คุยเรื่อง "คลองช่องนนทรี" กับ ผอ.กองควบคุมการก่อสร้าง สำนักการโยธา แจง กลิ่นในคลองเกิดขึ้นได้ เพราะท้องคลองเป็นดินเลน ชี้ ขณะนี้สำนักการโยธา สำนักงานเขต และผู้รับจ้างช่วยกันดูแล อยู่ระหว่างดำเนินการเอกสารส่งมอบ รับมอบทรัพย์สินระหว่างหน่วยงาน

หลังจากที่เราได้โพสต์ข่าว คลองช่องนนทรี ผ่านช่องทางต่างๆ ของไทยรัฐออนไลน์ ก็มีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งเชิงบวกและเชิงตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในลักษณะคำถามที่ทีมข่าวฯ พบนั่นก็คือ "หน่วยงานไหนรับผิดชอบ ถึงปล่อยให้เป็นอย่างนี้" สืบเนื่องจากข้อสงสัยดังกล่าว เราจึงได้ชวน 'กิตติพงศ์ ผู้วิจารณ์' ผู้อำนวยการกองควบคุมการก่อสร้าง สำนักการโยธา มาตอบคำถามคลายข้อสงสัยเหล่านั้นกัน

...

หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล :

เราถามว่า ที่ผ่านมาทาง สำนักการโยธา ได้เข้าดูแลพื้นที่สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีอย่างไรบ้าง ผอ.กองควบคุมการก่อสร้าง เริ่มอธิบายว่า สำนักการโยธา เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้าง เมื่องานแล้วเสร็จจะต้องส่งมอบให้หน่วยงานที่จะบริหารจัดการพื้นที่โดยตรงรับผิดชอบดูแลต่อไป ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

สำหรับโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ขณะที่เริ่มดำเนินการได้กำหนดไว้ว่าจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานเขตแต่ละพื้นที่เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ตามสัญญาก่อสร้างกับผู้รับจ้างเหมา เมื่อการก่อสร้างเสร็จแล้วจะมีระยะเวลาการดูแลโดยผู้รับจ้าง คือการค้ำประกันผลงาน 2 ปี 

เขาจะดูแลความเรียบร้อย เรื่องสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ดูแลตัวสภาพของพื้นที่ เช่น พื้นทางเท้า งานระบบรดน้ำ หรืองานระบบปั๊มน้ำ นอกจากนั้นยังช่วยดูแลเรื่องต้นไม้ระยะหนึ่งตามที่กำหนด ในระหว่างที่รอความพร้อมที่จะส่งมอบไปที่สำนักงานเขต

"ระหว่างการส่งมอบเป็นทางการ ต้องมีกระบวนการด้านเอกสารที่ต้องได้รับอนุมัติ และโอนผ่านระบบบริหารทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร เรามีการส่งมอบพื้นที่เพื่อให้สำนักงานเขตสามารถนำไปใช้งาน และขอความร่วมมือจากสำนักงานเขตให้ช่วยดูแล"

"เช่น ดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยประจำวัน เพราะทางเขตจะมีฝ่ายต่างๆ ที่มีบุคลากรปฏิบัติงานด้านนี้ ซึ่งสามารถดูแลได้ครอบคลุมกว่า และเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยในการทำกิจกรรมต่างๆ สรุปคร่าวๆ ว่า ตอนนี้มีการร่วมดูแลกันระหว่างสำนักการโยธา สำนักงานเขต และผู้รับจ้าง"

นายกิตติพงศ์ อธิบายต่อว่า อย่างเฟสที่ 2 สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2565 ยังอยู่ในช่วงค้ำประกัน 2 ปี ซึ่งจะหมดระยะเวลาค้ำประกันวันที่ 8 กันยายน 2567 ดังนั้นสิ่งปลูกสร้างต่างๆ หรือระบบงานต่างๆ ผู้รับจ้างจึงยังดูแลอยู่

