คุยกับ 'เอกวรัญญู อัมระปาล' โฆษก กทม. ตอบแนวทางลดกลิ่นเหม็นคลองช่องนนทรี และแผนผันน้ำดีเข้าคลองในอนาคต ยืนยันยังคงสานงานผู้ว่าฯ เดิม สิ่งไหนดีกับประชาชนพร้อมเดินหน้าต่อ!
หลังจากมีกระแสข่าวออกมาว่า 'โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี' ถูกปล่อยทิ้งให้ทรุดโทรม น้ำดำ ส่งกลิ่นเหม็น และพื้นที่ไม่สวยงามเหมือนครั้งอดีต ทำให้เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ทีมข่าวฯ เดินทางลงพื้นที่ดังกล่าว ช่วงเฟส 1 และ เฟส 2 เพื่อสำรวจว่าเป็นไปดังที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่
อ่านเพิ่มเติม : คลองช่องนนทรี เสื่อมโทรม น้ำดำเหม็น จี้ กทม.คืนแลนด์มาร์ก
หลังจากทีมข่าวฯ ได้โพสต์ข่าวลงไป ก็มีประชาชนให้ความสนใจ และร่วมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก วันนี้เราจึงรวบยอดสรุปข้อสงสัยจากคุณผู้อ่านทางบ้าน และชวน 'เอกวรัญญู อัมระปาล' ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. และโฆษก กทม. มาร่วมตอบคำถามเหล่านั้น!
...
แนวทางลดกลิ่นเหม็นของคลอง :
คุณเอกวรัญญู กล่าวเริ่มต้นชี้แจงว่า แต่เดิมแล้วคลองช่องนนทรีมีไว้สำหรับระบายน้ำ จนกระทั่งท่านผู้ว่าฯ ท่านเดิม ได้ริเริ่มโปรเจกต์พัฒนาคลองให้สวยงาม ซึ่งแต่เดิมมี 5 เฟส แต่ตอนนี้ปรับเหลือ 4 เฟส ซึ่งในอดีตมีการเริ่มเฟสที่ 2 เป็นที่แรก อยู่บริเวณเขตสาทร และขณะนี้เราก็มาเริ่มเฟสที่ 1 ต่อ ประเด็นที่สำคัญเรื่องนี้อยู่ที่ว่า การคิดทำคลองให้สวย อาจจะไม่มีการพูดถึงรายละเอียดตั้งแต่แรกว่า สวยแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้คลองมีกลิ่น
"หัวใจสำคัญของ 'คลองกรุงเทพฯ' คือ 'การระบายน้ำ' เพราะฉะนั้นมันก็ประกอบไปด้วยน้ำที่มีกลิ่นต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งแต่เดิมคลองอยู่ตามถนน ไม่ได้ติดบ้านเรือนประชาชน ทำให้ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ (กลิ่น) จนกระทั่งเข้าสู่การพัฒนาโปรเจกต์ดังกล่าว ทำให้คนเข้ามาเดิน พอคนเข้ามาเดินเลยทำให้รู้สึกว่ามันมีกลิ่น"
กทม.มีการเข้ามาดูแลมากน้อยเพียงไหน?
ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ตอบว่า หลังจากเริ่มโปรเจกต์ สิ่งที่เราดูเป็นอย่างแรกคือการป้องกันน้ำท่วม นั่นก็คือต้องพร่องน้ำให้มากที่สุด เพราะหากน้ำท่วมจะเกิดปัญหาอีกหลายมิติ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความปลอดภัย ความสะอาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพร่องน้ำแล้วดันเกิดกลิ่นเหม็นขึ้นมา หากถามว่าเราทำยังไงต่อ โจทย์ตอนนี้ของเราคือ ต้องเข้มข้นมากขึ้นในการดูแลใบไม้ต่างๆ ที่ร่วงลงคลอง เพราะใบไม้ที่ร่วงลงคลอง มันจะเกิดปฏิกิริยาคล้ายๆ กับสารอินทรีย์ ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือไข่เน่า ทำให้มันส่งกลิ่น และมีสีดำคล้ำขึ้นมา
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ขี้เลน ซึ่งตามรายละเอียดจากทางสำนักการระบายน้ำ บอกว่า คลองต่างๆ จะมีการขุดขี้เลนในทุกๆ 5 ปี หรือมีขี้เลนในระยะความสูง 0.5 เมตร ขึ้นไป ซึ่งคลองช่องนนทรีขุดตะกอนต่างๆ ล่าสุดเมื่อปี 2564 ตอนนี้ผ่านไปแล้วประมาณ 3 ปี ถ้ามันมีกลิ่น มีการร้องเรียน กทม. ก็จะหาแนวทางดำเนินการต่อไป
"ตอนนี้ยังมีโปรเจกต์เดิมที่ทำอยู่ เลยทำให้มีเสาต่างๆ อยู่บนคลอง ทำให้การขุดขี้เลนทำได้ยาก อย่างเสาในคลองมีอยู่ประมาณ 800 ต้น เอาออกไปแล้วน่าจะประมาณ 600 ต้น คาดว่าคงจะเอาออกให้หมดเร็วๆ นี้ เมื่อนำออกแล้วจะมีการขุดขี้เลนต่อไป ซึ่งผมคิดว่าปีหน้าคงจะได้เห็นในส่วนนี้ เพราะกว่าจะนำเสาออกหมดคงใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง"
...
