ถ้อยคำ 8 กรรมการสรรหา ชี้ สิริพรรณ-ชาตรี “เหมาะนั่ง ตุลาการศาล รธน.” แต่ สว. ไม่เอา

เรื่องเริ่มต้นจาก นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หมดวาระการดำรงตำแหน่งเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 9 ปี (ทั้งนครินทร์ และ ปัญญา มีวาระการดำรงตำแหน่งยาวกว่าคนอื่น เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560) ทำให้ต้องมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่มาแทนเก้าอี้ที่ว่างลง
ต่อมา ‘คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ’ ได้มีมติให้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ส่งผลให้มีผู้ยื่นใบสมัครทั้งสิ้นจำนวน 11 คน
จากนั้น สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม (ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561) รวมทั้งตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของผู้สมัครแล้วรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว พร้อมทั้งรายชื่อผู้สมัครรับการสรรหา แบบใบสมัคร รวมทั้งเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัครต่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
หลังมีการตรวจสอบคุณสมบัติและมีการนัดสัมภาษณ์ พบว่าผู้สมัครทั้ง 11 คน มีจำนวนลดลงเนื่องจากการขาดคุณสมบัติ ทำให้เหลือผู้สมัครแค่ 5 คน ได้แก่
- ศาสตราจารย์ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร
- ศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
(ผู้สมัครที่มาแทนตำแหน่ง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์)
- ชาตรี อรรจนานันท์
- สราวุธ ทรงศิวิไล
- สุรชัย ขันอาสา
(ผู้สมัครที่มาแทนตำแหน่ง ปัญญา อุดชาชน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิที่รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี)
ต่อมาวั คณะกรรมการสรรหา ได้นัดสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้ง 5 คน และได้ลงมติเลือกผู้สมัคร เพื่อเสนอชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อวุฒิสภา โดยผู้ที่ถูกเลือกได้แก่ ศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาปกครองในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ชาตรี อรรจนานันท์ เอกอัครราชทูต ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
อย่างไรก็ดี วันที่ 18 มี.ค. 2568 ที่ประชุมของวุฒิสภา ได้มีการพิจารณาและลงมติ ‘ให้ความเห็นชอบ’ หรือ ‘ไม่ให้ความเห็นชอบ’ บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ‘ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ’ จำนวน 2 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์
โดยวุฒิสภา มีมติดังนี้
- ไม่เห็นชอบ ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ด้วยคะแนนเสียง 136 ต่อ 43 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
- ไม่เห็นชอบ ชาตรี อรรจนานันท์ ด้วยคะแนนเสียง 115 ต่อ 47 เสียง งดออกเสียง 22 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
โดยเป็นการลงคะแนนผ่านเครื่องออกเสียง ‘ลงคะแนนลับ' ซึ่งจะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ ว่ามีแต่ละคนมีการลงมติอย่างไร
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ทั้งสองคนไม่ผ่านการเห็นชอบของ สว. ทำให้กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ดี กว่าทั้งสองคนจะผ่านสารพัดด่านหินของกระบวนการสรรหาฯ จนเอาชนะคู่แข่ง 9 คน สู่ชั้นการพิจารณาของวุฒิสภามาได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมเหตุผลเชิงลึกของการตีตกโดย สว. ครั้งนี้ ก็ไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะที่ประชุมมีมติมิให้เปิดเผยบันทึกการประชุมจำนวน 5 ครั้ง และรายงานลับของกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 147:33 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ไทยรัฐออนไลน์ จึงชวนผู้อ่านย้อนมาดูกระบวนการคัดสรรก่อนถึงมือ สว. ว่าทั้งสองคนมีคุณสมบัติอย่างไร ทำไม ‘คณะกรรมการสรรหา’ ถึงได้ลงมติให้ทั้งสองคนเป็น ‘บุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ’ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 8 เสียง
เหตุผลที่คณะกรรมการสรรหาฯ เลือก 'สิริพรรณ' เอกฉันท์
การคัดสรรก่อนถึงมือ สว. นั้น คณะกรรมการสรรหาต้องลงคะแนนให้ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ จึงจะได้ผู้สมควรดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยกรรมการสรรหา ณ วันที่มีการลงคะแนน มีจำนวนทั้งสิ้น 8 คน เท่ากับว่าจะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 6 คะแนน ถึงจะได้รับการสรรหา
โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้ง 8 คน มีดังนี้
- ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล (ประธานศาลฎีกา)
- วันมูหะมัดนอร์ มะทา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร)
- ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร)
- ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ (ประธานศาลปกครองสูงสุด)
- สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ (บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง)
- อรรถยุทธ ศรีสมุทร (บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง)
- ชาญนะ เอี่ยมแสง (บุคคลซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแต่งตั้ง)
- เจษฎา กตเวทิน (บุคคลซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้ง)
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการลงคะแนนของคณะกรรมการสรรหาฯ ในตำแหน่งแทนที่นครินทร์ ผลปรากฏว่า ‘สิริพรรณ’ กวาดคะแนนท่วมท้นทั้ง 8 เสียง โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ให้เหตุผลไว้ดังนี้
1
“เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านสถาบันการเมือง สิทธิเสรีภาพ และรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมีทัศนคติและวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล
ประธานศาลฎีกา
2
“มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ประจักษ์ และมีประสบการณ์มากที่จะไปทำหน้าที่ได้ดี”
วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ประธานสภาผู้แทนราษฎร
3
“เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ โดดเด่นกว่าผู้สมัครอื่น ตลอดจนมีความตั้งใจที่จะนำความรู้ความสามารถนั้น มาปฏิบัติให้เกิดผลจริง ผ่านการทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ผู้นำฝ่ายค้าน
4
“เป็นผู้มีความรู้และความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ
ประธานศาลปกครองสูงสุด
5
“มีความสุขุมนำเสนอประเด็นและความเห็นบนข้อเท็จจริง และจากประสบการณ์ที่ครอบคลุม ตระหนักถึงความสำคัญของการปกครองระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตนมีกำลังและความสามารถ”
สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์
บุคคลซึ่ง กกต.แต่งตั้ง
6
“เป็นผู้มีความรู้โดยตรงและมีผลงานประสบการณ์ในด้านนี้”
อรรถยุทธ ศรีสมุทร
บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง
7
“เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทัศนคติที่เหมาะสมที่สุด”
ชาญนะ เอี่ยมแสง
บุคคลซึ่ง ป.ป.ช.แต่งตั้ง
8
“มีความรู้ ความสามารถประสบการณ์ และทัศนคติเหมาะสมกับตำแหน่ง”
เจษฎา กตเวทิน
บุคคลซึ่ง กสม.แต่งตั้ง
เหตุผลที่คณะกรรมการสรรหาฯ เลือก ‘ชาตรี’
ในส่วนผู้สมัครที่ต้องมาแทนที่ปัญญา การลงคะแนนดำเนินไปถึง 3 รอบ กรรมการทั้ง 8 คนจึงจะเทคะแนนให้ ‘ชาตรี’ ทั้งหมด 8 คะแนน โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ให้เหตุผลในการเลือกไว้ดังนี้
1
“ชาตรี อรรจนานันท์ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมีทัศนคติที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
ชนากานต์ธีรเวชพลกุล
ประธานศาลฎีกา
2
“มีความรู้ ความสามารถ วิสัยทัศน์ ความตั้งใจเหมาะสมจะไปทำหน้าที่ได้”
วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ประธานสภาผู้แทนราษฎร
3
“เป็นนักการทูตที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมแก่การนำกฎ - กติกาสากลมาวางแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยให้ยึดถือคุณค่าประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักสากล”
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ผู้นำฝ่ายค้าน
4
“เป็นผู้มีความรู้ และความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”
ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ
ประธานศาลปกครองสูงสุด
5
“มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งอย่างครบถ้วน และมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นผู้มีทัศนคติและความเข้าใจต่อการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมโดยรวม เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยยึดมั่นกับแก่นแท้ของรัฐธรรมนูญ”
สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์
บุคคลซึ่ง กกต.แต่งตั้ง
6
“เป็นผู้มีความรู้ระหว่างประเทศและมีวิสัยทัศน์”
อรรถยุทธ ศรีสมุทร
บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง
7
“เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม”
ชาญนะ เอี่ยมแสง
บุคคลซึ่ง ป.ป.ช.แต่งตั้ง
8
“มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ไหวพริบปฏิภาณและมาตรฐานจริยธรรมเหมาะสมกับตำแหน่ง”
เจษฎา กตเวทิน
บุคคลซึ่ง กสม.แต่งตั้ง
ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ส่งผลให้ สิริพรรณ และชาตรี ถูกเสนอชื่อ 'บุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (แทนตำแหน่งที่ว่าง)' ต่อวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห้นชอบต่อไป
ที่มา: รายงานการพิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (แทนตำแหน่งที่ว่าง)
สิริพรรณ แสดงวิสัยทัศน์ หน้าที่และอำนาจ ศาล รธน.
