"พะยูน" ปีนี้มีอัตราการตายต่อเนื่องแล้ว 32 ตัว เพิ่มจากเดิมถึง 2 เท่า ขณะภาวะโลกร้อนกระทบแหล่งหญ้าทะเล อาหารหลักของพะยูน "ผู้เชี่ยวชาญ" ชี้หลายตัวที่ตาย ในกระเพาะอาหารมีสาหร่ายทะเล แสดงถึงการปรับตัวหาแหล่งอาหารอื่นเพื่อเอาตัวรอด แต่สาเหตุหลักการตายมาจากมนุษย์ หวังพะยูนที่เหลืออีกประมาณ 100 – 120 ตัว จะไม่สูญพันธุ์

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เล่าว่า ตั้งแต่เจอปัญหาพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่ทะเลอันดามันเมื่อ 6 ปีก่อน มีผลต่อเนื่องรุนแรงมาถึงในช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมา

ส่งผลกระทบต่อการตายของพะยูน โดยเฉพาะพื้นที่ จ.กระบี่ ไปจนถึง จ.ตรัง ขณะนี้มีอัตราการตายเฉลี่ย 35 ตัว/ปี จากเดิมมีอัตราการตายเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ตัว/ปี โดยเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการตายอยู่ที่ 12 ตัว/ปี จะเห็นว่าอัตราการตายของพะยูนช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัว

“ต้นเหตุการตายของพะยูนในทะเลอันดามัน มาจากแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารเสื่อมโทรม โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ตรัง เปรียบเสมือนเมืองหลวงของพะยูน เจอปัญหาหญ้าทะเลไม่เพียงพอ ซึ่งพบว่าพะยูนที่ตายมีลักษณะของการขาดอาหาร ผอมตายอยู่จำนวนมาก”

...

จากการสำรวจพะยูนในพื้นที่ จ.ตรัง เดิมมีอยู่จำนวนมากเกือบ 180 - 200 ตัว หายไปอย่างรวดเร็วช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งตายและอพยพย้ายไปยังแหล่งอาหารในพื้นที่อื่น พบว่าเมื่อพะยูนต้องอพยพไปหาแหล่งอาหารในถิ่นใหม่ ความตื่นตัวในการรู้จักภัยคุกคามในพื้นที่ของพะยูนยังมีค่อนข้างน้อย

อีกภัยคุกคามสำคัญที่ทำให้พะยูนตายต่อเนื่องจำนวนมากในระหว่างอพยพไปหาแหล่งอาหารใหม่ เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น พะยูนติดเครื่องมือประมงชาวบ้าน โดนใบจักร หรือเรือชน แต่หลายครั้งก็ไม่สามารถระบุการตายของพะยูนได้ชัดเจน เนื่องจากมาพบเมื่อพะยูนเริ่มสภาพเน่าจนผิดรูปไปจากเดิมแล้ว

แต่สิ่งที่พบจากซากของพะยูนที่ตายระหว่างอพยพย้ายถิ่น ภายในกระเพาะพบหญ้าทะเล บ่งชี้ว่าเป็นการตายอย่างเฉียบพลัน ทำให้เห็นว่าพะยูนตัวนั้นไม่ได้ตายอย่างเป็นธรรมชาติ

พะยูนไทยปรับตัวกินสาหร่ายทะเล แต่ยังทดแทนไม่ได้

ต้นเหตุผลกระทบแหล่งอาหารพะยูน "ดร.ก้องเกียรติ" ระบุถึงสาเหตุที่หญ้าทะเลตายเป็นวงกว้าง มีความเกี่ยวข้องกับสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะปลายปี 2566 – 2567 พบว่าระดับน้ำทะเลอันดามันลดต่ำกว่าปกติ ทำให้หญ้าทะเลต้องตากแดดนานกว่าปกติ ประกอบกับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลมีความอ่อนแอ ไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่

อีกสาเหตุสำคัญทำให้หญ้าทะเลตาย พบว่ามีตะกอนในทะเลที่เปลี่ยนแปลงไป หลายพื้นที่ในทะเลอันดามันมีการทับถมของตะกอนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่เกาะลิบง จ.ตรัง มีตะกอนทับถมสูงถึง 30 เซนติเมตร

โดยตอนนี้การเปลี่ยนแปลงของตะกอนในทะเลที่ทับถม คาดว่ามาจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง บวกกับสภาวะโลกร้อนที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศรุนแรง ซึ่งทำให้มีลมแรง คลื่นสูง ส่งผลต่อการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นมาก เมื่อต้นปี 2567 แหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ จ.ตรัง พบว่า 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ของหญ้าทะเลหายไป

แต่จากการสำรวจใน 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งเหลือหญ้าทะเลที่อยู่รอดเพียง 5 – 10 เปอร์เซ็นต์

...

