ลานีญายังมาไม่ถึง คาดปลายกันยายนไทยฝนอ่วม Climate Change ทำการพยากรณ์อากาศยากขึ้น เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเปราะบาง หากไม่ปรับตัวและยังเน้นนโยบายประชานิยม ผู้เชี่ยวชาญแนะต้องเร่งทำวันนี้เพื่อคนรุ่นหลัง

หากคุณผู้อ่านติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมช่วงนี้ อาจจะพอเห็นว่ามีความไม่ปกติหลายอย่างเกิดขึ้น สภาพอากาศรวนเกินคาดเดา เราจึงได้ต่อสายตรงถึง 'รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช' อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อชวนวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

ลานีญายังไม่มา :

รศ.ดร.วิษณุ ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่เข้าปรากฏการณ์ลานีญา ถ้าจะดูว่าเข้าลานีญาหรือไม่ต้องดูดัชนีที่เรียกว่า ONI (Oceanic Nino Index) ซึ่งจะวัดอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเลว่าสูงหรือต่ำกว่าเฉลี่ยปกติ หากเป็นลานีญาอุณหภูมิจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ประมาณ -0.5 องศาเซลเซียส

ตอนนี้ยังไม่เข้าลานีญาอย่างเป็นทางการ แต่อยู่ในช่วงของการเร่งกำลัง อุณหภูมิของทะเลเริ่มติดลบ ซึ่งเกิดช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะตอนแรกคาดว่าลานีญาจะมาตั้งแต่สิงหาคม แต่ก็ลากออกไปเพราะผิวน้ำทะเลยังอุ่นอยู่

...

ช่วงเร่งตัวมีความเป็นไปได้ที่ปริมาณฝนจะลู่เข้าหาปรากฏการณ์ลานีญา จากนี้ไปฝนจะค่อยๆ เร่งตัวมากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิงหาคม 2567 ถือว่าฝนยังน้อยอยู่ ปริมาณฝนของหลายภูมิภาคในไทยยังมีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าปกติโดยเฉพาะภาคใต้ แต่คาดว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นช่วงครึ่งหลังของกันยายนเป็นต้นไป

ทั่วโลกมีแนวโน้มเกิดปรากฏการณ์ลานีญา และสภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างโซนอินเดียและบังกลาเทศ ช่วงมิถุนายนจนถึงกันยายน จะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ หรือถ้าเป็นแถบอเมริกาช่วงธันวาคมถึงกุมภาพันธ์จะแห้งแล้งกว่าปกติ

ความน่ากังวลต่อจากนี้ :

หากคุณผู้อ่านได้ติดตามข่าวคงจะพอเห็นว่า ช่วงนี้เกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า ระยะนี้ฝนตกปกติในพื้นที่ทั่วไปและไม่ปกติในบางพื้นที่ เช่น เชียงราย น่าน ถ้าดูจากปริมาณน้ำฝนที่มีการรายงานจะพบว่าค่าเฉลี่ยมากกว่าปกติ เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยนไปหลายอย่างถูกทำลายหมดแล้ว

Climate Change ทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างภาคเหนือน้ำจะท่วมทุกปีอยู่แล้ว แต่ปกติมันไม่ได้เป็นวงกว้างมากมาย สิ่งที่ทำให้เป็นแบบนี้เพราะมีปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ภาคเหนือสูญเสียป่าไม้ค่อนข้างเยอะ ทำให้ไม่มีที่ดูดซับหรือชะลอความเร็วน้ำ หรือมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ พวกนี้ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมได้

ความน่ากังวลที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ หากดูพยากรณ์อากาศจาก 13 สถานีอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าช่วงกันยายน ตุลาคม ปริมาณฝนจะมีค่าเฉลี่ยมากกว่าปกติ และพื้นที่จะเป็นวงกว้างมากขึ้น ช่วงดังกล่าวพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก ตะวันตก ต้องระวังน้ำท่วม

"ส่วนช่วงตุลาคม พฤศจิกายน เป็นช่วงที่ภาคใต้ต้องระวัง ซึ่งปีนี้ผมว่าน่าจะหนักกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในมิติที่ว่าลานีญาจะเร่งกำลังขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่น เพราะฉะนั้นมีความเสี่ยงที่จะเจอน้ำในมากกว่าปกติ"

พยากรณ์อากาศยากขึ้น :

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า ขณะนี้โลกรวนไปหมดแล้ว สิ่งที่มนุษย์จะต้องเตรียมตัวคือป้องกันและเริ่มแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าจะแก้ปัญหาแบบสุดซอยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases)

ซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้เรากำลังอยู่บนความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เกินกว่าในอดีต 8 แสนปีที่ผ่านมา ความเข้มข้นปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 420 ส่วนในล้านส่วน แต่ใน 8 แสนปีที่ผ่านมามันไม่เคยเกิน 300 ส่วนในล้านส่วน

...

