พาย้อนชม 10 ยอดข่าวของวงการวิทยาศาสตร์แห่งปี 2567 ทั้งไทยและเทศ (ตอน 2) โดย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูแห่งวงการวิทยาศาสตร์ และคอลัมนิสต์ขาประจำของไทยรัฐออนไลน์

ติดตามตอน 2 สำหรับ "10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์ปี 2567" กับข่าวที่ 6-10 ต่อจากตอนที่แล้ว โดยในตอนที่ 2 นี้ จะเป็นข่าวระดับโลก 3 ข่าว เกี่ยวกับประเทศไทย 1 ข่าว และข่าวที่ 10 เป็นข่าวการจากไปของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญระดับโลกในปี พ.ศ. 2567 หนึ่งคน

(6) รางวัลโนเบล ปี 2567 กับการเตือนภัยเอไอ

การประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี พ.ศ. 2567 เริ่มต้นวันที่ 7 ตุลาคม กับรางวัลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ และสิ้นสุดลงวันที่ 14 ตุลาคม กับรางวัลสาขาสุดท้ายที่ประกาศ (รวม 6 สาขา) คือ สาขาเศรษฐศาสตร์ ทุกรางวัลสำคัญและน่าสนใจ แต่รางวัลที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ และเกิดการวิพากษ์อีกทั้งจับตามองถึงผลกระทบจากการมอบรางวัลโนเบลปี พ.ศ. 2567 คือ รางวัลฟิสิกส์ที่ผู้ได้รับรางวัล (สองคน) เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) จนกระทั่งเอไอสามารถทำงานได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญ ทั้งสองคนมีบทบาทสำคัญในการออกมาแสดงจุดยืนเตือนภัยเอไออย่างชัดเจน

ส่วนสาขาเคมี มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสามคน เป็นผลงานเกี่ยวกับ "โปรตีน" ทั้งสามคน โดยสองคนได้รับรางวัลโนเบลจากการนำเอไอไปใช้ในการพยากรณ์โครงสร้างของโปรตีน และถึงแม้จะเป็นผลงานเกี่ยวกับเอไอ แต่ก็ไม่ถูกวิพากษ์หรือกล่าวถึงมากเท่ากรณีของรางวัลสาขาฟิสิกส์

จอห์น ฮอปฟีลด์ (John Hopfield)
จอห์น ฮอปฟีลด์ (John Hopfield)

...

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 2567 คือ จอห์น ฮอปฟีลด์ (John Hopfield) เป็นนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา

จอห์น ฮอปฟีลด์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการเป็นผู้พัฒนา "โครงข่ายฮอปฟีลด์" (Hopfield Network) ซึ่งเป็น "โครงข่ายประสาทเชื่อมโยง" (associative neural network) เลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์

เจฟฟรีย์ ฮินตัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการนำ "โครงข่ายฮอปฟีลด์" มาพัฒนาเป็น "เครื่องโบลซ์แมนน์" (Boltzmann machine) ซึ่งก็คือ "การเรียนรู้ของเครื่อง" (machine learning) ที่เป็นหัวใจสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ และเป็นผลงานทำให้เขาได้รับการเรียกเป็น "Godfather of AI" หรือ "เอไอก็อดฟาเธอร์"

เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton)
เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton)

ก่อนการประกาศรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 2567 ทั้ง จอห์น ฮอปฟีลด์ และ เจฟฟรีย์ ฮินตัน มีบทบาทสำคัญในการเตือนภัยจากเอไอ โดย จอห์น ฮอปฟีลด์ ได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก (มีนาคม พ.ศ. 2566) "Pause Giant AI Experiment" (หยุดการทดลองเอไอยักษ์) ออกโดย Future of Life Institute (สถาบันอนาคตแห่งชีวิต) ส่วน เจฟฟรีย์ ฮินตัน ก็ได้ประกาศลาออกจาก Google ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เพื่อจะได้กล่าวเตือนภัยจากเอไอได้อย่างอิสระ

หลังการประกาศเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ทั้ง จอห์น ฮอปฟีลด์ และ เจฟฟรีย์ ฮินตัน ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนของทั้งสองคนต่อการเตือนภัยว่า ยังคงไม่เปลี่ยน โดย จอห์น ฮอปฟีลด์ เปรียบเทียบเอไอกับการค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซึ่งนำมาสู่อาวุธนิวเคลียร์ ที่มีอานุภาพทำลายล้างมนุษยชาติได้

สำหรับ เจฟฟรีย์ ฮินตัน ก็ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนของเขาว่า เอไอที่ไม่มีการควบคุม จะทำให้ "มนุษย์กลายเป็นวัตถุโบราณ" และตกเป็นทาสของเทคโนโลยีได้

โดยภาพรวม ผลจากการมอบรางวัลโนเบลปี พ.ศ. 2567 สำหรับผลงานเกี่ยวกับเอไอ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นแก่เอไอเพิ่มขึ้นมาอีก แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดเป็นโจทย์ใหญ่ขึ้นมาว่า แล้วมนุษย์กับเอไอ จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร?

เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton)
เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton)

...

(7) วัวดัดแปลงพันธุกรรมให้น้ำนมมีอินซูลินมนุษย์

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์วิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (University of Illinois College of Agricultural, Consumer and Environmental Sciences) สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์รายงานในวารสาร Biotechnology Journal ความสำเร็จสร้างวัวดัดแปลงพันธุกรรมตัวแรกของโลกให้น้ำนมมีอินซูลินมนุษย์อยู่ในน้ำนม เป็นความก้าวหน้าสำคัญอาจนำไปสู่ยุคใหม่ของการผลิตอินซูลิน ที่แก้ไขปัญหาการขาดแคลนอินซูลิน และค่าใช้จ่ายที่สูงของผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน

คณะนักวิจัยใช้วิธีการนำส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอมนุษย์ที่ทำหน้าที่ผลิตโปรอินซูลิน (proinsulin) ที่เป็นโปรตีนชนิดก่อนจะเป็นอินซูลินที่ต้องการ ใส่เข้าไปในนิวเคลียสของตัวอ่อนวัว 10 ตัว แล้วตัดต่อใส่เข้าไปในมดลูกของวัว

ปรากฏว่า มีลูกวัวดัดแปลงยีนตัวหนึ่งคลอดออกมา

เมื่อลูกวัวโตเต็มที่ คณะนักวิจัยพยายามให้วัวดัดแปลงยีนท้อง เพื่อให้ผลิตน้ำนมเลี้ยงลูกแต่ไม่ได้ผล

อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยใช้วิธีกระตุ้นให้วัวสาวมีน้ำนมด้วยฮอร์โมน ซึ่งก็ได้ผล ได้น้ำนมออกมาปริมาณหนึ่ง ถึงแม้จะน้อยกว่าปริมาณของน้ำนมที่จะได้จากการตั้งท้องจริง ๆ ของวัวสาว แต่ที่สำคัญ ปรากฏว่า จากน้ำนมที่ได้มา มีโปรอินซูลินและอินซูลินอยู่ด้วย

...

จากการทดลองครั้งแรก ในน้ำนมหนึ่งลิตรมีอินซูลินและโปรอินซูลินไม่กี่กรัม

แต่เนื่องจากการกลั่นเป็นน้ำนมจากเต้า ผ่านการกระตุ้นโดยฮอร์โมน และปริมาณของน้ำนมที่ได้ มีปริมาณน้อยกว่าที่คาดหวัง คณะนักวิจัยจึงไม่สามารถระบุชัดเจนว่า จะได้อินซูลินเป็นปริมาณมากน้อยเพียงใด จากน้ำนมที่จะเกิดขึ้นในสภาวะปกติ

อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัยชี้ว่า ถ้าวัวตัวหนึ่งผลิตอินซูลินได้ 1 กรัม ในน้ำนมหนึ่งลิตร สำหรับโคนมหนึ่งตัว โดยทั่วไปก็จะผลิตน้ำนมได้ 40 ถึง 50 ลิตรต่อวัน ซึ่งก็จะได้อินซูลินออกมาเป็นปริมาณมาก

