จับสัญญาณความรุนแรงชายแดนใต้โยงคดีตากใบ? ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผย อยากให้จำเลยมาศาลเพื่อค้นหาความจริงร่วมกัน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามก่อนหมดอายุความ

วันนี้ (3 ตุลาคม 2567) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทีมทนายความของญาติ เผยว่า ศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ แล้ว เหตุหลบหนีไม่มาตามศาลตามกำหนด ซึ่งเป็นตามคำร้องทนายโจทก์ขอให้ศาลออกหมายจับด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลออกหมายเรียก เพราะ พล.อ.พิศาล เป็น สส.มีสิทธิคุ้มกันตามรัฐธรรมูญ

ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ตุลาคม 2547 เกิดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 6 คน ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการปล้นปืนลูกซองยาวของราชการ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตัดสินใจสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ประท้วงกว่า 1,370 คนเพื่อนำขนส่งไปควบคุมตัวยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี

เหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม 7 คน เสียชีวิตระหว่างการเดินทาง 78 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จากความสูญเสียดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ 48 ราย ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.578/2567

ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส รับฟ้องคดีดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน ตกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ในส่วนจำเลยที่ 2 และ 7 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม อายุความของคดีตากใบกำลังจะหมดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 จึงตามมาซึ่งการตั้งคำถามจากประชาชนบางส่วนว่า คดีนี้จะจบลงอย่างไร จะมีผู้รับผิดชอบความสูญเสียอันเจ็บปวดครั้งนั้นหรือไม่?

...

เกี่ยวกับเรื่องนี้ 'พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ' ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ว่า ตอนนี้คดีอยู่ระหว่างรอวันนัดหมายครั้งหน้า ซึ่งเป็นวันที่เรียกว่าวันสอบคำให้การ จำเลยในคดีที่ศาลสั่งว่ามีมูลได้รับหมายจับและหมายเรียกเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ศาลออกหมายจับทั้งหมด 6 คน และออกหมายเรียก 1 คน คือทางจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น สส.

"หมายต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่เรียกว่าปิดหมาย เท่ากับว่าในทางกฎหมายทุกคนทราบวันนัด ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปคือรอถึงวันที่ 15 ตุลาคม ว่าจำเลยทั้ง 7 จะมีการแต่งทนายมาศาล หรือตนเองจะมาหรือไม่มาศาล"

พรเพ็ญ ระบุว่า นอกจากนั้นเรายังมีการติดตามประเด็นอื่น ๆ พบว่ามีการดำเนินการของตำรวจภาค 9 ไปพร้อม ๆ กับการดำเนินการของศาลนราธิวาส กล่าวคือ หลังจากตำรวจภาค 9 ได้รับคำสั่งจากอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 18 กันยายน พบว่ามีต้องหาเพิ่มอีก 7 คน เป็นบุคคลที่เป็นพลขับ หรือเป็นผู้ควบคุมการจับกุมผู้ชุมนุมทั้งหมด แล้วขนย้ายจากนราธิวาสไปปัตตานี

คดีตากใบโยงความรุนแรง? :

หากได้ติดตามข่าวช่วงนี้ จะเห็นว่ามีการรายงานถึงความพยายามเชื่อมโยงคดีตากใบ เข้ากับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ทีมข่าวฯ สอบถามพรเพ็ญว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ พรเพ็ญ ตอบว่า "ประเด็นเรื่องการสืบหามูลเหตุทางการเมือง หรือเหตุส่วนตัว หรือเหตุที่เกี่ยวข้องกับตากใบ แล้วเป็นเหตุของการทำให้เกิดความรุนแรง เราในฐานะภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน ไม่สามารถให้คำตอบได้"

แต่มีข้อสังเกตว่ารูปแบบของการใช้ความรุนแรง มีลักษณะที่แตกต่างไปจากระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมา เพราะเราจะไม่เห็นลักษณะของการระเบิดแบบนี้มานานมากแล้ว อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ เพียงแต่ว่าชื่อตำบล ชื่ออำเภอ มันตรงกัน ทำให้บุคคลที่อยู่ภายนอก หรือผู้เสพข้อมูลผูกโยงกันไปอัตโนมัติ แต่จริง ๆ แล้วมันต้องผ่านการวิเคราะห์อีกหลายขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม หากเกิดความคิดการเชื่อมโยงแบบนี้ อาจทำให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เกิดจากการเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีตากใบหรือไม่ ดังนั้น เราอยากจะเรียกร้องให้ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงและสื่อ พิจารณาถึงข้อเท็จจริงให้รอบด้านก่อนนำเสนอ เพราะเราไม่อยากให้มีการในลักษณะที่จับแพะ จับบุคคลที่อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยขาดการตรวจสอบรอบด้าน

หวังจำเลยมาศาล ร่วมหาความจริง :

พรเพ็ญ กล่าวว่า เรามีความคาดหวังว่าอัยการจะมีการเร่งให้นำบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยมาศาล แต่ถ้าไม่มีใครมาเลย ไม่มีใครสามารถจะติดตามบุคคลเหล่านี้ได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในประเทศแต่ไม่มีใครหาเจอ หรือเดินทางออกนอกประเทศแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าเวลาที่เหลือประมาณ 10 วัน หลังจากวันที่ 15 ตุลาคม คดีก็จะหมดอายุความลงไป

"จริง ๆ เราอยากให้จำเลยมาศาลเพื่อค้นหาความจริงร่วมกัน เราเรียกว่าเป็นความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เราอยากจะให้ความจริงปรากฏ และอาจจะเกิดความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เช่น การขอโทษอย่างเป็นทางการ หรือการตัดสินคดีว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ได้"

พรเพ็ญ กล่าวต่อไปว่า หรือถ้าไม่เกิดขึ้นก็ควรที่จะมีการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายใน 3 จังหวัด หนึ่งในข้อสำคัญที่ประชาชนเรียกร้องตลอด คือการไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตอนนี้กำลังจะต่อในวันที่ 19 ตุลาคม แม้ ครม.จะยังไม่ได้ประกาศต่อ แต่หลายครั้งเกิดการต่ออัตโนมัติทุก ๆ 3 เดือน โดยไม่ผ่านรัฐสภา คือ รัฐมนตรีต่อเองได้เลยเพราะกฎหมายเขียนแบบนั้น ดังนั้นต้องมีการแก้ไข

"ส่วนที่สองคือการประกาศใช้กฎอัยการศึกตลอด 20 ปี กฎหมายนี้มีอายุนานแล้ว ทำให้เรามองว่าไม่ทัดเทียมกับการใช้กฎหมายในทั่วประเทศ สุดท้ายสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นกับสองคำถาม คือการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหมายถึงการปฏิรูปหน่วยงานมั่นคงด้วย เช่น ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เป็นต้น"

...

พรเพ็ญ กล่าวว่า ความหวังตอนนี้คือการจะได้เห็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจากคดีตากใบว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกจะจัดการอย่างไร เราจะทำยังไงให้จำเลยในคดีที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐยินยอมและสมัครใจ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เหมือนกับที่ทุกคนบอกประชาชนตลอดว่าถ้าไม่ผิดจะกลัวอะไร

"รัฐบาลในฝ่ายสำนักนายกรัฐมนตรี หรือสภาความมั่นคง ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของทางสำนักนายกฯ อยู่แล้ว น่าจะต้องคุยกับ กอ.รมน. อยากให้นายกฯ กำชับตำรวจและอัยการในพื้นที่ ติดตามจำเลยผู้ต้องหาให้มาศาล พึงกระทำก่อนหมดอายุความ"