54 คน คือจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากเหตุการณ์น้ำท่วมใน 16 จังหวัด

2,216 คน คือตัวเลขผู้บาดเจ็บสะสม

1,501 คน คือประชาชนที่เผชิญกับภาวะความเครียดสูงจากเหตุน้ำท่วม

215 คน คือผู้ที่กำลังเสี่ยงต่อการซึมเศร้า 

36 คน คือตัวเลขของประชาชนที่เสี่ยงฆ่าตัวตาย 

3 หมื่นล้านบาท คือตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

ไม่แน่ว่า หลังบทความชิ้นนี้เผยแพร่แล้ว ตัวเลขความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้อาจเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกปีจากวิกฤติภาวะโลกร้อน (global warming) เรายังพบ ‘ภัยพิบัติด้านการจัดการ’ ที่ซ้อนอยู่ในทุกภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น และอาการเมาหมัดของหน่วยงานราชการ ที่แม้จะมีเทคโนโลยีรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติครบครัน มีสถานีตรวจวัดลมฟ้าอากาศ เรดาห์กลุ่มฝน ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และแบบจำลองเส้นทางพายุ ที่สามารถพยากรณ์น้ำท่วมได้อย่างแม่นยำล่วงหน้า แต่ตัวเลขความเสียหายและสถานการณ์อันโกลาหลในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา คือหลักฐานที่ยืนยันว่า ภาครัฐทำงานล้มเหลวอย่างที่ไม่ควรจำเป็น  

อย่างที่เราพอทราบ ภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากการที่โลกของเราสะสมความร้อนมากขึ้น ทำให้พายุหรือมรสุมมีการสะสมพลังงานจากน้ำสูงขึ้น ปริมาณน้ำจึงมีมากขึ้น มรสุมและพายุก็จะรุนแรงมากขึ้น อย่างกรณีของเจ้า 'ไต้ฝุ่นยางิ' ที่ใช้เวลาไม่นานนักในการสะสมพลังงาน และเลื่อนระดับจากไต้ฝุ่นธรรมดามาเป็น ‘ซูเปอร์ไต้ฝุ่น’

ทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและความประมาทของมนุษย์ จึงทำให้การคาดการณ์อุทกภัยจากประสบการณ์เดิมๆ ได้ยากขึ้น เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่น้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อนบ่อยขึ้น และเตรียมการรับมือได้ยากขึ้น 

...

กรณีน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงราย กัมพล ปั้นตะกั่ว จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้อธิบายถึงลักษณะของน้ำท่วม ซึ่งหลักๆ แล้วมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง - น้ำล้นตลิ่ง สอง - น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งทั้งสองประเภทจะมีวิธีบริหารจัดการและรับมือต่างกัน โดยลักษณะแรก เราอาจรับมือผ่านการใช้เครื่องมือและโครงสร้างทางฟิสิกส์มาช่วยชะลอการไหลของน้ำได้ อาทิ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ 

แต่ลักษณะที่สองอย่าง ‘น้ำป่าไหลหลาก’ ซึ่งเกิดขึ้นที่เชียงราย เราไม่อาจรับมือน้ำท่วมลักษณะนี้ด้วยโครงสร้างเดิมๆ ได้ แต่ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลากหลายประเภทและการวางแผนรับมือเชิงรุก ที่ต้องอาศัยทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา เอกชน และประชาชนเป็นทีมเวิร์ก 

คำถามคือ …แล้วเราจะรับมืออย่างไร ให้ความเสียหายและความสูญเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุด?


ต้องอธิบายแบบนี้ว่า เชียงรายไม่ใช่จังหวัดแรกและจังหวัดเดียวที่เผชิญกับน้ำป่าไหลหลากรุนแรง แต่ที่ผ่านมา มีหลายจังหวัดที่เผชิญกับปัญหานี้บ่อยครั้ง จนเกิดการออกแบบและวางแผนระบบการจัดการเพื่อรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตัวอย่างที่เรากำลังจะนำมาเล่า คือที่จังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่ 