หนึ่งในกระบวนการคัดเลือก คือการให้ผู้สมัคร แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสาลรัฐธรรมนูญ หรือการเข้ารับการสัมภาษณ์กับคณะกรรมการ
โดย ศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ได้แสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่า
…ถ้ากล่าวถึงหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าปรากฏอยู่ในตำแหน่ง อย่างเช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 5 เป็นต้นไป ที่กล่าวถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งมิได้ หรือมาตรา 49 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หากพบว่ามีบุคคลใดกระทำการล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจให้หยุดการกระทำ และในรัฐธรรมนูญจะปรากฏในหมวดที่ 11 มาตรา 210 เป็นต้นไป นอกจากในรัฐธรรมนูญแล้วจะพบอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อย่างเช่น มาตรา 92 แต่ทั้งหมดนั้นขอแยกหน้าที่และอำนาจออกจากกัน และขอกล่าวถึงหน้าที่เบื้องต้น เพราะหน้าที่มาก่อนและสำคัญมากกว่าอำนาจ ถ้ากล่าวถึงหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจากกฎหมายต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หน้าที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 หน้าที่ในการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ระบอบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และปกป้องรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือ รักษาบูรณภาพของรัฐเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่สำคัญ
กลุ่มที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการรักษาความสง่างามและมาตรฐานของระบบการเมือง ระบอบประชาธิปไตยไทยเป็นระบอบที่ยังไม่ได้ลงหลักปักฐาน ซึ่งที่ผ่านมานั้นล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ยังไม่ได้มีการสถาปนากลไกที่เป็นที่ยอมรับ โดยตัวแสดงทางการเมืองทุกฝ่าย ดังนั้น จะมีข้อพิพาทหรือปัญหาความไม่โปร่งใส หรือหลักสิทธิมนุษยชน หน้าที่พลเมืองเหล่านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการรักษาความสง่างามของกระบวนการยุติธรรม และระบบการเมือง
กลุ่มที่ 3 คิดว่าเป็นหน้าที่โดยตรง คือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการทำหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ อย่างเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่อุทิศเวลาอุทิศความเชี่ยวชาญของตัวเองในการวางคำอธิบาย
ส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ดังนี้
อำนาจแรก คืออำนาจในการสร้างคำอธิบายในแง่ของความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบการเมือง การตรวจสอบถ่วงดุล กลไกของการทำงานระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และส่วนอื่นๆ ซึ่งเหล่านี้กำหนดในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งรัฐธรรมนูญมักจะใช้คำว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย คำสั่งที่ออกโดยรัฐสภา หรือแม้แต่สนธิสัญญาต่าง ๆ เป็นอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ประการที่ 2 อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ คืออำนาจในการยืนหยัดและยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นหน้าที่และอำนาจ ถ้าเกิดการพิจารณาสถานภาพทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญมากขึ้นอยู่กับการวางคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะทำให้สถานภาพทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ สถานะนั้น อยู่ในสายตาของสาธารณชนอย่างไร ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญถ้าพิจารณาตามมาตรฐานที่ผ่านมาและมาตรฐานของต่างประเทศ การวางคำอธิบายควรจะยึดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยควรจะอ้างมาตราในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ถ้าเกิดว่าจะต้องมีการตีความ เพราะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน มีประเด็นเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมอยู่มาก ถ้าจะต้องมีการตีความจริยธรรมประเด็นเหล่านี้ ควรจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด และในขอบเขตที่จำกัดเพื่อที่จะทำให้สาธารณชนเข้าใจตรงกันในคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญนั้น
ประการที่ 3 คือคำวินิจฉัยต่างๆ ควรจะทำอย่างรวดเร็วไม่เปิดโอกาสให้เกิดทางตันทางการเมือง และการทำงานร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างเช่น อัยการในการฟ้องคดี หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น ซึ่งสถานะทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในความเชื่อมั่นของประชาชน เพราะว่าเป็นการสืบสานสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไทยและศาลยุติธรรมของไทยได้วางหลักปักฐานกระบวนการยุติธรรมมายาวนานหลายร้อยปี นั่นคือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญควรจะดำเนินต่อไป
ประเด็นที่ 4 คือเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้หน้าที่และอำนาจในแง่การวางหมุดหมายความสัมพันธ์ทางอำนาจในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาในเรื่องการยืนหยัดหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมืองของประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นคดีเหล่านี้เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ขอยกตัวอย่างสั้น ๆ ตามรัฐธรรมนูญประเทศอินเดียซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าเป็น everyday life confirmation จะปรากฏว่าเคยมีคดีที่ sex worker กล่าวคือ ผู้ให้บริการทางเพศ บอกว่าการที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า การให้บริการของโสเภณีเป็นเรื่องผิดจริยธรรม ผู้ให้บริการทางเพศเหล่านี้มองว่า เขาทำหน้าที่ประกอบอาชีพอย่างสุจริต จึงฟ้องร้องคดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญประเทศอินเดียมีการแก้ไขให้กฎหมายสามารถเอื้อต่อการทำงานของ sex worker เหล่านี้ได้ หรืออย่างในอินเดียจะทราบว่า วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์จะมีกฎหมายกำหนดว่า การฆ่าวัวทำไม่ได้ แต่จะมีคนชาติอื่นที่ไม่ใช่คนฮินดู และวัวเป็นสัตว์ที่เสพเนื้อเป็นอาหารได้ เมื่อมีกฎหมายแบบนี้กำหนดออกมา และมีการร้องเรียน มีการประท้วงนำมาสู่การตีความหมายของศาลรัฐธรรมนูญ โดยการตีความว่า ถ้าเกิดว่าวัวอายุมากแล้วสามารถถูกฆ่าได้ หรือใช้เป็นอาหารบริโภคได้เช่นเดียวกัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่คิดว่าอยากเห็นบทบาทเหล่านี้และปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่เขาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งบทบาทนี้เป็นบทบาทที่ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเอื้อมมาถึงประชาชนได้มากขึ้น
ประเด็นที่ 5 คือตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกระบวนการตรวจสอบศาลและองค์กรอิสระถูกยกเลิกไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะมีกระบวนการที่ให้กลไกวุฒิสภาถอดถอนได้ จึงคิดว่าการตรวจสอบถือว่าสำคัญเช่นเดียวกัน และในแง่ที่กระบวนการยื่นคำร้องต่อศาลก็สำคัญ ดังนั้น การให้เวลาอัยการรับเรื่องจากบุคคลที่เห็นว่ามีการกระทำผิด 15 วัน อาจจะสั้นไปทั้งหมดเป็นเรื่องที่อาจจะต้องไปปรับแก้รัฐธรรมนูญในอนาคตต่อไป
'ชาตรี' แสดงวิสัยทัศน์ หน้าที่และอำนาจ ศาล รธน.
