เตือน“หมอแขวนป้าย” รับเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล แต่ไม่ได้รักษาเอง เสี่ยง “หมอเถื่อน” สวมรอยรักษาคนไข้แทน ล่าสุดบุกจับหมอเกาหลี เผยกลุ่มลับเสนอค่าตอบแทนหมอเดือนละ 20,000 – 35,000 บาท “แพทยสภา” ย้ำโอกาสผิดพลาดสูง มีโทษหนัก
ทีมข่าวได้พยายามเข้าไปตรวจสอบในกลุ่มรับสมัคร “หมอแขวนป้าย” พบว่ามีคลินิกหลายแห่งในพื้นที่ต่างจังหวัด รับสมัครแพทย์ที่นำชื่อไปแขวนป้ายในสถานประกอบการ แต่นำหมออื่นเข้ามาทำงานแทน เสี่ยงที่คนไข้จะได้รับผลกระทบ และมีโอกาสที่หมอเถื่อนใช้ช่องทางนี้ในการหาผลประโยชน์ โดยในกลุ่มมีการเสนอราคาให้หมอแขวนป้าย ตั้งแต่เดือนละ 20,000 – 35,000 บาท
สถานพยาบาลที่มาหาหมอแขวนป้ายส่วนใหญ่ เสนอให้เกิดแรงจูงใจ โดยการันตีว่า ยาที่ใช้มี อย. รวมถึงเสนอรายได้พิเศษ หากยินยอมให้แขวนป้ายช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือบางรายไม่หักเงินในการจ่ายภาษีเพิ่ม
กรณีนี้ ทีมข่าวสอบถามไปยัง พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้ข้อมูลว่า จากการมีโฆษณารับ หมอแขวน ป้ายจำนวนมาก เพื่อเอาหมออื่นเข้าไปทำงานแทน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับการรักษาจากหมอเถื่อน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อคนไข้
...
หมอแขวนป้าย คือหมอที่รับเป็นผู้ดำเนินการ ตามจริงแล้วแพทย์คนดังกล่าวต้องรับผิดชอบในสถานประกอบการนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น พอมีการรับหมอแขวนป้าย แต่แพทย์คนดังกล่าวไม่มีเวลาในการไปดูแลสถานพยาบาลด้วยตัวเอง มีโอกาสที่หมอเถื่อน จะเข้าทำการแทน เสี่ยงที่คนไข้จะได้รับการดูแลอย่างไม่ได้มาตรฐาน
“หมอที่ทำแบบนี้โดยตรง มีไม่เยอะ แต่ส่วนใหญ่จะถูกชักชวนให้นำชื่อไปแขวนผู้ดำเนินการแล้วได้ผลตอบแทน ซึ่งการแขวนป้าย เป็นผู้ดำเนินการสามารถ ทำได้ไม่ผิด แต่ปัญหาคือ แขวนป้ายแล้ว หมอต้องไปดูว่ากิจการนั้นเป็นอย่างไรด้วย คือเป็นผู้ดำเนินการที่ใด จะต้องไปรับผิดชอบ ตามกฎหมายสถานพยาบาล ด้วย”
ตอนนี้มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหมอแขวนป้าย มาร้องเรียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข อย่างกรณีล่าสุด มีหมอแขวนป้ายที่เป็นคนไทย เปิดให้บริการ แต่ไม่ได้ทำการรักษาด้วยตัวเอง แต่ให้คนอื่นที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ เข้ามาทำการรักษาแทน ทำหัตถการความงาม เกิดความเสียหาย มาร้องเรียน สบส.และ สคบ.