"ก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นกว่าในประวัติศาสตร์ ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลายเป็นความเสี่ยง มันไม่สามารถใช้ข้อมูลในอดีต มาพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือคาดการณ์ยากขึ้นเรื่อยๆ ลองสังเกตว่าโลกเริ่มเจอปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งเปลี่ยนไปมาตลอด ไม่ได้อยู่ในจุดซ้ำซากอีกต่อไป"

ความน่ากังวลต่อเศรษฐกิจ :

รศ.ดร.วิษณุอรรถวานิช กล่าวว่า Climate Change ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจเกิดความกังวล ปี 2567 มีการสอบถามจาก World Economic Forum (สภาเศรษฐกิจโลก) ว่านักธุรกิจกังวลกับความเสี่ยงใดมากที่สุด เช่น สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งที่นักธุรกิจตอบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ความเสี่ยงของสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather)

นอกจากนั้นช่วงปี 2534-2553 ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งแล้งและท่วม ความผิดปกตินั้นทำให้รายได้ต่อหัวลดลงประมาณ 15.5% และมีการพยากรณ์ว่าจากนี้จนสิ้นศตวรรษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้รายได้ต่อหัวของคนไทยอาจจะลดลงเกิน 50%

...

อีกทั้งการศึกษาจากหลายงานบอกตรงกันว่า ไทยเป็นประเทศแนวหน้าของความเสี่ยง เช่น ภาคเกษตรเราเปราะบางมาก เพราะมีเกษตรกรที่เข้าถึงชลประทานเพียงประมาณ 26% ถ้าเกิดเจอภัยแล้งเราจะเดือดร้อน หรือปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยก็ตอกย้ำความเสี่ยงมากขึ้น

"ประเทศไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการแข่งกับใคร นโยบายภาครัฐยังเน้นประชานิยม เช่น ใช้เงินอุดหนุนเกษตรกรตลอด จนทำให้พวกเขาไม่ปรับตัว หากสภาพอากาศแปรปรวน ความเสียหายจะมากขึ้น และเงินเยียวยาก็ต้องเพิ่มขึ้น สุดท้ายรัฐจะไม่มีเงินลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ดังนั้น รัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและนโยบายเพื่อนำไปสู่ผลิตภาพที่ดีกว่า"

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

ความเสี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า :

ความน่ากังวลอีกหนึ่งเรื่องที่ รศ.ดร.วิษณุ บอกกับเรา คือ ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุน เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน ถ้าเรายังไม่ลดการปล่อยคาร์บอน เมื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เขาก็จะเก็บเราแพงแล้วสินค้าไทยจะแพงทำให้สู้คู่แข่งไม่ได้ สุดท้ายเราจะสูญเสียตลาด สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน

...

นี่จึงไม่ใช่แค่ความเสี่ยงทางกายภาพ แต่เป็นความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน ที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเขาใช้กฎหมายบังคับไม่ได้เขาก็ใช้เศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อนาคตธุรกิจรวมถึงเกษตรกรไทยจะไปต่อลำบาก เพราะจากการประชุม COP28 ที่ผ่านมา เขาไม่ได้เล่นแค่ผู้ประกอบการ แต่เขาเล่นสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน

"สมมติว่าเกษตรกรผลิตแล้วไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เวลานำสินค้าไปขายเขาจะสอยยาวถึงเกษตรกร รายใหญ่อาจจะส่งของไม่ได้ ถ้าเราไม่มีนโยบายให้รายย่อยปรับตัว เพราะฉะนั้นเวลานี้ต้องปรับตัวทั้งหมด"

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ทิ้งท้ายว่า ผมว่าตอนนี้ต้องเร่งทำ ยิ่งลงทุนเร็วยิ่งคุ้มค่า ยิ่งทำช้าจะยิ่งเจ็บตัว ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนปัจจุบัน ลองคิดภาพว่าตอนนี้โลกรวนแค่นี้ งานศึกษาวิจัยบอกว่า อนาคตอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอย่างต่ำ 2 องศาเซลเซียส แม้พวกเราบางส่วนอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่คนรุ่นอนาคตยังอยู่ คำถามคือ คนรุ่นปัจจุบันต้องทำอะไรสักอย่างไม่ให้คนในอนาคตมาว่าเรา

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :