ติดตามอีก 5 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ปีพ.ศ. 2568 ต่อจาก “ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ปี 2568 (ตอน 1)” เช่นเดียวกับในตอนที่แล้ว เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์อีก 5 เรื่องนี้ ไม่มีการจัดอันดับความสำคัญ เพราะทุกเรื่องมีความสำคัญทัดเทียมกันหมด

(6) ยานเทียนเหวิน-2 ของจีนเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยและสำรวจดาวหาง

ในปีพ.ศ. 2568 จีนเตรียมส่งยานเทียนเหวิน-2 (Tianwen-2) ไปเก็บตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก เพื่อนำกลับมาศึกษาที่โลก และเดินทางไปสำรวจดาวหางพันธุ์ทางที่มีลักษณะเป็นดาวเคราะห์น้อย อยู่ไกลออกไปถึงแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ซีเอ็นเอสเอ (CNSA: China National Space Administration) กำหนดแผนจะส่งยานเทียนเหวิน-2 ขึ้นสู่อวกาศในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 เพื่อปฏิบัติภารกิจในอวกาศสองอย่าง

อย่างแรก คือ ส่งยานเทียนเหวิน-2 ไปสำรวจและเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กใกล้โลกชื่อ (ภาษาฮาวาย) 469219 คาโมอาเลวา (469219 Kamooalewa) มีขนาด 40 ถึง 100 เมตร

ยานเทียนเหวิน-2 จะเดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยคาโมอาเลวาในปีพ.ศ. 2569 โคจรรอบดาวเคราะห์น้อย เพื่อสำรวจศึกษาและเก็บตัวอย่างดินบนพื้นผิวดาวเคราะห์เป็นปริมาณประมาณ 100 กรัม จากนั้น ในปีพ.ศ. 2570 ก็จะเดินทางกลับมายังโลก เพื่อส่งตัวอย่างที่เก็บจากดาวเคราะห์น้อยเพื่อการศึกษาบนโลก เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจอย่างแรก

ต่อจากนั้น ยานเทียนเหวิน-2 ก็จะถูกส่งให้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจอย่างที่สอง คือ สำรวจศึกษาดาวหาง 311 พี/แพนสตาร์ส (311P/Panstarrs) อยู่ไกลออกไปถึงแถบดาวเคราะห์น้อยใกล้ดาวพฤหัสบดี เพื่อสำรวจศึกษาเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี รวมเวลาปฏิบัติภารกิจทั้งหมดของยานเทียนเหวิน-2 ประมาณ 10 ปี

...

ภาพบรรยากาศการปล่อยยานเทียนเหวิน-1
ภาพบรรยากาศการปล่อยยานเทียนเหวิน-1

นอกเหนือไปจากเป้าหมายในการสำรวจศึกษาดาวเคราะห์น้อยและดาวหางโดยทั่วไปแล้ว ภารกิจยานเทียนเหวิน-2 มีเป้าหมายใหญ่เฉพาะ 2 ประการ

หนึ่ง คือ สำหรับดาวเคราะห์น้อย คาโมอาเลวา ก็เพื่อศึกษาว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของดวงจันทร์ของโลกที่ถูกชนแล้วกระเด็นหลุดไป เกิดเป็นหลุมอุกกาบาตใหญ่ จิออร์ดาโน บรูโน (Giordano Bruno Crater) ขนาด 22 กิโลเมตร บนดวงจันทร์หรือไม่?

สอง คือ ศึกษาดาวหางแพนสตาร์สอย่างใกล้ชิด ที่เมื่อถูกค้นพบ ก็เข้าใจกันว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย เพราะลักษณะและตำแหน่งวิถีโคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย (main belt) แต่ต่อมาก็พบว่ามีหาง จึงถูกจัดให้เป็นดาวหางและจึงถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายสำหรับการศึกษาอย่างใกล้ชิดโดยยานเทียนเหวิน-2

แล้วก็มีโจทย์สำหรับการศึกษาดาวหางดวงนี้อีกด้วยว่า ดาวหางเป็นแหล่งที่มาของน้ำบนโลกหรือไม่?

(7) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ ASPA ปี 2568

ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference 2025 ครั้งที่ 28 ในปีพ.ศ. 2568 ที่ประเทศไทย

ASPA คือ Asian Science Park Association (สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชีย) มีการจัดการประชุมนานาชาติเป็นประจำทุกปี โดยมีการหมุนเวียนให้ประเทศสมาชิกสมาคมรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยในการประชุมประจำปีแต่ละครั้ง จะมีแนวคิดหลัก (Theme) เกี่ยวกับบทบาทของสมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์สำหรับการพัฒนาของประเทศและภูมิภาค

ในการประชุมครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่ประเทศมองโกเลีย ดร.วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมด้วย

ดร.วีรชัย อาจหาญ / ภาพ : ศูนย์ข่าว อว.
ดร.วีรชัย อาจหาญ / ภาพ : ศูนย์ข่าว อว.