หากลองเสิร์ช Google คำว่า ‘น้ำป่าไหลหลากที่หาดใหญ่’ เราจะพบว่า พื้นที่นี้ต้องประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วมจากน้ำป่าไหลหลากแทบทุกปี และบางปีเกิดขึ้นหลายระลอก ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ภูมิประเทศของหาดใหญ่อยู่ในเขตฝนตกชุก และเป็นบริเวณที่ลุ่มทางด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออก โดยพื้นที่ลาดจากทิศใต้และทิศตะวันตก จะไปสู่ทะเลสาบสงขลา ทำให้การระบายน้ำขึ้นอยู่กับระดับน้ำในทะเลสาบเป็นสำคัญ อีกทั้งการพัฒนาเมืองและสาธารณูปโภคก็ไม่ได้ถูกออกแบบให้เอื้อต่อการระบายน้ำ รวมถึงการออกแบบทางวิศวกรรมก็ไม่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำฝนที่ตกทั้งในและนอกพื้นที่ ก็ทำให้ยากต่อพยากรณ์ภัยพิบัติ


นอกจากนี้ ตัวอำเภอหาดใหญ่ยังตั้งอยู่ในพื้นที่รายลุ่มแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา และเป็นทางผ่านของคลองอู่ตะเภา ทำให้เกิด ‘น้ำท่วมซ้ำซาก’ โดยความเสียหายครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2531, 2543, 2551, 2553 มูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 37,370 ล้านบาทเลยทีเดียว 

...

กล่าวได้ว่า อย่างไรเสียหาดใหญ่ก็ต้องเจอกับน้ำท่วมแทบทุกปี และในเมื่อไม่สามารถหยุดภัยพิบัติได้ พวกเขาจึงเลือกที่จะออกแบบวิธีการที่จะหยุดความเสียหาย ซึ่งเราได้สรุปไว้ให้ ดังต่อไปนี้  

1. ระดมความร่วมมือ


ท้องถิ่นของจังหวัดสงขลา ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม  ภาคประชาชน และกลุ่มนักธุรกิจในพื้นที่ เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายไม่เลือกหน้า ทุกภาคส่วนจึงให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมและสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติในจังหวัด 

อีกทั้งภาครัฐได้เปิดช่องทางให้มีการใช้อำนาจรัฐบางส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการ รวมถึงฝ่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ก็ได้ส่งนักวิชาการเข้ามาช่วยเรื่องเครื่องมือการพยากรณ์ภัยพิบัติและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง นำมาออกแบบการรับมือที่ประชาชนปฏิบัติตามได้จริง

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การทำแบบจำลองการพัฒนาเมืองและวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่แม่งานคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาเมืองและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในอนาคต ซึ่งการสร้างแบบจำลองในแต่ละสถานการณ์ จะช่วยให้การคาดการณ์เป็นไปอย่างแม่นยำและมีทิศทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น 

อีกตัวอย่างคือ การพัฒนาระบบทรัพยากรน้ำท่วมโดยการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ งานนี้มีเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นเจ้าภาพ ในการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ อาทิ กรมอุตุฯ ทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน และอุทกวิทยา เพื่อนำข้อมูลของทุกภาคส่วนมาสร้างแบบจำลองเพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำ (IFAS) พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (HEC-RAS) สำหรับการเตือนภัยที่แม่นยำ


2. เฝ้าระวังภัยด้วย ‘ความรู้’

...


อุทกภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำป่าไหลหลากมาจากน้ำฝนเป็นหลัก ฉะนั้นจึงต้องมีการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนว่าใกล้เคียงจุดวิกฤติแล้วหรือไม่ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ให้ว่า น้ำฝนในพื้นที่รับน้ำต่างๆ ในจังหวัด มีปริมาณที่ใกล้ถึงจุดวิกฤติแล้วหรือไม่ ซึ่งหากใกล้ถึงจุดวิกฤติแล้ว ก็จะมีการทำพยากรณ์โมเดลว่า เมื่อน้ำฝนมีปริมาณเท่านี้ ความเร็วน้ำหรือปริมาณน้ำที่จะไหลมาจะมีมวลเท่าไหร่ และจะไหลเอ่อไปท่วมพื้นที่ใดบ้าง 

