ดีเดย์แจกเงินหมื่นเฟสแรกให้กลุ่มเปราะบาง กับ "ปัจจัยหนี้" ที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจไม่ให้เติบโตตามคาดหวัง ผู้เชี่ยวชาญแนะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคการผลิตควบคู่ ถึงจะเกิดการหมุนของเศรษฐกิจ

พรุ่งนี้ (25 กันยายน 2567) เป็นวันแรกที่รัฐบาลจะเริ่มโอนเงิน 10,000 บาท เข้าบัญชีกลุ่มเปราะบาง ตามแผน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ซึ่งรัฐจะทยอยโอนเงินให้ตามเลขบัตรประชาชนหลักสุดท้ายตั้งแต่ 0-9 โดยครั้งนี้มีผู้มีสิทธิ์ประมาณ 14.55 ล้านราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 12.40 ล้านราย และกลุ่มคนพิการประมาณ 2.15 ล้านราย ซึ่งผู้ได้รับสิทธิ์สามารถซื้อสินค้าและบริการที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยไม่จำกัดประเภทร้านค้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะเคยแถลงให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงต้องแจกเงินกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก แต่สังคมบางส่วนยังคงเกิดการตั้งคำถามว่าแนวทางนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ เกี่ยวกับประเด็นนี้ทีมข่าวฯ จึงได้ต่อสายตรงพูดคุยกับ 'ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข' คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

...

3 ปัจจัยที่อาจทำให้ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ :

ผศ.ดร.สันติ แสดงทรรศนะว่า ผมเข้าใจคนที่คาดหวังเงินก้อนนี้ เพราะตอนนี้ทุกคนลำบากกันหมด แต่ในส่วนของรัฐถ้าจะว่าจริง ๆ ผมไม่เรียกโครงการนี้ว่ากระตุ้น แต่นัยของมันเมื่อจ่ายเป็นเงินสดเป็นเลยเหมือนการช่วยเหลือมากกว่า ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าดีหรือไม่ดี จำเป็นหรือไม่จำเป็น เพราะนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ถ้าจ่ายเงินออกไปแล้วหวังทำให้เกิดการใช้จ่ายที่เต็มประสิทธิภาพ มันจะอยู่ในรูปแบบที่รัฐบาลก่อนเคยทำโครงการคนละครึ่ง เพราะโครงการนั้นจะบังคับเลยว่าต้องใช้เงินถึงจะได้เงินนี้ แต่พอจ่ายเป็นเงินสดมันสามารถเกิดแบบนี้ได้

ปัจจัยที่ 1 รัฐคิดว่าคนกลุ่มเปราะบางลำบาก ถ้าได้เงินไปเท่าไรก็น่าจะใช้หมด แต่จริง ๆ แล้วเขาอาจจะไม่ใช้จ่ายทั้งหมดก็ได้ สมมุติว่าปกติคนกลุ่มเปราะบางหาเงินได้ 10,000 บาท เขาใช้จ่าย 10,000 บาท พอตอนนี้รัฐให้อีก 10,000 บาท และรัฐคาดว่าเขาจะใช้หมดเลย 20,000 บาท แต่ความจริงเขาอาจจะใช้แค่ 15,000 บาท ก็เป็นไปได้

"สมมุติว่าเขาใช้ของรัฐหมดเลย 10,000 บาท แต่เก็บเงินที่หาได้เอง 5,000 บาท ใช้จ่าย 5,000 บาท ถ้าเป็นแบบนี้จากที่รัฐให้เงินไปแล้วคาดหวังว่าจะเกิดผลในแง่กระตุ้นเศรษฐกิจ อิมแพคจะน้อยลงกว่าเดิมเยอะ แต่แน่นอนว่าคนทำนโยบายจะบอกว่า มันไม่เกิดอย่างนี้หรอกเพราะคนเปราะบางเขาจน เขาได้ไปเท่าไรก็ใช้หมด"

ปัจจัยที่ 2 ที่มีความเสี่ยงว่าให้เงินไปแล้วอาจไม่ได้ผลอย่างที่คิด เนื่องจากโดยธรรมชาติคนกลุ่มเปราะบางจะเป็นหนี้ เมื่อได้รับเงิน 10,000 บาท แม้เขาไม่ได้มีเจตนาจะนำเงินไปจ่ายหนี้อย่างเดียว โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ

"แต่เจ้าหนี้ที่รู้ว่าลูกหนี้น่าจะได้รับเงินนี้ อาจจะหมายตัวรอเงินอยู่ ดังนั้น 10,000 บาท ที่รัฐให้เป็นเงินสด อาจจะไปอยู่ในมือของเจ้าหนี้นอกระบบก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเงินจะหายไปเลย ไม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแน่นอน เพราะไม่เกิดการใช้จ่าย มีกรณีเดียวคือการเป็นหนี้ตามร้านขายของชำ แล้วเอาเงินไปชำระของเดิม จะทำให้เขามีเครดิตไว้ซื้อของกินเพิ่มอีก"

ปัจจัยที่ 3 ที่มีความเป็นไปได้ คือ หากกลุ่มเปราะบางรับเงินมาแล้วนำไปสร้างหนี้เพิ่ม ข้อนี้จะส่งผลหนักมาก สมมุติเขาบอกเจ้าหนี้ว่า “นี่ไง…ครอบครัวผมได้รับเงิน แต่อย่าเพิ่งมาเอาไปนะ เดี๋ยวผมขอกู้ไปหมุนก่อน เดือนหน้าจะมาจ่าย” ฉะนั้น มันมีความเสี่ยงเหล่านี้ที่อาจเกิดขึ้นในการให้เงินสด

เศรษฐกิจอาจไม่โตอย่างที่หวัง :

...

จากกรณีความเสี่ยงที่ ผศ.ดร.สันติ มองว่า "อาจจะ" มีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้อาจารย์มองต่อไปว่า เพราะฉะนั้นหากคิดถึง 3 ปัจจัยที่คุยกันมา ผมไม่คิดว่ามันมีนัยการกระตุ้นเศรษฐกิจเยอะ แต่มีนัยในลักษณะช่วยคนที่เขาลำบาก ซึ่งต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพื่อให้เอาตัวรอดได้ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยได้กี่เดือน แต่ผมไม่เรียกโครงการนี้ว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว

"ถามว่าคาดหวังจะกระตุ้นต่อไปไหม ผมไม่คาดหวัง ถ้าเอาตัวเลขตามที่ทางวิชาการประมาณการ แต่ก่อนผมเชื่อว่า Multiplier (ตัวคูณ) มันจะประมาณ 0.8 ซึ่งก็ไม่ถึง 1 แล้วนะ แต่ตัวเลขภายหลังฝั่งวิชาการเขามาดูใหม่แล้ว เอาเข้าจริง ๆ มันอยู่แค่ 0.4 เพราะฉะนั้นผมว่ามันไม่น่าจะอิมแพค"

ผศ.ดร.สันติ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ว่าเพราะอะไรตนจึงมองว่าการแจกเงินครั้งนี้อาจไม่กระตุ้นเศรษฐกิจดั่งที่รัฐบาลคาดหวัง

"สมมุติว่าผมขายข้าวผัด แล้วปกติขายได้ 100 จานต่อวัน ทีนี้เกิดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ใส่รายได้เข้าไปให้คนกลุ่มเปราะบาง โดยคาดหวังว่าพวกเขาจะมาซื้อข้าวผัด ผลจากการทำแบบนี้ทำให้ผมขายข้าวผัดดีในช่วงที่รัฐใส่เงินเข้าไป แต่การที่ข้าวผัดผมขายดี มันไม่ได้มีนัยต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตราบใดที่ผมไม่ตัดสินใจว่า ผมจะจ้างคนเพิ่ม หรือซื้อวัตถุดิบเพิ่มเพื่อที่จะทำข้าวผัดให้เป็น 150 จาน"

...

"ฉะนั้น กระบวนการการตัดสินใจว่าจะลงทุนเพิ่ม หรือขายเพื่อผลิตเพิ่มมันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ ทุกคนรู้ว่าจ่าย 10,000 บาท แล้วจบนะ กลุ่มเดิมจะไม่ได้อีกแล้วนะ ลองนึกภาพว่า ถ้าเราเป็นคนขายหรือผู้ผลิต เราจะเพิ่มกำลังการผลิตไหม คำตอบคือไม่ตราบใดที่ผู้ผลิตไม่มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดี"

ผศ.ดร.สันติ กล่าวต่อไปว่า เพราะฉะนั้นหากเกิดแบบนี้ขึ้น ตัวคูณต่าง ๆ ที่คาดหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก็จะไม่เกิดขึ้น มันจะเกิดก็ต่อเมื่อผู้ผลิตมองว่าการทำแบบนี้แล้วมันเวิร์ค แต่ดูจากแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม หรือดูอัตราการใช้กำลังการผลิต มันไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเลย

"เพราะฉะนั้นการใส่เงินมาให้คนใช้จ่าย จึงมีค่าแค่เพียงลดสินค้าคงคลังที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ และถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่เห็นแนวโน้มว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้นตอนนี้โทนมันออกมาว่า ถ้าไม่แจกเงินจะมีคนเดือดร้อนและลำบากกว่านี้ ดังนั้น สำหรับผม ผมไม่เชื่อหรือคิดว่าการแจกเงินครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ในแง่กระตุ้นเศรษฐกิจ และผมก็ไม่เชื่อด้วยว่า 2 ไตรมาสหลัง เศรษฐกิจไทยจะโตแล้วได้ GDP เป็น 3% อย่างที่เขาคาดหวังกัน"

...

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 :

คาดว่าโครงการนี้จะมีเฟส 2 หรือไม่? ทีมข่าวฯ ถาม

ผศ.ดร.สันติ ตอบว่า ในทางการเมืองผมว่าเขาต้องทำและต้องทำให้ได้ ขั้นตอนการแจกเงินก็ใช้งบจากปีงบประมาณหน้าอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว และกลุ่มที่รัฐจะแจกก็ต้องเป็นคนละกลุ่มกับที่แจกไปแล้ว

"คราวนี้ถ้าไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง หมายความว่ารายได้ของผู้ได้รับสิทธิ์จะสูงขึ้นกว่าคนกลุ่มเปราะบาง ทำให้ยิ่งมีโอกาสเกิดกรณีที่ผมบอกว่า คนนำรายได้ตัวเองกลับเข้ากระเป๋า และเอาเงินของรัฐใช้จ่ายแทน ฉะนั้น ประสิทธิผลของโครงการจะยิ่งมีแนวโน้มน้อยลงไปใหญ่"

ผศ.ดร.สันติ กล่าวต่อว่า อีกอย่างถ้าดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนจากงาน Symposium ของแบงค์ชาติที่จัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นกว่า 20% ผมถึงคิดว่าเงินตรงนี้อาจไหลไปจ่ายหนี้มากกว่าไหลไปเกิดการใช้จ่าย

"ดังนั้น ผมคิดว่าหากรัฐจะทำโครงการนี้ให้กระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องมีนโยบายหรือมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคการผลิตต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย จึงจะเกิดการหมุนของระบบเศรษฐกิจอย่างที่หวัง เพราะเมื่อสร้างความเชื่อมั่นได้ เขาถึงจะตัดสินใจเพิ่มการผลิต"

.........