ถนนร้าง ทางเปลี่ยว ซอยตัน จุดเสี่ยงเกิดอาชญากรรม จี้ ปล้น วิ่งราว กรรโชกทรัพย์ แม้กระทั่งถูกลวนลาม ข่มขืน อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในพื้นที่มุมอับ ไม่มีไฟ ไร้กล้อง มักเกิดเหตุในช่วงเวลากลางคืน จะแก้ปัญหานี้กันได้อย่างไร? ไม่ได้มีเพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งมีกว่า 500 จุด แต่ยังมีพื้นที่เสี่ยงอีกหลายจุดทั่วประเทศต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ไม่มีใครอยากตกเป็นเหยื่อความเลวร้ายของอาชญากรที่มีหลากหลายประเภท
ย้อนไปเมื่อช่วงสายวันที่ 7 พ.ค. 2567 เป็นอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทางเดินสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส การเคหะสมุทรปราการ มีหญิงสาวถูกชายคนหนึ่งล็อกคอกดลงกับพื้น ก่อนจะลวนลามหอมแก้ม และพยายามถอดเสื้อผ้าออก แต่หญิงสาวขัดขืนร้องขอความช่วยเหลือ จึงถูกชกที่หน้าหลายครั้ง และโชคดีที่มีคนเดินมาเห็นเข้าช่วยเหลือได้ทันเวลา โดยกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพได้ชัดขณะเกิดเหตุในเวลาประมาณ 10 โมง ไม่ใช่ช่วงกลางคืน แต่ก็ยังเกิดเหตุอาชญากรรมได้
จุดเสี่ยงกลางกรุง ยามค่ำคืน ไฟสว่างเพียงพอหรือไม่
...
แล้วถ้าเป็นถนนร้าง ทางเปลี่ยว คนก็น้อย แสงไฟก็ไม่เพียงพอ จะเสี่ยงเกิดเหตุอาชญากรรมหรือไม่ และจะแก้ไขกันได้อย่างไร? อะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ติดตามได้ในภารกิจ see true “ให้คุณเห็นความจริง” ในการลงพื้นที่ในช่วงเวลา 2 ทุ่มบริเวณสะพานเขียว ทางเดินยกระดับใจกลางกรุง ระยะทางประมาณ 600 เมตร เชื่อมระหว่างถนนวิทยุกับถนนดวงพิทักษ์ อีกหนึ่งในจุดที่ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอาชญากรรม สามารถเดินทางต่อไปยังถนนสุขุมวิท หรือถนนรัชดาภิเษกได้ เป็นการย่นระยะที่อาจต้องอ้อมหลายกิโลเมตร และจากการสำรวจทางเดินบนสะพานเขียว ยังคงมีไฟตามทาง แต่ไฟติดไม่ครบทุกดวง หากเข้าสู่ช่วงดึกกว่านี้ ไฟตามบ้านเรือนหรืออาคารปิด น่าจะน่ากลัวและเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมมากกว่านี้
จุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ ยังมีสะพานลอยคนข้าม หน้าวัดเสมียนนารี ถนนวิภาวดีรังสิต อีกหนึ่งจุดที่อาจเกิดเหตุอาชญากรรม โดยหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งใช้สะพานลอยแห่งนี้เป็นประจำ เล่าว่า “ปกติจะมาถึงตรงนี้เวลาสองทุ่ม ตอนเราลงรถเมล์เราเห็นผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ เราก็ขึ้นสะพานลอยจะกลับบ้าน ผู้ชายคนนั้นก็เดินตามเราขึ้นมา คือในใจเรากลัวอยู่แล้ว เพราะเราเป็นผู้หญิงเราก็พยายามเพิ่มความเร็วในการเดิน ผู้ชายคนนั้นก็เข้ามาประชิดตัวเรา ยังดีว่ามันมีผู้ชายเดินสวนขึ้นมา แล้วผู้ชายที่เดินตามเราตอนแรก เขาก็เดินผ่านเราไปเลยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือในใจเรากลัวแล้ว แล้ววันต่อไปเราจะใช้เส้นทางนี้ที่เราใช้ปกติได้เหมือนทุกวันหรือเปล่า”
ทีมงานภารกิจ see true ยังสำรวจบริเวณสะพานลอยคนข้าม ปากซอยวิภาวดีรังสิต 9 พบว่าไฟส่องสว่างชำรุดหลายแห่ง แสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงป้ายรถเมล์มีแสงสว่างน้อยและมีจุดอับสายตา สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมได้ และเท่าที่สังเกตสะพานลอยนี้ยาวประมาณ 100 เมตร แต่จุดที่ไฟส่องสว่างมีแค่สองจุด เมื่อมองทะลุไปมืดมากจริงๆ ขณะที่ผู้ใช้สะพานลอยนี้เป็นประจำ บอกว่า จำเป็นต้องใช้แม้จะเปลี่ยวมาก “ถ้าเกิดอะไรไม่ดีขึ้นแล้วกรี๊ดไม่มีทางได้ยินเลย เพราะเสียงรถข้างล่างมันดังมาก หรือถ้าเกิดเหตุแล้วอยากจะหนี ไม่รู้จะหนีไปทางไหนเพราะมันยาวมาก ไม่มีทางที่คนจะเห็นเราได้เลย”
...
ไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพ ต้องปรับทัศนคติ ไม่มีสิทธิทำร้ายคนอื่น
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องกายภาพ แต่หมายถึงทัศนคติของสังคม จะทำให้เราปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น อย่างที่ “จเด็จ เชาวน์วิไล” ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุ ปัญหาไม่ได้เกิดแค่จุดนี้ ยังมีบริการสาธารณะ รถไฟฟ้า รถเมล์ รถอะไรมีหมด ที่จุดอับไม่มีไฟ สถานที่เปลี่ยว สะพานลอย ซึ่งคนไม่ค่อยเดินทาง ก็มีโอกาสที่จะมีปัญหาการคุกคามในพื้นที่แบบนี้ แล้วยิ่งเมืองใหญ่ๆ จากการเก็บสถิติพบว่า กรุงเทพฯสูงมาก
“ผู้หญิงควรไปที่ไหนแล้วปลอดภัยหมด เป็นเรื่องระยะยาวที่จำเป็นต้องปรับมายด์เซต ปรับทัศนคติตรงนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก คุณต้องปรับให้เขาเข้าใจว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะไปทำร้ายคนอื่น การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของความรุนแรง” ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวทิ้งท้าย
ถนนร้าง ทางเปลี่ยว จุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมไม่ได้มีเพียงแค่ในกรุงเทพเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้อีกหลายจุดทั่วประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของพวกเรา ติดตาม #ข่าวแสบเฉพาะกิจ และภารกิจ See True "ให้คุณเห็นความจริง" จะพิสูจน์ ตรวจสอบ พร้อมลงทุกพื้นที่ ขยี้ทุกความจริง ทุกวันเสาร์ 6 โมงเย็น ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32.
...