โดยทั่วไปอินซูลินหนึ่งหน่วยจะเป็นมวลเท่ากับ 0.0347 มิลลิกรัม ดังนั้น อินซูลินแต่ละกรัมจะมีอินซูลินอยู่มากถึง 28,818 หน่วย และนั่นก็เป็นผลจากนมวันเพียงหนึ่งลิตร

คณะนักวิจัยกำลังเตรียมทำโคลนนิงวัวขึ้นมาใหม่ และหวังว่าจะประสบความสำเร็จกับการทำให้วัวนมตั้งท้องและผลิตน้ำนมได้เต็มที่ในรุ่นต่อไป โดยในที่สุดหวังว่าจะสร้างวัวตัวผู้ดัดแปลงยีน เพื่อผสมพันธุ์กับวัวตัวเมีย เพื่อผลิตลูกวัวดัดแปลงยีนได้มากระดับเป็นฝูง

คณะนักวิจัยมองภาพอนาคตว่า ฝูงวัว 100 ตัว จะสามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอสำหรับคนในสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ และเชื่อว่าจะสามารถผลิตอินซูลินภายในหนึ่งปีได้เพียงพอสำหรับคนทั้งโลก

...

(8) ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ได้รับการประกาศโดยยูเนสโก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 21 ถึง 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ได้ประกาศให้ "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในฐานะเป็น "ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี"

การได้รับการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ ทำให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อพ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" และ "แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน" อยู่ที่ด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก เป็นแหล่งใบเสมาหินใหญ่ที่สุดของโลก โดยใบเสมาหินในแหล่งนี้ มีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ดั้งเดิม แสดงขอบเขตพื้นที่ทางศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีแหล่งโบราณสถานสำคัญกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ เช่น หอนางอุสา (ตามตำนานนางอุสากับท้าวบารส) ประกอบด้วยเสาหินขนาดใหญ่ ด้านบนมีก้อนหินเป็นแผ่นหนาทับอยู่ และมีส่วนกั้นเป็นห้องด้วยหิน

แหล่งโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ ถ้ำพระ เป็นเพิงหินขนาดใหญ่เกิดจากการวางตัวทับซ้อนกันด้วยหิน มีการสกัดส่วนเป็นหินด้านล่างให้เป็นห้องขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ก็ยังมีกู่นางอุสา หีบศพท้าวบารส ฉางข้าวนายพราน บ่อน้ำนางอุสา และถ้ำช้าง

ประเทศไทยโดยกรมศิลปากร ได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทต่อยูเนสโก เพื่อการพิจารณารับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีพ.ศ. 2567

(9) ผลการประชุมโลกร้อนคอป 29 กับบทบาทของจีนและผลกระทบจากโดนัลด์ ทรัมป์

การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือคอป 29 (COP29) ที่เมืองกาบู ประเทศสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ยุติลงด้วยมติสำคัญ การเพิ่มเงินช่วยเหลือจากประเทศอุตสาหกรรมแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศจีนได้แสดงบทบาทที่เด่นชัดในการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมก็ตระหนักในการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับโลกร้อนของสหรัฐอเมริกา จากการเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีครั้งใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นเวลาสี่ปี

ตั้งแต่การรับมอบไม้ต่อจากคอป 28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (30 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2567) อาเซอร์ไบจานก็ถูกจับตาว่าจะทำหน้าที่เป็นประเทศเจ้าภาพจัดคอป 29 อย่างให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายของการจัดการประชุมคอปหรือไม่ เพราะอาเซอร์ไบจาน (เช่นเดียวกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ก็เป็นประเทศที่สินค้าส่งออกหลักของประเทศคือน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ซึ่งอาเซอร์ไบจานก็แสดงเจตนารมณ์จะร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเต็มที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการช่วยเหลือประเทศยากจน ที่ได้รับผลจากภาวะโลกร้อนด้วยการกำหนดให้เรื่องความช่วยเหลือด้านการเงิน เป็นประเด็นใหญ่ของการประชุมคอป 29 จนกระทั่งข้อตกลงใหญ่จากการประชุมคือมติของที่ประชุมให้ประเทศพัฒนาแล้วร่วมกันลงขันเป็นเงินอย่างน้อย 300 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ช่วยเหลือการปรับตัวของประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยกำหนดเป้าหมายความช่วยเหลืออย่างน้อย 1-3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อถึงปีพ.ศ. 2578