“ลองคิดดูว่า พื้นที่ จ.ตรัง เป็นแหล่งใหญ่ของหญ้าทะเล เมื่อแหล่งอาหารหมด ก็เริ่มอพยพไปทางตอนเหนือและใต้ เช่น ไปอ่าวพังงา ไปจนถึง จ.กระบี่ ส่วนทางตอนใต้ ช่วง 2 – 3 เดือนมานี้ พบพะยูนอพยพไปถึง จ.สตูล และมีการเกยตื้นจากสาเหตุของโลกร้อนมากขึ้น”

แหล่งอาหารของพะยูน นอกจากหญ้าทะเล ยังพบการปรับเปลี่ยนแหล่งอาหาร โดยการไปกินสาหร่ายทะเล พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบองค์ประกอบของอาหารในกระเพาะพะยูนที่ตายมีสาหร่ายทะเลมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าพะยูนในพื้นที่ทะเลอันดามันมีการปรับตัวอยู่พอสมควร แต่สาหร่ายยังเป็นแค่อาหารเสริมสำหรับพะยูน ไม่สามารถเป็นอาหารหลักแทนหญ้าทะเลได้

ปกติกระเพาะของพะยูนจะมีระบบการย่อยผนังเซลล์หญ้าทะเล แต่เมื่อต้องกินสาหร่ายทดแทน ระบบการย่อยของพะยูนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังไม่มีการวิจัยยืนยันชัดเจนว่าสาหร่ายทะเลเป็นแหล่งอาหารใหม่แทนหญ้าทะเลได้ เพราะสาหร่ายจะเป็นเพียงอาหารเสริม

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

...

พะยูน โอกาสสูญพันธุ์มีผลต่อมนุษย์

พะยูน ในท้องทะเลอันดามัน กับความเสี่ยงสูญพันธุ์ "ดร.ก้องเกียรติ" กล่าวถึงผลวิจัยพบว่า พะยูนในฝั่งทะเลอันดามัน มีลักษณะพันธุกรรมเฉพาะตัว ไม่พบที่ใดในโลก จึงตีความได้ว่า พะยูนเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะตัว โดยตอนนี้คาดว่า มีพะยูนเหลือในทะเลอันดามัน 100 – 120 ตัว ถือเป็นพะยูนฝูงสุดท้าย แต่อาจมีน้อยกว่านี้ เพราะปกติพะยูน มีการย้ายถิ่น ได้ระยะไกลถึง 150 กิโลเมตร จากการที่ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม ซึ่งอาจมีการอพยพไปยังพื้นที่ประเทศเมียนมา ที่เราไม่สามารถจับสัญญาณได้

“พะยูน ฝูงสุดท้ายในทะเลอันดามัน คาดว่าระยะ 5 – 10 ปี ยังไม่สูญพันธุ์ เพราะมีแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่อื่น เช่น อ่าวพังงา ตอนใต้ของภูเก็ต ซึ่งผลกระทบการตายของพะยูน ส่งผลต่อชาวประมงชายฝั่ง ที่ต้องไปหาสัตว์น้ำตามแหล่งอนุบาลหญ้าทะเล ทำให้ความหลากหลายของสัตว์ทะเลตรงนั้นหายไป"

อัตราการเกิดใหม่ของลูกพะยูน เฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ ถ้าอนาคตพะยูน มีการสูญพันธุ์ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหญ้าทะเล และกระทบต่อสัตว์น้ำอีกหลายพันชนิด และกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ด้วย ตัวอย่างเช่น หอยชักตีน จะพบเฉพาะแหล่งนิเวศ ที่เป็นหญ้าทะเล ถ้าพะยูน สูญพันธุ์ระบบนิเวศของทะเล จะเป็นเหมือนทะเลทรายในทะเล และทำให้สัตว์ทะเลลดลง มีผลต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน.

...