สำรวจความเห็นผู้ประกอบการ 'คลองโอ่งอ่าง' มองช่วงจัดงานที่ผ่านมาคนไม่เยอะ คาดยังขาดการโปรโมต และเศรษฐกิจไม่ดี ทำคนไม่อยากจับจ่ายใช้สอย เผย แม้อาจยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ขอบคุณทุกคนที่พยายามทำ
ย้อนไปเมื่อ 26 มิถุนายน 2567 ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่สำรวจ "คลองโอ่งอ่าง" เพื่อพูดคุยสอบถามความคิดเห็นประชาชน และผู้ประกอบการสองฝั่งคลอง ต่างแสดงทรรศนะไปในทิศทางเดียวกันว่า อดีตที่นี่เคยครึกครื้นเพราะมีการจัดกิจกรรมช่วงสุดสัปดาห์ ให้ผู้คนได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดเศรษฐกิจที่ดีไปในตัว
แต่หลังเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของ โควิด-19 คลองแห่งนี้กลับซบเซา กิจกรรมและความรื่นเริงต่างๆ ที่เคยมีในช่วงหนึ่งทยอยหายไป จนเหลือเพียงบรรยากาศชวนเหงา ทั้งกลางวันและกลางคืน
'คุณพรยศ' หนึ่งในผู้ประกอบการริมคลอง เคยสะท้อนปัญหาให้เราฟังว่า ถ้าเทียบปีที่แล้วกับปีนี้ ปีนี้เงียบและแย่กว่ามาก ตอนนี้เหมือนเข้าไอซียู เพราะไม่ไหวแล้ว ถ้ากลับมาแข็งแรงขึ้น เดินได้ ก็น่าจะโอเค
"แพลนเดิม (ที่จัดตลาด) เคยเป็นศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ช่วงเย็น อาจจะเน้นแค่เสาร์ถึงอาทิตย์ แล้วเดิม 16.00-20.00 น. อาจจะไม่ต้องขนาดนั้น เราขอเริ่มเร็วขึ้นหน่อย อาจจะเป็นช่วงเสาร์ อาทิตย์ เริ่ม 13.00 น. แล้วไปจบที่ 19.00 น. ก็พอ"
...
อ่านเพิ่มเติม : 'คลองโอ่งอ่าง' ไร้ต่อยอด กับปัจจุบันที่เหมือนไปเริ่มต้นใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8-12 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 12.00 น.-22.00 น. ณ คลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานหันถึงสะพานบพิตรพิมุข มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร และมหกรรมการแสดงและอาหาร Street Food ภายใต้ชื่องาน "Amazing Walking Street Food ONG ANG Canal"
อาจเรียกได้ว่าครั้งนี้ เป็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ ที่พยายามจะปลุกคลองแห่งนี้ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านดนตรี เสียงเพลง และอาหาร โดยอาศัยช่วงวันแม่แห่งชาติให้ทุกคนได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน
วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 ทีมข่าวฯ เดินทางลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการว่า ภายหลังมีการจัดงานคลองโอ่งอ่างเป็นอย่างไรบ้าง
เศรษฐกิจแย่ :
เราเดินข้ามถนนบริเวณสะพานภาณุพันธุ์ มุ่งหน้าต่อยังสะพานหันฝั่งเขตพระนคร เพื่อไปพูดคุยกับ 'คุณติ๊ก กิตติยาพร' ผู้ประกอบการร้านน้ำผลไม้ปั่น คุณติ๊กกำลังวุ่นกับการหยิบจับของและผลไม้ เพื่อทำตามออเดอร์ของลูกค้า ภายหลังจัดการกับเหล่าออเดอร์เรียบร้อย เธอเดินจัดร้านและล้างของพลางสนทนากับเราไปด้วย
