พานั่งรถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตี ไปพบกับเรื่องเล่าจากความทรงจำของ "ชัยวัฒน์ คุประตกุล" ในวันที่ชีวิตรู้สึกว่า "ยิ่งเรียนมากขึ้น ก็ยิ่งมองเห็นสิ่งที่ไม่รู้มากขึ้น" จนนำไปสู่ความคิด "วิทยาศาสตร์ ยิ่งเรียน ยิ่งโง่!"
************
จริงหรือ? วิทยาศาสตร์ ยิ่งเรียน ยิ่งโง่!
ถ้าจริง แล้วจะเรียนวิทยาศาสตร์ไปทำไม? รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณให้กับการศึกษา, การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ไปทำไม?
คำตอบของผู้เขียน คือ จริง! แต่...จริง...อย่างมิใช่แบบหรือดังที่เราคิดหรือเห็นกัน!
"เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์" วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปวิเคราะห์ศึกษาเรื่องนี้ ในมุมมองและประสบการณ์ของผู้เขียนเอง โดยไปเริ่มต้นกับรถไฟขบวนพิเศษที่ผู้เขียนขอเรียกเป็น "รถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตี"
************
...
รถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตี : การเริ่มต้น
ทำไมจึงเป็น "รถไฟ" ?
ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นคนชอบรถไฟ
เมื่อช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวผู้เขียนย้ายจากตัวเมืองโคราช (เพราะโคราชเป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย) ไปอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอพิมาย บ้านอยู่ไม่ไกลจากทางรถไฟนัก
ทุกวันเมื่อได้ยินเสียงหวูดรถไฟ ผู้เขียนก็จะวิ่งไปที่ไร่อ้อยใกล้ทางรถไฟ ฟังเสียงและดูขบวนม้าเหล็กอย่างตื่นเต้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ครอบครัวของผู้เขียนก็ย้ายกลับไปอยู่ในเมืองโคราชตามเดิม
เรื่องราวรถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตีก่อตัวอย่างค่อนข้างเร็ว ที่เกิดกับผู้เขียนตั้งแต่เมื่อได้เข้าศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างลงลึกจริง ๆ ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2504 ได้เรียนวิทยาศาสตร์กับปรมาจารย์วิทยาศาสตร์ของประเทศ
*ได้เรียนฟิสิกส์กับศาสตราจารย์ เพ็ง โสมนะพันธุ์
*ได้เรียนเคมีกับศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ และศาสตราจารย์ ทองสุข พงศทัต
*ได้เรียนชีววิทยากับศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล
*ได้เรียนคณิตศาสตร์กับศาสตราจารย์ เสนาะ ตันบุญยืน
*ได้เห็นศาสตราจารย์ เพ็ง ในชุดสูท นั่งบนเก้าอี้หมุนบนโต๊ะหน้าห้องบรรยาย มือสองข้างถือดัมบ์เบล สาธิตเรื่องการอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุม ด้วยการกางแขนออกสลับกับการหุบแขนเข้า เหมือนนักแสดงบัลเลต์ที่ใช้หลักเดียวกันนี้ในการหมุนตัวเร็วขึ้นและช้าลง
*ได้ฟังศาสตราจารย์ ดร. แถบ ที่หันหลังให้กับนิสิต หันหน้าเข้าหากระดานดำหน้าห้อง เขียนสูตรเคมีและบรรยายความรู้ทางเคมีอย่างเกินร้อยเกือบตลอดชั่วโมง
*ได้ฟังศาสตราจารย์ ทองสุข ขู่เมื่อใกล้ถึงวันสอบว่า พวกเธอเหมือนหมูตาบอด อาจารย์จะเลือก (แทง) ออกข้อสอบยังไงก็ได้
*ได้ฟังศาสตราจารย์ คลุ้ม อธิบายอย่างลงลึก รายละเอียดการไหลเวียนของเลือดดำเข้าสู่หัวใจเพื่อส่งไปฟอกที่ปอด และรับเลือดแดงจากปอด สูบฉีดไปให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมอง
*ได้ฟังศาสตราจารย์ เสนาะ อธิบายเรื่องยาก ๆ ของคณิตศาสตร์ กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ และน่าตื่นเต้นของตัวเลข บางครั้งก็ได้ฟังเรื่องผีเป็นของแถม แล้วก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์เขย่าขวัญการทดลองเคมี
...
************
เหตุจาก "น้ำ" กับ "น้ำกรด" ในห้องทดลองเคมี
วันหนึ่งในห้องทดลองเคมี!
แล้วจู่ ๆ ผู้เขียนก็ต้องตกใจ เมื่อน้ำผสมน้ำกรดในหลอดแก้วทดลองของเพื่อนนิสิตที่กำลังทดลองเคมีอยู่ทางขวามือของผู้เขียน พุ่งใส่ผู้เขียน
ผู้เขียนในชุดเสื้อแขนยาวสีขาว (เครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ ปีที่หนึ่งในสมัยนั้น) ตกใจ ยกมือขวาขึ้นป้องหน้า
ผลคือ แขนเสื้อของผู้เขียนไหม้ น้ำกรดกัดทะลุลงไปถึงแขนจากข้อศอก เกือบถึงปลายแขนเสื้อ
แน่นอน...ผู้เขียนร้องดังลั่น รู้สึกปวดแสบปวดร้อนทั้งแขน!
ทุกคนในห้องทดลองหยุดการทดลอง หันมาทางผู้เขียน
อาจารย์ผู้กำลังควบคุมการทดลองก็ตกใจ รีบวิ่งมาหาผู้เขียน แล้วก็เทน้ำใส่แขนผู้เขียนเป็นปฐมพยาบาลขั้นต้น โดยมีเพื่อนนิสิตในห้องช่วยกันส่งน้ำจากก๊อกน้ำในเหยือกในโถหรือขันให้อาจารย์ ก่อนที่อาจารย์จะพาผู้เขียนไปห้องปฐมพยาบาล
ผู้เขียนยังจำหน้าของอาจารย์ได้ เสียดายที่จำชื่อไม่ได้ แต่จำเสียงของอาจารย์ (ชาย) ที่พูดปลอบใจผู้เขียนตลอดเวลาว่า "ไม่เป็นไร! ไม่เป็นไร!"
...
ส่วนเพื่อนนิสิตคนต้นเหตุก็หน้าซีด พูดคำว่า "ขอโทษ! ขอโทษ!..." และก็อยู่กับผู้เขียนตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดเหตุและในห้องปฐมพยาบาล
ผู้เขียนยังจำหน้าเพื่อนได้ถึงทุกวันนี้ แต่จำชื่อไม่ได้แล้ว ทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในขณะที่กำลังเขียนเล่าเรื่องนี้สู่ท่านผู้อ่าน ก็เหมือนกับเห็นเพื่อนกำลังนั่งหน้าซีดด้วยความเสียใจอยู่กับผู้เขียนด้วย
************
จากอุบัติเหตุในห้องทดลองเคมี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้อย่างฝังใจ คือ "การปฏิบัติเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด!"
ก่อนเกิดเหตุในห้องทดลองเคมี ผู้เขียนยังต้องพยายามจำหลักปฏิบัติในการทดลองทางเคมีเกี่ยวกับการผสมน้ำกับน้ำกรด ว่าจะต้องเทน้ำใส่กรด หรือเทกรดใส่น้ำ?
แต่หลังจากเหตุในวันนั้น ถึงทุกวันนี้ผู้เขียนก็จำได้อย่างฝังใจว่า จะต้องเทกรดใส่น้ำ!
ห้ามเทน้ำใส่กรด!
แถมยังจำฝังใจอีกด้วยว่า ต้องเทกรดใส่น้ำอย่างช้า ๆ ด้วย!
...
************
จากเหตุในห้องทดลองเคมีสู่ขบวนรถไฟวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตี
แล้วอุบัติเหตุในห้องทดลองเคมีครั้งนั้นไปเกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของเราวันนี้ คือ "วิทยาศาสตร์ ยิ่งเรียน ยิ่งโง่!" อย่างไร?
นอกเหนือไปจากหลักคิดสำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คือ "การปฏิบัติเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด!" และ "แผลเป็นที่แขนจากน้ำกรด" ที่ยังเหลือรอยอยู่ถึงทุกวันนี้แล้ว อุบัติเหตุในห้องทดลองเคมีนั้นก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของผู้เขียน ที่เป็นครั้งแรก...จากโคราชเมืองแม่ย่าโม...ได้เดินเข้ารั้วจามจุรี
จำได้กับความรู้สึกหน้าฝน เดินไปบนถนนเปียกแฉะหลังฝนตกในมหาวิทยาลัย เต็มไปด้วยดอกจามจุรีสีชมพู แล้วก็ความรู้สึกที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น ตั้งแต่ในช่วงเทอมแรกของการเป็นนิสิตวิทยาศาสตร์ปีที่หนึ่ง ได้เรียนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ เป็นความรู้สึกที่ตื่นเต้น...แปลก...ประหลาดใจกับการเรียนวิทยาศาสตร์
เป็นความรู้สึกที่กระชากความรู้สึกของผู้เขียนจากที่เคยคิดว่า เรียนรู้วิทยาศาสตร์จบหมดแล้ว เมื่อเรียนจบ ม.8 ในยุคสมัยของผู้เขียน (ปัจจุบันคือ ม.ศ.5) รู้วิทยาศาสตร์หมดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในระหว่างเรียนอยู่ชั้นมัธยมที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ผู้เขียนจะสนุกกับการเรียนมาก ในช่วงปิดเทอมระหว่างปีการศึกษา ผู้เขียนจะหาหนังสือเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ของปีต่อไปมาอ่านก่อน
สำหรับฟิสิกส์ ผู้เขียนจะอ่านหนังสือเรียนจบก่อนเปิดเทอม และทำโจทย์แบบฝึกหัดท้ายบทเกือบหมดเล่ม แต่สำหรับคณิตศาสตร์ ก่อนเปิดเทอม ผู้เขียนก็ทำโจทย์คณิตศาสตร์จนหมดทุกข้อทั้งเล่ม เมื่อเปิดเทอม ก็จึงเรียนฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ได้อย่างสบาย ๆ
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม ผู้เขียนก็รู้สึกมั่นใจว่า รู้วิทยาศาสตร์อย่างดีแล้ว และเดินเข้ารั้วจามจุรีอย่างมั่นใจว่า รู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'ฟิสิกส์' อย่างดีแล้ว
แต่...อย่างค่อนข้างเร็ว เพียงในเทอมแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนก็รู้สึกเหมือนเพิ่งตื่น จากที่เคยคิดว่า รู้ฟิสิกส์พื้นฐานหมดแล้ว กลับเริ่มรู้สึกว่า ยังรู้ฟิสิกส์น้อยมาก และยิ่งเรียนฟิสิกส์ลึกมากขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกตัวว่า ที่รู้มาก่อนแล้วนั้น แสนจะน้อยนิดจริง ๆ ที่ยังไม่รู้แสนจะมากมายมหาศาล
แล้วผู้เขียนก็รู้สึก 'ตัวเล็กลง' อย่างทันที และนั่นก็คือความรู้สึกที่เกิดกับผู้เขียนว่า "วิทยาศาสตร์เป็นเช่นนี้ ยิ่งเรียน ยิ่งโง่!" เพราะยิ่งเรียนมากขึ้น ก็ยิ่งมองเห็นสิ่งที่ไม่รู้มากขึ้น
************
ความรู้สึกที่ถูกตอกย้ำอย่างแรง เมื่อผู้เขียนเรียนจบปริญญาตรีฟิสิกส์ แล้วก็เรียนต่อจนกระทั่งจบปริญญาเอกฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยโมนาช เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
เพราะเมื่อจะเริ่มทำวิจัยสำหรับปริญญาโทและเอก (แต่สุดท้ายก็ได้เพียงปริญญาเอก)
ผู้เขียนก็ต้องเผชิญกับการตัดสินใจว่า จะใช้วิธีไหนในการเจาะศึกษาโจทย์ที่ตั้งใจจะทำ เพราะถ้าเลือกผิด หรือไม่ดีผลการวิจัยก็จะ 'ล้มเหลว' หรือ 'ไม่ดีพอ' สำหรับปริญญา
ในระหว่างที่กำลังตัดสินใจ ผู้เขียนยอมรับว่ารู้สึกตนเองยังโง่อย่างมาก แถมยังโง่มากขึ้นเสียอีก จากการเรียนจนกระทั่งจบปริญญาตรีฟิสิกส์ เพราะสิ่งที่กางอยู่ตรงหน้า คือ ฟิสิกส์แปลก ๆ หรือไม่ชัดเจน หรือไม่น่าเชื่อ
************
คนโง่ไม่ธรรมดาบนรถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตี
รถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตี มีอะไรเป็นพิเศษ?