ด้าน ชาตรี อรรจนานันท์ ก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ ตอนหนึ่งว่า
กระผมนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ขอเน้นย้ำในเรื่องกรอบแนวความคิดที่ผมใช้คำว่า “ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย นำพาประเทศโดยหลักนิติธรรม เพื่อความเป็นธรรมถ้วนหน้า พัฒนายกระดับองค์กรในเวทีสากล” โดยขอแบ่งเป็น 4 ส่วน เกี่ยวกับเรื่องของหน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
ประการที่ 1 เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
ประการที่ 2 การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ประการที่ 3 ระบบคิดนิติวิธีของศาลรัฐธรรมนูญ
ประการสุดท้าย โดยที่ผมเข้ามาในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิของตำแหน่งบริหาร จะขอกล่าวถึงเรื่องงานบริหาร เพื่อจะได้ครบถ้วนสมบูรณ์ในระบอบประชาธิปไตยและมีกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด หลักที่ออกแบบโดยส่วนใหญ่ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจะมี 4 ประการสำคัญ ดังนี้
ประการที่ 1 การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและร่างกฎหมาย ซึ่งทุกประเทศมีกันทั้งหมด
ประการที่ 2 อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ประการที่ 3 เป็นเรื่องสำคัญ คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ประการที่ 4 การวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ใน 4 องค์ประกอบนี้ รัฐธรรมนูญไทยมีครบหรือไม่ หลายประเทศอาจจะมีไม่ครบแต่ในส่วนของประเทศไทยจะบัญญัติอยู่ไว้หมวด 11 อำนาจของศาล มาตรา 210 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ฉะนั้น ในส่วนของประเทศไทย 4 องค์ประกอบนี้ ถ้าพิจารณามาตรา 210 ประกอบมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่ามีครบถ้วน
ยกตัวอย่างเรื่องการวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 จะต้องดูร่างกฎหมายชอบหรือไม่ชอบ และตรงนี้ ผมจะตั้งข้อสังเกตนิดหนึ่ง คือ การแก้ไขกฎหมายผมจะรวมเป็น cluster ว่าความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดูร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ในหมวด 15 มาตรา 255 - 256 อยากจะกล่าวถึงเรื่องบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ คือ เราเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ แต่แก่นแท้ของรัฐธรรมนูญพื้นฐานไม่เคยเปลี่ยนเลย เช่น ความเป็นรัฐเดียว ในมาตรา 1 ซึ่งเป็น มาตราแรก มาตรา 2 ในเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักนี้ ไม่เคยเปลี่ยน นักกฎหมายรัฐธรรมนูญจะเรียกข้อบทเหล่านี้ เป็นข้อบทนิรันดรหรือเป็น Eternity Clause ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ถามว่าหลักการเหล่านี้ มีประเทศเดียวหรือไม่ …ไม่นะครับ ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศเยอรมนี หรือประเทศฝรั่งเศส ระบบสาธารณรัฐ ก็เปลี่ยนแปลงตรงนี้ ไม่ได้ หรือประเทศอินเดียที่เป็นระบบ social welfare ข้อบทเหล่านี้ จะทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ถือเป็นหลักของ Eternity Clause ฉะนั้น เรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญก็มีในส่วนนี้ เพียงแต่มีข้อระวังว่าในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ในบางเรื่องทำไม่ได้ บางเรื่องทำได้ แต่ต้องใช้เสียงที่อาจจะเป็นระบบประชามติ เป็นต้น
ประการที่ 2 เรื่องการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ขององคาพยพต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญซึ่งหลายประเทศก็ทำหน้าที่นี้
ประการที่ 3 อยากจะเน้นให้ความสำคัญ กล่าวคือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องพิจารณาในหมวด 5 เรื่องหน้าที่ของรัฐ เพราะสิทธิกับหน้าที่จะโยงกันระหว่างหมวด 3 กับหมวด 5 ในส่วนนี้ ผมว่าศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างตีความเคร่งครัด มาตรา 213 ประกอบมาตรา 7 หากเป็นไปได้ในส่วนนี้ การเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญของประชาชน ถ้าเปรียบเทียบ กับระบบของประเทศเยอรมนี คิดว่าในคดีของศาลรัฐธรรมนูญประเทศเยอรมนี มีคดีที่ประชาชนฟ้องตรงได้เยอะมาก ในขณะที่ของประเทศไทยมีค่อนข้างน้อย อันนี้ ถ้าเป็นไปได้อาจจะต้องปรับปรุงในส่วนนี้
ประการที่ 4 การวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ หลักคร่าวๆ ในเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อไปขอกล่าวถึงเรื่องการใช้อำนาจว่า หลักใหญ่ใจความของการใช้อำนาจของ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปพิจารณาตามมาตรา 3 ทุกองคาพยพในรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม คำว่า “หลักนิติธรรม” เป็นสิ่งที่เรา import มาจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญประเทศไทยเพิ่งนำเข้ามาไม่กี่ปีนี้ ซึ่งไม่มีนิยาม แต่อันนี้ผมว่าเป็นช่องทางที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถหยิบเอาคุณค่าสากลของต่างประเทศเข้ามาได้ เช่น ระบอบประชาธิปไตยเคารพเสียงส่วนใหญ่แต่ต้องพิจารณาเสียงข้างน้อยด้วย หรือหลักความเป็นอิสระของศาล การได้สัดส่วนอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งคิดว่าเปิดช่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญสามารถนำสิ่งที่เป็นคุณค่าสากลเข้ามาในบริบทสังคมไทย
