แผนเจรจา "เมียนมา" ช่วย 4 ลูกเรือประมงไทย เงื่อนไขล่าช้า ท่ามกลางข้อสงสัยทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ องค์กรช่วยเหลือแรงงานประมง วิเคราะห์ ไทยควรเร่งเปิดการเจรจาโดยตรงกับผู้นำทหารเมียนมา ชี้การเจรจาผ่านระบบปกติอาจล่าช้าไปเรื่อยๆ
เข้าสู่ช่วงเวลา 10 วัน หลังกองทัพเรือเมียนมายิงใส่เรือประมง 3 ลำ ขณะวางอวนหาปลาในทะเลอันดามัน ห่างเกาะพยาม จ.ระนอง 12 ไมล์ทะเล ช่วงกลางดึกวันที่ 30 พ.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ยึดเรือประมง ส.เจริญชัย 8 และลูกเรืออีก 31 คน กลับไปฝั่งเมียนมา โดยเป็นคนไทย 4 คน หลังเกิดเหตุรัฐบาลไทยอ้างว่าได้ประสานรัฐบาลทหารเมียนมา ให้ปล่อยตัวลูกเรือคนไทยโดยเร็ว แต่ตอนนี้มีเพียงภาพจากเมียนมา ยืนยันว่าลูกเรือ4 ราย ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เกาะสอง ซึ่งยังไม่ได้รับการปล่อยตัวกลับมายังไทย
ด้าน "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความเห็นการเจรจานำลูกเรือไทยกลับประเทศ ว่า การช่วยเหลือ 4 คนไทย ที่ถูกรัฐบาลเมียนมาควบคุมตัวจากเรือประมง ขณะนี้อยู่ในกระบวนการเจรจากัน เป็นปัญหาการประสานงานของทางการเมียนมาที่เกาะสอง ซึ่งทางเราได้ประสานงานเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างรอคอยอยู่ แต่มีปัญหาตรงที่เขาต้องจัดการตามขั้นตอน
...
ถึงอย่างไรก็ต้องรอ เพราะเป็นปัญหาของประเทศเขา ไม่ใช่เรา ที่ผ่านมาเราทำหนังสือและขอเยี่ยมคนไทยทั้ง 4 คน นำคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด ขณะนี้อยู่ในอำนาจของรัฐบาลของเมียนมาจะพิจารณา
เจรจาเมียนมา ส่ง 4 ลูกเรือประมงไทยกลับ
สำหรับเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับแรงงานประมงอย่าง "ปฏิมา ตั้งปรัชญากุล" ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) มองปัญหาการยิงเรือประมงไทยของเมียนมา ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ด้วยการเมืองเมียนมา ค่อนข้างถูกบีบ ทำให้การเจรจาส่งลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คน กลับมาค่อนข้างล่าช้า
ที่ผ่านมา ลูกเรือประมงไทยกระทำผิด เมื่อถูกจับในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน ทางกระทรวงการต่างประเทศไทยในประเทศนั้นจะเป็นผู้เจรจา ตัวอย่างเช่น ลูกเรือประมงไทยที่ถูกทางการอินโดนีเซียจับ เราจะเข้าไปช่วยในการให้คำปรึกษา เพราะถ้าถูกดำเนินคดี และถูกควบคุมตัว ต้องได้รับโทษตามระยะเวลากำหนดก่อน แล้วค่อยถูกปล่อยตัวกลับมา
"กรณี 4 ลูกเรือไทย เรายังไม่ทราบว่าทางการเมียนมา มีการแจ้งการกระทำผิด เป็นคดีความตามกฎหมายเมียนมาหรือไม่ ขณะเดียวกัน ลูกเรือชาวเมียนมาที่ไปกับเรือไทย มีการช่วยเหลือหรือไม่ เพราะตามหลัก ถ้ามีการช่วยลูกเรือประมงไทยแล้วก็ควรช่วยลูกเรือประมงสัญชาติอื่น ที่ไปกับเรือประมงไทยด้วย"
ปกติเรือไทยรุกล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านแล้วถูกจับกุม ส่วนใหญ่มีการดำเนินคดีกับไต้ก๋ง, ผู้ช่วยนายท้าย ส่วนลูกเรือที่ตามหัวหน้าเรือมา ไม่มีความผิด โดยจะมีการปล่อยตัวกลับมา
ด้วยปัญหาการเมืองเมียนมา ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีมาตรฐานการบังคับใช้แบบตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ ตอนนี้การเจรจาได้เริ่มจากการประสานจากผู้ประสานงานแนวริมชายแดน เพราะการเจรจากับเมียนมาไม่ใช่แนวทางแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งฝั่งเมียนมายังใช้กฎแบบทหาร
อีกแนวทางในการเจรจา ถ้าเป็นไปได้ควรให้คนไทยที่มีความใกล้ชิดกับผู้นำทหารเมียนมา ช่วยเจรจาเพื่อช่วยเหลือ 4 ลูกเรือประมงไทยส่งกลับมา ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้นำลูกเรือคนไทยกลับมาได้เร็วที่สุด
การป้องกันปัญหาในอนาคต รัฐไทยต้องสร้างความตระหนักให้กับชาวประมง เพราะการทำประมงที่รุกล้ำน่านน้ำเพื่อนบ้าน อาจไม่ได้อะลุ่มอะหล่วยเหมือนแต่ก่อนได้แล้ว ไทยต้องปฏิบัติตามกรอบสัญญาของไมล์ทะเล ว่าเขตพื้นที่ไหนเราสามารถหาปลาได้หรือไม่ได้