เด็กไทยเกิดน้อยติดอันดับ 3 จาก 80 ประเทศ ลดลง 81% ในรอบ 74 ปี สะท้อนปัญหาสังคมเหลื่อมล้ำสูง ความท้าทายอีกขั้นที่ต้องหาทางแก้ไข ในวันที่เมืองไทยยังมีปัญหาสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์
ตั้งแต่ปี 2567 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากร ส่งผลให้ไทยก้าวสู่ 'สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์' (Complete Aged Society) นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์ว่า จะขยับสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) หรือมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 30 ในปี 2576 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของคนไทย ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
สถิติล่าสุดของ Global Statistics ทำการดึงข้อมูลจาก United Nations Population Division (UNPD) ที่ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2493-2567 แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำอยู่ในอันดับ 3 จาก 80 ประเทศทั่วโลก ลดลงมากถึง 81% ในช่วง 74 ปีที่ผ่านมา เป็นรองเพียงเกาหลีใต้ (88%) และจีน (83%) ตัวเลขที่ต่ำจนชวนน่าตกใจนี้ ทำให้เริ่มกลายเป็นที่น่ากังวลว่า ประเทศไทยจะไปต่ออย่างไรในอนาคต?

...
เกี่ยวกับข้อกังวลนี้ 'รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์' ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า ต้องเรียนก่อนว่าในช่วงปี 1950 หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วฝั่งยุโรปหรืออเมริกา จะมีอัตราการเกิดค่อนข้างต่ำกว่าเอเชียอยู่แล้ว
"ในทางกลับกันช่วงนั้นอัตราการเกิดของเอเชียค่อนข้างสูง แต่หลังปี 1950 จนถึงปัจจุบัน เอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเกิดลดลงสูงมาก 4 ประเทศหลัก ๆ มีเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และไทย หากดูตามข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าอัตราการเกิดน้อย ไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศไทย แต่เป็นเรื่องในระดับภูมิภาค"

สาเหตุอัตราเกิดลดลง :
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า มุมของผมในฐานะนักประชากรศาสตร์ การเกิดน้อยของประชากรเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เมื่อประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งเกี่ยวข้องด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิง โอกาสทางการศึกษา โอกาสการทำงาน มุมมองและทัศนคติการดำเนินชีวิต
หากมองในแง่ของเศรษฐศาสตร์ Cost benefit analysis (การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์) ในการมีลูก 1 คนนั้นเปลี่ยนไป อดีตมี Benefit ต้องการแรงงาน และผู้หญิงอาจจะไม่ได้ออกมาทำงานนอกบ้านเยอะ ต้นทุนในการเลี้ยงดูลูกจึงไม่สูงมาก
แต่ปัจจุบันผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น โอกาสการทำงานมากขึ้น Cost ในการดูแลเด็กสักคนก็ย่อมสูงขึ้นตาม ขณะที่อาจจะมอง Benefit ไม่ชัดเหมือนแต่ก่อน เช่น อดีตเคยต้องการแรงงานในภาคเกษตร แต่ตอนนี้การมีลูก 1 คน อาจจะเป็นเหตุผลทางใจ ซึ่งบางทีถ้ามันไม่คุ้มค่ากับการเสียประโยชน์ก็ไม่จำเป็นต้องมีลูกก็ได้
"เอเชียในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมาเป็นภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมต่าง ๆ ค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น นอกจากนั้นยังเป็น Rising Economy มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นฐานการผลิตให้กับประเทศอื่น มีการเข้ามาของทุนภายนอก เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมากจึงไปกระทบกับวิถีชีวิตเดิม"

คนไทยเกิดต่ำ แต่เหลื่อมล้ำสูง :
ผอ.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า สภาพัฒน์คำนวณตัวเลขออกมาว่าการมีบุตร 1 คน ช่วงอายุ 0-21 ปี อาจจะคาบเกี่ยวกับการเรียนจบแล้วทำงานต่อได้ ต้องใช้ต้นทุนการเลี้ยงดูต่อคนอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาท แต่นั่นเป็นเพียงต้นทุนที่พอจะวัดเป็นตัวเงินได้ ต้นทุนที่วัดไม่ได้ยังมีอีกจำนวนมาก
...
"ต้นทุนบางอย่างเกี่ยวข้องกับจิตใจ หรือบางคนมีแล้วต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก ทำให้โอกาสการทำงานลดลง เหตุผลส่วนนี้ด้วยที่มีส่วนต่อการตัดสินใจของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะ Gen Y และ Z ที่กำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์"
3 ล้านกว่าบาทที่สภาพัฒน์คำนวณเป็นเพียงค่าเฉลี่ย ประเทศไทยยังมีอีกประเด็นที่สำคัญ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่เกี่ยวข้องกับคนทุกระดับทุกสถานะ นั่นก็คือ "ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมที่ค่อนข้างสูง"