"การค้ำประกันจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขงานต่างๆ ที่เกิดข้อบกพร่องในช่วงเวลาค้ำประกันให้ถูกต้องครบถ้วน และถึงแม้จะเกินกำหนดระยะเวลาค้ำประกันแล้ว แต่ถ้าผู้รับจ้างยังแก้ไขไม่แล้วเสร็จ หรือมีข้อบกพร่องอยู่ เขาจะต้องดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะปลดภาระค้ำประกันได้"

การส่งมอบให้สำนักงานเขต :

กรณีของเฟส 2 ที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบให้สำนักงานเขต นายกิตติพงศ์ ชี้แจงว่า ขั้นตอนการส่งมอบอาจจะมีติดขัดอยู่บ้างเล็กน้อย เนื่องจากสำนักงานเขตเองก็มีภารกิจมาก มีข้อจำกัดเรื่องของความพร้อมด้านบุคลากรที่จะมาดูแล และทางเราเองก็ต้องแก้ไขสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อนจะส่งมอบพื้นที่ให้ทางเขตต่อไป

...

เราถามต่อไปว่า ใครจะเป็นผู้ประเมินว่าพร้อมที่จะส่งมอบให้เขตหรือไม่?

ผอ.กิตติพงศ์ ตอบว่า ต้องร่วมกันประเมินกับหน่วยงานที่จะรับมอบ อย่างช่วงที่ 1 ตอนนี้ทางสำนักงานเขตก็พร้อมรับมอบ แต่อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบด้านเอกสารตามระเบียบ เพื่อส่งมอบ รับมอบ ทรัพย์สินระหว่างหน่วยงาน อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติสำนักงานเขตบางรักได้เข้ามาช่วยดูแลพื้นที่แล้ว

อนาคตอาจส่งมอบให้หน่วยงานระดับสำนัก :

ผอ.กิตติพงศ์ ระบุว่า หากจะสร้างความยั่งยืนให้แก่พื้นที่ในระยะยาว ทางสำนักงานเขตทั้ง 2 แห่ง มีแนวความคิดเหมือนกันว่า เนื่องจากโครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในช่วงที่ 3 และมีแนวนโยบายที่จะพัฒนาไปถึงถนนพระรามที่ 3 

เมื่อแล้วเสร็จจะกลายเป็นสวนสาธารณะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีระยะทางยาวต่อเนื่อง ดังนั้นในการดูแลบำรุงรักษาให้เกิดความยั่งยืน ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานระดับสำนัก คือ สำนักสิ่งแวดล้อม จะเหมาะสมกว่า โดยสำนักงานเขตเข้าไปสนับสนุนบางภารกิจ เช่น ดูเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด 

...

"ในกรณีนี้ทางผู้บริหารได้ให้จัดเตรียมข้อมูลที่จะหารือ และพิจารณาร่วมกันระหว่างสำนักฯ และ สำนักงานเขต เพื่อกำหนดภารกิจของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้อง เหมาะสม รองรับกับการก่อสร้างโครงการช่วงต่อไปในเร็วนี้" นายกิตติพงศ์ กล่าว 

กลิ่นในคลองเป็นเรื่องปกติ? :

เมื่อถามว่า กลิ่นที่เกิดขึ้นจากคลองช่องนนทรี ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่? 

ผอ.กิตติพงศ์ อธิบายว่า โดยสภาพของคลองช่องนนทรีเป็นคลองที่ไม่ได้มีการทำคอนกรีตดาดท้องคลอง ท้องคลองจึงมีสภาพเป็นดินเลน หากมีการขุดลอกก็จะเห็นดิน เลน หรือตะกอนต่างๆ เหมือนคลองธรรมชาติทั่วไป จึงไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ทั้งหมด 

ท้องคลองจะมีตะกอนทับถมเป็นชั้นดินเลนหนา เกิดการหมักหมมจนเกิดแก๊สที่มีกลิ่นขึ้นมาได้ หากระดับน้ำเหนือดินตะกอนสูง หรือมีการหมุนเวียน น้ำก็จะทำให้แก๊สดังกล่าวเจือจางไปตามธรรมชาติ

ผอ.กองควบคุมการก่อสร้าง กล่าวเสริมว่า กรณีที่เกิดกลิ่นในช่วงระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนที่มีการพร่องระดับน้ำในคลองให้ต่ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำฝนตามการคาดการณ์ของสำนักการระบายน้ำ ระดับน้ำที่ต่ำจนเข้าใกล้ท้องคลองส่วนหนึ่ง และการไหลเวียนของปริมาณน้ำที่น้อยส่วนหนึ่ง ส่งผลให้เกิดกลิ่นแรงขึ้นมาได้ ซึ่งจะพบเห็นอีกหลายคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีการควบคุมระดับน้ำในลักษณะนี้

...