ความพิเศษคือผู้โดยสารทุกคนล้วนเป็น 'คนโง่'
แถมยิ่งเดินทาง ความโง่ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น!
แต่เป็นความโง่ที่มิใช่อย่างที่คิดหรือเข้าใจกัน!
อย่างไรหรือ?
อย่างหนึ่งที่ชัดเจน คนโง่โดยทั่วไปไม่ยอมรับว่าตนโง่ หรือไม่รู้ตัวว่าเป็นคนโง่...
ในขณะที่คนร่วมเดินทางไปกับรถไฟขบวนพิเศษของเรา ทุกคนล้วนยอมรับว่าตนเองโง่ และก็รู้ตัวว่าตนเป็นคนโง่
แต่เป็นความโง่ในความหมายของ 'ระดับความรู้' ที่ยอมรับว่ายังรู้น้อย เพราะตระหนักว่าบนเส้นทางรถไฟข้างหน้ายังมีสิ่งที่ยังไม่รู้...มีความรู้ใหม่...ที่รอให้ค้นพบอีกมาก!
แล้วอย่างไร?
อย่างตรง ๆ ความวิเศษของการได้รับความรู้ใหม่ ได้พบได้เรียนรู้ ได้สัมผัสสิ่งใหม่
*จากผู้รู้
*จากหนังสือ
*จากวิทยุและโทรทัศน์
*จากสื่อดิจิทัล
*จากภาพยนตร์ (ชวนพิศวงหรือน้ำตาซึม)
แล้วก็ความรู้สึกวิเศษที่เกิดขึ้นเสมือนกับ สมองได้รับการอัดฉีดออกซิเจนอย่างแรง และหัวใจที่พองโต
ที่สำคัญ สำหรับความรู้สึกวิเศษเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว...เพราะมีอยู่...และสามารถเกิดขึ้นหลายครั้ง...อย่างไม่มีสิ้นสุด สำหรับรถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตี
จริงหรือ?
คำตอบตรงๆ คือ จริงอย่างแน่นอน
เพราะความรู้วิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทุกวันนี้ยังมิใช่ที่สุดของความรู้จริง
ถ้าถามว่า ที่สุดของความรู้จริงมีจริงหรือ?
วงการวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ไม่ทราบว่าคืออะไร? อยู่ที่ไหน?
ตัวอย่างเช่น หน่วยหรือองค์ประกอบเล็กที่สุดของสสาร เราเคยเชื่อกันว่า คือ อะตอม (ที่มาของชื่อ-คำอะตอม มาจากคำภาษากรีก atomos แปลว่า ซึ่งแบ่งแยกไม่ได้อีกแล้ว) ต่อมาก็พบว่า อะตอมประกอบด้วยหน่วยเล็กลงไปอีก คือ โปรตอน, นิวตรอน และอิเล็กตรอน ต่อมาอีกถึงปัจจุบันก็พบว่า อนุภาคโปรตอนและนิวตรอนยังประกอบด้วยหน่วยเล็กลงไปอีก คือ ควาร์ก (quark)
โดยที่ถึงปัจจุบัน ควาร์กเป็นอนุภาคเล็กที่สุด แต่เมื่อถามต่อว่า ยังจะมีอะไรที่เล็กกว่าควาร์กอีกหรือไม่ ก็เชื่อกันว่ามี แต่ไม่ทราบว่าคืออะไร และจะพบเมื่อไร?
ดังนั้น รถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตีก็ต้องมีสถานีปลายทาง คือ 'สถานีอินฟินิตี' แต่ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน? จะถึงเมื่อไร?
************
"การลงทุน" และ "ผู้โดยสาร" ที่รถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตีต้องการ!
รถไฟที่มีพลังขับเคลื่อนสูง และมีผู้โดยสารที่มีศักยภาพสูง ก็จะเดินทางได้เร็ว ถึง "เป้าหมายระหว่างทาง" ได้มาก และเกิดคุณค่าหรือผลประโยชน์จากผู้โดยสารที่สูงต่อส่วนรวม คือ ประเทศ เจ้าของรถไฟขบวนพิเศษ
สำหรับเรื่อง "พลังขับเคลื่อน" ความหมายและตัวอย่างตรงๆ ในโลกอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ประเทศที่มีการลงทุน คือ งบประมาณสนับสนุน การศึกษา และการวิจัยกับพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่สูง ก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศที่สูงด้วย
ตัวอย่างข้อมูลล่าสุด (จากเว็บไซต์ Investopedia, 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2024) ประเทศที่ทุ่มเทงบประมาณให้กับการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยคิดเป็นมูลค่าตัวเงิน (ดอลลาร์) มากที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนา โดยคิดเป็นสัดส่วนกับผลิตภัณฑ์มวลรวม จีดีพี (GDP : gross domestic product) มากที่สุดในโลก คือ อิสราเอล ตามมาด้วย เกาหลีใต้
และอย่างที่ปรากฏชัด สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และเกาหลีใต้ ก็ประสบความสำเร็จในการเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างสูงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยมีข้อมูลน่าสนใจว่า ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยคิดเป็นมูลค่า (ดอลลาร์) สำหรับการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และก็เป็นที่ปรากฏเด่นชัดว่าประเทศจีนกำลังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลายด้าน รวมทั้งด้านอวกาศที่ประเทศจีนกำลังประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในการสำรวจระบบสุริยะ และการบุกเบิกดวงจันทร์
สำหรับประเทศไทยของเรา ทุกรัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีการเพิ่มงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาเป็นลำดับ แต่ก็ยังเป็นสัดส่วน (เช่น กับผลิตภัณฑ์มวลรวม) ที่น้อยกว่าอีกหลายประเทศอยู่มาก
************
"ผู้โดยสาร" ล่ะ?
"ผู้โดยสาร" หรือ "ผู้ร่วมเดินทาง" ที่รถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตีต้องการ อย่างแน่นอน ถ้าเป็นผู้โดยสารที่ "ฉลาด" อยู่แล้ว และต้องการใช้ความฉลาดให้เป็นประโยชน์ต่อ "ส่วนรวม" จริง ๆ ก็จะยิ่งทำให้ขบวนรถไฟพิเศษนี้ ไปถึงเป้าหมายระหว่าง คือ การค้นพบความรู้ใหม่ ความก้าวหน้าใหม่ ได้มากและเร็วขึ้น
แต่สำหรับคนทั่วไป ที่ไม่ถึงกับมีแววฉลาดอย่างเด่นชัด หรือผู้ที่คิดว่า ตนเองเป็นคนโง่ล่ะ?
ผู้เขียนขอตอบอย่างมั่นใจว่า "ก็เป็นที่ต้องการ!"
เพราะคุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้ที่จะเป็น "ผู้โดยสารชั้นยอด" ของรถไฟขบวนพิเศษนี้ คือ การเป็นคนใฝ่รู้ และ การเป็นคนไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและความล้มเหลว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล้มเหลว!
เพราะความล้มเหลวของความพยายามอย่างหนึ่ง อาจเปิดประตูสู่ความก้าวหน้าใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเก่าได้เสมอ
ที่สำคัญ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก ดังเช่น ไอน์สไตน์ และ ไอแซก นิวตัน ก็ไม่เคย “อวดอ้าง” ว่า ตนเป็นคนเก่ง คนฉลาด
ไอน์สไตน์ ยอมรับว่า ตนเองไม่เก่งเลข แต่ก็ยอมช่วยเด็กข้างบ้านทำการบ้านคณิตศาสตร์ ครั้นคุณแม่ของเด็กทราบ ก็ห้ามลูกไม่ให้รบกวนนักวิทยาศาสตร์คนดังของโลก ทว่า ไอน์สไตน์ก็กล่าวว่า ที่คุณแม่ห้ามลูกก็เพราะตนสอนเลขผิดบ่อย ๆ ต่างหาก
ไอแซก นิวตัน ก็มีคำกล่าวอย่างถ่อมตนว่า "ถ้าข้าพเจ้าเห็นได้ไกลขึ้น ก็เป็นเพราะได้อาศัยยืนบนบ่าของยักษ์ใหญ่"
************
ความสุขของคนยังโง่!