เตือนหมอแขวนป้าย คนไข้ได้รับผลกระทบมีสิทธิอะไรบ้าง
“พล.อ.อ.นพ.อิทธพร” ได้อธิบายถึงสิ่งที่ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องรับผิดชอบ หากเกิดข้อผิดพลาดดังนี้
- รับผิดชอบต่อ การรักษาคนไข้ทุกคนที่เข้ามาในคลินิก
- รับผิดชอบต่อ ยา ไหม อุปกรณ์และโบท็อกทุกชนิด ต้องถูกกฎหมาย หากให้ยาผิดพลาด ผิดชื่อผิดขนาดผิดจำนวน ต้องรับผิดชอบ
- รับผิดชอบต่อ การทำหัตถการโดยบุคลากรในคลินิก ต้องเป็นวิชาชีพทุกคน ใช้หมอเถื่อนพยาบาลเถื่อนไม่ได้ ซึ่งหมอแขวนป้ายส่วนหนึ่งจะไม่ได้ดูรายละเอียด พลาดจะโดนฟ้องมาที่แพทยสภา
- รับผิดชอบต่อ การเก็บประวัติบันทึก opd Card ทั้งหมด หากเกิดคดีความ
- รับผิดชอบการฟ้องร้องทั้งหมด ทั้งฟ้องแพ่งเรียกเงินและฟ้องอาญา โทษติดคุก
- รับผิดชอบการโฆษณา ของคลินิก ซึ่งหากเอเจนซี่โฆษณาเกินจริง นอกจากโดนปรับแล้วยังโดนโทษจริยธรรมอีกด้วย
- รับผิดชอบต่อการซื้อยาควบคุมโดยเฉพาะยาเสพติดซึ่งมีการซื้อและขายออกข้างนอกคลินิก โดนลงโทษกันไปเยอะแล้ว
ควร เป็นผู้ดำเนินการหรือ แขวนป้ายในคลินิกที่ตนเองปฏิบัติงานเท่านั้น แขวนลอยๆ ไม่ทำเองไม่ได้ เพราะหมอจะไม่ได้ดูรายละเอียดของคลินิก โอกาสเกิดคดีความได้เป็นช่องว่างให้หมอเถื่อนเข้าทำการรักษาคนไข้ ซึ่งผิดกฎหมาย และกว่าจะรู้ตัว อาจรักษาไปหลายคนแล้ว จึงเป็นเหตุให้มีการตั้งโทษของการแขวนป้าย ให้เข้มงวดสูงขึ้น เพื่อป้องปราม แต่ไม่ต้องการลงโทษผู้ใด
...
หมอเกาหลี สวมรอยรักษาคนไข้ไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจับกุมแพทย์เกาหลี ในคลินิกความงาม กลางกรุงเทพฯ เข้าข่ายหมอเถื่อน พบว่ามีการใช้เอกสารของแพทย์คนไทย แต่ไม่ได้ทำการตรวจ ซึ่งเข้าข่าย “หมอแขวนป้าย” ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มารักษา ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ได้รับเบาะแสลักลอบนำแพทย์ต่างชาติเข้ามาประกอบวิชาชีพเวชกรรมในคลินิก กลางกรุงเทพฯ จึงร่วมมือกับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และแพทยสภา พบบุคคลเป็นแพทย์จากประเทศเกาหลีใต้ กำลังให้บริการด้านการให้คำปรึกษา ประเมินการให้บริการเสริมความงามแก่ผู้รับบริการ มีการสัมผัสบริเวณใบหน้า ทำการวินิจฉัยกับผู้รับบริการ
หลังตรวจสอบพบว่า การตรวจประเมินและวินิจฉัยแต่ละครั้งนั้น ทางคลินิกจะให้ผู้รับบริการเข้าพบแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และแพทย์ชาวเกาหลีใต้ ผ่านเอเจนซี่ ซึ่งการกระทำของแพทย์ชาวเกาหลีใต้ เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ในฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดร.ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า การบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความงาม เป็นบริการที่ได้รับความนิยม มีอัตราการขยายตัว สถานพยาบาลหลายแห่ง มีการแข่งขัน ทั้งในด้านเทคโนโลยี หรือบุคลากร จนบางแห่งมีการอ้างชื่อแพทย์จากต่างประเทศมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจ
กรณีคลินิกเสริมความงาม จะนำแพทย์จากต่างประเทศ เข้ามาให้บริการในคลินิกไม่ว่าจะให้บริการประจำหรือไม่ประจำ ต้องดำเนินการให้ถูกกฎหมาย โดยต้องขออนุญาตกับ สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ และตัวแพทย์ผู้ให้บริการจะต้องต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อประกอบวิชาชีพในประเทศไทยให้ได้ก่อน จึงจะมีสิทธิ์ให้การรักษา.
...