“2 เดือน 2 ศพ" สำรวจแรงกระตุ้น คนไข้อาละวาดในโรงพยาบาล ก่อเหตุร้ายต่อเนื่อง "หมอ" ชี้ต้นเหตุจากภาวะถอนพิษสุรา หลังหยุดดื่ม 12 – 48 ชั่วโมง คนไข้ปกปิดประวัติ บุคลากรการแพทย์เสี่ยงภัย ยากระงับคลั่ง
เหตุผู้ป่วยคลั่งอาละวาดในโรงพยาบาลระหว่างรักษา เกิดขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ 7 ธันวาคม 2567 ที่โรงพยาบาลใน จ.ศรีสะเกษ เกิดเหตุผู้ป่วยอาละวาด จนบุรุษพยาบาลต้องเข้ามาระงับเหตุ โดยคนไข้มีอาการติดสุรา แต่ภาพวงจรปิดพบว่า ผู้ช่วยพยาบาลที่เข้ามา พยายามล็อกตัวคนไข้ จนหัวกระแทกพื้นรุนแรง ต่อมาคนไข้เสียชีวิต ท่ามกลางคำถามญาติผู้ตาย ว่าทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
ส่วนอีกเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังปีใหม่ คนไข้อาละวาดในโรงพยาบาลที่ จ.สุรินทร์ เมื่อ 4 มกราคม 2568 โดยคนไข้มารักษาอาการไส้ติ่ง เมื่ออาการดีขึ้น เกิดคุ้มคลั่งคว้าขวานในตู้ดับเพลิงมาทำร้ายผู้อื่น สุดท้ายตำรวจในที่เกิดเหตุทำการวิสามัญ ซึ่งทางญาติคาใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอให้มีการเปิดภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
2 ศพ ในเวลา 2 เดือน จากเหตุคนไข้อาละวาดในพื้นที่โรงพยาบาล สะท้อนปัญหาการจัดการ ที่มีความซับซ้อนทั้งในส่วนบุคลากรการแพทย์ คนไข้ ที่ต้นเหตุมาจากปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน
![“2 เดือน 2 ศพ" อาละวาดในโรงพยาบาล แรงกระตุ้นคนไข้ ระงับเหตุไม่ทัน](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aveW7yPqVhq7ylXh3pK7BLFZWk08BW.webp)
...
มุมมองของ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์สาเหตุว่า การอาละวาดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยมีความหลากหลาย โดยเฉพาะคนไข้ที่มีอาการพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งไม่ได้ให้ข้อมูลประวัติละเอียดตั้งแต่การคัดกรอง เมื่อแรกเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล
จากประสบการณ์ เคยเจอคนไข้ที่มีอาการปวดท้องแล้วมารักษาที่โรงพยาบาล เมื่อรักษาจนอาการดีขึ้น คนไข้มีอาการอาละวาดไล่ทำร้ายคนในโรงพยาบาล มาจากอาการหูแว่ว เหมือนมีคนมาทำร้าย ถึงขนาดใช้มือทุบกระจก ให้เป็นเศษแก้วชิ้นเล็กๆ แล้วนำเศษกระจกไล่ทำร้ายผู้อื่น แต่โชคดีที่ควบคุมผู้ป่วยได้ เมื่อตรวจสอบประวัติชัดเจน พบว่าผู้ป่วยมีการดื่มสุราต่อเนื่อง เมื่อหยุดดื่ม จะมีภาวะถอนพิษ หรือว่าลงแดง
ภาวะถอนสุรา แบบไม่รุนแรง จะไม่มีอาการคลุ้มคลั่ง แต่ถ้าแบบรุนแรง มีอาการใจสั่น เหงื่อออกมากผิดปกติ มีอาการชักร่วมกับประสาทหลอน ทั้งแบบหูแว่ว เห็นภาพหลอน เช่น หวาดระแวงว่ามีคนมาทำร้าย เกิดขึ้นตั้งแต่ 12 – 48 ชั่วโมง หลังหยุดสุรา
“อย่างกรณีที่เกิดขึ้น คนไข้อาละวาด จนทำให้ตำรวจต้องระงับเหตุจนเสียชีวิต เนื่องจากคนไข้มีอาการปวดท้อง หลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง แล้วมีอาการคลุ้มคลั่ง เข้าข่ายภาวะถอนสุรา มีอาการหูแว่ว ว่าคนมาทำร้าย ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกับคนไข้ที่มารักษา และต้องทำการหยุดดื่มสุรากะทันหัน ทำให้เกิดอาการชักร่วมประสาทหลอน จนคลั่งทำร้ายผู้อื่น”