จากนั้นจึงมากำหนดกันว่า จุดใดควรเฝ้าระวังในลำน้ำ และนำไปสู่การตั้งจุดเฝ้าระวังและติดตั้งเซนเซอร์เตือนภัย รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ซึ่งก็คือ ‘ประชาชน’ ในพื้นที่ คอยติดตามว่าเซนเซอร์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเมื่อประชาชนเห็นสัญญาณเตือน ก็จะมีการส่งสัญญาณไปฝ่ายต่างๆ ที่มีการวางแผนกันไว้ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

3 ‘แผนอพยพ’ ที่ไม่สะเปะสะปะ 

สิ่งสำคัญของการรับมือภัยพิบัติคือ ‘แผนอพยพ’ ซึ่งอำเภอหาดใหญ่ได้มีการจัดทำแผนที่ชัดเจนว่า น้ำป่าจะไหลไปทางไหน ดังนั้นการอพยพของคนและสิ่งของ ก็จะมีการกำหนดว่า จะต้องย้ายคนไปที่ไหน และย้ายสิ่งของไปไว้ที่ไหนจึงจะปลอดภัย 

หัวใจที่ทำให้แผนอพยพประสบความสำเร็จ คือการใช้ ‘ชุมชนเป็นฐาน’ เนื่องจากโดยส่วนมาก ความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการวางแผนรับมือ ดังนั้น จึงเกิดกิจกรรมที่ดึงชุมชนเข้ามาออกแบบและจัดทำแผนรับมืออุทกภัยระดับชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วหลังน้ำลด

...

4. ประชาชน คืออาสาสมัครที่เวิร์กที่สุด 

สิ่งสำคัญอีกประการคือ ทุกชุมชนมักจะมีทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก ส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องจัดทำแผนที่ระบุว่า บ้านหลังไหนมีผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก และมีการจัดกลุ่มอาสาสมัครรวมทั้งแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลบ้านที่มีผู้เปราะบางในชุมชน และเมื่อมีสัญญาณเตือนเหตุภัยพิบัติ อาสาสมัครกลุ่มนี้ก็จะทำการนำผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและเด็ก ออกมาจากชุมชนก่อน และเนื่องจากสัญญาณเตือนถูกออกแบบมาล่วงหน้า  (กว่า 10 ชั่วโมงก่อนน้ำป่ามาถึงชุมชน) ทำให้อาสาสมัครมีเวลาเพียงพอในการรับมือกับเหตุการณ์และเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้เปราะบางในชุมชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย

ประกอบกับการออกแบบมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติ ทำให้แม้ว่าน้ำจะไหลมาท่วมชุมชน แต่สุดท้ายแล้วความเสียหายโดยรวมของเมืองก็จะต่ำลง ประชาชนมีกำลังใจฟื้นฟูเมืองหลังพ้นภัย 

ไม่ว่าจะแผนการพัฒนาคน องค์กร ระบบ และวิถีปฏิบัติในการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติของจังหวัดสงขลา รวมถึงการสร้างบรรยากาศให้คนในจังหวัดร่วมแรงร่วมใจป้องกันภัย ทั้งหมดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพิมพ์เขียวสำคัญที่จังหวัดต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้และออกแบบแผนรับมือฉบับของตนเองได้ เพราะว่ากันตามตรงแล้ว บทเรียนสำคัญจากสงขลาโมเดล อาจไม่ใช่แค่การบูรณาการเครื่องมือและความรู้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา หรือแผนการรับมือที่รัดกุมเท่านั้น แต่เป็น ‘หลักคิด’ ในการกำหนดแนวทางการ ‘ป้องกัน รับมือ และฟื้นฟู’ ที่เหมาะสมของเมือง โดยไม่ต้องรอให้ส่วนกลางมาชี้นิ้วแอ็คชั่นแต่อย่างใด 

ติดตามรายการภารกิจ SEE TRUE “อะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้” ตอน แม่สายวิปโยค น้ำซัดจมทะเลโคลน ได้วันที่ 7-8 ต.ค.นี้ ทางรายการไทยรัฐนิวส์โชว์ ช่อง 32 เวลา 21.00 น. 


อ้างอิง