นายหน้าเถื่อนระบาดหนัก หลอกพม่าขึ้นทะเบียนรายละ 4,500 – 30,000 บ. "เชิดเงิน-ติดต่อไม่ได้" ตำรวจจับแล้วปล่อยทำผิดซ้ำ เปิดอุบายขบวนการให้ทยอยจ่ายจนหมดตัว หวั่นใกล้ขีดเส้นตาย ขึ้นทะเบียนวันสุดท้าย 13 ก.พ. 68 พม่ากลายเป็นแรงงานเถื่อนเพียบ

การขึ้นทะเบียนแรงงาน "เมียนมา-กัมพูชา-ลาว" ที่กำหนดให้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ 27 พ.ย. 67 – 13 ก.พ. 68 ใน 3 พื้นที่ คือ ระนอง เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ทำให้แรงงานต้องเดินทางไกล คาดด้วยระยะเวลาจำกัด ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติ 2 ล้านกว่าคน ที่อยู่ในความดูแลของนายจ้างชาวไทยราว 3 แสนคน หลุดออกจากระบบ และด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้ตอนนี้มีขบวนการนายหน้าที่หลอกขึ้นทะเบียนแรงงานพม่าจำนวนมากในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.) เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ในพื้นที่สมุทรสาคร ตอนนี้ มีขบวนการนายหน้าหลอกขึ้นทะเบียนแรงงานพม่าจำนวนมาก เฉพาะเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบแรงงานพม่าถูกหลอก โดยอ้างว่าจะช่วยขึ้นทะเบียนจำนวนมาก คาดว่าก่อนถึงเวลาตามกรอบกำหนดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าววันสุดท้ายช่วงต้นปีหน้า จะมีแรงงานพม่าถูกหลอกอีกจำนวนมาก

...

ปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานเมียนมาในไทย เรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนมีมติ ครม. 24 ก.ย. 67 โดยเฉพาะแรงงานพม่ากลุ่มที่ขึ้นทะเบียน MOU เพราะวีซ่ามีอายุอยู่ในไทยได้ 4 ปี แต่พอหมดอายุวีซ่า 2 ปี แรงงานพม่าต้องกลับไปประเทศต้นทางเพื่อต่ออายุ แต่ด้วยภัยสงคราม ทำให้แรงงานไม่ต้องการกลับไปประเทศต้นทาง ทำให้แรงงานจำนวนมากออกจากระบบจ้างงานที่ถูกต้องในไทย ทำให้เป็นแรงงานที่ไม่ได้ต่อวีซ่า แต่ถือพาสปอร์ตได้ 5 ปี

แต่พอมีมติ ครม.ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว กลุ่มแรงงานที่ตกหล่นเหล่านี้ ก็เริ่มหานายจ้างถูกกฎหมาย ซึ่งกลุ่มนายหน้าที่หลอกลวงมีการร่วมมือกันระหว่างคนไทยและคนเมียนมา ในการตระเวนหาแรงงานกลุ่มนี้ โดยอ้างว่าจะมีงานให้ทำ และสามารถขึ้นทะเบียนแรงงานได้ถูกต้อง หากจ่ายเงินล่วงหน้าตามกำหนดไว้

“ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยเหลือแรงงานพม่าถูกหลอกจากนายหน้าเถื่อนในพื้นที่สมุทรสาคร กลุ่มแรก 149 ราย โดยเรียกเก็บค่านายหน้ารายละ 4,500 – 6,000 บาท เคสต่อมาช่วงกลางเดือน พ.ย. 67 มีแรงงานเมียนมาถูกหลอกอีกกลุ่มใหญ่ โดยเรียกเก็บเงินรายละ 8,000 – 8,500 บาท ซึ่งขบวนการนายหน้าจะตระเวนหาแรงงานพม่า อ้างว่าหางานให้ทำ แต่มีการเก็บเงินก่อน พอรับเงินไปแล้วก็เงียบหาย ไม่สามารถโทรฯติดต่อได้อีก และเมื่อแจ้งตำรวจ ก็ทำการจับนายหน้าชาวพม่าที่หลอก แต่ไม่นานก็ปล่อยตัว"