รศ.ดร.เฉลิมพล อธิบายเพิ่มเติมว่า หากดูในกลุ่มคนรวยหรือระดับมีอันจะกิน ต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรหนึ่งคนสูงมาก ซึ่งต้นทุนที่ใหญ่ระดับต้น ๆ เป็นต้นทุนทางด้านการศึกษา จุดนี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำของไทยมาก ๆ แม้ว่าเราจะมีโครงการเรียนฟรี แต่คนที่มีฐานะจะส่งลูกไปเรียนที่ที่ดีที่สุด เช่น โรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ความเหลื่อมล้ำจึงอธิบายไปถึงคุณภาพการเกิดของเด็กในประเทศด้วย
"ไม่ใช่ว่าเด็กครอบครัวยากจนจะไม่มีคุณภาพ แต่โดยนัยของความพร้อมการทุ่มเทกับเด็กอาจจะน้อยกว่า หากมองต่อไป ยิ่งมีฐานะดีเด็กก็ยิ่งเกิดน้อยเพราะต้นทุนสูง ส่วนเด็กที่เกิดมาในฐานะปานกลางไปค่อนข้างต่ำ ก็มีปัญหาทั้งเกิดน้อยและคุณภาพอาจจะน้อย ซึ่งเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทั้งในระดับครัวเรือนและการศึกษา"
...
"การพูดถึงนโยบายต่าง ๆ เพื่อหวังแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ยังควรทำอยู่ แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ที่อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าไร ตราบใดที่ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ถูกแก้ไข เมืองไทยก็อาจจะเป็นแบบนี้ต่อไป"

เกิดต่ำในสังคมสูงอายุ :
ตัวเลขการเกิดที่ลดลง 81% ในรอบ 74 ปี แม้จะดูมากจนเหมือนเกินความจริง แต่ รศ.ดร.เฉลิมพล มองว่า "เป็นสิ่งที่เมกเซ้นเพราะมีตัวเลขสถิติช่วยยืนยัน" นอกจากนั้นอาจารย์ยังย้ำกับเราว่า "นี่เป็นรูปแบบปกติที่ต้องเจออยู่แล้ว" อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้สังคมไทยดูพิเศษมากขึ้น คือ "การเกิดลดลงเร็วมากและยังเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ จึงกลายเป็นความท้าทายว่าจะรับมืออย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่านประชากร"
"สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะสื่อสาร คือ การเกิดน้อยหรือมีประชากรลดลงอาจไม่ได้เป็นภัยอย่างเดียว หากมองระยะยาวอาจเป็นผลดีได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะถ้ามองเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ความท้าทายสำคัญคือช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เราจะจัดการอย่างไร เนื่องจากอาจจะไม่ได้มีนโยบายรับมือที่เตรียมตัวล่วงหน้าที่ดีพอ จึงเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน"
...
ผอ.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม กล่าวว่า การกระตุ้นจำนวนอัตราเกิดอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี หรือมีประสิทธิภาพเสมอไป สิ่งที่สำคัญกว่าคือการให้ความสำคัญกับคุณภาพของเด็กแต่ละคนที่เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่องโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม สุขภาพ และการลงทุนในมนุษย์

เตรียมรับมือปัญหา 15 ปีนับจากนี้ :
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า ต้นปี 2568 จะมีการพูดคุยเรื่องอัตราการเกิดของเด็กในปี 2567 ซึ่งเกิดต่ำกว่า 500,000 คน โดยผลกระทบยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ แต่จะเห็นชัดในอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า เพราะกำลังแรงงานจะลดลงอย่างชัดเจน และมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ถ้าเราเตรียมตัวดี ปรับตัวได้ ไม่ว่าจะเรื่องเทคโนโลยี โครงสร้างสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ เราก็ยังคงอยู่รอดต่อไปได้ ที่จริงควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ เพราะเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ 2548 แต่เริ่มทันทีตอนนี้ก็ยังพอทัน ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรแล้วปล่อยไว้เฉย ๆ"

นอกจากนั้นต้องมีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน ผมไม่ได้บอกว่าต้องนำแรงงานเหล่านั้นมาทดแทนซะทีเดียว แต่ต้องมีการจัดการที่ดีในช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งคนที่เป็น Low skill และ High skill
"เช่น กลุ่มที่มี Talent ไทยต้องมีนโยบายดึงดูดที่ชัดเจนกว่านี้ ถ้าลองดูประเทศอื่นในภูมิภาคเราที่เป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เขามีนโยบายดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นแรงงานกำลังเสริมในประเทศ ของไทยก็มีนโยบายอยู่บ้างแต่เห็นภาพไม่ชัด ควรระบุเลยว่าต้องการเท่าไร มีแผนอย่างไร จะตอบรับโครงสร้างในอนาคตอย่างไร"
**********
ภาพ : iStock