปืนบ้านห้วยบง ต.แม่ปืม อ.เมือง จ.พะเยา
ภัทรพงษ์ ยกคำพูดของภูมิธรรม เวชยชัย เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 ว่า เป็นสถานที่ของกองทัพ เหมาะที่จะซ้อมยิงปืน เป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้เป็นป่า ไม่ได้ไหม้เยอะอะไรขนาดนั้น มันใช่เวลามาวิจารณ์ไหม
ภัทรพงษ์ ชี้ให้เห็นประเด็นจากกรณีดังกล่าวคือ
...
- พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวน ไม่ใช่พื้นที่ของกองทัพ
- ไม่มีการขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมายป่าไม้
- พื้นที่นั้นไม่เหมาะสมต่อการซ้อมยิง
- พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีดัชนีการติดไฟสูงมาก และเสี่ยงสูงเมื่อติดไฟแล้วจะขยายตัวรุนแรง
- รัฐบาลรับรู้อยู่แล้ว แต่ยังปล่อยให้ทำแบบนี้
“14 ก.พ. ยิงคืนนั้นก็ไหม้คืนนั้นเลย ฮอตสปอตเจอ 2 จุดแรก จากแผนที่สันนิษฐานได้ว่าไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่กระสุนตกและขยายตัวไปทางเหนือและใต้ แต่กองทัพแจงว่า ไฟป่าคนละกองกัน ห่างกัน 2 กม. เลย”
ภัทรพงษ์ เปิดภาพข้อมูลฮอตสปอตจาก NASA และภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ก่อนและหลังยิง ไฟป่าขยายวงกว้างขนาดไหน และเป็นไฟป่ากองเดียวกันกับบริเวณกระสุนตกอย่างไร

จากการประเมินพื้นที่เผาไหม้ โดยการใช้ภาพดาวเทียม Sentinel วันที่ 22 ก.พ. 2568 ภัทรพงษ์ พบว่า พื้นที่เผาไหม้มีประมาณ 9 ตร.กม. หรือ 5,600 ไร่
“เวลาที่คุณเห็นเด็กเลือดกำเดาไหลจาก PM2.5 คุณรู้สึกอย่างไร เคยย้อนกลับมามองตัวเองไหมว่าในฐานะผู้นำ นายกรัฐมนตรี เราได้ทำอะไรเพื่อปกป้องคนเหล่านี้บ้าง” ภัทรพงษ์ ทิ้งท้าย
...
นายกฯ แจงผลงาน ชี้รัฐบาลมาถูกทาง
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงการอภิปรายของ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ส.ส. พรรคประชาชน เรื่องการแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยกล่าวว่า ตนเป็นคนพูดคนแรกเรื่องการนำการแก้ไขปัญหา PM 2.5 เป็นวาระแห่งอาเซียน เพราะปัญหานี้โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทย เป็นผลกระทบจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเราต้องประสานงานกันในทุกระดับ เพื่อขอความร่วมมือและความช่วยเหลือ และเพื่อทำให้ประเทศเพื่อนบ้านร่วมมือไม่เผาพื้นที่ภาคเกษตรของประเทศเขาเช่นกัน
“เราได้ติดต่อไปแล้ว เขาบอกว่ากำลังทำเรื่องนี้อยู่เช่นกัน แล้วเขาก็ทราบดีว่า ควันมาจากทางของเขา”
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ที่ท่านอภิปรายว่า ดิฉันได้แต่สั่งการ ไม่มีคนทำ ท่านอย่าพูดอย่างนั้นเลย การอภิปรายครั้งนี้ท่านอภิปรายดิฉัน ท่านอย่าอภิปรายข้าราชการทั้งประเทศเลย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับประเทศ ดิฉันแทบไม่ต้องสั่งการเลย พอพูดคำเดียวปุ๊บ ข้าราชการทุกท่านอยากทำเรื่องนี้อย่างมาก เพราะทุกคนอยากทำเพื่อประเทศเช่นกัน ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มท่านเท่านั้นที่อยากทำเพื่อประเทศ ข้าราชการเองเขาก็อยากทำ อยากได้ประเทศที่มีอากาศบริสุทธิ์เช่นกัน