การบำบัดน้ำ :
เราสอบถาม โฆษก กทม. ซึ่งอยู่ปลายสายว่า ที่ผ่านมาได้มีการบำบัดน้ำในคลองบ้างหรือไม่?
ได้รับคำตอบว่า ผมว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญ หากเราเปรียบเทียบกับคลองต่างประเทศที่สวยงาม พวกนั้นจะมีโรงบำบัดในตัว และทำพื้นคลองใหม่หมด และใช้งบประมาณมหาศาล แต่เราไม่ได้ทำอย่างนั้น เนื่องจากตั้งแต่แรก จุดนี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพให้สวยงาม แต่ในรายละเอียดยังไม่มีการพูดถึงเรื่องน้ำเน่าเสีย
"เราไม่ได้มีการบำบัดน้ำในคลองอันนี้ต้องพูดให้ชัด แต่ว่าแนวทางเบื้องต้นที่เรียนไป คือ ต้องมีการเก็บกวาดใบไม้ ขุดลอกคลอง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เรากำลังทำ และต้องบริหารจัดการไปพร้อมกับการพร่องน้ำ คือ ปล่อยน้ำจากคลองสาทร เข้าสู่คลองช่องนนทรี เพื่อให้นำโฟลว์มากขึ้น และเป็นการลดกลิ่น"
"วันที่ผมไปลงพื้นที่ ต้องเรียนตรงๆ ว่ามันมีกลิ่น แต่ผมก็เห็นคนมาเดินอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งมันอาจจะมีกลิ่นแต่ไม่ได้แรง เพราะเห็นคนนั่งถ่ายรูปกัน แต่ถ้าวันไหนพร่องน้ำ ผมเชื่อว่าวันนั้นกลิ่นน่าจะแรง ซึ่งจุดนี้เราก็ต้องยอมรับตรงๆ"
...
แผนส่งน้ำดีสู่คลองช่องนนทรี :
เอกวรัญญู ระบุต่อไปว่า วิธีการแก้ไขเบื้องต้นที่มีการพูดถึงคุยข้อมูลกันล่าสุดขณะนี้ และเท่าที่ผมทราบมา คือ โดยปกติแล้วทางคลองมะนาวบริเวณถนนจันทร์ หรือคลองเสาหิน เป็นต้น มีบางส่วนที่มีน้ำเสียเล็ดลอดเข้าไปได้ ซึ่งคลองเหล่านี้ภายในปีงบประมาณหน้า จะมีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียขึ้นมา
"ซึ่งบ่อนี้จะดึงน้ำต่างๆ จากบ้านเรือนประชาชนเข้ามา แล้วส่งไปที่โรงบำบัดน้ำเสียบริเวณพระราม 3 ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกวันนี้โรงบำบัดน้ำของเรา พอบำบัดได้แล้วจะปล่อยลงเจ้าพระยา แต่ส่วนหนึ่งที่เราคุยกัน คือ อนาคตจะปล่อยสู่คลองช่องนนทรี หมายความว่าจะมีน้ำดีเข้าสู่คลองช่องนนทรีโดยตรง"
"พูดง่ายๆ ว่า ระยะสั้น เก็บใบไม้และปล่อยน้ำเข้ามา ส่วนระยะกลางถึงระยะยาว จะมีการเอาเสาออกเพื่อขุดขี้เลน ต่อไปคือมีนำน้ำดีจากโรงบำบัดน้ำเสียพระราม 3 เข้ามา" โฆษก กทม. กล่าวสรุป
ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบมาคลองช่องนนทรีสุดที่สุรวงศ์ ตอนนี้มีความพยายามหาจุดเชื่อมไปที่คลองหัวลำโพงเก่า เพื่อให้น้ำไหลเวียนได้มากกว่านี้ หากทำได้จะทำให้น้ำเน่าน้อยลง เพราะน้ำเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
...
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าเราคงไม่ได้ใช้งบประมาณเพื่อพลิกทั้งหมด หรือปูพื้นคลองใหม่หลายชั้นให้ใสสะอาด เพราะหากจะทำแบบนั้น คงต้องพูดในระดับเมกะโปรเจกต์ ที่ต้องดูว่าทางผู้ใหญ่จะมีความเห็นกันอย่างไร หรือประชาชนจะคิดเห็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจกันเร็วนี้
เราถามโฆษกเสริมว่า ส่วนที่เป็นน้ำพุ หรือเคยมีน้ำไหลสวยงาม ขณะนี้มีใบไม้ทับถมจนกระทั่งส่งกลิ่นเหม็น จุดนี้จะมีการดูแลอย่างไร?
"อันนี้คือก็เป็นโจทย์สำคัญครับ เพราะมันอยู่ที่การออกแบบตั้งแต่ต้น ซึ่งผมคิดว่าทุกการออกแบบต้องคิดถึงการบำรุงรักษา สิ่งสำคัญตอนนี้ เราใช้ค่าบำรุงรักษาค่อนข้างสูง จุดใหม่จึงมีการปรับเพื่อให้ค่าบำรุงรักษาลดลง เพราะฉะนั้นจุดแรกดั้งเดิม ทางเขตต้องให้คนมาดูแลเพิ่มเติม แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า หนึ่งเขตก็มีทรัพยากรจำกัด"
"ที่ทราบมาเบื้องต้นเขตจะจัดคนมาดูแล แต่อนาคตถ้าเป็นแบบนี้ทุกจุดทางเขตคงไม่ไหว เสี่ยงต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นเลยเรียนว่าจาก 5 เฟส ที่ปรับมาเหลือ 4 เฟส เพราะมีการปรับเพิ่มว่าส่วนไหนไม่จำเป็นก็นำออก" คุณเอกวรัญญู กล่าวกับทีมข่าวฯ
ยังไม่มีการส่งมอบงานให้เขต :
ก่อนที่จะสนทนากับ โฆษก กทม. ทีมข่าวฯ ได้พูดคุยกับ 'นายชาติชาย กุละนำพล' ผู้อำนวยการเขตสาทร มาเบื้องต้น ทำให้เราได้ข้อมูลว่า ทางสำนักการโยธายังไม่ได้มีการมอบให้เขต หรือมอบให้ใครอื่นดูแลสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เพียงแต่ว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของเขต สำนักงานเขตจึงมีการเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลความสะอาดในทุกวัน
ข้อมูลจากการสนทนาระหว่างเรากับ ผอ.เขตสาทร โฆษก กทม. ยืนยันว่า "อันนี้คอนเฟิร์มครับ ทางสำนักงานโยธายังไม่ได้ส่งมอบงานให้เขต"
"ซึ่งรายละเอียดผมยังไม่มีข้อมูล แต่มันอยู่ที่เรื่องของงานว่าเสร็จไหม หรือตรวจสอบกันแล้วหรือยัง ถ้าเสร็จก็คงจะมีการส่งมอบ ซึ่งอย่างที่เรียนว่าเฟส 2 ที่มีการทำตั้งแต่สมัยผู้ว่าท่านเดิม แม้จะดูคืบหน้าไปได้เยอะแล้ว หรือเฟส 1 ที่เราอาจจะเห็นว่ามันเสร็จ แต่ว่ากระบวนการข้างใน เนื้องานหรือรายละเอียดต่างๆ ผมยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นยังไงต่อ"
แสดงว่า… ที่เราเห็นว่าเหมือนเสร็จแล้ว ในทางการทำงานอาจจะยังไม่เสร็จใช่หรือไม่?