ประการต่อมาคือ นิติวิธี ศาลรัฐธรรมนูญมีความต่างกับศาลยุติธรรม ผมคิดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะคุ้นเคยกับการพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 4 ในกรณีที่ไม่สามารถหาบทบัญญัติกฎหมายได้ ท่านได้เทียบเคียงใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 4 ในเรื่องของจารีตประเพณีท้องถิ่น หลักกฎหมายเทียบเคียงอย่างยิ่งหรือหลักกฎหมายทั่วไป แต่ในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคสอง ถ้าไม่มีบทบัญญัติท่านต้องไปพิจารณาเรื่องประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนำมาใช้ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ซึ่งคิดว่าหลักนิติธรรมกับมาตรา 5 จะเปิดช่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญสามารถมีความอ่อนไหวหรือว่าเชื่อมโยงสามารถนำมาใช้ในกรณีที่ไม่มีข้อบังคับแห่งกฎหมายมาใช้อีกประการหนึ่ง สำหรับเรื่องของหน้าที่อำนาจ นอกจากเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจแล้ว
ยังมีประเด็นหนึ่ง ซึ่งผมอาจจะทำงานในเรื่องนี้ มาค่อนข้างมาก คือ เรื่องของหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญบัญญัติอยู่ 2 เรื่องเท่านั้น ในเรื่องของการทำหนังสือสัญญา คืออะไรที่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตกับกรณีที่ต้องมีกฎหมายอนุวัติการ เพราะประเทศไทยเป็นระบบ ที่กว่าจะนำกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาใช้ ต้องมีกฎหมายอนุวัติการ อันนี้เป็นหลักพื้นฐาน มาตั้งแต่ปี 2475 แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญไทยเพิ่มมาอีก 2 เงื่อนไข คือ เรื่องหนังสือสัญญาที่มี ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและที่เพิ่มมาอีกอันหนึ่ง คือ เรื่องเขตอธิปไตยแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่พัฒนาเกิดขึ้นใหม่หลังกฎหมายทะเลมีผลใช้บังคับ อันนี้เป็นส่วนที่ผมทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศและมีประสบการณ์ทำเรื่องนี้มาค่อนข้างนาน ผมได้กล่าวถึงเรื่องเขตอำนาจศาล ผมได้กล่าวถึงเรื่องการใช้อำนาจ ผมได้กล่าวถึงเรื่องระบบนิติวิธี
ประการต่อมา เรื่องงานบริหาร กล่าวคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสวมหมวก 2 ใบในหน้าที่และอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่งานบริหารเพื่อให้งานขององค์กรศาล ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ใหญ่มีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่มาก แต่คิดว่าการพัฒนาและให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญคิดว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารในระบบสายยุติธรรมอาจจะต้องมีเปลี่ยนการฝึกอบรมในสายงาน เช่น มีการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญกับศาลยุติธรรม ศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุด นี่คือระบบสำหรับประเทศไทย ในขณะเดียวกันอาจใช้เครือข่ายในการทำงานของการต่างประเทศ ส่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ไปฝึกอบรมในการร่างเขียนหนังสือกับหน่วยงานในต่างประเทศไม่ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาของต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ ผมคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศอาจจะช่วยได้
ประการสุดท้าย คือ ขยายเครือข่ายการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญกับสมาคม ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแลกเปลี่ยน best practice หรือแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างศาลรัฐธรรมนูญไทยกับ ศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบเดียวกับประเทศไทย โดยสรุปคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยสามารถขยาย ความร่วมมือกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศได้ในการแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน การเขียนคำวินิจฉัยต่าง ๆ เหล่านี้
อ้างอิง
- รายงานการพิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (แทนตำแหน่งที่ว่าง) ของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- ‘สิริพรรณ-ชาตรี’ ไม่ได้เป็นตุลาการศาล รธน. สว.ไม่เห็นชอบ
- รู้จัก สิริพรรณ-ชาตรี สองแคนดิเดตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังกรรมการสรรหาเสนอชื่อส่ง สว. พิจารณา เม.ย. 68
- "นครินทร์-ปัญญา”รักษาการยาว ทำหน้าที่ตุลาการศาลรธน.ต่อ 5 เดือน