เช็กบิล "แก๊งโอริโอ้" ก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ล่าแต้มแลกผลประโยชน์ "นักวิชาการ" มอง เข้าข่ายอันธพาล จัดการเป็นขบวนการ รับงานก่อเหตุ ซ้ำร้ายบางรายยอมจ่ายเงินเข้าแก๊ง หวั่นพฤติกรรมเลียนแบบ หน่วยงานรัฐต้องคุมรุนแรงในเกมก่อนบานปลาย

กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล เมื่อกลุ่มวัยรุ่น ที่พบกันในเกม FiveM ตระเวนก่อเหตุบนโลกความจริง โดยตามล่าทำร้ายคนที่ไปพบในเกม หรือมีการข่มขู่กันในโลกออนไลน์ โดยเหยื่อถูกแก๊งโอริโอ้ ใช้มีดเข้ามารุมทำร้ายร่างกายภายในคอนโดแห่งหนึ่ง เหตุเกิดเมื่อช่วงเดือน ก.ค. ปี 2567 พร้อมข่มขู่ว่าถ้าแจ้งความจะกลับมาเล่นงานอีกครั้ง

ล่าสุดวันนี้ 30 ม.ค. 68 ที่ สภ.คลองหลวง ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ 4 ผู้ต้องหา ร่วมแก๊งโอริโอ้ หลังถูกแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกาย และแจ้งข้อหาเพิ่ม ในการร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตลอดจนร่วมกันมีอาวุธปืนครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต

หลังตำรวจคุมตัว "ต้า โอริโอ้" หัวหน้าแก๊ง และมีข้อมูลว่าคนที่เข้ากลุ่มต้องจ่ายเงินผ่านเกม FiveM โดย "รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล" รองอธิการบดีฝ่ายความปลอดภัย และประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต มองว่า ปกติการตั้งกลุ่มแก๊งมีในทุกประเทศทั่วโลก แต่วัตถุประสงค์แตกต่างกัน กรณีของ "แก๊งโอริโอ้" เป็นการรวมตัวกันจากในเกม FiveM แล้วก็มีการมารวมตัวในโลกความเป็นจริง เพื่อทำร้ายเหยื่อในหลายเหตุการณ์ บางกรณีก็ไม่น่าจะไปก่อเหตุ เช่น มีคนที่มากับแฟนกำลังขึ้นคอนโด แล้วไปมองหน้ากัน จนไม่พอใจกัน แล้วไปก่อเหตุทำร้าย ลักษณะนี้ถือเป็น อันธพาล

"แก๊งโอรีโอ้" เข้าข่ายอันธพาล ล่าแต้มแลกผลประโยชน์

...

การรวมตัวเป็นแก๊งส่วนใหญ่ มีการเชื่อมโยงในเรื่องผลประโยชน์ โดยแก๊งโอริโอ้ ถ้าคนไหนอยากเป็นสมาชิกของกลุ่ม ต้องจ่ายคนละ 1,000 บาท ผ่านระบบเกม FiveM ตัวอย่างเช่น ถ้ามีผู้ร่วมสมาชิก 100 คน ก็จะได้เงิน 100,000 บาท นี่จึงเป็นเงินที่ีทำให้กลุ่มแก๊งนี้สามารถรวมตัวกันได้ และมีรายได้ที่ไปรับงานในการไปทำร้ายผู้อื่นเข้ามาอีกทาง

“ถ้าตำรวจไม่เร่งจัดการ ลงโทษแก๊งนี้ ต่อไปยิ่งไปก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น จากเดิมที่ทำร้ายร่างกายด้วยการชกต่อย จะกลายเป็นเริ่มใช้อาวุธทำร้ายผู้อื่น เช่น มีด ปืน”

ทางออกวัยรุ่นรวมตัวกันก่อเหตุ

"รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์” มองว่า การรวมกลุ่มของแก๊งโอริโอ้ ถือเป็นโมเดลของกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุ มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งมีการรวมกลุ่มผ่านเกมในโลกโซเชียลมีเดีย กรณีนี้เป็นเกมที่ใช้ความรุนแรง และเป็นการรวมแก๊งในโลกเสมือนจริง จนมีการนัดหมายกันมาก่อเหตุในโลกของความจริง

"แก๊งโอรีโอ้" เข้าข่ายอันธพาล ล่าแต้มแลกผลประโยชน์

ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาจัดการเกมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงลักษณะนี้ด้วย แต่เกมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผล ต้องยอมรับว่าเกมที่ใช้ความรุนแรงมีผลต่ออารมณ์ ความคิดและการใช้เหตุผลของคน

การจัดระบบแก๊งโอริโอ้ จะมีคนชื่อ "ต้า" เป็นหัวหน้าแก๊ง ส่วนรูปแบบการกระทำความผิด ขึ้นอยู่กับการมอบหมายงานเป็นรายกรณี เช่น มีคนที่รับผิดชอบขับขี่ยานพาหนะ ส่วนคนอีกกลุ่มเป็นผู้ลงมือทำร้ายเหยื่อ กรณีแก๊งโอริโอ้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว

ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งที่ร่วมแก๊งโอริโอ้ พ่อมาบอกว่า ลูกหนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี ตอนนี้เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเด็กคนนี้ได้ออกไปใช้ชีวิตเพียงลำพัง จึงสะท้อนว่า หากครอบครัวมีการเอาใจใส่เด็กในบ้าน จะทำให้ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้