น้ำท่วมภาคใต้ เปิดต้นเหตุ 4 แม่น้ำสายหลักทะลัก 3 จังหวัดชายแดนอ่วม อุปสรรคถนนขวางทางน้ำ "เอลนีโญ" หอบฝนข้ามแดนถล่มหนักในรอบหลาย 10 ปี คาดมวลน้ำลดลงทุกพื้นที่อีก 1 สัปดาห์
ฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ตอนนี้มวลน้ำเริ่มเข้าถล่มหนัก
โดยวันนี้ (28พ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เริ่มได้รับผลกระทบหนักจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง โดยเฉพาะบริเวณซอยประชาสันติเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ระดับน้ำได้เอ่อล้นคลองชลประทานทางศูนย์ราชการ เข้าท่วมบ้านเรือนเสียหายทุกหลัง ระดับน้ำบางจุดเกือบ 100 เซนติเมตร
ส่วนแม่น้ำยะกัง น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านริมแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำบางนราเข้าท่วมชุมชนจือปอ เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ซึ่งชุมชนทยอยขนย้ายผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ไปอยู่ที่ปลอดภัย
...
ภาคใต้สาเหตุน้ำท่วมหนัก
สาเหตุที่น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้หนักสุดรอบหลาย 10 ปี ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) วิเคราะห์ต้นเหตุว่า มาจากกลุ่มฝนขนาดใหญ่ ที่เป็นกลุ่มหย่อมความกดอากาศต่ำ เคลื่อนตัวจากมาเลเซีย มายังพื้นที่ภาคใต้ของไทย และมีหย่อมความกดอากาศเคลื่อนตัวเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 26 – 27 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนตัวแบบแช่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
สถิติปริมาณฝนตกพื้นที่ภาคใต้ 7 วันที่ผ่านมา มีปริมาณฝน 1,138 มิลลิเมตร ตกหนักในพื้นที่ จ.นราธิวาส ตอนบนของลุ่มน้ำ ทำให้น้ำหลากลงมาจากแม่น้ำทั้ง 4 สาย คือ ปัตตานี,สายบุรี,โกลก,ตันหยงมัส
ถ้าประเมินปริมาณฝนตกใน 1 วัน พบว่า ฝนที่ตกใน จ.นราธิวาส สูงถึง 400 มิลลิเมตร ในวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะฝนตกที่ จ.ปัตตานี 380มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีมวลน้ำหลากเข้าไปยังพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ประกอบกับบางพื้นที่สูงชัน ทำให้มีน้ำท่วมรวดเร็ว โดยคาดว่า ระดับน้ำที่ท่วมสูงในพื้นที่ภาคใต้ จะเริ่มไหลลงทะเลหมดในช่วงวันที่ 10 ธ.ค.นี้
เส้นทางน้ำท่วมหนักพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
หากประเมินมวลน้ำในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากมีฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 26 – 27 พ.ย.ที่ผ่านมา และมีฝนตกซ้ำบางพื้นที่หลังจากนี้ ทำให้มีมวลน้ำในปริมาณมาก โดยจะใช้เวลาเคลื่อนตัว 2 – 3 วัน ก่อนไหลลงสู่ทะเลในบางพื้นที่
ถ้าประเมินเส้นทางไหลผ่านของน้ำ วันนี้ (28 พ.ย.67) มวลน้ำเริ่มไหลหลากเข้าสู่ชุมชนพื้นที่ สงขลา นครศรีธรรมราช ซึ่งหลายพื้นที่มีระบบบริหารจัดการน้ำดี แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนี้มวลน้ำเดินทางไปถึงตัวเมือง และชุมชนริมแม่น้ำทั้ง 4 สายหลัก โดยตอนนี้ต้องเตรียมรับมือ อพยพประชาชนออกจากที่เสี่ยง รวมถึงบริหารจัดการน้ำหลากที่มีมากกว่าทุกปี
แนวทางในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยความที่น้ำหลากมีการไหลผ่านรวดเร็ว และพื้นที่น้ำไหลผ่านบางพื้นที่มีถนนขวาง ทำให้หน่วยงานในพื้นที่ต้องพิจารณา เพื่อเจาะพื้นที่ถนนที่ขวาง ให้น้ำไหลผ่านได้รวดเร็วขึ้น
“ตอนนี้นำ้ที่ท่วมหนักอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขณะที่นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา น้ำกำลังเคลื่อนผ่านตัวเมือง แต่ปริมาณน้ำไม่หนักเท่ากับ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตอนนี้มีการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ยะลา สุราษฎร์ธานี"
...
ภาคใต้ คาดน้ำท่วมคลี่คลายต้นเดือนหน้า
จากปริมาณน้ำท่วมหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ "ฐนโรจน์" ประเมินว่า น้ำจะลดลงทุกพื้นที่ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ภาคใต้น้ำท่วมหนักกว่าทุกปี มาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ปีนี้ปริมาณน้ำทะเลที่เป็นน้ำอุ่น จะมากองรวมกับบริเวณทวีปเอเชีย
ปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้น้ำทะเลระเหย กลายเป็นมวลเมฆ ที่มีปริมาณไอน้ำจำนวนมาก เมื่อนำฝนไปตกยังพื้นที่ไหน ก็จะมีปริมาณฝนตกหนักเป็นพื้นที่กว้าง
ด้วยปริมาณฝนที่ตกหนัก จึงอยากเตือนประชาชน ไม่ให้ประมาท และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ไม่ควรมั่นใจกับสถิติปริมาณน้ำที่ท่วมไม่ถึงหลายครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะในตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำท่วมฉับพลันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้.