ขบวนการหลอกขึ้นทะเบียนแรงงานเมียนมา จะจับมือกันระหว่างคนไทยและเมียนมา ขั้นตอนแรกใช้คนเมียนมาในการหาเหยื่อ จากนั้นส่งให้คนไทยร่วมขบวนการ บางรายมีการหลอกให้จ่ายเงิน 2 – 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจ่ายให้คนเมียนมา พอขั้นที่สองอ้างว่าเป็นนายใหญ่ชาวพม่า ขั้นสุดท้ายเป็นนายหน้าคนไทย ขั้นตอนนี้ทำให้เหยื่อบางรายต้องจ่ายเงินมากถึง 30,000 บาท

แรงงานเมียนมาถูกหลอกจำนวนมากช่วงนี้ เนื่องจากหลายคนไม่รู้ขั้นตอนการลงทะเบียน เนื่องจากเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน แต่ละมติเป็นภาษาไทย ไม่ค่อยมีภาษาพม่า เลยทำให้เวลาคนที่มาหลอกพูดอะไรเขาก็หลงเชื่อ

ขึ้นทะเบียนแรงงานพม่าไม่ทันกรอบเวลากำหนด

ด้วยภาวะสงครามของเมียนมา และกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานที่ซับซ้อน ตั้งแต่กลุ่มที่ต้องการขึ้นทะเบียนใหม่ และกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนตามมติ ครม. "สุธาสินี" มองว่า จากกระแสที่แรงงานเมียนมาลุกขึ้นมาประท้วงในหลายพื้นที่ เนื่องจากข้อกำหนดการขึ้นทะเบียน ขีดเส้นไว้วันสุดท้ายช่วงเดือน ก.พ. 68 ไม่น่าทันตามกรอบเวลาที่กำหนด เพราะตอนนี้มีแรงงานพม่าอีกหลายคนอยู่ในกระบวนการถูกหลอก และหลายคนไม่มีเงินไปขึ้นทะเบียนใหม่อีกรอบ

“ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นนายหน้าเถื่อนหลอกแรงงานเมียนมาถูกจับจริงจัง เลยทำให้ตอนนี้บางพื้นที่ในสมุทรสาครมีขบวนการที่หลอกแรงงานอยู่จำนวนมาก ซึ่งแรงงานบางคน แม้อยู่ไทยมานานก็ถูกหลอก เพราะหลงเชื่อว่าเป็นคนพม่าเหมือนกัน”

สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความสับสนในการขึ้นทะเบียนแรงงานเมียนมาในไทย เพราะมีมติ ครม.หลายรอบเกินไป แม้เจ้าหน้าที่รัฐมองว่าถ้ามีแรงงานต่างด้าวไม่พอ ก็จะขยายกรอบเวลาในการขึ้นทะเบียน แต่ในมุมกลับกัน เมื่อขยายเวลาขึ้นทะเบียน ยิ่งเป็นโอกาสทองของนายหน้าเถื่อน แต่ถ้ามติ ครม. มีการกำหนดขึ้นทะเบียนให้ชัดเจนในรอบเดียว ว่าไทยต้องการแรงงานต่างด้าว 2 ล้านกว่าคน เปิดให้ลงทะเบียนจนครบกำหนด และหลังจากนั้นปิดลงทะเบียนทันที

...

ประกอบกับข้อกำหนดใหม่ของรัฐบาลเมียนมา ที่กำหนดให้แรงงานที่มาทำงานในไทย ต้องส่งเงินกลับเมียนมา 3 เดือน 1 ครั้ง ซึ่งแรงงานหลายคนไม่อยากสนับสนุนรัฐบาลทหาร ทำให้ไม่ยอมไปขึ้นทะเบียน และอาจกลายเป็นแรงงานเถื่อนในไทย สิ่งนี้ยิ่งทำให้แรงงานเมียนมากลายเป็นแรงงานเถื่อน ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะนายจ้างที่ต้องการแรงงานประเภทนี้ เพราะคุมง่าย ทำงานให้นายจ้าง โดยไม่สามารถหนีไปไหนได้ อยากจ่ายค่าแรงเท่าไหร่ก็จ่ายได้ เพราะไม่มีเอกสารการทำงานที่ถูกต้อง

การประท้วงของแรงงานพม่าช่วงนี้ ทำให้คนไทยหลายคนที่ไม่เข้าใจปัญหาแรงงานพม่า มองไปในแง่ลบ แต่จริงแล้ว แรงงานพม่าในไทยกำลังถูกบีบ ทั้งการเก็บภาษีของรัฐบาลเมียนมา และขบวนการนายหน้าที่หลอกให้ขึ้นทะเบียน โดยที่รัฐไทยไม่มีกระบวนการจัดการที่เด็ดขาด.