โฉมหน้า ครม.ชุดใหม่นายกฯ "แพทองธาร ชินวัตร" ไร้ตัวแทนฝั่งบิ๊กป้อม แต่การเข้ามาของ "ประชาธิปัตย์" ย่อมสร้างการต่อรองให้กับพรรคเพื่อไทย นักวิเคราะห์การเมืองชี้ว่า รัฐมนตรีจากฝากเพื่อไทย ดูน่ากังวลมากที่สุด เพราะต้องเร่งปั๊มผลงานให้เข้าตา และลบภาพ "ทักษิณ" ด้วยผลงานต่อจากนี้
วันนี้ (4 ก.ย.67) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐบาล "แพทองธาร ชินวัตร" จำนวน 35 คน ส่วนหนึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีหน้าเดิม จากยุคนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" แต่มีการสลับเก้าอี้ตำแหน่งสำคัญ โดยให้ "ภูมิธรรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เดิมเป็นฝ่ายค้าน รอบนี้เข้าร่วมรัฐบาลส่ง "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แทนโควตาฝั่ง "บิ๊กป้อม"
หากวิเคราะห์ ภารกิจคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ "แพทองธาร1” ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า หน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เป็นไปด้วยความจำเป็นด้านสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ เพราะสมการใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนจากเดิม เพราะพรรคเพื่อไทย ต้องการเป็นนายกฯ และผู้นำรัฐบาล ดังนั้นองค์ประกอบต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลอยู่ด้วยกันได้
...
โควตารัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย มีการวางทิศทางทำให้คนในพรรคสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่มากขึ้น ภายใต้การนำของคุณแพทองธาร สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่คือ ภาพลักษณ์ที่ออกมา ในการแต่งตั้งคนใกล้ชิดที่ไว้ใจ ตอบโจทย์ขุมกำลังอำนาจของแต่ละกลุ่มการเมือง ทำให้หน้าตาคณะรัฐมนตรีไม่ได้ต่างจากเดิม แต่มีตัวแปรใหม่เข้ามา เรื่องจริยธรรม ทำให้การแต่งตั้งรอบนี้ต้องมีการเปลี่ยนตัว
รัฐมนตรีที่เปลี่ยนหน้าบางส่วนเป็นคนใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองเดิม เพราะการเมืองยุคนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเอง ขอเพียงให้อำนาจการบริหารกระทรวงอยู่ในกลุ่มเดิม โดยคนที่มาดำรงตำแหน่งสามารถคุยกับกลุ่มการเมืองรู้เรื่อง ถ้าเป็นเครือญาติยิ่งง่ายขึ้น
"การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรอบนี้ ที่เห็นเด่นชัดคือ การเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเข้ามาด้วยโจทย์ทางการเมือง เพราะมีปรากฏการณ์เอาคืนลุงบ้านป่า เลยต้องมีวิธีการจะตัดเครือข่ายลุงออกจากคณะรัฐมนตรี โดยการที่ฝั่งคุณธรรมนัส มีเสียงสนับสนุนราว 20 คน ทำให้มีเสียง สส.ฝั่งรัฐบาล ประมาณ 290-300 เสียงต้นๆ แต่จะไปเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับพรรคภูมิใจไทย มากเกินไป เลยต้องนำประชาธิปัตย์เข้ามา ให้มีคะแนนเสียงประมาณ 321 เสียง ถึงจะทำให้รัฐบาลอุ่นใจมากขึ้น"
ด้วยเกมการต่อรองของพรรคร่วม เพื่อไทย ต้องการสร้างดุลยภาพให้กับรัฐบาล เลยต้องดึงประชาธิปัตย์ เข้ามาแทนในโควตาของพรรค “บิ๊กป้อม” เพราะถ้าไปกระทบโควตาของพรรคอื่น จะมีประเด็นวุ่นวายไม่จบ ซึ่งในเพื่อไทย มีหลายกลุ่มก้อน ถ้ามีแรงกระเพื่อมจากภายนอกเข้ามา จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
สูตรการตั้งคณะรัฐมนตรีรอบนี้ ตัวรัฐมนตรีเองไม่ได้น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่ถูกจับจ้องคือ คุณแพทองธาร ในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่มีชื่อคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประกบเป็นเงาตามตัว ทำให้คนส่วนใหญ่ต่างจับจ้องไปที่คุณทักษิณ และคุณแพทองธาร จะบริหารประเทศอย่างไรต่อ โดยเอานโยบายอะไรเป็นธงนำ ซึ่งกระทรวงไหนจะสามารถตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด
“ด้วยข้อแม้เหล่านี้ รัฐมนตรี ที่มีโอกาสเสี่ยงมากที่สุด อยู่ในโควตาของเพื่อไทย เพราะถ้าทำงานไม่ตอบโจทย์ตามที่นายกฯ ต้องการ อาจมีการเปลี่ยนตัวภายหลัง เช่นเดียวกับรัฐมนตรี ต้องไปจัดการปัญหาภายในกระทรวง เช่น คุณภูมิธรรรม ซึ่งมีกระแสว่ามีปัญหากับกลุ่มทหาร ต้องไปจัดการปัญหาภายใน เนื่องจากทหารต้องการรัฐมนตรี ที่ไม่แทรกแซงกับการทำหน้าที่ของทหารมากเกินไป”
...
ภารกิจเร่งด้วยของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่คือ การทำให้นายกฯ แพทองธาร ที่มีคุณทักษิณ เป็นผู้สนับสนุน สามารถโชว์ฝีมือการทำงานได้ตามที่ประชาชนคาดหวัง โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้จีดีพีประเทศเติบโต มีต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่มีเวลาฮันนีมูน เพราะขนาดตั้งยังไม่เสร็จ ประชาชนก็คาดหวังไปไกล ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ จะต้องแสดงผลงานให้เห็นภายในต้นปีหน้า.