คุณเอกวรัญญู ตอบกลับว่า อาจจะเป็นแนวทางนั้นก็ได้ครับ เพราะว่าเราอาจจะเห็นว่ามันเสร็จ แต่เนื้องานข้างในอาจจะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม หรือเก็บงานให้เรียบร้อย เช่น เสาต่างๆ ที่ยังมีอยู่ ผู้รับเหมาก็ต้องมารื้อออก
ทีมข่าวฯ ถามต่อไปว่า การที่ยังไม่ได้ส่งมอบ อาจทำให้เขตเข้ามาดูแลได้ไม่เต็มที่ใช่หรือไม่ โฆษก กทม. มองว่า "มีส่วนครับ และถ้าจะส่งมอบ ทางเขตก็ต้องเตรียมงบประมาณ และเตรียมคนไว้ดูแล"
สานต่อโครงการที่มีมา :
หลังจากทีมข่าวฯ ได้ลงโพสต์ เกี่ยวกับการลงพื้นที่คลองช่องนนทรี มีประชาชนจำนวนมากมาร่วมแสดงความคิดเห็นประมาณว่า 'เหตุที่คลองช่องนนทรีเป็นเช่นนี้ เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการสานต่อโครงการต่างๆ'
ประเด็นดังกล่าว โฆษก กทม. แสดงความคิดเห็นว่า ผมว่าเรื่องนี้ไม่จริงครับ ผมเปรียบเทียบได้ว่า อย่างเฟสหนึ่งที่กำลังตอนนี้ ก็มาทำในสมัยปัจจุบัน เพียงแต่ว่ามีการปรับเนื้องานบางอย่าง เท่าที่ผมทราบมา คือ อะไรที่ต้องใช้ค่าบำรุงดูแลรักษาในราคาที่ค่อนข้างสูง หรือรุกล้ำน่านน้ำ หรือต้องตัดต้นไม้ เราจะมีการปรับหรือยกเลิกไป
"ถ้าจะถามว่าไม่สานงานผู้ว่าฯ คนเก่าจริงไหม ลองให้มาดูที่คลองผดุงกรุงเกษม หรือคลองโอ่งอ่าง อย่างที่คลองผดุงกรุงเกษม ถ้าผมจำไม่ผิดผู้ว่าฯ ท่านเดิมเริ่มไว้ประมาณหนึ่งเฟส แต่ตอนนี้เราขยายครบหมดแล้ว ตั้งแต่เทเวศร์ไปจนถึงหัวลำโพง ของเดิมทำแค่หน้าหัวลำโพง"
"คำถามคือว่า ถ้าเราเห็นว่าเป็นผลงานเก่าแล้วไม่พูดถึง เราคงไม่ทำต่อ แต่เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เราเอาหลักการเป็นตัวตั้ง ถ้าโครงการไหนมันเวิร์ค และดีกับประชาชนเราก็จะทำต่อ เพราะฉะนั้นต้องย้ำอีกทีว่า ไม่มีนโยบายที่ว่าผลงานผู้ว่าฯ เก่าเราไม่ทำ ยังยืนยันว่าถ้าดีกับประชาชนจริงเราพร้อมเดินหน้าต่ออย่างแน่นอน"
เอกวรัญญู กล่าวสรุป และย้ำบทสนทนาวันนี้ว่า ถ้าเรื่องไหนเป็นประโยชน์กับประชาชนเราไม่ทิ้งและเดินต่อ ส่วนเรื่องคลองผมอยากย้ำว่า คลองนี้เป็นคลองเดิมที่ไม่ได้มีการพัฒนามาตั้งแต่สมัยก่อน วันหนึ่งพอมีการมาพูดถึงว่าจะพัฒนาว่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องบำบัดน้ำเสียในคลอง ทำให้มันมีกลิ่นแบบปัจจุบัน
"ผมว่าครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มองว่า หากจะทำอะไรต้องคิดเผื่อไว้ในอนาคต และครั้งนี้เป็นการนำมาสู่ว่า พวกเราจะมีการปรับและพัฒนาอย่างไรต่อไป ส่วนการดูแลต้องย้ำว่ายังไม่มีการส่งมอบ ทางบริษัทก็ต้องช่วยดูแลต่อไป"
.........
อ่านบทความที่น่าสนใจ :