เจ้าของสวน "ส้ม-ลิ้นจี่" อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส หลังเจอมรสุมผลผลิตตกต่ำ จากกิโลกรัมละ 40 บาท เหลือกิโลกรัมละ 10 บาท ไปเรียนและทดลองแปรรูปนำผลไม้ในสวนมาทำเป็น "สุราพื้นบ้าน" จนมีรายได้เพิ่มเท่าตัว ปีที่แล้วยอดขายได้กว่าล้านบาท หวังให้เกิดการส่งเสริมชาวบ้าน สร้างแบรนด์ท้องถิ่น แปรรูปเพิ่มรายได้
"อาทิตย์ ทวีอภิรดีภิญโญ" สวนส้มไร่ยอดดอย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาจากวิกฤติว่า ตั้งแต่ปี 2559 ราคาส้มและลิ้นจี่ ที่ขายสดหน้าสวนมีราคาตกต่ำ ส้มเหลือกิโลกรัมละ 10 บาท จากเดิมขายกิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนลิ้นจี่ จากกิโลกรัมละ 20 บาท เหลือ กิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งถ้าขายไปก็ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุน เกษตรกรบางรายตัดสินใจไม่ขาย แต่นำผลผลิตที่ได้มาทำปุ๋ย แต่ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุน ทำให้ตอนนั้นตนและครอบครัวเครียดมาก พยายามหาวิธีการในการนำส้มไปแปรรูป
เริ่มจากการนำไปทำแยมส้ม แต่เจอปัญหา เพราะแยมเก็บไว้ได้ไม่นาน เสี่ยงเสียในช่วงที่ส่งให้กับลูกค้า ประกอบกับส้มในไร่มีจำนวนมาก ดังนั้นเราต้องพยายามแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้ได้นาน เลยหันมาทบทวนใหม่ จนมีคนรู้จักให้ไปเข้าคอร์สเรียนทำสุราพื้นบ้าน ที่เปิดสอนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
...
จากนั้นเริ่มศึกษา ทดลองทำสุราพื้นบ้าน โดยการไปหาโรงกลั่นที่เหมาะกับสูตรที่อยากได้ ซึ่งต้องใช้เวลาทดลองประมาณ 3–4 ปี กว่าจะได้สูตรที่ต้องการ และเริ่มเอาออกมาจำหน่ายเป็นสุราพื้นบ้าน ที่มาจากวัตถุดิบของส้มในไร่ แล้วค่อยๆ นำลิ้นจี่ในสวนมาทดลองทำต่อ
“ช่วงที่มีวิกฤติผลผลิตราคาตก ทำให้เกษตรกร แทบทิ้งสวนลิ้นจี่ หลายคนไม่หันไปดูแล ปล่อยให้ยืนต้นตาย เพราะราคาตกต่ำ ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตไม่ดี”
การนำส้มและลิ้นจี่ มาแปรรูปเป็นสุราพื้นบ้าน ต้องมีการควบคุมตั้งแต่การปลูก เพราะต้องไม่ฉีดยาฆ่าแมลงก่อนที่จะเก็บผลผลิตประมาณ 1 เดือน ไม่อย่างนั้นกลิ่นของสารเคมีจะเจือปนในกระบวนการกลั่นสุรา ซึ่งในกระบวนการทำ ถ้าเป็นส้มจะใช้เฉพาะเนื้อด้านในนำไปหมัก ส่วนลิ้นจี่ มีการนำเปลือกไปผสมบางส่วน หลักจากหมักแล้วต้องผ่านการกลั่น 2 ครั้ง ตามสูตรที่เราคิดค้น เพื่อให้กลิ่นของส้มและลิ้นจี่
“ช่วงแรกที่เริ่มทดลองทำเหล้า พยายามฝึกฝนจากที่เริ่มทำกันแบบบ้านๆ พอไปเข้าคอร์สก็เริ่มรู้ว่า มันมีส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้เหล้ามีกลิ่นของผลไม้ที่ชัดเจน ตอนแรกหมดส้มที่นำไปทดลองจำนวนมาก ถึงขนาดบางครั้งท้อ เพราะเหมือนเราลุยไปคนเดียว ส่วนสวนอื่นเขาก็ไม่ได้มาทดลองทำ เราคิดว่าถ้ารอให้ราคาผลผลิตมันดีขึ้น หรือรอให้ภาครัฐมาช่วยคงไม่ได้ เราจึงต้องพยายามยืนให้ได้ด้วยตัวเองก่อน ตอนนี้กำลังให้สวนอื่นที่สนใจส่งผลผลิตมาแปรรูป แต่ต้องมีกระบวนการปลูกตามที่กำหนด”
รอการต่อยอดเพิ่มผลผลิตท้องถิ่น
"อาทิตย์" เล่าต่อว่า สุราพื้นบ้านที่ทำขึ้นมี 2 ตัวคือ ส้มและลิ้นจี่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนนำเสาวรสมาทดลอง เนื่องจากในพื้นที่มีวัตถุดิบจำนวนมาก แต่ขายไม่ค่อยได้ราคา เนื่องจากการแปรรูปมาเป็นสุราพื้นบ้าน ทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น และชาวบ้านในพื้นที่ก็หันมาดูแลสวนของตัวเองให้ดีขึ้น
...
จากเดิมลิ้นจี่ 2 ตัน ถ้าขายสดหน้าสวนได้มากสุด 40,000 บาท แต่พอนำมาแปรรูปเป็นเหล้า ลิ้นจี่ในจำนวนเท่ากัน มีรายได้ประมาณ 1 แสนบาท หรืออย่างปีที่แล้ว ผลผลิตทั้งส้มและลิ้นจี่ นำมาแปรรูปเป็นเหล้า ขายออกสู่ตลาดได้เงินมาล้านกว่าบาท ถ้าเทียบกับการนำผลผลิตมาขายแบบสดหน้าสวน จะไม่ได้ราคามากขนาดนี้
“ตอนนี้การแปรรูปสุราท้องถิ่นทำได้เฉพาะสวนของเรา ยังไม่สามารถรับผลผลิตจากสวนอื่นมาแปรรูปได้ เพราะติดปัญหาในเรื่องการทำโรงงาน ที่ต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ เลยต้องนำผลผลิตที่ได้ไปส่งในโรงกลั่นนอกพื้นที่ ซึ่งมีการทำงานร่วมมือกันตั้งแต่เริ่มแรก”
...
ลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่มองว่า ด้วยรสชาติผลไม้ที่ชัดเจน มีเอกลักษณ์ และลูกค้าบางคนนำไปผสมกับค็อกเทล ทำให้แต่ละปีขายจนเกือบหมด ที่ผ่านมาเคยส่งออกไปประเทศดูไบ และวางตลาดที่โมเดิร์นเทรดริมปิง จ.เชียงใหม่ และผ่านเพจเฟซบุ๊ก สวนส้มไร่ยอดดอย – raiyoddoy เป็นหลัก ซึ่งอนาคตก็หวังว่าหน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่แปรรูป ให้เป็นสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้เกษตรไม่ต้องรอความหวังจากการขายสดเพียงอย่างเดียว.