นายกฯ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาฝุ่นลดลงไปอย่างมาก ด้วยมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทำ กระทรวงและข้าราชการให้ความร่วมมือ ประชาชนให้ความร่วมมือ การที่ค่าฝุ่นลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นเพราะการบูรณาการจากทุกฝ่ายร่วมมือกัน โดยนายกฯ ยกตัวอย่าง ดังนี้
- การที่กระทรวงมหาดไทย สั่งการ 76 จังหวัดในการยกระดับปฏิบัติการและการบังคับใช้ข้อกฎหมายอย่างเด็ดขาด ประกาศห้ามเผา ส่งผลให้การเผาภาคเกษตรลดลง มีการดำเนินคดีกับผู้ที่จงใจฝ่าฝืนภายใน 3 เดือน 133 คดี
- อนุมัติงบกลางให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2567 มี 2,582 จุด เพิ่มเป็น 3,895 จุด และเพิ่มจำนวนคนลาดตระเวน ในปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า จากปี 2567 มี 13,227 คน เพิ่มเป็น 18,000 คนในปี 2568 ส่งผลให้จุดความร้อนลดลงได้ถึง 30%
- กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการป้องกันการเผาในพื้นที่เกษตร ช่วง 17 ม.ค. 2568 - 31 พ.ค. 2568 ว่าหากมีการเผา จะไม่ได้สิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร
- ครม. อนุมัติงบ 200 ล้านให้กรมฝนหลวงฯ เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำแล้ง ดัดแปลงสภาพอากาศให้บรรเทาปัญหาฝุ่นละออง
- กระทรวงอุตสาหกรรมออกนโยบายเชิงรุก งดรับซื้ออ้อยจากการเผา โดยในปี 2567 มีจำนวนอ้อยเผาเข้าโรงงานน้ำตาล 24.36 ล้านตัน แต่ปีนี้ลดลงเหลือแค่ 13.62 ล้านตัน ในปี 2568 ส่งผลให้สัดส่วนอ้อยเผาลดลงราว 45%
- กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ประกาศแจ้งเตือนทุกครั้งเพื่อเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพ ให้ความรู้ว่าต้องป้องกันตัวเองอย่างไร จัดทำห้องปลอดฝุ่น 17,000 ห้อง รองรับประชาชนได้กว่า 2 ล้านคน
- กระทรวงคมนาคมเข้มงวดจับรถควันดำทั่วประเทศ และตรวจจับได้ถึง 148,252 คันในปีนี้ มากกว่าปีที่แล้วถึง 7 เท่า และออกคำสั่งห้ามใช้รถปล่อยควันดำถึง 2,408 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า
นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ดิฉันได้กล่าวมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีอาสาสมัครต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกัน ต้องขอบคุณ ณ ที่นี้มากๆ ถ้าไม่ได้ความร่วมมือจากทุกท่าน การที่ฝุ่นควันจะลดลงได้ขนาดนี้คงไม่เกิดขึ้น
นายุฯ ระบุว่า เราคงไม่สามารถทำให้ฝุ่นหายไปได้ในพริบตา แต่เราเห็นแล้วว่า มีจุดความร้อนและฝุ่นที่ลดลง ไม่ว่าจำนวนวันที่มีฝุ่น เมื่อเทียบกับปีที่แล้วก็ลดลงเช่นกัน อาจมีบางวันที่มาก แต่ค่าเฉลี่ยจำนวนวันทั้งหมดก็น้อยลงกว่าปีที่แล้ว อย่างน้อยๆ รัฐบาลมาถูกทางแล้วค่ะ เราคงดำเนินการแบบนี้ต่อไป” นายกฯ กล่าว
"รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ อย่างที่ท่านกล่าวหาเลย ไม่แน่ใจว่าท่านกำลังอภิปรายรัฐบาลชุดไหน วันนี้นอกจากการที่ท่านจะพูดถึงการซื้อที่ดินอัลไพน์ตอนดิฉันอายุ 11 ขวบ ท่านยังอภิปรายในเรื่องที่ไม่ทราบว่ารัฐบาลชุดไหนทำ ดิฉันก็คิดขึ้นมาว่า อะไรๆ ก็ดิฉัน ซึ่งอาจจะเข้าใจผิดกันนะคะ"