"ตอนนี้มันก็เงียบเหมือนเดิมนะ ช่วงนี้อาจจะเห็นคนเดินเยอะหน่อยเพราะใกล้พัก แต่เดี๋ยวพ้นบ่ายก็เงียบเหมือนเดิม ส่วนร้านค้าก็มีเหมือนเดิม ยังไม่มีร้านไหนปิดตัวลง ทุกคนพยายามประคับประคองกันไปให้ได้" คุณติ๊กเริ่มต้นบรรยายบรรยากาศให้เราฟัง
เมื่อเอ่ยถามถึงช่วงวันจัดงานที่ผ่านมา เธอบอกว่า มีร้านมาตั้งขายของเป็นทางยาวตั้งแต่ต้นสะพานภาณุพันธุ์ ถึงสะพานหันและไปสุดที่ช่วงก่อนร้านอาหารอินเดีย ถือว่าร้านเยอะพอสมควร เวทีจัดการแสดงไม่ได้ใหญ่มาก คนมาพอประมาณไม่ได้มากมาย
"คนเยอะแค่วันที่ลำไยมา (10 สิงหาคม 2567) วันนั้นคนแน่นเต็มทาง แต่วันอื่นๆ คนก็น้อย มองว่างานนี้ไม่ค่อยกระตุ้นให้คนออกมาสักเท่าไร แต่ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีด้วยแหละ คนไม่ค่อยอยากออกจากบ้านมาใช้จ่าย ค่าครองชีพก็สูง ราคาของขึ้นแบบกระโดด อย่างที่ร้านเคยซื้ออะโวคาโดกิโลฯ ละ 70 บาท แต่ตอนนี้กิโลฯ ละ 100 บาท ของมันแพงไปหมด"
...
อาจจะยังขาดการโปรโมต :
ทีมข่าวฯ เดินข้ามคลองมายังฝั่งเขตสัมพันธวงศ์ เลี้ยวซ้ายเดินเข้าไปไม่ไกลนัก จะเจอกับร้านข้าวขาหมูที่มีกลิ่นของน้ำต้ม หอมโชยเตะจมูก หน้าร้านมีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังยืนปิ้งหมูสะเต๊ะสีเหลืองน่ารับประทาน เธอคือ 'คุณอ้อย ณัฐชา' เจ้าของร้านดังกล่าว
คุณอ้อย บรรยายภาพเราให้ฟังว่า ร้านเปิดตั้งแต่ช่วงเช้าเพราะต้องมาเตรียมของขาย ช่วงเที่ยงถึงบ่ายจะเห็นคนมากหน่อย เพราะมีนักเรียนและพนักงานบริษัทออกมาพักรับประทานอาหาร แต่เมื่อถึงช่วงบ่ายก็จะทยอยกลับเข้าที่ทำงาน เดี๋ยวประมาณบ่ายสองก็เงียบสนิท ขายแบบไม่ได้ค่าเช่าที่มาสักพักแล้ว พอจ่ายเด็กในร้านด้วยก็ขาดทุน ตอนนี้อยากเลิกแต่ยังเลิกไม่ได้ เพราะลงทุนกับร้านค่อนข้างเยอะ
เมื่อถามถึงการจัดงาน Amazing Walking Street Food ONG ANG Canal พี่อ้อย บอกว่า คนเดินทางมาไม่มากเท่าไร คนแน่นแค่วันที่ ลำไย ไหทองคำ มาทำการแสดง เพราะลำไยลงแจ้งข่าวทางเพจของตัวเองด้วย
ส่วนศิลปินคนอื่นๆ มีคนมาดูไม่เยอะเท่าไร คนเดินซื้อของก็ไม่ค่อยมี เราเลยไม่ได้ปิดร้านดึก แต่ปิดประมาณ 17.00 น. เหมือนปกติของทุกวัน เท่าที่สังเกตดูคนที่มาเดินช่วงกลางคืนจะเป็นแรงงานต่างชาติ ที่เขาเลิกงานแล้วต้องเดินผ่านตรงนี้ พอเห็นดนตรีเขาก็แวะฟังกัน ไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอยสักเท่าไร
"พี่ว่าจัดงานแบบนี้มันก็ดี แต่พอเขาไม่ได้โปรโมต คนเลยไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไร คิดว่าการจัดงานลักษณะนี้ต้องมีการโปรโมตที่ดีกว่านี้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงอื่นก็ยังไม่มีนะ ทุกอย่างเหมือนเดิม ลองดูน้ำในคลองก็น้อยเหมือนเดิม"
...
