สถานการณ์การเมืองไทยต้องติดตาม และก็เป็นสัจธรรมความจริงไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร หลังกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีมติไม่เอาพรรคพลังประชารัฐของ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าร่วมรัฐบาล "อิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร ก่อนส่งหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล ระบุว่าเป็นพรรคมีบุคคลมีความรู้ ความสามารถ มีอุดมการณ์ที่จะทำงานร่วมกันได้ เพื่อร่วมบริหารราชการแผ่นดิน นั่นเท่ากับจบความขัดแย้ง ปิดตำนานคู่แข่งทางการเมืองไทยต่างขั้วมานานกว่า 20 ปี 

แต่ "ชวน หลีกภัย" สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงยืนยันจุดยืนเดิม ถ้ากลับลำไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และเคยบอกชาวบ้านอย่าไปเลือก ก็เท่ากับทรยศประชาชน เพราะพรรคนี้ประกาศชัดเจนจะพัฒนาเฉพาะจังหวัดที่เลือกพรรคเพื่อไทย ก่อนจังหวัดอื่น "ผมทำไม่ได้หรอก" เป็นเหตุผลชัดเจนที่เคยให้ไว้ เมื่อครั้งโหวตเลือกเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และยังมีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ บัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ และสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา มีความชัดเจนไม่ร่วมรัฐบาล

...

เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ข้ามขั้วจูบปาก ผลประโยชน์ล้วนๆ

อาจจะเรียกได้ว่าการเมืองไทยขณะนี้อยู่ภายใต้อุ้งมือ "ทักษิณ ชินวัตร" ในการเดินเกม ต้องช่วงชิงความได้เปรียบทั้งจากอดีตมิตรที่กลายมาเป็นศัตรู และพรรคประชาชน คู่แข่งสำคัญ แล้วสมการการเมืองต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร?

"รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์" คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุการเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง และการแสวงหาตำแหน่ง อย่างไรแล้วพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ปฏิเสธ เพียงแต่ว่าอาจเป็นไปตามมติพรรค หรือไม่เป็นไปตามมติพรรค เพราะภายในพรรคประชาธิปัตย์ มีทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ปัญหาจากการตั้งรัฐบาลในลักษณะแบบนี้ เป็นการสร้างศัตรู กลายเป็นพรรคพลังประชารัฐถูกขับออก สร้างความเจ็บช้ำกับอีกซีกหนึ่ง ซึ่งสมการจากนี้ไปของรัฐบาลจะอยู่อย่างประคับประคอง เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้หวังความมั่นคง ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีเสถียรภาพ เป็นการปรับตัวของพรรคเพื่อไทย ทำกับพรรคเล็กพรรคน้อย ทำงานแบบถูลู่ถูกัง เพราะความเป็นเอกภาพในรัฐบาลไม่มี จึงมีเหตุจำเป็นของพรรคเพื่อไทยและตัวทักษิณ ต้องอยู่อย่างประคับประคองกันไป

"การสร้างศัตรูเพิ่ม ดูเหมือนจะสะใจ ไปสร้างศัตรูกับชนชั้นนำ โดยเฉพาะฟากทหาร คิดว่าเพื่อไทยคงคิดหน้าคิดหลังพอสมควรแล้ว เป็นอะไรที่น่าจับตามองว่าการเมืองไทยต่อไปจะไม่ใช่ทำเพื่อประชาชน ให้ได้ประโยชน์โดยแท้ แต่เป็นของนักการเมือง ในการคบคิดในการแบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดูจากการแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือแบ่งโควต้ารัฐมนตรี ซึ่งต้องมีความรู้ความสามารถ เพื่อเสริมภาพลักษณ์รัฐบาล และอิงกระแสสังคมเป็นสำคัญ แต่กลับมีรัฐมนตรีแบบไม่ถูกฝาถูกตัว จะทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์"

ใกล้เขตแดนเปราะบาง ไปสู่รัฐประหาร บ้านเมืองวุ่นวายซ้ำ

ความน่ากลัวหลังจากนี้ที่แฝงอยู่ มีความล่อแหลมจะนำไปสู่การรัฐประหารในเวลาอันใกล้ หรืออาจมีปัญหาคอรัปชั่น แม้ไม่ชัดเจน ก็สามารถอ้างได้ในการทำรัฐประหาร หรือปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินไม่มีธรรมาภิบาล หากรัฐบาลยังใช้อำนาจไม่ตอบสนองประชาชน แม้รัฐประหารเกิดไม่ง่าย ก็มีโอกาส เป็นสิ่งที่กังวลจากปัจจัยความขัดแย้งจะเริ่มขึ้น จะเริ่มเข้าเขตแดนความเปราะบาง เมื่อฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวามาจับมือกันให้สมประโยชน์ร่วมกันในแง่กฎหมาย คือคดีความต่างๆ เมื่อมีความสมดุล ทั้งรอลงอาญา พักโทษบ้าง ก็จะสมดุลเหมือนจะปิดฉาก 

...

แต่หลังจากมีรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นอีก เช่น การยื่นยุบพรรค จากการที่ทักษิณ เข้ามาครอบงำพรรคเพื่อไทย อาจทำให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ แต่ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ และอยู่ที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมามีคำวินิจฉัยจากลายลักษณ์อักษร ไม่ได้ยึดตัวบทกฎหมาย กลายเป็นนิติภิวัฒน์ในการตีความตามอำเภอใจ อาจได้เห็นการยุบพรรคอีก และอาจมีเรื่องอื่นอีก เพราะรัฐบาลไม่ใช่พรรคเดียวกัน อีกทั้งปัญหาเรื่องน้ำ จะเป็นน้ำการเมืองอีกหรือไม่

"การมีผู้บริหารในรัฐบาล มาจากหลากหลายพรรค อาจมีการวางยา จากศัตรูที่มองไม่เห็น หรือมิตรที่ซ่อนตัวเป็นศัตรูตัวแท้ และด้วยกลไกรัฐธรรมนูญที่เขียนอย่างลึกลับซับซ้อน จนทำลายประชาชน แม้ส่วนหนึ่งมีเรื่องดี แต่การมีรัฐบาลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ก็จะเป็นปัญหา ยังไม่รวมสว. ต้องปลอดการเมือง แต่ขณะนี้แค่มีพวกก็ได้ตำแหน่ง ได้เป็นนักการเมือง จนไทยเสียโอกาสจากปัญหาการเมืองที่ยังอยู่ในวังวนแบบเดิมๆ".