![“2 เดือน 2 ศพ" อาละวาดในโรงพยาบาล แรงกระตุ้นคนไข้ ระงับเหตุไม่ทัน](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aveW7yPqVhq7ylXiHX7ioD2KLBv5Zm.webp)
น่าสนใจว่า ผู้ป่วยที่มักมีปัญหาอาละวาดในโรงพยาบาล มีการดื่มสุราต่อเนื่อง แต่พอมารักษาที่โรงพยาบาล เมื่อต้องหยุดดื่ม จะมีปัญหาอาละวาด ลุกลามไปถึงทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัจจัยเริ่มต้นที่ต้องเข้มงวดคือ การซักประวัติคนไข้ ตั้งแต่แรกเข้ามาทำการรักษา เพราะที่ผ่านมาระบบคัดกรองยังไม่ละเอียดพอ เนื่องจากพฤติกรรมการดื่มสุราเป็นประจำ คนไข้จะหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูล ทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นจริง จนเกิดอาการคุ้มคลั่งตามมา
“อย่างอีกกรณีที่มีผู้ช่วยพยาบาลทำร้ายคนไข้จนเสียชีวิต คนไข้มีประวัติคล้ายกัน ว่าไม่มีความชัดเจนในเรื่องปัญหาด้านจิตเวช หมอเลยให้ไปนอนในหอผู้ป่วยปกติ เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีหูแว่ว ประสาทหลอน หลังจากนั้นเลยย้ายผู้ป่วยไปยังหอผู้ป่วยที่อยู่ในการควบคุม แต่มาเกิดเหตุจนผู้ป่วยเสียชีวิต พอซักประวัติอย่างละเอียดพบว่า มีประวัติดื่มสุราต่อเนื่อง”
![“2 เดือน 2 ศพ" อาละวาดในโรงพยาบาล แรงกระตุ้นคนไข้ ระงับเหตุไม่ทัน](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04aveW7yPqVhq7ylXiDNI7N4AhOeGCLL.webp)
ป้องกันผู้ป่วยอาละวาดในโรงพยาบาล
รศ.นพ.วีระศักดิ์ มองการแก้ปัญหา ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยให้ละเอียดที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการดื่มสุรา ถ้ามีประวัติดื่มต่อเนื่อง ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุลักษณะดังกล่าว ดังนั้น สิ่งที่ป้องกันได้ ทางญาติหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยควรบอกกับผู้ซักประวัติอย่างชัดเจนถึงการดื่มสุราอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วย ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลต้องมีระบบคัดกรองละเอียดมากขึ้น
...
ที่ผ่านมาไม่เคยพบว่าคนไข้ได้รับยาชนิดไหนแล้วมีฤทธิ์จนเกิดอาการคุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น อีกสิ่งสำคัญ โรงพยาบาลต้องมีมาตรการควบคุมคนไข้กลุ่มเสี่ยง แม้มีบุคลากรน้อย แต่ต้องละเอียดมากขึ้นในการคัดกรอง เนื่องจากปัญหาผู้ป่วยที่ใช้สุรามีมากขึ้น
เช่นเดียวกับการฝึกบุคลากรการแพทย์ให้สามารถควบคุมคนไข้ที่มีอาการคุ้มคลั่งได้ ตามหลักการควบคุมคนไข้ที่มีอาการคุ้มคลั่งในโรงพยาบาล สามารถทำได้เพียงการจับมัดกับการฉีดยา แต่ไม่สามารถไประงับเหตุจนคนไข้มีการบาดเจ็บ ด้วยข้อจำกัดนี้ ทำให้การควบคุมคนไข้ในโรงพยาบาลเป็นไปได้ยาก แต่ทำได้เพียงควบคุมด้วยการจับมัดและให้ยาระงับประสาท
สำหรับประชาชนทั่วไป ไม่อยากให้ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะเหตุเหล่านี้ควบคุมได้ หากมีระบบคัดกรองผู้ป่วยชัดเจน เช่นเดียวกับคนไข้ไม่ควรปกปิดข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงตามมาได้.