ช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2513-2525 ที่ผู้เขียนทำงานประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เขียนก็เหมือนกับ "เดินสาย" บรรยายพิเศษเกี่ยวกับความก้าวหน้าใหม่ๆ ของวิทยาศาสตร์ ให้กับนักเรียนนักศึกษาในโรงเรียน, วิทยาลัยครู (ในยุคสมัยนั้น) และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลางและภาคตะวันออก
ซึ่งมีบางครั้ง และก็เป็นที่ตื่นเต้นของผู้เขียนเองด้วย ที่ฝ่ายผู้จัดการบรรยาย เปิด "โรงภาพยนตร์" ให้ผู้เขียนบรรยาย เช่น ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น
แล้วในการบรรยายวันหนึ่ง คิดว่าเป็นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี มีชื่อเป็นโรงเรียนเก่ง...เด่น...ดัง ทางด้านวิทยาศาสตร์
หลังจากที่ผู้เขียนบรรยายเกือบจบ ก็มีนักเรียนชายคนหนึ่งนั่งฟังอยู่ใกล้ท้ายห้อง ก็ลุกขึ้นกึ่งถามกึ่งแสดงความคิดเห็น ที่ผู้เขียนจำได้ฝังใจว่า :-
"ตอนแรก ผมก็อยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ฟังจากอาจารย์ว่า การเรียนวิทยาศาสตร์เหมือนกับการเดินทางไปกับรถไฟสายที่ไม่รู้ว่า ปลายทางอยู่ที่ไหน แถมยิ่งเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น กลับยิ่งโง่ลงเสียอีก ผมก็เลยชักไม่แน่ใจแล้วละครับ?"
จำได้ว่า ผู้เขียนก็ตอบยาวทีเดียว และสาระใหญ่ก็เป็นดังที่เล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้
และจำบทสรุปสุดท้ายบอกแก่นักเรียนผู้ถามและทุกคนในห้องบรรยายว่า :-
วิทยาศาสตร์ ยิ่งเรียน ยิ่งโง่ ก็จริง แต่มิใช่เป็นคนโง่แบบ "ปัญญาอ่อน" หากเป็นคน (ยัง) โง่ ที่จะได้มีโอกาสได้มี "ความสุขของคน (ยัง) โง่!" กับการได้พบความรู้ใหม่หลายครั้ง ตลอดชั่วชีวิตบนรถไฟขบวนวิทยาศาสตร์สายอินฟินิตี
************
เวลาผ่านไปแล้วกว่า 40 ปี จากวันที่ผู้เขียนตอบคำถามนักเรียนในการบรรยายพิเศษนั้น
ผู้เขียนไม่ทราบว่า หลังจากวันนั้น เขายังอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่อีกหรือไม่?
ผู้เขียนหวังว่า เขาจะยังอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ และได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดังความตั้งใจก่อนฟังการบรรยาย
เพราะเขามี "แวว" จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีได้ จากการกล้าคิด กล้าถาม
บางที วันหนึ่ง "เรา" อาจจะได้พบกัน และถ้ายังจำผู้เขียนได้ ก็ทักทายบอกกล่าวกันด้วย ก็จะวิเศษอย่างที่สุด
และก็จะเป็นการทดสอบความจำของผู้เขียนที่ฝังจำว่า เป็นโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดชลบุรีนั้น ถูกหรือไม่ด้วย!
ส่วนประเด็นหลักและมุมมองวันนี้ "วิทยาศาสตร์ ยิ่งเรียน ยิ่งโง่!" ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ?
************