แม้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ขอบคุณ :
ถัดจากร้านพี่อ้อยไม่ไกลนัก เราได้ยินเสียงกระทบระหว่างตะหลิวและกระทะดังเป็นระยะ พร้อมควันและกลิ่นหอมจากการประกอบอาหาร 'คุณสิริกุล' กำลังวุ่นกับเมนูตามสั่งที่ลูกค้าออเดอร์มา แต่เธอก็ยังยินดีที่จะเจียดเวลาหันคุยกับเราเป็นระยะ
พี่สิริกุล บอกว่า ช่วงจัดงานคนไม่เยอะเท่าไร คิดว่าคนนอกน่าจะไม่รู้กัน คนที่รู้ส่วนใหญ่เป็นคนแถวนี้ เพราะมีป้ายติดประกาศให้เห็น วันสุดท้ายที่มีเอกชัย (12 สิงหาคม 2567) คนยิ่งน้อยไปใหญ่ เพราะฝนตกหนักมาก คนที่มาขายก็เลยขายไม่ได้ไปด้วย
"จริงๆ ตอนนี้เราเข้าใจทุกฝ่ายนะ ดูแล้วหน่วยงานเขาก็พยายามเข้ามาช่วย เข้ามาจัดงานช่วงที่จะจัดได้ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ หรืออย่างวันแม่ อย่างตอนที่มาทำข่าวเราก็เห็นว่านักข่าวพยายามจะช่วยเหมือนกัน แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ก็ขอบคุณมากที่ลงมาช่วยกันดูว่า พวกเราเป็นยังไงบ้าง"
"ช่วงนี้ขายของแย่กันหมดด้วยแหละ เศรษฐกิจไม่ดี ไม่รู้จะดีตอนไหนด้วย" คุณสิริกุล กล่าวกับเราก่อนจะหันกลับไปทำอาหารตามออเดอร์อีกครั้ง
...
ความเปลี่ยนแปลง? :
วันที่ทีมข่าวฯ เดินทางลงพื้นที่ มีอยู่หนึ่งจุดที่เราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง นั่นคือช่วงสะพานดำรงสถิตถึงสะพานภาณุพันธุ์ (ย่านการค้าสะพานเหล็กเดิม) เป็นบริเวณที่มีภาพวาดสตรีทอาร์ตสวยงามไว้ให้ผู้คนได้ถ่ายรูป
ฝั่งเขตพระนครช่วงห้าง All way one จากเดิมที่ข้างกำแพงเคยมีป้ายไวนิลห้อยหลุดลุ่ย ดูแล้วไม่งามตาเท่าไรนัก มาวันนี้ถูกแทนที่ด้วยป้ายไวนิลผืนใหม่ลวดลายไทย สีออกไปทางครามและขาว คาดว่าเป็นการพยายามสื่อสารอัตลักษณ์ของย่านนี้ ที่มีสังคมแบบพหุวัฒนธรรม
ทางฝั่งเขตสัมพันธวงศ์ ใกล้กับทางขึ้นสะพานภาณุพันธุ์ มีแผ่นไม้สีขาวทอดยาวพอสมควร จากการสังเกตพบว่ายังไม่การแต่งเติมเพิ่มสี หรือทำอะไรกับแผ่นเหล่านั้น จึงยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า มีจุดประสงค์เพื่ออะไรกันแน่
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงบทสรุปเบื้องต้น ทีมข่าวฯ จะยังคงติดตามความเปลี่ยนแปลงของคลองแห่งนี้ต่อไป...
.........
อ่านบทความที่น่าสนใจ :