...

สำหรับการประชุมครั้งต่อไปเป็นครั้งที่ 28 ปี พ.ศ. 2568 ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ดร.วีรชัย อาจหาญ กล่าวรับเป็นเจ้าภาพการประชุมในประเทศไทย โดยความร่วมมือของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ, อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1, อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ร่วมกับสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB)

ในการประชุมที่ มองโกเลีย มีสมาชิกจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมด้วย เช่น คาซัคสถาน อิหร่าน ตุรกี จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศไทย ภายใต้แนวคิดหลัก “Role and Impact of STPs for Regional Development” (บทบาทและผลกระทบของอุทยานวิทยาศาสตร์สำหรับการพัฒนาภูมิภาค)

ดร.วีรชัย อาจหาญ ได้กล่าวเชิญชวนสมาชิก ASPA จากประเทศต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียบเศรษฐกิจ 4 ภาคของไทย โดยมุ่งเน้นใน 7 กลุ่มเทคโนโลยีหลัก คือ เทคโนโลยีดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ (Creative Digital Technology) ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับและสมาร์ตเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (UAV and Smart Electronics Technology) เทคโนโลยีเอไอเซนเซอร์ และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Digital AI Sensor and Microelectronics Technology) เทคโนโลยีพลังงานและชีวเคมี (Energy and Biochemical Technology (Biorefinery)) เทคโนโลยีการสกัด (Extraction Technology) เทคโนโลยีพลาสมา (Plasma Technology) และเทคโนโลยีโอลีโอเคมี (Oleochemical Technology)

...

สำหรับการจัดการประชุมนานาชาติ ASPA ประจำปีพ.ศ. 2568 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2568 ที่ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park Convention Center) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานีภายใต้แนวคิดหลัก คือ Role of STPs in facilitating Corporates on the ESG journey (บทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับการช่วยองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการปกครอง)

(8) เปิดตัว “ฮาเวน-1” บุกเบิกโรงแรมอวกาศ

ในปี พ.ศ. 2568 บริษัทวาสต์ (VAST) ในสหรัฐอเมริกา เตรียมส่ง “ฮาเวน-1” (Haven-1) บุกเบิกธุรกิจเป็นโรงแรมอวกาศแห่งแรก

ธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ เริ่มต้นกับนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรก คือ เดนนิส ติโต (Denis Tito) จ่ายค่าตั๋วเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยราคาค่าตั๋ว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2544

หลัง เดนนิส ติโต ก็มีนักท่องเที่ยวอวกาศเดินทางขึ้นสู่อวกาศอีกหลายคน แต่สิ่งที่ควรจะเป็นคู่กับนักท่องเที่ยวอวกาศ คือ โรงแรมอวกาศ (space hotel) ก็ยังไม่เกิดขึ้น

ยานฮาเวน-1 (Haven-1) / ภาพ : vastspace
ยานฮาเวน-1 (Haven-1) / ภาพ : vastspace

...

แล้ว ฮาเวน-1 เป็นโรงแรมอวกาศแห่งแรกใช่หรือไม่?

บริษัทวาสต์ ไม่เรียก ฮาเวน-1 เป็นโรงแรมอวกาศ โดยเรียกเป็น “สถานีอวกาศเอกชนพาณิชย์แห่งแรก” แต่สำหรับคนอื่นๆ รวมทั้งสำนักข่าวหลายแห่ง ก็เรียก ฮาเวน-1 เป็นโรงแรมอวกาศแห่งแรก รีสอร์ตในอวกาศแห่งแรก หรือ แคปซูลหรูในอวกาศ เพราะมีลักษณะแบบโรงแรมหรูทีเดียว แต่มีขนาดเล็ก รับผู้โดยสารหรือแขกผู้เข้าพักได้เพียง 4 คน

ฮาเวน-1 มีขนาดความกว้าง 4.4 เมตร สูง 10.1 เมตร มีพื้นที่สำหรับการทำงานและการอยู่อาศัย 45 ลูกบาศก์เมตร มีห้องพักส่วนตัว พื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน และห้องปฏิบัติการวิจัย มีระบบการสื่อสารออนไลน์ เพื่อติดต่อกับครอบครัวบนโลก ในพื้นที่ส่วนรวมมีหน้าต่างขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.1 เมตร เพื่อการชมวิวของโลก

บริษัท วาสต์ ประกาศว่า ฮาเวน-1 จะเปิดต้อนรับลูกค้าทั้งส่วนเป็นของราชการและเอกชน เพื่อการทดลองอยู่อาศัยในสภาพไร้แรงดึงดูดโน้มถ่วงภายในฮาเวน-1 และมีส่วนเป็นห้องทดลองเพื่อการอยู่อาศัยในสภาพแรงดึงดูดโน้มถ่วง พอๆ กับการอยู่บนดวงจันทร์ด้วย เพื่อการทดลองวิทยาศาสตร์การผลิตในอวกาศและเพื่อการพักผ่อนในอวกาศ

ตามแผนงานของบริษัท จะส่งฮาเวน-1 ขึ้นสู่อวกาศประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2568 โดยจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปสเอกซ์ ที่อีลอน มัสค์ เป็นเจ้าของ

หลังจากส่ง ฮาเวน-1 ขึ้นสู่อวกาศแล้ว ก็จะมีการส่งมนุษย์อวกาศ 4 คน ของบริษัท วาสต์ เพื่อไปทดลองปฏิบัติการอยู่กับ ฮาเวน-1 เป็นเวลา 30 วัน

ถ้าทุกอย่างดำเนินไปตามแผน บริษัท วาสต์ เปิดเผยว่า จะเริ่มส่งลูกค้าจริงๆ ขึ้นสู่ ฮาเวน-1 เป็นเวลาประมาณ 10 วัน ในปีพ.ศ. 2569 ซึ่งก็จะเป็นการเริ่มต้นการท่องเที่ยวอวกาศที่เปิดกว้างขึ้น

(9) หอดูดาวอวกาศสเฟียร์เอกซ์

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 นาซา (NASA) มีกำหนดจะส่งหอดูดาวอวกาศสเฟียร์เอกซ์ (SPHEREx) ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อสำรวจศึกษากำเนิดของจักรวาล กำเนิดและประวัติศาสตร์ของกาแล็กซีต่างๆ และกำเนิดที่มาของน้ำในระบบดาวเคราะห์

SPHEREx คือ Spectro-Photometer for the History of the Universe, Epoch of Reionization, and Ices Explorer (เครื่องวัดสเปกตรัม สำหรับประวัติศาสตร์ของจักรวาล, ยุคของการรีไอออนไนเซชันและการสำรวจน้ำแข็ง) เป็นหอดูดาวอวกาศอินฟราเรดใกล้ (near-infrared) ของนาซา ที่จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดฟัลคอน 9 ของสเปสเอกซ์ เพื่อไปโคจรอยู่ในอวกาศรอบโลก ที่ระดับความสูง 700 กิโลเมตร โดยจะโคจรรอบโลกคาบละ 90 นาที และมีกำหนดปฏิบัติการตามแผนเป็นเวลา 25 เดือน

เป้าหมายของหอดูดาวอวกาศสเฟียร์เอกซ์ คือ สำรวจท้องฟ้าทั้งหมดด้วยเครื่องวัดสเปกตรัมรังสีอินฟราเรดใกล้ (จากความยาวคลื่น 0.75 ถึง 5.0 ไมโครเมตร) เพื่อทำแผนที่ทั้งหมดของท้องฟ้าทั้งหมดที่เคยทำมา โดยในช่วงเวลาตามแผน 25 เดือน จะทำแผนที่ดังกล่าว 4 ครั้ง

ภาพจำลองของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ SPHEREx / ภาพ : NASA/JPL-Caltech
ภาพจำลองของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ SPHEREx / ภาพ : NASA/JPL-Caltech

ผลจากการสำรวจ จะแบ่งกลุ่มกาแล็กซีตาม เรดชิฟต์ (redshift: การขยับเคลื่อนของสเปกตรัมไปทางสีแดงของกาแล็กซีที่เคลื่อนที่ห่างออกไปจากโลก) ของกาแล็กซีประมาณ 450 ล้านกาแล็กซี เพื่อเปรียบเทียบกับแม่แบบภาพถ่ายกาแล็กซีที่มีอยู่

จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการทำงานของหอดูดาวสเฟียร์เอกซ์ คาดหวังกันว่าจะช่วยให้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นของการเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจักรวาล หรืออินเฟลชัน (inflation) คำตอบสำหรับกำเนิดและประวัติศาสตร์ของกาแล็กซี และคำตอบสำหรับแหล่งที่มาของน้ำในระบบดาวเคราะห์

