"9 ตัว" คือจำนวนพะยูนที่ตายในเดือนตุลาคม 2567 ทุบสถิติใหม่! ตายมากสุดในรอบหนึ่งเดือน 3 ใน 9 พบสาเหตุป่วยตายจากการขาดอาหาร สะท้อนวิกฤติหญ้าทะเล แหล่งพลังงานหลักเสื่อมโทรมขึ้นทุกวัน!
สถานะ 'พะยูน' ของประเทศไทย เรียกได้ว่าเสี่ยงสูญพันธุ์ขึ้นทุกวันครับ แม้ว่าตามกฎหมายของบ้านเมืองเรา จะจัดให้พะยูนเป็น 1 ใน 20 สัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 แต่สิ่งที่เกิดกับเจ้าหมูน้ำเหล่านี้ เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติจนน่าใจหาย
พะยูนแพร่กระจายในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของประเทศ ซึ่ง จ.ตรัง ถือเป็นแหล่งประชากรพะยูนที่ใหญ่ที่สุดของไทย ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปีงบประมาณ 2565 พบว่า ประเทศไทยมีพะยูนประมาณ 273 ตัว โดยพบทางฝั่งอ่าวไทยประมาณ 31 ตัว และฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 242 ตัว ส่วนปี 2566 พบประมาณ 282 ตัว แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยประมาณ 32 ตัว และฝั่งอันดามันประมาณ 250 ตัว
มาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่า "น่ากังวลตรงไหน?" เพราะถ้าเทียบจากตัวเลขจำนวนประชากรพะยูนก็ดูเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขเฉลี่ยของจำนวนการตาย มากกว่าจำนวนการเกิดด้วยซ้ำ
แต่ข้อมูลเพิ่มเติมสิ้นสุด ณ วันที่ 23 ตุลาคม 2567 พบว่า ช่วงปี 2548-2567 มีพะยูนเกยตื้นทั้งหมด 331 ตัว โดยแบ่งสถิติออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ภาวะปกติ และ ภาวะโลกเดือด
ช่วงภาวะปกติ คือระหว่างปี 2548-2561 การตายของพะยูนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างช้าๆ เฉลี่ย 13 ตัวต่อปี แต่เมื่อโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะโลกเดือดช่วงปี 2562-2567 ทำให้สภาพแวดล้อมแปรปรวนอย่างหนัก หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักลดจำนวนลง ส่งผลให้พะยูนตายเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 25 ตัวต่อปี
...
อย่างเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พะยูนไทยก็สาหัสไปไม่ใช่น้อย เพราะแค่เดือนเดียวตายมากถึง 9 ตัว ตัวแรกพบซากเมื่อวัน 7 บริเวณหาดทับแขก จ.กระบี่ ส่วนตัวสุดท้ายของเดือน พบซากเมื่อวันที่ 26 บริเวณหาดกะรน จ.ภูเก็ต โดย 3 ใน 9 ตัวนั้นมีสาเหตุการตาย คือ 'การป่วยเนื่องจากขาดสารอาหาร' ซึ่งก็คือหญ้าทะเล ที่เป็นอาหารหลักของพะยูน
หญ้าทะเลเสื่อมโทรม :
หญ้าทะเลไม่ได้มีความสำคัญแค่เป็นอาหารของพะยูนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รวมไปถึงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นยอดของโลก แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นำมาซึ่ง 'ภาวะโลกเดือด' ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่ผืนฟ้าจนถึงผืนน้ำ 'หญ้าทะเล' จึงหนีไม่พ้นผลกระทบนี้เช่นกัน!เมื่อโลกร้อนขึ้น ประจวบเหมาะกับการขึ้นลงของน้ำทะเล ที่ลงต่ำมากกว่าปกติ กว่าจะกลับขึ้นมาก็ใช้เวลานานกว่าเดิม หญ้าทะเลจึงโดนแดดเป็นเวลานาน ทำให้ตายมากขึ้น โดยเฉพาะหญ้าที่มีใบยาวและอยู่บริเวณน้ำตื้น
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวกับเราว่า 2 ปีที่ผ่านมาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการตายของพะยูน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.กระบี่ ไปจนถึง จ.ตรัง ซึ่งพะยูนที่ตายนั้นมีลักษณะของการขาดอาหาร
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยข้อมูลสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลในไทย ประจำปีงบประมาณ 2567 พบว่า มีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งหมด 97,784 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย 35% และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 65%
พื้นที่จำนวนเก้าหมื่นกว่าไร่อ่านแล้วดูเหมือนจะเยอะ...แต่ถ้าเราย้อนดูสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลปี 2565 ขณะนั้นไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลประมาณ 103,580 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยประมาณ 31,954 ไร่ คิดเป็น 31% ส่วนฝั่งทะเลอันดามันมีประมาณ 71,626 ไร่ คิดเป็น 69%
อาหารเสริมให้พะยูน :
สถานะหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมและลดลงอย่างต่อเนื่อง กำลังส่งสัญญาณเตือนให้พวกเรารู้ว่า นี่คือความผิดปกติที่มนุษย์ต้องทำอะไรสักอย่างก่อนจะสายไป ด้าน 'ปิ่นสักก์ สุรัสวดี' อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงมอบหมายให้ทีมงานของกรมฯ ร่วมกันวิจัยว่าสิ่งใดที่พอจะช่วยบรรเทาวิกฤติครั้งนี้ได้
ผู้ที่เป็นหัวเรือของภารกิจครั้งนี้ คือ 'หิรัญ กังแฮ' นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ซึ่งเขาเองเคยประสบความสำเร็จในการสร้างศูนย์อาหารเต่าทะเล เต่าตะนุ และเต่ามะเฟือง จนได้จดสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกของโลก
คุณหิรัญ บอกกับเราว่า จากการเก็บข้อมูลของพะยูน ที่ถูกเลี้ยงในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั่วโลก พบว่า นอกจากหญ้าทะเลแล้ว พะยูนเหล่านั้นยังกินทั้งผักกาดหอม ผักกาดขาว ผักบุ้ง กวางตุ้ง หรือแม้กระทั่งหญ้าขน และหญ้าเนเปียร์ จึงได้รวบรวมทำการศึกษา ก่อนจะพบว่า องค์ประกอบทางเคมีของบรรดาพืชที่กล่าวมา คล้ายคลึงกับหญ้าทะเล
จากการศึกษาเพิ่มเติม และข้อมูลจากเกาะลิบงและเกาะมุก ทำให้คุณหิรัญรู้ว่าพะยูนยังชอบกินสาหร่ายด้วย โดยเฉพาะสาหร่ายผมนาง เขาจึงนำพืชเหล่านั้นมาจัดทำเป็น 'อาหารเสริม' ทดแทนอาหารหลักอย่างหญ้าทะเล
แม้ว่าจะมีอาหารเสริมช่วยบรรเทาความหิวของพะยูน แต่คุณหิรัญย้ำกับเราว่า อาหารเสริมก็คืออาหารเสริม อาหารหลักยังคงเป็นหญ้าทะเล ถ้ามีของดีจากธรรมชาติอยู่แล้ว อาหารเสริมก็ไม่จำเป็น แต่ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะเผื่อไว้ดีที่สุด