"ดิ ไอคอน" กลายเป็นคดีร้อน มีผู้เสียหายร้องเรียนกว่า 740 ราย มูลค่าเสียหายกว่า 266 ล้านบาท "อัยการอาวุโส" มอง โมเดลธุรกิจหาลูกข่ายซับซ้อน หลายชั้นมากกว่าธุรกิจขายตรง เหยื่อชี้กระบวนการหาลูกค้า โปรโมทล่อใจ ดารา-คนดัง โอกาสผิดฐานผู้สนับสนุน

คดีดิไอคอนกรุ๊ป (THE iCON GROUP) ทำธุรกิจออนไลน์ ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หลังมีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนจำนวนมาก ถึงโมเดลธุรกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค กรณีนี้มีการขายคอร์สอบรมออนไลน์พร้อมสินค้า ซึ่งตั้งแต่เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของตำรวจสอบสวนกลาง เพียง 4 วัน มีผู้เสียหายกว่า 740 ราย คาดความเสียหายกว่า 266 ล้านบาท

ขณะผู้บริหารของ "ดิไอคอนกรุ๊ป" ยืนยันว่าธุรกิจตน ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เพราะการดำเนินธุรกิจมีการขายสินค้าให้กับผู้ที่มาลงทุน และการอบรมในคอร์สต่างๆ ผู้ที่สนใจธุรกิจเป็นผู้ที่ตัดสินใจลงทุน ด้านดาราและผู้มีชื่อเสียง ต่างออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาเป็นเพียงการรับงานโปรโมท

หากมองเชิงกฎหมาย มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเกี่ยวโยงกับการกระทำผิดด้านเศรษฐกิจ โมเดลและพฤติกรรมดังกล่าว เข้าข่ายใช้ช่องว่างทางกฎหมายหรือไม่?

...

"ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม" อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด มองคดีดิไอคอนกรุ๊ป ว่า เป็นโมเดลธุรกิจที่พยายามออกแบบธุรกิจให้เป็นโมเดลขายตรง เดิมผู้บริหารบริษัทนี้ มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจขายตรงมาก่อน เมื่อเริ่มตั้งบริษัทใหม่ๆ พยายามยื่นเรื่องต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ในการดำเนินการธุรกิจขายตรง

“หากพิจารณาโมเดลธุรกิจดิไอคอน มีการวางลำดับชั้นของลูกค้าและผู้ติดต่อ มากเกินกว่าโมเดลธุรกิจขายตรงจะทำ เลยนำสู่กระบวนการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะการซื้อของ ในเชิงกฎหมายอาจไม่เข้าข่ายการลงทุน แต่เป็นการเชิญชวนคนให้มาซื้อสินค้า โดยอ้างว่าไม่ต้องมีการตุนสต๊อกสินค้า แต่การจะทำให้เชื่อได้ ต้องมีการจูงใจทำให้เชื่อว่า มีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ซึ่งในกระบวนการกฎหมาย ต้องไปดูผู้ผลิตสินค้าว่า มีการผลิตได้ตามที่โฆษณาหรือไม่”

การนำดารา ผู้มีชื่อเสียงมาแนะนำสินค้า จัดอีเวนต์ใหญ่โต เพื่อจูงใจให้คนซื้อสินค้าของบริษัท คนที่ซื้อไปไม่สามารถขายต่อได้ ซึ่งบรรดาดาราและบอสทั้งหลาย ที่ตอนนี้ตำรวจเริ่มดำเนินคดีอยู่ 6 คน แต่จริงแล้วมีคนที่ต้องถูกดำเนินคดีมากกว่านี้ โดยเฉพาะคนที่เชื้อเชิญให้มาอบรมคอร์สออนไลน์ ที่เป็นระดับ "แม่ข่าย” ซึ่งเป็นต้นทางในการหาลูกข่าย

กระบวนการจูงใจ สร้างความเชื่อมั่นหาลูกข่าย

กระบวนการหาลูกค้าสร้างเครือข่าย "อ.ปรเมศวร์" ได้คุยกับเหยื่อบางรายให้ข้อมูลว่า จะมีการไลฟ์สด เพื่อให้เหยื่อรายใหม่เข้ามา จะได้รายชื่อของคนที่เข้ามาใหม่ แล้วพยายามเกลี้ยกล่อมคนที่มาชมรายใหม่ว่า ถ้ายังไม่มีสินค้าที่จะขาย สินค้าของเราดี ซึ่งมีการทำลักษณะนี้มานาน

อีกด้าน ก็มีการหาเครือข่ายผ่านรายการทีวี คนที่เป็นบอส จะบอกลูกทีมว่าต้องการรายชื่อหรือไม่ ถ้าต้องการต้องจ่ายเงินมาคนละ 10,000 บาท เพื่อรวบรวมเงินให้ได้ 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อชั่วโมงรายการ เมื่อไปออกรายการแล้ว จะได้คอนแทคของคนที่คอมเมนต์เข้ามา แล้วนำไปแจกจ่ายในกลุ่ม เพื่อให้ไปติดต่อตามสคริปต์ที่ระบุไว้ให้ เพื่อจะได้เข้ามาร่วมเป็นลูกข่ายอีกที เราจะสังเกตเห็นว่า เขาไม่ได้โฆษณาสินค้า แต่โฆษณาคนด้วยเงิน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการลวงเพื่อให้เข้ามาสู่ระบบธุรกิจ

“ดารา ผู้มีชื่อเสียงที่มาโฆษณา เคยรู้สึกผิดปกติกับสคริปต์ที่ต้องพูดหรือไม่ เพราะสินค้าบางตัวเพิ่งออกเมื่อวาน แต่วันนี้ขายได้จำนวนมาก พิธีกรที่พูดเชื่อในข้อมูลนั้นได้หรือไม่ อย่าลืมว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะมาบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ และอาจเข้าข่ายให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรืออย่างน้อยก็มีส่วนกระทำผิดในฐานะผู้สนับสนุน”

...

คดีนี้เหมือนการกระทำผิดคดียูฟัน ที่คนที่เป็นตัวกลาง เปรียบเสมือนโซ่ข้อกลาง ถูกดำเนินคดีเกือบหมด แต่คนรอดคือ คนเป็นเหยื่อ ที่เป็นโซ่ข้อสุดท้าย ซึ่งหลายคนก็ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างหนัก

ยุคนี้เป็นอาชญากรรมยุคดิจิทัล ที่สังเกตได้ยาก แต่การทำธุรกิจอะไร ต้องทำด้วยตัวเอง อย่าโลภ ถ้ารับสินค้ามาขายต่อต้องไปดูให้เห็นถึงผู้ผลิตสินค้า ต้องศึกษาให้รอบคอบ เพราะอย่างกรณีที่เกิดขึ้น สินค้าตัวเดียว แต่มีคนขายเป็นพันคน ก็เป็นเรื่องยากที่จะขายได้.