"ช่องนนทรีเป็นคลองที่เราสามารถควบคุมระดับน้ำได้ ซึ่งปกติจะเห็นว่าไม่มีข้อเรียกร้องเรื่องกลิ่น แต่เพิ่งมีช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะทางหน่วยงานลดระดับน้ำในคลอง เพื่อเตรียมรับมือกับมรสุมและปริมาณน้ำฝน"

ในส่วนของท่อนไม้ที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งเคยปักอยู่ในคลอง มีผลทำให้เกิดกลิ่นเหม็น เนื่องจากพวงมันขวางทางไหลของน้ำและตะกอนต่างๆ จริงหรือไม่ และหากนำไม้นั้นออกแล้ว กลิ่นไม่พึงประสงค์จะลดลงหรือเปล่า?

นายกิตติพงศ์ ตอบว่า ท่อนไม้นี้เป็นส่วนที่ใช้ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งดำเนินการเมื่อไม่นานมานี้ และได้มีการตัดกดระดับต่ำไว้ ไม่ให้กระทบกับการระบายน้ำ และจะเข้าดำเนินการรื้อถอนพร้อมกับช่วงเวลาการพร่องน้ำ เพราะเป็นส่วนพื้นที่ที่จะต้องใช้แรงงานคนเข้าดำเนินการ 

ซึ่งปัจจุบันผู้รับจ้างดำเนินการรื้อถอนหมดแล้ว ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำทราบว่าสำนักการระบายน้ำมีแผนที่จะทำการขุดลอกคลอง โดยปกติแล้วจะมีการดำเนินการเป็นวงรอบในทุก 3-5 ปี เพื่อกำจัดตะกอนและเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะดำเนินการต่อไป

ความคุ้มค่าและศักยภาพ :

ทีมข่าวฯ ถามว่า คิดว่าการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้จ่ายไปหรือไม่?

ผอ.กองควบคุมการก่อสร้าง แสดงทรรศนะว่า เรื่องความคุ้มค่าหากมองในระยะยาวและในแง่ของการใช้งาน สิ่งปลูกสร้างตรงนี้จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คลองมีศักยภาพสูงขึ้น นอกเหนือจากมิติด้านการระบายน้ำ

"ด้วยบริบทของพื้นที่ตรงนี้ที่เป็นใจกลางเมือง สามารถบริหารจัดการพื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์ในมิติอื่นๆ ได้ ผมว่ามันก็มีประโยชน์พอสมควร เพราะเป็นภูมิทัศน์ที่อยู่ไปในระยะยาว ถ้าภาครัฐและประชาสังคมโดยเฉพาะที่อยู่ทั้งสองฝั่งคลองช่วยกันพัฒนา ก็สามารถสร้างอรรถประโยชน์มากขึ้นได้"

กิตติพงศ์ ผู้วิจารณ์ ทิ้งท้ายว่า อยากฝากเน้นย้ำเรื่องโครงการก่อสร้างช่วงที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ออกไปว่า ทางเราจะตัดต้นพิกุลที่อยู่สองฝั่งคลองนั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง เพราะเรามีการปรับรูปแบบการก่อสร้าง โดยจะยังคงเก็บรักษาต้นพิกุลเดิมไว้ทั้งหมด

"ถ้าจำเป็นต้องรื้อย้ายบางต้นที่สภาพไม่สมบูรณ์ หรือตำแหน่งไม่เหมาะสม ก็จะล้อมย้ายนำไปฟื้นฟูและนำกลับมาปลูก ท่านผู้ว่าฯ ได้มอบนโยบายและลงมากำกับ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงอยากให้ประชาชนสบายใจในเรื่องนี้ได้".

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :