เตรียมรับมือฝนกระหน่ำ “ลานีญา” ถล่มทั่วไทย หนักสุดกลางเดือน ส.ค.–ก.ย. โดยมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 12% ขณะที่ “กรุงเทพฯ” เสี่ยงเจอฝนตกหนักเฉพาะบางพื้นที่ติดต่อกัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หากไม่มีการจัดการน้ำในระดับพื้นที่ให้เหมาะสม

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานแผนงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ฝนปีนี้มากกว่าปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ลานีญา ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค.–ก.ย. ปี 67 ทำให้มีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนมากกว่าปกติ อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง อีสานตอนบน

จากการประมาณการ คาดว่า ตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. ไปถึงปลายเดือน มีแนวโน้มฝนเพิ่มสูง ซึ่งประกอบด้วย 3 ลักษณะ คือ “ลานีญา” ระดับอ่อน กลาง และสูง ทำให้มีปริมาณฝนสะสมสูงถึง 2,500–2,700 ลบ.ม. ช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ ดังนั้นต้องมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้เหมาะสม

...

“ฝนปีนี้ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ในเดือนเดียวกัน มีปริมาณเพิ่มขึ้น 5–10 เปอร์เซ็นต์ ด้วยปริมาณฝนที่ตกมาก จะทำให้หลังจากมีฝนตกหนักในช่วงกลางเดือน ก.ย. และจากนั้นอีก 2 อาทิตย์ น้ำฝนที่ตกสะสมจะไหลลงมาสู่แม่น้ำ และไหลบ่ามาสู่พื้นที่ตอนล่าง โดยเฉพาะน้ำเหนือ ที่ต้องเฝ้าระวัง”

พื้นที่น่าห่วงและเสี่ยงน้ำท่วม เนื่องจากมีปริมาณฝนตกมากกว่าพื้นที่อื่นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ เช่น กรุงเทพฯ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคเหนือตอนบน อีสานตอนบน

ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนตอนนี้ ช่วงต้นเดือน ส.ค. 67 มีอยู่ประมาณ 30–40 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงกลางเดือน ก.ย. คาดว่าจะมีน้ำในเขื่อนทั่วประเทศประมาณ 80–90 เปอร์เซ็นต์

ฝนตกปี 67 เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากตกหนักบางแห่ง

“รศ.ดร.สุจริต” มองว่า ปริมาณฝนปีนี้ จะมีลักษณะการท่วมอีกแบบคือ ฝนจะตกหนักเฉพาะบางพื้นที่ติดต่อกัน ทำให้น้ำท่วมเป็นบางจุด ซึ่งมีลักษณะ เช่น ฝนตกหนัก 2–3 วัน แล้วก็หยุด ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนรอบ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก โดยฝนที่ตกไม่ได้ไปตกในเขื่อน แต่ไปตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย เมื่อสะสมหนักๆ น้ำก็ไหลบ่าเข้ามาในชุมชน

น่าสนใจว่าการที่ฝนตกในลักษณะเฉพาะพื้นที่เป็นเวลานาน อย่างพื้นที่ในเมืองเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปีนี้เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม หากไม่มีการจัดการน้ำในระดับพื้นที่ให้เหมาะสม

“ลักษณะของฝนที่ตกหนักเฉพาะพื้นที่ เกิดจากกลุ่มเมฆฝนที่เคลื่อนตัวเข้ามาในพื้นที่ร้อนจัด ทำให้เกิดภาวะอากาศยกตัว และทำให้เกิดฝนตกหนัก ซึ่งมักเกิดในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าพื้นที่ชนบท”

สำหรับประชาชน ควรฟังข่าวและการเตือนภัยในพื้นที่ท้องถิ่น ตอนนี้มีการพัฒนาระบบเตือนภัยทำให้สามารถเตือนภัยได้ล่วงหน้า 2–3 วัน เพราะปีนี้ปริมาณฝนที่มากจะทำให้เกิดน้ำท่วมจากปริมาณฝนที่ตกมา ทั้งแบบที่ไหลลงมาจากทางเหนือ และฝนที่ตกหนักเฉพาะพื้นที่.

...