ความช่วยเหลือด้านการเงินใหม่นี้จะใช้แทนแผนเงินช่วยเหลือ 100 พันล้านดอลลาร์ที่จะหมดอายุในปีพ.ศ. 2568

ถึงแม้เงินช่วยเหลือผลกระทบจากโลกร้อนตามมติใหม่จะสูงกว่าที่มีอยู่เดิม แต่สำหรับประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนก็ส่งเสียงดังว่า "น้อยเกินไป!"

สำหรับประเทศจีน ถึงแม้จะยังอยู่ในฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหมายความว่าจะไม่ต้องร่วมลงขันเงินช่วยแก้ปัญหาผลกระทบจากโลกร้อน แต่ประเทศจีนก็แสดงบทบาทขอมีส่วนร่วมด้วยการร่วมลงขันเงินช่วยเหลือด้วย ซึ่งทำให้ประเทศจีนมีฐานะโดดเด่นขึ้นมากในการร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 และจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2568 ก็มีความคิดและนโยบายชัดเจนตั้งแต่การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐวาระที่หนึ่ง ระหว่างปีพ.ศ. 2560-2564 ว่าเขาไม่เชื่อเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยในระหว่างการหาเสียงครั้งล่าสุด เขากล่าวว่า "เราไม่มีปัญหาเรื่องโลกร้อน" และ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องโกหก!"

ในช่วงการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐครั้งแรก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐอเมริกาออกจาก "ข้อตกลงปารีส" (Paris Agreement) ซึ่งโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน (จนกระทั่งถึงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2568) ได้นำสหรัฐอเมริกากลับเข้าร่วมกับข้อตกลงปารีสใหม่

คาดกันว่าเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ก็คงจะดำเนินการถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีสอีก และมีนโยบายโดยรวมเกี่ยวกับพลังงานคือสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล

เหตุผลหนึ่งของการกำหนดปีพ.ศ. 2578 เป็นปีสุดท้ายของแผนเงินทุนสนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อนตามมติของคอป 29 ก็เพื่อให้พ้นวาระที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่สอง

สำหรับการประชุมคอปครั้งต่อไปคือคอป 30 ได้ถูกกำหนดแล้ว ให้เป็นระหว่างวันที่ 10-21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 ที่เมืองเบเลม (Belem) ประเทศบราซิล โดยบราซิลก็ประกาศยก "ป่าอะเมซอน" เป็นจุดขายสำหรับการเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมคอป 30

(10) การจากไปของ ปีเตอร์ ฮิกส์

วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567 ปีเตอร์ ฮิกส์ (Peter Higgs) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ผู้ให้กำเนิดความคิดทฤษฎีเรื่อง "อนุภาคฮิกส์" (Higgs particle) หรือ "อนุภาคพระเจ้า" (God particle) และได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี พ.ศ. 2556 จากผลงานเกี่ยวกับอนุภาคฮิกส์ (ร่วมกับ ฟร็องซัว อ็องแกลร์ : Francois Englert นักฟิสิกส์ชาวเบลเยียม ผู้ก็ได้เสนอความคิดทฤษฎีเรื่องอนุภาคฮิกส์ด้วย) ถึงแก่กรรมที่เมืองเอดินบะระ สก็อตแลนด์ ขณะมีอายุ 91 ปี

