พรรคเพื่อไทย เข้าสู่วังวนการพิจารณายุบพรรค หลัง กกต. มีมติพิจารณา กรณีมีผู้ร้องเรียนการครอบงำของ "ทักษิณ" นักวิชาการมองว่า จะทำให้การต่อรองพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มขึ้น แม้มีความพยายามซื้อเวลา แต่เงื่อนไข "นิติสงคราม" อาจถึงขั้นยุบพรรค

พรรคเพื่อไทย เข้าสู่วิบากกรรม "นิติสงคราม" อีกครั้ง และดูเหมือนครั้งนี้อาจรุนแรงถึงขั้นยุบพรรค หากมีการพิจารณาว่ามีความผิดจริง โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 67 กกต. มีมติพิจารณา 6 คำร้อง ที่ยื่นพิจารณายุบพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมอีก 6 พรรค จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าแล้วเสร็จ

จุดล่อแหลมนำสู่การร้องเรียน ในห้วงเวลาที่อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถูกพิจารณาเรื่องจริยธรรม และพรรคเพื่อไทยต้องเฟ้นหาผู้นำคนใหม่มานั่งเก้าอี้สูงสุดแทน ภาพรถยนต์ของตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลทยอยเข้าไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้า ก่อนมีมติเลือก แพทองธาร ชินวัตร นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 กลายเป็นมูลเหตุสำคัญในการร้องเรียนยุบพรรคเพื่อไทย

...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ ร.ต.จตุพล ดวงจิตร อาจารย์ประจำวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า ด้วยบทบาทคุณทักษิณ ที่มีการแสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้มีการเชื่อมโยงถึงบทบาทที่นำสู่การตั้งข้อสังเกตถึงการเข้ามาครอบงำพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล

แม้กรณีนี้มีการยื่นเรื่องขอให้ยุบพรรคร่วมรัฐบาลอีก 6 พรรค แต่ถ้าประเมินเชิงของกฎหมายทางการเมือง พรรคร่วมเหล่านี้มีโอกาสถูกตัดสินยุบพรรคน้อยกว่าพรรคเพื่อไทย ความล่อแหลมนี้ทำให้ตัวแทนของฝั่งอนุรักษ์นิยมใช้ช่องทางนี้ในการต่อสู้ทางนิติสงคราม

“หากวิเคราะห์ถึงพฤติการณ์คุณทักษิณ สิ่งที่ล่อแหลมที่สุดคือ การเลือกนายกคนใหม่ สุดท้ายคุณแพทองธาร ในฐานะลูกสาวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ทั้งที่มีแคนดิเดตคนอื่นที่เป็นตัวเลือกเพื่อลดแรงกดดันนี้ได้ สิ่งนี้ทำให้คนที่ติดตามการเมืองเห็นว่า การเข้ามาครอบงำของผู้มีอำนาจที่อยู่เหนือกว่านายกฯ ด้านกฎหมาย พ.ร.บ.เกี่ยวกับพรรคการเมือง ม.29 ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าบุคคลที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่อยู่ในพรรคการเมือง เข้ามาครอบงำหรือชี้นำในการดำเนินการของรัฐบาลไม่ได้ สิ่งนี้ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทย เพลี่ยงพล้ำทางการเมือง”

ร.ต.จุตพล ดวงจิตร อาจารย์ประจำวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ร.ต.จุตพล ดวงจิตร อาจารย์ประจำวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

การที่ กกต. รับเรื่องพิจารณาเกี่ยวกับการครอบงำของคุณทักษิณ ทำให้พรรคเพื่อไทย และนายกฯ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประสานพรรคร่วม ไม่ให้มีความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งช่วงนี้คาดว่ายังไม่มีสัญญาณความบาดหมาย แต่ถ้าเมื่อใดที่มีสัญญาณในการไต่สวน ที่มีแนวโน้มไปทางใดทางหนึ่ง บรรดาพรรคร่วมจะเริ่มแสดงออกในจุดยืนของตัวเองมากขึ้น จนทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายของพรรคร่วมได้

“ต่อจากนี้เกมการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลจะแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้นโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำรัฐบาล ดำเนินการตามนโยบายของตนเองได้ช้าลง หรืออาจไม่สามารถทำได้ ดังนั้น พรรคเพื่อไทย ต่อจากนี้ หากจะนำเสนออะไรต่อพรรคร่วม ต้องเหลียวหลังแลหน้าให้ดี”

...

จุดที่ทำให้พรรคเพื่อไทย อาจเข้าสู่วิกฤติแตกหักกับพรรคร่วมรัฐบาลได้เร็วขึ้น หากมีการแข็งขืนเดินหน้านิรโทษกรรม เพราะพรรคร่วมบางพรรคมีจุดยืนในการต่อต้านการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจน

โอกาส "พรรคเพื่อไทย" รอดยุบพรรค

หากเทียบเคียงระหว่างกรณีการยุบพรรคก้าวไกล กับการครอบงำของคุณทักษิณ ที่มีการร้องเรียน "ร.ต.จุตพล" มองว่า สิ่งที่เป็นหลักฐานในการพลิกคดีของพรรคเพื่อไทยคือ ดิจิตอลฟุตพริ้นท์ ซึ่งเป็นความสุ่มเสี่ยงมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาที่จะมีการเลือกนายกฯ ที่คุณทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อไว้

การพิจารณาในวงรอบของการตัดสินคดี มีข้อกำหนดให้อยู่ใน 30 วัน และสามารถยืดเวลาได้อีกครั้งละ 30 วัน จนกว่าการพิจารณาแล้วเสร็จ คาดว่าการพิจารณาคงไม่แล้วเสร็จใน 3 เดือนนี้ แต่อาจนานถึง 6 – 7 เดือนขึ้นไป

สำหรับการพิจารณาในประเด็นครอบงำ มีการร้องเรียนไปยัง กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการทำงานของสองหน่วยงานนี้ต้องไปด้วยกัน
ถ้าประเมิน หากศาลรัฐธรรมนูญชี้มูลมีการครอบงำจริง จะทำให้มีการยุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เพราะถ้าเทียบคดีของอดีตนายกฯ บางท่าน มีบทบาทในสื่อที่โยงกับรายการทำอาหาร ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง

...

“หากประเมินโดยส่วนตัว คาดว่าพรรคร่วมไม่น่าจะถูกยุบพรรคด้วย เพราะถ้าพรรคร่วมทั้ง 6 พรรคถูกยุบด้วย ทำให้เกิดวิกฤติทางการเมืองไทยอีกรอบ”

อีกมุมหนึ่ง หากมีการพิจารณาว่าพรรคเพื่อไทย ไม่มีความผิดกรณีการร้องเรียนเรื่องการครอบงำ จะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ที่ใช้กฎหมาย และอาจมีการตั้งคำถามว่า การพิจารณาก่อนหน้านี้มีความผิดเพี้ยนหรือไม่

“มีบางคนมองว่า หากพรรคเพื่อไทย เข้าสู่วิกฤติทางนิติสงคราม อาจมีการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ในช่วงเวลานี้ ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการยุบสภา เพราะจะส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกว่าจะเลือกคณะรัฐมนตรีใหม่ อาจทำให้ประชาชนโดยรวมได้รับผลกระทบในเรื่องปากท้อง”.