รถบรรทุกคลั่ง ดราม่าส่วยวิ่งนอกเวลา "เครือข่ายลดอุบัติเหตุ" ชี้ ที่ผ่านมามีการควบคุมตามประกาศเจ้าพนักงานรายพื้นที่ ทำให้เกิดช่องโหว่ "นักวิ่งเต้น” เดินเรื่องจ่ายส่วยเคลียร์ทาง ควรประกาศชัดเจนห้ามวิ่งในเมืองเวลาเดียวกัน

เหตุระทึกกลางกรุง เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 67 ตำรวจ สน.ทองหล่อ ใช้ปืนยิงสกัดใส่ยางรถบรรทุก ที่แยกกล้วยน้ำไท ย่านพระราม 4 กรุงเทพ หลังชนคนเสียชีวิตแล้วหลบหนี คนขับมีอาการคลุ้มคลั่งไม่ยอมหยุดรถ ตำรวจปีนขึ้นไปบนรถบรรทุก ทุบกระจกรถ แต่คนขับรถใช้มีดไล่ฟันตำรวจ จนต้องล่าถอยออกมา ก่อนฝ่าไฟแดงหนีไปถึงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ แล้วหลบหนีไปในท่อระบายน้ำ ทำให้ตำรวจต้องปิดล้อม สุดท้ายยอมมอบตัว ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย

ในโลกโซเชียลมีเสียงวิจารณ์ถึงกฎข้อบังคับ เกี่ยวกับช่วงเวลา ที่ไม่ให้มีรถบรรทุกหนักเข้ามาในพื้นที่เขตเมือง ที่มีประชาชนหนาแน่น "พรหมมินทร์ กัณธิยะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า เหตุคนขับรถบรรทุกคลั่ง สะท้อนถึงปัญหาการควบคุมการวิ่งของรถขนาดใหญ่ ในพื้นที่ชุมชนเมือง ปกติมีการควบคุมเป็นรายพื้นที่ ตามประกาศของเจ้าพนักงานในพื้นที่นั้น เพราะไม่ได้ออกในกฎหมายหลัก เลยทำให้ช่วงเวลาที่อนุญาตให้รถใหญ่เข้ามาในพื้นที่เมืองได้ ขึ้นอยู่กับประกาศของเจ้าพนักงานท้องที่นั้น

...

พื้นที่และการกำหนดช่วงเวลาไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับเจ้าพนักงานท้องที่นั้นจะพิจารณา ว่าช่วงเวลาใดมีการจราจรหนาแน่นในชุมชน และมีการประกาศ ที่ส่วนใหญ่จะส่งไปให้กับผู้ประกอบการ และผู้ขับรถบรรทุก

พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการจำกัดการวิ่งของรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ดังนั้น ทำให้ผู้ประกอบการบางราย มีการใช้รถบรรทุกขนาดเล็กที่มี 4 ล้อ ในการขนย้ายสิ่งของเข้ามาในเมืองแทน

ข้อกำหนดในการประกาศของเจ้าพนักงานเป็นรายพื้นที่ มีช่องว่างให้เกิดการรับส่วย จนเกิดกลุ่มที่เป็นนักวิ่งเต้น รู้จักกับตำรวจ หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ในการร่วมมือกันหากินกันเป็นทีม เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ เพื่อเคลียร์เส้นทางให้ โดยกลุ่มเหล่านี้จะไปติดต่อตามไซต์ก่อสร้าง บริษัทขนาดใหญ่ที่ขนสินค้าทีละมากๆ

การจ่ายส่วย เพื่อวิ่งรถนอกเวลามีการตกลงกัน แบบทั้งรายวันและรายเดือน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่เจ้าพนักงานประกาศรถเกิน 6 ล้อ ห้ามเข้าพื้นที่ชุมชน ก่อนเวลา 20.00 โดยให้ขับเข้ามาได้หลัง 2 – 3 ทุ่ม ส่วนใหญ่ให้ขนส่งสินค้าให้เสร็จก่อน 6.00 น.

แนวทางการแก้ไข ต้องมีการคุยกันก่อนระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่และตำรวจ ที่ผ่านมาหลายท้องที่ ตำรวจไม่ได้ลงพื้นที่ไปคุยกับผู้ประกอบการ เมื่อถึงเวลาก็ปรับจับหมด ผู้ประกอบการบางรายนอกพื้นที่ ใช้การแก้ปัญหาด้วยการให้คนขับพกเงินมาทีละไม่ต่ำกว่า 5 พันบาท เพื่อจ่ายค่าปรับรายทาง จะได้ไปส่งสินค้าได้ตามกำหนดเวลา

ควรมีการประกาศในภาพรวมให้ชัดเจน โดยที่สาธารณชนรับรู้ว่า รถบรรทุกหนักประเภทไหนบ้าง ห้ามเข้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเวลาใด ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นเวลาเดียวกัน จึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาดูแลแก้ไขในส่วนนี้ เพราะกลายเป็นช่องทางหากินให้กับคนในเครื่องแบบนอกรีตมานาน.