ปีเตอร์ ฮิกส์ เกิดวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2472 ที่เมืองนิวคาสเซิล จบปริญญาเอกฟิสิกส์ที่คิงส์คอลเลจ (King’s College) ปีพ.ศ. 2497 เริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระในปีพ.ศ. 2497 แล้วไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยอื่น จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2503 ก็กลับไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในปีพ.ศ. 2537

Peter Higgs
Peter Higgs

ปีพ.ศ. 2507 ปีเตอร์ ฮิกส์ ตีพิมพ์ในวารสาร Physical Review Letters เสนอความคิดเกี่ยวกับการมีอยู่ของอนุภาคโบซอน (boson) ซึ่งต่อมาเรียกกันเป็น "อนุภาคฮิกส์" ที่จะอธิบายและช่วยแก้ปัญหาใหญ่ แบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์อนุภาค (standard model of particle physics) เกี่ยวกับที่มาของ "มวล" ของอนุภาคต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของจักรวาล โดยมีกลไกการเกิดมวลเรียกกันต่อมาเป็น "Higgs mechanism" (กลไกฮิกส์) ผ่านสนามเรียกกันเป็น "Higgs Field" (สนามฮิกส์)

48 ปีต่อมา ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ก็มีการประกาศสำคัญที่ เซิร์น (CERN : European Organization for Nuclear Research : องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป) เจนีวา การค้นพบอนุภาคฮิกส์ โดยเครื่องเร่งอนุภาคทรงพลังที่สุดในโลก คือ เครื่อง Large Hadron Collider (เครื่องชนอนุภาคฮาดรอนขนาดใหญ่) ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการค้นพบสำคัญนี้ประมาณ 3,000 คน และงบประมาณจากหลายประเทศรวมหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Peter Higgs
Peter Higgs

จริงๆ แล้ว เซิร์น มีกำหนดจะประกาศผลงานการค้นพบอนุภาคฮิกส์ก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม ของปีพ.ศ. 2555 นั้น แต่ติดปัญหาการติดต่อกับปีเตอร์ ฮิกส์ ที่เซิร์นตั้งใจเชิญให้มาร่วมงานการประกาศที่สำคัญ (โดยปีเตอร์ ฮิกส์ เองไม่ทราบว่า เป็นการประกาศเรื่องอะไร เพราะเซิร์นบอกแต่เพียงว่า เป็นการประกาศสำคัญที่ปีเตอร์ ฮิกส์ ต้องไปอยู่ด้วย) เพราะ ปีเตอร์ ฮิกส์ เป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ชอบเป็นข่าวดัง แฟลตที่เขาอาศัยอยู่ ก็มีโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียว ตัวเขาเองก็ไม่ยอมจะมีโทรศัพท์มือถือ แถมยังไม่เล่นหรือใช้อินเทอร์เน็ตอีกด้วย

แต่ในที่สุด เซิร์นก็ติดต่อปีเตอร์ ฮิกส์ ได้ และปีเตอร์ ฮิกส์ จึงได้มาร่วมงานการประกาศที่สำคัญนั้น

Peter Higgs
Peter Higgs

หนึ่งปีต่อมา ราชบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์สวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ก็ได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี พ.ศ. 2556 แก่ปีเตอร์ ฮิกส์ และฟร็องซัว อ็องแกลร์ สำหรับการเสนอความคิดทฤษฎีนำมาสู่เรื่องและการค้นพบอนุภาคฮิกส์

แต่ในการประกาศผลรางวัลโนเบลฟิสิกส์ครั้งนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ปีเตอร์ ฮิกส์ ไม่ได้เข้าร่วมในงานการประกาศรางวัลโนเบลฟิสิกส์ เพราะฝ่ายผู้มอบรางวัล ไม่สามารถติดต่อปีเตอร์ ฮิกส์ได้ และตัว ปีเตอร์ ฮิกส์ ก็ไม่ทราบเรื่องที่เขาได้รับรางวัลโนเบลเลย จนกระทั่งเพื่อนบ้านที่ทราบข่าวพบเขาในถนนขณะกำลังกลับที่พัก และเป็นคนบอกข่าวแก่เขา

Peter Higgs
Peter Higgs