วัตถุประสงค์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของหอดูดาวอวกาศสเฟียร์เอกซ์ คือ เพื่อทำงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (EUCLID) ขององค์การอวกาศยุโรปอีซา (ESA) ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ แนนซี เกรซ โรมัน (Nancy Grace Roman Space Telescope) ของนาซา ที่จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ. 2570 สำหรับภารกิจการศึกษาและค้นหาสสารมืด (dark matter)

(10) 2568 ปีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมสากล

วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567 องค์การสหประชาชาติประกาศให้ปีพ.ศ. 2568 เป็นปีแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมสากล (International Year of Quantum Science and Technology) เพื่อฉลองหนึ่งร้อยปีแห่งการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม

ย้อนหลังไปเมื่อปีพ.ศ. 2564 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้เริ่มต้นรวมตัวกันและเคลื่อนไหวให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันควอนตัมโลก” หรือ “World Quantum Day” และการฉลองวันควอนตัมโลกก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565

วันควอนตัมโลกเป็นที่ยอมรับและฉลองกันในหลายประเทศทั่วโลก ต่อเนื่องกันมาในปีพ.ศ. 2566 และ 2567

สำหรับปีพ.ศ. 2568 จึงยิ่งเป็นปีพิเศษสำหรับนักฟิสิกส์ และนักวิทยาศาสตร์ทุกสาขา รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือ นักเทคโนโลยีด้วย เพราะทุกวันของปีพ.ศ. 2568 ก็จะเป็น “วันควอนตัม” ไปด้วย

ทำไมสหประชาชาติจึงกำหนดให้ปี พ.ศ. 2568 เป็นปีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมสากล เพราะประวัติความเป็นมาของทฤษฎีควอนตัม เริ่มต้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ คือ ปีค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) กับผลงานของ มักซ์ พลังค์ (Max Planck) เกี่ยวกับการแผ่รังสีของวัตถุดำ (black-body radiation) รวมทั้งผลงานของนักฟิสิกส์คนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอน์สไตน์ ด้วย ที่ทำให้ฟิสิกส์ควอนตัมมีฐานะที่มั่นคง นับเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีก่อนถึงปีพ.ศ. 2568

เออร์วิน ชโรดิงเจอร์ (Erwin Schrodinger) / ภาพ : Getty/Bettmann
เออร์วิน ชโรดิงเจอร์ (Erwin Schrodinger) / ภาพ : Getty/Bettmann

ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของสหประชาติเกี่ยวกับการประกาศให้ปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) เป็นปีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัม ก็ได้กล่าวถึงผลงานของนักฟิสิกส์ที่บุกเบิกทฤษฎีควอนตัม ดังเช่น มักซ์ พลังค์ และไอน์สไตน์ กว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว แต่ก็ให้คำอธิบายว่า ที่ยกให้ปี พ.ศ. 2568 เป็นปีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมสากล ก็เพราะเป็นปีครบรอบ 100 ปี ที่นักฟิสิกส์ คือ เออร์วิน ชโรดิงเจอร์ (Erwin Schrodinger) ได้สร้างกลศาสตร์คลื่นควอนตัม (quantum wave mechanics) คือ สมการคลื่นชโรดิงเจอร์ และ แวร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก กับ แม็กซ์ บอร์น (Max Born) และ ปัสกัล จอร์แดน (Pascal Jordan) ได้ร่วมกันสร้างกลศาสตร์เมทริกซ์ (matrix mechanics) ซึ่งทำให้ทฤษฎีควอนตัม กลายเป็นทฤษฎีที่นักฟิสิกส์ใช้งานทั่วไปและอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง ซึ่งจะคล้ายกับการตั้งทฤษฎีว่าการเคลื่อนที่ของนิวตัน F = ma ที่ทำให้นักฟิสิกส์ใช้งานฟิสิกส์เกี่ยวกับแรงและการเคลื่อนที่ได้จริง...

และก็คงเป็นเหตุผลที่กำหนดให้ปีพ.ศ. 2568 เป็นปีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมสากลแทนที่จะเป็นเพียง International Year of Quantum Science ด้วย เพราะในข่าวประชาสัมพันธ์ของสหประชาชาติ ก็ยกเหตุผลการกำหนดให้ปีพ.ศ. 2568 เป็นปีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมสากลด้วยว่า เพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญของการเรียนรู้ควอนตัม และการประยุกต์ใช้ควอนตัมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน !